๑๘ กันยายน ๒๐๑๑:

ที่มาของ [เสด-ถะ-สาด].com


Which is worse? the wolf who cries before eating the lamb or the wolf who does not. ―- Leo Tolstoy

ข้อความที่มีชื่อเสียงของนักเขียนผู้ยิ่งใหญ่คนหนึ่ง ซึ่งได้ตั้งคำถามสำคัญให้กับโลกใบนี้ว่า “หมาป่าที่ร้องไห้ก่อนกินแกะ กับหมาป่าที่ไม่ร้องไห้เลย ตัวไหนเลวกว่ากัน?”

บางคนอาจจะบอกว่า หมาป่าตัวที่รู้สึกเสียใจก่อนกิน เลวกว่า เพราะรู้ว่าผิดแล้วยังทำ บางคนก็บอกว่า หมาป่าตัวที่ไม่รู้สึกเสียใจ เลวกว่า เพราะไม่รู้สึกผิดเลยด้วยซ้ำ ขณะที่บางคนก็กลับบอกว่า ทั้งสองตัวเลวเท่าๆ กัน เพราะสุดท้าย ทั้งคู่ก็กินแกะอยู่ดี

อันที่จริง ผลลัพธ์จากการกระทำของหมาป่าทั้งสองตัวเหมือนกันคือ สุดท้าย ทั้งสองตัวกินแกะ

กุศโลบายสำคัญของคำถามคือการให้ความสำคัญระหว่าง “กระบวนการ” กับ “ผลลัพธ์”

คนที่เห็นว่าหมาป่าตัวใดตัวหนึ่งนั้นเลวกว่า เป็นเพราะเขาได้ให้ความสำคัญมากกว่ากับ “กระบวนการ” อันนำมาซึ่งผลลัพธ์นั้นๆ แต่คนที่เห็นว่าหมาป่านั้นเลวเท่ากัน เขาได้ให้ความสำคัญกับ “ผลลัพธ์” มากกว่า เพราะสุดท้ายแล้วได้ผลที่ไม่แตกต่างกัน

อย่างไรก็ตาม ในโลกความเป็นจริง คงจะบอกไม่ได้ว่า “กระบวนการ” หรือ “ผลลัพธ์” สำคัญกว่ากัน

แต่สถานการณ์ในปัจจุบันก็คือ มีสำนักข่าวจำนวนมากให้ข้อมูลข่าวสารกับเรา และมีสำนักวิเคราะห์จำนวนมากให้บทวิเคราะห์กับเรา สรุปคือ เรามีทั้งข้อมูลข่าวสาร ซึ่งเป็นต้นทางของการวิเคราะห์ และมีผลลัพธ์ ซึ่งเป็นปลายทางของการวิเคราะห์ แต่สิ่งที่หายไปและแทบไม่มีที่ไหน(นอกจากคณะเศรษฐศาสตร์)บอกเราก็คือ ตรงกลางระหว่างนั้นในเรื่องของกระบวนการคิด

นอกจากนี้ เมื่อเราพูดถึงคำว่า “เศรษฐศาสตร์” หลายคนคงคิดว่าเกี่ยวกับแบบจำลองยากๆ หรือระบบเศรษฐกิจที่ใหญ่โต แต่แท้จริงแล้ว เศรษฐศาสตร์เกี่ยวข้องกับเหตุผลทั่วไปกับเรื่องราวในชีวิตประจำวัน และเมื่อไรก็ตามที่เราเข้าใจเรื่องเหล่านี้แล้ว เราก็จะสามารถเข้าใจแบบจำลองยากๆ ที่อธิบายระบบเศรษฐกิจอันใหญ่โตได้

และนี่คือที่มาของ [เสด-ถะ-สาด].com | ห้องเรียนเล็กๆ ในโลกอันกว้างใหญ่ที่จะทำให้วิธีคิดทาง “เศรษฐศาสตร์” เป็นเรื่องน่าสนใจและเข้าถึงได้

แม้ว่าการเรียนรู้วิธิคิดจะใช้เวลาและพลังงานมากกว่าการรับรู้ผลลัพธ์แบบสำเร็จรูป แต่ความเข้าใจในกระบวนการจะต่อยอดความคิดของเราไปยังเรื่องอื่นๆ ที่เกิดขึ้นได้ในอนาคต และกระบวนการคิดต่างหากที่จะทำให้สังคมดีขึ้นได้


3 ข้อที่ห้องเรียน [เสด-ถะ-สาด].com ตั้งใจไว้


๑. เนื้อหาทั้งหมดจะถูกเขียนขึ้นให้ง่ายที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ แต่จะยังคงรายละเอียดที่ถูกต้องให้มากที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้เช่นกัน เพื่อให้เข้าใจถูกต้องโดยไม่ยากเกินไป

As simple as possible, as complex as necessary. — Anonymous

 

๒. เนื้อหาทั้งหมดจะพยายามนำเสนอให้สามารถนึกภาพตามได้ในเวลาที่อ่าน และจะพยายามใส่รูปภาพลงไปด้วย เพราะจินตนาการจะต่อยอดความคิดและจดจำได้ง่ายกว่าแค่ให้ความรู้

Imagination is more important than knowledge. — Albert Einstein

๓. เนื้อหาทั้งหมดจะถูกเขียนด้วยความปรารถนาในการเรียนรู้ของผู้เขียนเองเช่นกัน เพราะหากตัวผู้เขียนเองไม่ได้อยากรู้ก็คงไม่สามารถทำให้ใครอยากรู้ได้

Stay hungry. Stay foolish. — Steve Jobs

 

สุดท้ายนี้ คงต้องขอบอกว่า ห้องเรียนห้องนี้ถูกสร้างขึ้นโดยไม่มีรายได้ใดใด แต่เป็นเพราะผู้เขียนอยากเผยแพร่งานวิชาการด้วยภาษาง่ายๆ อย่างน้อย วันหนึ่งสังคมก็อาจจะเห็นว่า วิชาการเป็นเพียงแค่เรื่องใกล้ตัวที่เรียนรู้ได้ไม่ยาก นี่คือสิ่งที่ผู้เขียนทำได้และหวังว่าจะเป็นประโยชน์ต่อสังคมโดยรวมของเราทุกคน

หากมีข้อเสนอแนะประการใดเกี่ยวกับห้องเรียนนี้ ผู้เขียนยินดีรับฟัง และหากมีสิ่งใดผิดพลาด ผู้เขียนก็ขอน้อมรับความผิดไว้แต่เพียงผู้เดียว

ขอบคุณครับ

……….

๑๙ กันยายน ๒๐๑๑:

ชักชวนให้พูดคุยกัน


เพื่อนๆ คนไหน มีแนวคิดหรือมุมมองที่น่าสนใจ หรือ อยากติชมใดใด เพื่อทำให้บล็อก [เสด-ถะ-สาด].com เล็กๆ นี้ดีขึ้น สามารถส่งคำแนะนำมาได้ที่ช่องความเห็นเลยครับ แต่ไม่มีค่าตอบแทนให้นะครับ มีเพียงแค่คำขอบคุณ เพราะห้องเรียนนี้ไม่มีรายได้ครับ

อย่างไรก็ตาม แม้ว่าผู้เขียนจะไม่ได้มีพลังมากพอที่ผลักดันทั้งสังคมให้เคลื่อนไปได้ แต่ก็เชื่อว่าการทำให้วิชาการเป็นเรื่องที่น่าสนใจและเข้าถึงได้ อย่างน้อยสำหรับคนจำนวนหนึ่ง ก็น่าจะทำให้สังคมของเราดีขึ้นได้บ้างแล้ว และนี่คือสิ่งที่ดีที่สุด เท่าที่ผู้เขียนพึงกระทำได้ในตอนนี้

มาช่วยกัน เพื่อทำให้สังคมของเราดีขึ้นนะครับ ^^

Try not to become a man of success, but rather try to become a man of value. — Albert Einstein
 
“ไม่ต้องเป็นคนที่ยิ่งใหญ่ แต่จงเป็นคนที่มีคุณค่า” — อัลเบิร์ต ไอน์สไตน์

 

……….