how-to-draw-cartoons-102

ถ้าประชากรมี“อายุยืนขึ้น” ประเทศจะรวยขึ้นหรือไม่?

ประเทศที่ร่ำรวย ประชากรจะมีอายุยืนยาว เพราะมีคุณภาพชีวิตที่ดี แล้วในทางกลับกัน การที่ประชากรมีอายุยืนขึ้นจะทำให้พวกเขาจะรวยขึ้นหรือไม่ Acemoglu and Johnson (2007) ตอบว่าไม่ และ Cervellati and Sunde (2011) เสริมว่าขึ้นอยู่กับขั้นการเปลี่ยนแปลงโคงสร้างประชากรของแต่ละประเทศ

……….


ข้อมูลของประเทศต่างๆ แสดงให้เห็นว่า รายได้ต่อหัวที่สูงขึ้นจะมีผลต่อช่วงอายุของชีวิต (Life Expectancy) ที่ยาวขึ้นของประชากร เพราะมันสะท้อนถึงคุณภาพชีวิตและความเป็นอยู่ของคนในสังคมนั้นๆ แต่คำถามเกิดขึ้นในทางกลับกัน หากช่วงอายุของชีวิตของประชากรสูงขึ้น แล้วรายได้ต่อหัวจะสูงขึ้นด้วยหรือไม่ เพราะถ้าใช่ นั่นหมายความว่าการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานทางสาธารณสุขไม่ได้มีผลแค่คุณภาพชีวิตของประชากรเท่านั้น แต่ยังช่วยให้เศรษฐกิจเติบโตขึ้น และถ้าไม่ใช่ การลงทุนโครงสร้างพื้นฐานทางสาธารณสุขก็จะเป็นเพียงต้นทุนที่สังคมต้องจ่ายเท่านั้น

ประเด็นปัญหาทางเศรษฐมิติของเรื่องนี้คือความสัมพันธ์เชิงเหตุและผล (Causality Problem) เนื่องจากแม้รายได้ต่อหัวและช่วงอายุของชีวิตจะมีค่าความสัมพันธ์ต่อกันสูง แต่อาจบอกได้ไม่ง่ายนักว่าตัวแปรใดมีผลต่อตัวแปรใดกันแน่ วิธีวิเคราะห์ที่เหมาะสมจึงต้องหาตัวแปรเครื่องมือ (Instrumental Variable) เข้ามาช่วยวิเคราะห์แทน

งานของ Lorentzen et al (2008) ใช้สภาพภูมิศาสตร์-ภูมิอากาศวิทยา (Geo-climatological Conditions) ของประเทศต่างๆ เป็นตัวกำหนดช่วงอายุของชีวิต และพบว่า ช่วงอายุของชีวิตที่ยาวขึ้นทำให้เศรษฐกิจเติบโตขึ้น ขณะที่งานของ Acemoglu and Johnson (2007) ใช้การเปลี่ยนแปลงของวิทยาการระบาด (Epidemiological Transition) หลังสงครามโลกครั้งที่สองของภายในแต่ละประเทศเอง มาเป็นตัวกำหนดอัตราการตาย (Mortality Rate) ซึ่งมีผลต่อช่วงอายุของชีวิตอีกขั้นหนึ่ง พบว่า ช่วงอายุของชีวิตมีผลโดยตรงเพียงเล็กน้อยต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจ แต่มีผลอย่างมากต่อจำนวนประชากร ดังนั้น รายได้ต่อหัวของประชากรจะลดลงในที่สุด ตามตารางที่ ๑ ซึ่งงานของ Acemoglu and Johnson (2007) นี้นับเป็นจุดเริ่มต้นสำคัญของข้อถกเถียงต่อประเด็นเรื่องช่วงอายุของชีวิตกับการเติบโตทางเศรษฐกิจในเวลาต่อมา

“ตารางที่ ๑ ผลกระทบของช่วงอายุชีวิตที่มีต่อรายได้ต่อหัว”

……….

ในทางทฤษฎีแล้ว ช่วงอายุของชีวิตที่ยาวขึ้นหรือสั้นลงสามารถส่งผลได้ทั้งบวกและลบกับรายได้ต่อหัว เพราะในด้านหนึ่ง มันหมายถึงการที่ประชากรมีสุขภาพดีขึ้น อย่างน้อยก็ในช่วงวัยทำงาน และยังเป็นแรงจูงใจให้ประชากรนึกถึงการลงทุนในระยะยาว เช่น การพัฒนาตัวเอง การศึกษา แต่ในอีกด้านหนึ่ง มันจะนำไปสู่การมีประชากรจำนวนมากขึ้น รวมถึงการใช้ทรัพยากรของผู้สูงอายุซึ่งบริโภคมากกว่าผลิต

แนวคิดที่ว่ามาส่วนใหญ่ยังเป็นแค่ทฤษฎี โดยงานวิจัยเชิงประจักษ์ยังมีไม่มาก Cervellati and Sunde (2011) ทำการศึกษาผลกระทบเชิงเหตุและผลด้วยแบบจำลองที่ยอมให้มีการเปลี่ยนแปลงที่ไม่เป็นเส้นตรงของช่วงอายุชีวิต และใช้ข้อมูลชุดเดียวกันกับ Acemoglu and Johnson (2007) โดยเน้นไปที่ขั้นของการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างประชากร (Demographic Transition) ของแต่ละประเทศ

ปกติแล้ว ขั้นของการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างประชากรประกอบด้วย 3 ขั้นตอนคือ

1) ช่วงก่อนการเปลี่ยนแปลงทางประชากร (Pre-transition Phase) เป็นช่วงที่มีอัตราการตายอยู่ในระดับสูง แต่มีการแปรผันในบางช่วงเวลา ตามการเกิดขึ้นของภาวะการขาดแคลนอาหาร สงคราม และการแพร่ระบาดของโรคต่างๆ เพื่อรักษาดุลยภาพทางประชากร ที่มีอัตราเกิดสูงตามไปด้วย ช่วงนี้มักเกิดขึ้นก่อนการปฏิวัติอุตสาหกรรม

2) ช่วงการเปลี่ยนแปลงทางประชากร (Transition Phase) เป็นช่วงที่อัตราการตาย เริ่มลดลง เนื่องจากการพัฒนาเศรษฐกิจสังคม มีการขยายตัวทางอุตสาหกรรม และความเป็นเมือง ประกอบกับความทันสมัย ทำให้คู่สมรสมองว่า การมีบุตรมากไม่สอดคล้องกับภาวะเศรษฐกิจ และสังคม จึงให้ความสำคัญกับคุณภาพของบุตร มากกว่าปริมาณของบุตร ทำให้มีการควบคุมภาวะเจริญพันธุ์โดยการคุมกำเนิด และในที่สุดภาวะเจริญพันธุ์ก็ลดลงตามไปด้วย

3) ช่วงหลังการเปลี่ยนแปลงทางประชากร (Post-Transition Phase) เป็นช่วงที่อัตราการเกิด และการตาย ลดลงจนอยู่ในระดับต่ำ ในช่วงนี้ การเกิดจะมีการแปรผันบ้าง ตามสภาวการณ์ทางเศรษฐกิจและสังคม

……….

Cervellati and Sunde (2011) ใช้ช่วงที่ 1 และ 3 มาเปรียบเทียบผลกระทบของช่วงอายุของชีวิตที่มีต่อรายได้ต่อหัวของประชากร ผลที่ได้ตามรูปที่ ๑ แสดงการเปลี่ยนแปลงของช่วงอายุชีวิต ณ เวลาที่คนๆ นั้นเกิดเปรียบเทียบปี 1940 และ 1980 กับ การเปลี่ยนแปลงของรายได้ต่อหัวในช่วงเวลาเดียวกัน นั่นคือ อายุที่ยืนขึ้นของประชากรในประเทศที่ยังไม่ได้เข้าสู่การเปลี่ยนผ่านภาวะเจริญพันธุ์ (Fertility Transition) ในช่วงปี 1940 (‘Pre-transitional’ Countries) จะส่งผลให้รายได้ต่อหัวลดลง ขณะที่อายุของประชากรที่ยืนขึ้นของประเทศที่ผ่านช่วงเปลี่ยนผ่านภาวะเจริญพันธุ์แล้ว (‘Post-transitional Countries’) จะมีรายได้ต่อหัวเพิ่มขึ้น

“รูปที่ ๑ ความสัมพันธ์ระหว่างการเปลี่ยนแปลงช่วงอายุชีวิตในช่วงปี 1940-80 กับรายได้ต่อหัว”


งานศึกษายังขยายไปยังการจำแนกประเภทตามประเทศยากจนหรือไม่ยากจนด้วย ซึ่งอายุที่ยืนขึ้นของประชากรในประเทศยากจนจะทำให้ประเทศยิ่งจนลง แต่อายุที่ยืนขึ้นของประชากรในประเทศร่ำรวยจะทำให้พวกเขารวยขึ้น (ดูรายละเอียดจากตารางที่ ๒)

“ตารางที่ ๒ ผลกระทบเชิงเหตุและผลของช่วงอายุชีวิตที่มีต่อรายได้ต่อหัว”

……….

กล่าวโดยสรุปคือ ขั้นของการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างประชากรมีบทบาทต่อผลกระทบของช่วงอายุชีวิตประชากรที่มีต่อรายได้ต่อหัวของประชากร ในประเทศที่ยังไม่ผ่านช่วงการเปลี่ยนแปลงประชากร หรือประเทศที่ยากจน อายุประชากรที่ยืนขึ้นจะส่งผลให้รายได้ต่อหัวลดลง(จนลง) เพราะผลของการเพิ่ม“จำนวน”ประชากรมีมากกว่าผลของ“คุณภาพ”สาธารณสุข ซึ่งจะเป็นภาระของรัฐบาลในการจัดการ ขณะที่ประเทศที่ผ่านช่วงการเปลี่ยนแปลงประชากรแล้ว หรือประเทศที่ร่ำรวย อายุประชากรที่ยืนขึ้นจะส่งผลให้รายได้ต่อหัวเพิ่มขึ้น(รวยขึ้น) เพราะผลของ“คุณภาพ”สาธารณสุขมีมากกว่าผลของการเพิ่ม“จำนวน”ประชากร ทำให้เกิดแรงจูงใจต่อการพัฒนาทุนมนุษย์

แม้ว่าจะเป็นประเด็นที่ดูเหมือน การได้อย่าง-เสียอย่างของคุณภาพและจำนวนประชากร (Quality-Quantity Tradeoffs of Population) แต่ข้อเสนอแนะคงไม่ใช่ว่าให้ลดจำนวนประชากรลง และคงไม่ใช่การตีค่าความมีชีวิตของประชากรด้วยต้นทุนสาธารณสุข เพียงแต่หากการพัฒนาคุณภาพของสาธารณสุขที่ส่งผลให้ช่วงอายุชีวิตของประชากรยาวขึ้นนั้นเป็นภาระต้นทุนของสังคมแล้วล่ะก็คงได้เวลาอย่างจริงจังที่สังคมควรจะนึกถึงการพัฒนาคุณภาพของประชากรในประเทศอย่างจริงจังเสียที






ที่มา:
- วิทยาลัยประชากรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (2008), “ทฤษฎีประชากร (Population Theories)”, available at here.
- Acemoglu, D, and S Johnson (2007), “Disease and Development: The Effect of Life Expectancy on Economic Growth”, Journal of Political Economy,115(6):925­-985.
- Cervellati, M, and U Sunde (2012), “Diseases and development: Does life expectancy increase income growth?”, available at voxeu.
- Cervellati, M, and U Sunde (2011), “Life Expectancy and Economic Growth: The Role of the Demographic Transition”, Journal of Economic Growth, 16(2): 99-­133.
- Lorentzen, P, J McMillan, and R Wacziarg (2008), “Death and Development”, Journal of Economic Growth, 13(2):81­-124.

featured image from here