12571043261351773352wasat_Theatre_Masks.svg.med

เสียงปรบมือของ“เซเลบริตี้”มีผลอย่างไร?

เมื่อจบการแสดงในโรงละคร สิ่งหนึ่งที่ต้องทำกันก็คือการลุกขึ้นปรบมือ บางการแสดงที่เราดูไม่รู้เรื่องก็มีคนลุกขึ้นปรบมือเป็นจำนวนมาก เคยสงสัยกันไหมว่าเป็นเพราะอะไร รวมทั้งเคยสงสัยไหมว่าทำไมต้องมีเซเลบริตี้นั่งกันอยู่แถวหน้าสุดให้เราเห็นกันด้วย

……….


บ่อยครั้งที่เราไปดูการแสดงต่างๆ เรามักจะเห็นว่ามีเซเลบริตี้ (Celebrity) ไม่ว่าเป็นดารา คนมีชื่อเสียง หรือไฮโซไฮซ้อนั่งกันอยู่แถวหน้าสุดของการแสดง พูดง่ายๆ ก็คือนั่งให้เราเห็นและต้องการให้เราเห็นด้วย ทั้งนี้ก็เพราะผู้จัดต้องการให้มีผู้ชมลุกขึ้นปรบมือเป็นจำนวนมาก หรือไม่ก็ต้องการให้เสียงปรบมือดังกึกก้องไปทั่วโรงละครนั่นเอง

ลองมาดูว่ามันเกี่ยวข้องกันอย่างไร ก่อนอื่นต้องทำความเข้าใจก่อนว่า เมื่อการแสดงจบ ผู้จัดย่อมต้องการให้ผู้ชมได้รับความทรงจำดีดีกลับไปด้วย ดังนั้น สิ่งสุดท้ายที่จะทิ้งท้ายก่อนจบการแสดงจึงสำคัญมาก และนั่นคือ “เสียงปรบมือ” เพราะมันเป็นรูปแบบหนึ่งของการส่งสัญญาณ (Signalling) ว่าการแสดงนี้เป็นที่ประทับใจผู้ชมส่วนใหญ่ และยังเป็นการย้ำให้เกิดความทรงจำของผู้ปรบมือเองด้วย อย่างน้อย ลองนึกดูว่า เมื่อการแสดงจบลง มีเสียงปรบมือดังๆ ก็ย่อมดีกว่ามีเสียงปรบมือไม่ดังเป็นแน่

“การลุกขึ้นยืนปรบมือหลังการแสดงจบลง” (ที่มาของภาพ)

……….

แล้วจะทำอย่างไรให้มีผู้ชมลุกขึ้นปรบมือเป็นจำนวนมากหรือมีเสียงปรบมือดังๆ Miller and Page (2004) ได้ทำการศึกษาเรื่องนี้ไว้ในชื่อว่า “แบบจำลองการลุกขึ้นปรบมือ” (Standing Ovations Model) โดยแบบจำลองเริ่มจากข้อสมมติ ๔ ข้อ ได้แก่

๑. การแสดงมีคุณภาพ Q
๒. ผู้ชมแต่ละคนไม่สามารถประเมินคุณภาพที่ถูกต้องได้อย่างแม่นยำ พวกเขาจึงรับรู้เพียงสัญญาณ (S) ว่าการแสดงนั้นดีหรือไม่ โดยสัญญาณก็คือคุณภาพที่มาพร้อมกับความคลาดเคลื่อนจากการประเมิน (e) หรือ S = Q + e
๓. กฎข้อแรก ผู้ชมจะยืนขึ้นปรบมือ หากสิ่งที่เขารับรู้ได้ถึงคุณภาพดีกว่าที่มาตรฐานในใจที่เขาคิดไว้ (Threshold: T) นั่นคือ ผู้ชมจะยืนขึ้นปรบมือ ถ้า S > T และไม่สนใจว่าผู้อื่นคิดอย่างไร
๔. กฎข้อต่อมา เนื่องจากเวลาในการคิดหรือประเมินคุณภาพจำกัดมากๆ [ลองจินตนาการดูว่าเวลาที่การแสดงจบ เรามีเวลาแค่เสี้ยววินาทีในการตัดสินใจว่าจะลุกขึ้นปรบมือหรือไม่] การลุกขึ้นปรบมือจึงไม่ได้ถูกตัดสินใจอย่างอิสระ แต่ขึ้นอยู่กับจำนวนผู้ปรบมือคนอื่นๆ ในโรงละครด้วย (Peer Effect) นั่นคือ ผู้ชมจะลุกขึ้นปรบมือ หากผู้ชมคนอื่นๆ ลุกขึ้นปรบมือมากกว่าสัดส่วน X% ของจำนวนผู้ชมในโรงละคร โดยค่า X เป็นมาตรฐานในใจของผู้ชมแต่ละคน

ผลของแบบจำลองสามารถสรุปได้ว่า จำนวนผู้ชมจะยืนขึ้นปรบมือมากขึ้น เมื่อ

๑. การแสดงมีคุณภาพสูง (High Q) เพราะ S (= Q↑↑ + e) >> T
๒. มาตรฐานการตัดสินคุณภาพของผู้ชมต่ำ (Low T) เพราะ S (=Q + e) >> T↓↓
๓. มาตรฐานการยืนปรบมือเมื่อคนอื่นยืนปรบมือต่ำ (Low X) นั่นคือ ผู้ชมคนยืนปรบมือไม่ต้องมาก ผู้ชมคนนั้นๆ ก็ยืนปรบมือตามแล้ว
๔. ค่าความคลาดเคลื่อนสูง (High e)

กรณีของค่าความคลาดเคลื่อนสูงสามารถอธิบายได้ด้วยตัวอย่างต่อไปนี้ สมมติว่ามีผู้ชม 100 คนในโรงละคร พวกเขามีมาตรฐานในใจอยู่ที่ 60 ขณะที่คุณภาพของการแสดงอยู่ที่ 50 ผู้ชมจะยืนขึ้นปรบมือ ถ้า Q + e > T ถ้า e มีค่าต่ำ เช่น e = 15 คนที่จะยืนขึ้นคือคนที่อยู่ในช่วง 60-65 แต่ถ้า e = 50 คนที่จะยืนขึ้นคือคนที่อยู่ในช่วง 60-100 ภาพที่ ๑ อธิบายผลของความคลาดเคลื่อนที่มีต่อจำนวนผู้ชมที่ยืนขึ้นปรบมือ

“ภาพที่ ๑ ผลของความคลาดเคลื่อนที่มีต่อจำนวนผู้ยืนปรบมือ”


แล้วความคลาดเคลื่อนจะสูงหรือต่ำขึ้นอยู่กับอะไร หนึ่งคือ ยิ่งผู้ชมมีความเชี่ยวชาญในการดูการแสดงต่ำเท่าไหร่ (Audience) ความคลาดเคลื่อนก็จะยิ่งสูง และสองคือ ยิ่งการแสดงมีหลากหลายมิติเท่าไหร่ (Multidimension) ความคลาดเคลื่อนก็จะยิ่งสูง ซึ่งจะทำให้จำนวนคนยืนขึ้นปรบมือสูงขึ้น ดังนั้น ผู้จัดการแสดงต้องทำให้การแสดงมีหลายมิติเข้าไว้

……….

ลึกลงไปกว่านั้น หากเรานึกถึงที่นั่งของโรงละคร จะมีลักษณะเป็นดังภาพที่ ๒ และสมมติว่าเรานั่งอยู่ในตำแหน่งสีแดง เราจะพบว่า เราไม่ได้มองเห็น (Observe) การลุกขึ้นปรบมือของผู้ชมคนอื่นๆ ทั้งโรงละคร แต่มองเห็นเป็นรูปกรวยเฉพาะคนที่อยู่หน้าเราเท่านั้น

“ภาพที่ ๒ ผู้ชมไม่ได้มองเห็นผู้ชมคนอื่นทั่วทั้งโรงละคร พวกเขาเห็นแค่ที่อยุูในสายตา”


คนที่นั่งอยู่แถวหน้าสุดจึงมีบทบาทมาก เพราะเมื่อเขาลุกขึ้นปรบมือ เขาจะเป็นสัดส่วนที่สูง (High X) ของจำนวนผู้ชมที่ลุกขึ้นปรบมือในสายตาของผู้ชมในแถวที่สอง ผู้ชมในแถวที่สองก็จะลุกขึ้นปรบมือตาม และกลายเป็นสัดส่วนสำคัญของผู้ชมในกลุ่มที่สามต่อๆ ไปเรื่อยๆ จนผู้ชมเกือบทั้งโรงละครลุกขึ้นปรบมือจากแถวหน้าสุดไปยังแถวหลัง

นอกจากนี้ การมาชมการแสดงเป็นคู่ก็เช่นเดียวกัน เพราะเมื่อการแสดงจบ หากคู่ที่มากับเราลุกขึ้นปรบมือ เราเองก็คงต้องลุกขึ้นปรบมือด้วยเช่นกัน [ไม่มีทางเลือก] อีกทั้งหากเราไม่รู้ว่าคู่ของเราจะลุกหรือไม่ การลุกขึ้นปรบมือของเราก็ยังน่าจะดีกว่าการไม่ลุกขึ้นปรบมือเช่นกัน การมาเป็นคู่จึงมีโอกาสที่จะได้เสียงปรบมือมากกว่าด้วย

……….

กล่าวโดยสรุปก็คือ เมื่อการแสดงจบลง หากผู้จัดต้องการได้รับเสียงปรบมือดังๆ นอกจากพวกเขาจะผลิตการแสดงที่มีคุณภาพดีแล้ว พวกเขายังสามารถทำได้โดยจัดการแสดงให้มีหลายมิติเข้าไว้ จ้างเซเลบริตี้มานั่งแถวหน้าสุดเพื่อทำหน้าที่ลุกขึ้นปรบมือ และประชาสัมพันธ์ให้มาชมการแสดงกันเป็นคู่

เลยพาลไปนึกถึงว่าแบบจำลองนี้จะใช้กับการสัมมนาวิชาการได้ไหม แต่เท่าที่ทราบ ผู้ฟังส่วนใหญ่มักจะปรบมือเพราะดีใจที่จบแล้ว มากกว่าประทับใจแฮะ สงสัยต้องปรับแบบจำลองกันต่อไป ^^






ที่มา: Page, Scott E. “The Standing Ovation Problem.” By John H. Miller. Print. (บทสรุปอ่านได้ที่นี่).

featured image from here

  • http://www.facebook.com/chanakan.ds Chanakan Rittiweerachai

    (y)

  • http://www.facebook.com/chanakan.ds Chanakan Rittiweerachai

    (y)