110125- Failed coup in Bangladesh-illustration for article by Haroon Habib

อะไรคือ “ราคา”ของการ(ไม่ถูก)ยึดอำนาจ?

การปฏิวัติเป็นเรื่องที่พบเห็นกันบ่อยครั้งทั่วโลก แต่การศึกษาทางเศรษฐศาสตร์เชิงประจักษ์ที่เกี่ยวข้องกับประเด็นนี้ยังมีน้อยมาก โดยเฉพาะหากเทียบกับทางรัฐศาสตร์ Leon (2012) ได้ชี้ให้เห็นความสำคัญของงบประมาณทางการทหารของทั่วโลกที่มีผลต่อการเกิดการปฏิวัติในประเทศนั้นๆ

……….


ารปฏิวัติ การรัฐประหาร หรือการยึดอำนาจ (Coup d’etat) เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นทั่วโลก โดยมักมีวัตถุประสงค์หลักเพื่อนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงตัวผู้นำ (Change in Leader) แต่การศึกษาเชิงประจักษ์ในทางเศรษฐศาสตร์ที่เกี่ยวข้องการปฏิวัติโดยตรงนั้นก็ยังไม่มีให้เห็นมากนัก ยกเว้นงานตีพิมพ์ของ Londregan and Poole (1990) ที่ให้ข้อสรุปว่า “ประเทศที่มีรายได้เฉลี่ยต่อหัวต่ำจะมีโอกาสในการเกิดปฏิวัติที่สูงขึ้น”

“รถถังที่กลายเป็นสัญลักษณ์ของการปฏิวัติไปเสียแล้ว” (ที่มาของภาพ)


แม้ว่าในเชิงประจักษ์จะมีไม่มากนัก แต่ในทางทฤษฎีก็มีให้เห็นอยู่พอสมควร โดยเฉพาะในประเด็นเรื่องรายจ่ายทางการทหาร (Military Spending) งานวิจัยที่ตีพิมพ์เมื่อเร็วๆ นี้ก็คือ Acemoglu, Ticchi and Vindigni (2010) Besley and Robinson (2010) และ Leon (2009) ที่ให้ข้อสรุปตรงกันว่า “การปฏิวัติสามารถถูกซื้อเก็บไว้ (Bought off) ได้ด้วยรายจ่ายทางการทหารของรัฐบาลที่สูงพอ”

……….


Leon (2012) นำเอาแนวคิดทางทฤษฎีนี้มาวิเคราะห์เชิงประจักษ์ โดยใช้ข้อมูลการปฏิวัติ ทั้งสำเร็จและล้มเหลว รายจ่ายทางการทหาร และตัวแปรควบคุมอื่นๆ จาก 153 ประเทศในช่วงปี 1963-1999 เพื่อศึกษาความสัมพันธ์ของรายจ่ายทางการทหารและการปฏิวัติในสองช่วงเวลา คือ ก่อนและหลังเหตุการณ์ปฏิวัติ

ตารางที่ ๑ แสดงให้เห็นว่า จากการปฏิวัติจำนวน 232 ครั้ง จำนวนการปฏิวัติที่สำเร็จและล้มเหลวมีสัดส่วนใกล้เคียงกันประมาณครึ่งต่อครึ่ง เช่นเดียวกับจากจำนวน 153 ประเทศ เกือบครึ่งหนึ่งเคยเกิดปฏิวัติภายในประเทศของตนเองอย่างน้อย 1 ครั้ง

“ตารางที่ ๑ การปฏิวัติที่สำเร็จและล้มเหลว (บน) ประเทศที่เคยเกิดการปฏิวัติ (ล่าง)”


สถานการณ์หลังการปฏิวัตินั้น Leon (2012) ใช้เทคนิคการวิเคราะห์ที่เรียกว่า Difference-in-Differences โดยทำการพิจารณาแนวโน้มของรายจ่ายทางการทหารก่อนปฏิวัติ เปรียบเทียบกับหลังการปฏิวัติในสถานการณ์ที่การปฏิวัติประสบความสำเร็จ (Treatment Group) และล้มเหลว (Control Group)

“ทหารถือปืนท่ามกลางฝูงชนก็เป็นอีกสัญลักษณ์หนึ่งเช่นกัน (ภาพนี้ที่ Honduras)” (ที่มาของภาพ)


จากภาพที่ ๑ ที่แสดงความสัมพันธ์ระหว่างช่วงเวลา 5 ปีก่อนและหลังการปฏิวัติ (แกนนอน) และสัดส่วนรายจ่ายทางการทหารต่อ GDP (Military Spending/GDP) (แกนตั้ง) พบว่า ประเทศที่มีการปฏิวัติสำเร็จ (เส้นทึบ) มีแนวโน้มของรายจ่ายทางการทหารไม่ต่างไปจากประเทศที่มีการปฏิวัติล้มเหลว (เส้นประ) อันที่จริงรายจ่ายทางการทหารของประเทศที่ปฏิวัติล้มเหลวสูงกว่าของประเทศที่ปฏิวัติสำเร็จด้วยซ้ำ นั่นหมายความว่ารายจ่ายทางการทหารก่อนการปฏิวัตินั้นไม่มีผลต่อความสำเร็จหรือล้มเหลวของการปฏิวัตินั่นเอง แต่หลังจากการปฏิวัติเสร็จสิ้น ประเทศที่มีการปฏิวัติสำเร็จจะมีสัดส่วนรายจ่ายทางการทหารต่อ GDP เพิ่มสูงขึ้นกว่าเดิม 25% เมื่อเปรียบเทียบกับการเปลี่ยนแปลงรายจ่ายทางการทหารของประเทศที่ล้มเหลว

“ภาพที่ ๑ แนวโน้มของสัดส่วนรายจ่ายทางการทหารต่อ GDP”


นอกจากนี้ หากพิจารณาในเชิงของแบบจำลอง เพื่อควบคุมปัจจัยอื่นๆ ได้แก่ GDP ต่อหัว มูลค่า GDP จำนวนประชากร จำนวนทหาร ประชาธิปไตย บทบาทของทหาร (Military Regime) ความไม่มีเสถียรภาพ (Instability) ให้คงที่แล้ว ผลจะออกมาตามตารางที่ ๒ ซึ่งตัวแปรตามในคอลัมน์ (1)-(3) คือสัดส่วนรายจ่ายทางการทหารต่อ GDP และในคอลัมน์ (4)-(6) คือมูลค่ารายจ่ายทางการทหาร จะพบว่า Post-Coup Dummy แสดงรายจ่ายทางการทหารระหว่างก่อนกับหลังการปฏิวัติ (เฉพาะกรณีที่ล้มเหลว) มีค่าเป็นลบ Success Dummy แสดงรายจ่ายทางการทหารระหว่างก่อนปฏิวัติกรณีสำเร็จกับล้มเหลวมีค่าเป็นลบ ขณะที่ Post-Coup Dummy x Success Dummy แสดงรายจ่ายทางการทหารหลังปฏิวัติกรณีสำเร็จมีค่าเป็นบวก ซึ่งหมายความว่าหากปฏิวัติสำเร็จ “สัดส่วนรายจ่ายทางการทหารต่อ GDP” จะเพิ่มสูงขึ้นอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ

“ตารางที่ ๒ Difference-in-Differences ก่อนและหลังการปฏิวัติ 1 ปี”


ขณะที่สถานการณ์ก่อนการปฏิวัตินั้น Leon (2012) ได้ใช้แบบจำลองข้อมูลเชิงระนาบ (Panel Data) ทำการวิเคราะห์ผลกระทบของสัดส่วนรายจ่ายทางการทหารต่อ GDP ที่มีต่อการปฏิวัติ โดยเขาใช้ทั้งแบบจำลองกำลังสองน้อยที่สุด (Least Squared), Fixed Effects และ Logit ดังตารางที่ ๓ พบว่า การเพิ่มสัดส่วนรายจ่ายทางการทหารต่อ GDP 1% จะลดโอกาสของการเกิดปฏิวัติในช่วง 5 ปีไป 1.5% จากค่าเฉลี่ยของโอกาสที่จะเกิดอยู่ที่ 18% หรือกล่าวอีกด้านหนึ่งได้ว่า การปฏิวัติจะมีโอกาสเกิดมากในประเทศที่มีสัดส่วนรายจ่ายทางการทหารต่อ GDP ต่ำ

“ตารางที่ ๓ รายจ่ายทางการทหารกับการปฏิวัติ”

……….


ข้อสรุปของ Leon (2012) จึงสอดคล้องกับแนวคิดทางทฤษฎีด้านเศรษฐศาสตร์การเมืองเกี่ยวกับความสัมพันธ์ระหว่างรายจ่ายทางการทหารกับการปฏิวัติ โดย ๑) การปฏิวัติที่สำเร็จจะทำให้รายจ่ายทางการทหารต่อ GDP เพิ่มสูงขึ้นมากกว่าการปฏิวัติที่ล้มเหลว และ ๒) รายจ่ายทางการทหารที่สูงขึ้นมีผลทำให้การปฏิวัติลดลง นั่นหมายความว่า ราคาของการ(ไม่ถูก)ยึดอำนาจก็คืองบประมาณทางการทหารหรือรายจ่ายทางการทหารที่สูงขึ้น

อย่างไรก็ตาม ข้อสรุปของ Leon (2012) นั้นเป็นข้อสรุปในภาพรวมของโลก ซึ่งการปฏิวัติ รวมทั้งการเมืองด้านอื่นๆ ของแต่ละประเทศก็ย่อมมีความแตกต่างกันไป และก็คงต้องศึกษาลงลึกเป็นกรณีๆ ไปด้วยเช่นกัน แต่กระบวนการหาคำตอบของเขานั้นก็นับเป็นวิธีคิดที่จะทำให้การเมืองเป็นวิทยาศาสตร์ที่สามารถอธิบายได้อย่างน่าสนใจในอนาคต






ที่มา: Leon, G., 2012. “Loyalty for Sale? Military Spending and Coups d’Etat,” Cambridge Working Papers in Economics 1209, Faculty of Economics, University of Cambridge.

featured image from thehindu.com