ColonialAfrica_1914

“แอฟริกา”ไม่พัฒนาเพราะเคยตกเป็นอาณานิคม…ใช่หรือไม่?

ระดับการพัฒนาของทวีปแอฟริกาล้าหลังกว่าที่อื่นๆ ของโลก โดยมักอ้างถึงสาเหตุสองประการ หนึ่งคือเป็นเพราะผู้ล่าอาณานิคมแบ่งเส้นเขตแดนประเทศจากผลประโยชน์ของประเทศตนเอง และสองเพราะโครงสร้างสถาบันที่มีอยู่เดิมของแอฟริกาไม่มีประสิทธิภาพ ซึ่งถกเถียงกันตลอดมา เครื่องมือเศรษฐมิติจะช่วยตอบคำถามนี้ให้กับเรา

……….


ก่อนยุคสมัยของการล่าอาณานิคมของยุโรป ทวีปแอฟริกาซึ่งประกอบด้วยกลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆ เป็นจำนวนมากได้แบ่งพื้นที่กันอยู่อย่างชัดเจน ซึ่งอาจนับได้ว่าเป็นข้อตกลงโดยนัยรูปแบบหนึ่งของการป้องกันสงคราม กล่าวง่ายๆ ก็คือพื้นที่ของใครของมันที่รู้กันเอง ภาพที่ ๑ เป็นแผนที่ที่จัดทำโดยนักมานุษยวิทยาชื่อว่า Murdock ในปี 1959 ที่แสดงถึงแต่ละอาณาเขตของแต่ละกลุ่มชาติพันธุ์

“ภาพที่ ๑ อาณาเขตของกลุ่มชาติพันธุ์ในแอฟริกาก่อนการล่าอาณานิคม”


ต่อมาในช่วงปี 1884-1885 มีการประชุมเพื่อทำการตกลงแบ่งพื้นที่ปกครองไปเป็นของประเทศต่างๆ ในยุโรปขึ้น หรือที่เรียกว่า (The Berlin Conference) [หากใครเคยได้ยินคำว่า ทฤษฎีสมคบคิด (Conspiracy Theory) แล้วนึกไม่ออกว่ามันเป็นอย่างไร เหตุการณ์นี้เป็นตัวอย่างหนึ่ง] กล่าวคือ ประเทศต่างๆ ที่เป็นผู้ล่าอาณานิคมประชุมร่วมกันเพื่อแบ่งพื้นที่ของทวีปแอฟริกาออกเป็นส่วนๆ ทั้งๆ ที่ผู้ที่ประชุมกันนั้นยังไม่เคยเข้าไปถึงดินแดนภายในทวีปแอฟริกาด้วยซ้ำ ดังจะเห็นได้จากเส้นพรมแดนของประเทศโดยเฉพาะส่วนที่อยู่ลึกเข้าไปในแผ่นดิน(เข้าถึงได้ยากกว่าริมทะเล)ส่วนมากเป็นเส้นตรง และนี่คือมรดกจากประเทศผู้ล่าอาณานิคมที่แบ่งแยกประเทศแอฟริกาด้วยการขีดเส้นพรมแดนประเทศ (Artificial Border Design) โดยไม่สนใจกลุ่มชาติพันธุ์ที่อาศัยอยู่ในพื้นที่หรือแม้แต่พรมแดนธรรมชาติ ณ ที่แห่งนั้น ภาพที่ ๒ แสดงให้เห็นถึงพรมแดนของประเทศต่างๆ ที่จำนวนมากถูกลากแบ่งผ่านกลุ่มชาติพันธุ์ที่อาศัยอยู่เดิม

“ภาพที่ ๒ พรมแดนของประเทศในแอฟริกาที่ถูกลากเส้นแบ่งผ่านดินแดนที่กลุ่มชาติพันธุ์เคยอาศัยอยู่”

……….

ปัจจุบัน แอฟริกาเป็นทวีปที่มีการพัฒนาช้าและล้าหลังกว่าทวีปอื่นๆ ทั่วโลก งานในกลุ่มของ Acemoglu et al. (2001, 2002); La Porta et al. (1998, 1999) ชี้ให้เห็นว่าเป็นเพราะการล่าอาณานิคมที่แบ่งเส้นแดนประเทศอย่างไม่คำนึงถึงการอาศัยอยู่ของกลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆ และรวมไปถึงยังทำให้ระบบตรวจสอบถ่วงดุล (Checks and Balances) และกระบวนการทางกฎหมาย (Legal Systems) ของประเทศนั้นๆ อ่อนแอภายหลังการประกาศอิสรภาพ เพราะประเทศยุโรปยังคงเข้าแทรกแซงในทางลับอยู่ต่อไป

ขณะที่งานในกลุ่มของ Herbst (2000); Gennaioli and Rainer (2006, 2007) กลับชี้ว่าสาเหตุของความไม่พัฒนาไม่ได้เกิดจากการล่าอาณานิคม เนื่องจากระยะเวลาของการปกครองของยุโรปเป็นไปเพียงช่วงสั้นๆ รวมทั้งพื้นที่ที่ยุโรปเข้าครอบงำนั้นค่อนข้างจำกัดในส่วนที่ใกล้กับทะเลเท่านั้น พวกเขาจึงเชื่อว่าความไม่พัฒนาของแอฟริกาเกิดจากโครงสร้างสถาบันที่ไม่มีประสิทธิภาพของกลุ่มชาติพันธุ์ตั้งแต่ก่อนล่าอาณานิคม หรือพูดง่ายๆ ก็คือ มีหรือไม่มีการล่าอาณานิคมก็ไม่พัฒนาอยู่แล้ว

“ประเทศต่างๆ ที่ได้ถือครองดินแดนในแอฟริกา และทำเลที่ตั้งที่พวกเขาแบ่งกัน” (ที่มาของภาพ)


แล้วตกลงว่ามันเป็นเพราะการแบ่งพรมแดนประเทศที่ไม่เหมาะสมอันเนื่องจากการล่าอาณานิคมหรือเป็นเพราะโครงสร้างสถาบันแต่เก่าก่อนที่ไม่มีประสิทธิภาพกันแน่ การตอบคำถามเรื่องนี้อาจไม่ง่ายนัก เนื่องจากทวีปแอฟริกาไม่พัฒนา และทั้งสองปัจจัยก็ยังคงดำรงอยู่ในเวลาเดียวกัน (Causality Problem)

……….

Michalopoulos and Papaioannou (2012) ประเมินผลของระดับการพัฒนาของแอฟริกาจากปัจจัยทางด้านสถาบันระดับชาติ (national contemporary institutional structures) กับวิถีชีวิตของกลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆ ที่มีมาตั้งแต่ก่อนการล่าอาณานิคม (ethnicity-specific pre-colonial institutional traits)

ในการหาค่าความสัมพันธ์ทางเดียวของโครงสร้างสถาบันระดับชาติที่มีต่อระดับการพัฒนานั้น จำเป็นต้องควบคุมผลของความแตกต่างระหว่างชาติพันธุ์ออกไป แนวคิดก็คือต้องพิจารณาพื้นที่ของกลุ่มชาติพันธุ์เดียวกัน แต่ถูกแบ่งแยกออกเป็นส่วนๆ ในสอง(หรือมากกว่าสอง)ประเทศ เพราะจะทำให้พื้นที่เหล่านี้เป็นของชาติพันธุ์ที่มีวิถีชีวิตเดียวกัน แต่อยู่ภายใต้โครงสร้างสถาบันระดับชาติต่างกัน ภาพที่ ๓ แสดงพื้นที่ของชาติพันธุ์ Ababda ที่ถูกแบ่งไปเป็นของ Sudan และ Egypt นอกจากนี้ ยังมีกลุ่มชาติพันธุ์อื่นๆ อีก เช่น the Maasai อยู่ที่ Kenya (62%) และ Tanzania (38%), the Anyi อยู่ที่ Ghana (58%) and the Ivory Coast (42%), และ the Chewa อยู่ที่ Mozambique (50%), Malawi (34%), และ Zimbabwe (16%)

“ภาพที่ ๓ ตัวอย่างของกลุ่มชาติพันธุ์ Ababda ที่ถูกแบ่งออกเป็นสองส่วนในสองประเทศ”


การประมาณค่าทางเศรษฐมิติจะเปรียบเทียบระดับการพัฒนาที่วัดจากค่าความส่องสว่างของแสงไฟยามค่ำคืนในพื้นที่ของกลุ่มชาติพันธุ์เดียวกัน [ความแม่นยำของการวัดด้วยวิธีนี้ขอให้ดูที่นี่] เช่น ระดับการพัฒนาของกลุ่มชาติพันธุ์ the Maasai ในประเทศ Kenya จะถูกเปรียบเทียบกับกลุ่มชาติพันธุ์ the Maasai เช่นเดิมแต่อยู่ในประเทศ Tanzania หรือระดับการพัฒนาของกลุ่ม the Anyi อยู่ที่ Ghana จะถูกเปรียบเทียบกับที่อยู่ใน the Ivory Coast เป็นคู่ๆ ไปเรื่อยๆ วิธีการเช่นนี้เรียกว่า (Matching) Regression Discontinuity Design โดยจะทำให้ปัจจัยทางด้านวัฒนธรรม เช่น ความเชื่อ ศาสนา หรือวิถีชีวิต โรคระบาด สภาพอากาศ สิ่งแวดล้อม หรือแม้กระทั่งวิถีชีวิตของทั้งสองประเทศแทบจะไม่มีความแตกต่างกันเลย โดยหากข้อสรุปออกมาว่าระดับการพัฒนาของสองพื้นที่ที่ว่ามามีความแตกต่างกัน ก็น่าจะเป็นเพราะโครงสร้างสถาบันระดับชาติเป็นหลัก

ในระดับชาติแล้ว ระดับการพัฒนาที่วัดจากค่าความส่องสว่างของแสงไฟยามค่ำคืนจะถูกกำหนดจากปััจจัยทางด้านกลุ่มชาติพันธุ์ ควบคู่ไปกับระดับคอรัปชั่นหรือการบังคับใช้กฎหมาย ตารางที่ ๑ แสดงให้เห็นว่า หากไม่ได้ควบคุมปัจจัยทางด้านกลุ่มชาติพันธุ์ให้เหมือนกันแล้ว ระดับคอรัปชั่นและการบังคับใช้กฎหมายดูเหมือนว่าจะมีผลต่อการพัฒนาประเทศในแอฟริกา แต่เมื่อควบคุมปัจจัยทางเหล่านี้แล้ว ทั้งระดับคอรัปชั่นและการบังคับใช้กฎหมายกลับไม่มีผลเลย นั่นหมายความว่า โครงสร้างทางสถาบันหรือวิถีชีวิตของกลุ่มชาติพันธุ์น่าจะมีผล

“ตารางที่ ๑ ผลการประมาณค่าระดับการพัฒนาที่แตกต่างกันของกลุ่มชาติพันธุ์เดียวกันในสองประเทศ”

……….

Michalopoulos and Papaioannou (2012) ได้ทำการประมาณค่าในทิศทางตรงกันข้ามด้วย คือวิเคราะห์กลุ่มชาติพันธุ์ที่ต่างกัน แต่อยู่ในประเทศเดียวกัน เพื่อควบคุมปัจจัยทางด้านสถาบันระดับประเทศให้เหมือนกัน โดยวิเคราะห์ระดับการพัฒนาที่วัดจากค่าความส่องสว่างของแสงไฟยามค่ำคืนจากปััจจัยของด้านสถาบันระดับประเทศ เช่น ระดับคอรัปชั่นและการบังคับใช้กฎหมาย ควบคู่ไปกับระดับของการกระจายอำนาจ (Jurisdictional Hierarchy) ตั้งแต่ก่อนตกเป็นอาณานิคม [ข้อมูลปี 1967 และน่าจะเป็นข้อมูลเดียวเท่าที่หาได้]

ตารางที่ ๒ แสดงผลการประมาณค่า ซึ่งพบว่า ระดับของการกระจายอำนาจ (Jurisdictional Hierarchy) ตั้งแต่ก่อนตกเป็นอาณานิคมของแต่ละกลุ่มชาติพันธุ์มีความสัมพันธุ์ในทางบวกอย่างมีนัยสำคัญกับระดับการพัฒนา นั่นเท่ากับยืนยันผลว่า โครงสร้างสถาบันแต่เก่าก่อนมีผลต่อเนื่องมายังการพัฒนาในปัจจุบัน

“ตารางที่ ๒ ผลการประมาณค่าระดับการพัฒนาที่แตกต่างกันของคนละกลุ่มชาติพันธุ์ในประเทศเดียวกัน”

……….

กล่าวโดยสรุปจากบทความนี้ก็คือ โครงสร้างทางสถาบันและวิถีชีวิตของกลุ่มชาติพันธุ์ในแอฟริกาเป็นปัจจัยกำหนดระดับการพัฒนาของแต่ละประเทศ โดยไม่เกี่ยวกับว่าจะมีการล่าอาณานิคมและทำการแบ่งเส้นเขตแดนประเทศหรือไม่ก็ตาม อย่างไรก็ดี ข้อสรุปเช่นนี้อาจมีข้อโต้แย้งตามมาอีกมาก ซึ่งก็เป็นสิ่งที่ดีต่อความก้าวหน้าทางวิชาการ แต่วิธีมองและการวิเคราะห์ของบทความนี้ก็น่าจะทำให้ได้มุมมองใหม่ๆ ที่สามารถนำไปต่อยอดกับเรื่องอื่นๆ ได้อีกมากนะครับ ^^






ที่มา: Stelios Michalopoulos and Elias Papaioannou (2012) Pre-colonial Ethnic Institutions and Contemporary African Development, Econometrica (forthcoming).

featured image from here

  • l3oss_drum@hotmail.com

    อยากทราบ ข้อมูลที่มาใช้วิเคราะห์อ่ะครับ แล้วใช้โปรแกรมอะไรวิเคราะห์ สมการอะไรครับ