Devil-And-Angel-cartoon

“ขึ้นสวรรค์” หรือ “ลงนรก” มีผลกับอาชญากรรมอย่างไร?

“ทำความดี ละเว้นความชั่ว” เป็นแกนกลางของคำสอนในทุกศาสนา แล้ว “ทำความดี” กับ “ละเว้นความชั่ว” มันจะมีผลเหมือนกันหรือไม่กับจำนวนอาชญากรรมที่เกิดขึ้น ผลการศึกษาพบความน่าสนใจว่า ขณะที่คำสอนเรื่องความชั่วทำให้จำนวนอาชญากรรมลดลง แต่คำสอนเรื่องความดีกลับจะทำให้อาชญากรรมเพิ่มสูงขึ้น

……….


าสนาคือกระบวนการหนึ่งในการควบคุมพฤติกรรมของคนในสังคมให้ทำในสิ่งที่ดีต่อส่วนรวม ผลของศาสนาในทางบวกก็มักเกี่ยวข้องกับการบริจาคทรัพย์สินหรือการลงแรงช่วยเหลือผู้อื่น ขณะที่ในทางลบก็มักจะเกี่ยวกับการไม่โกงหรือไม่ทำกิจกรรมที่ทำร้ายผู้อื่น และก็คงไม่น่าแปลกใจนัก หากผลของศาสนาจะทำให้สังคมน่าอยู่มากขึ้น ให้ชัดเจนกว่านั้นก็คือ สังคมนั้นๆ มีจำนวนอาชญากรรมที่ลดลง

อันที่จริง คำสอนของ(ทุก)ศาสนามักประกอบด้วยสองส่วนหลักๆ คือการให้รางวัลและการลงโทษที่อิงกับเรื่องเหนือธรรมชาติ (Supernatural Reward and Punishment) โดยมีเป้าหมายของชีวิตหลังความตายที่อาจอยู่ในสวรรค์หรือในนรก (Heaven or Hell) ที่น่าสนใจก็คือ องค์ประกอบของคำสอนทางศาสนาในสองส่วนนี้อาจจะมีผลต่อพฤติกรรมของมนุษย์ที่ไม่เหมือนกัน

“สวรรค์ กับ นรก” (ที่มาของภาพ)

GroupPic2

……….

Shariff (2012) ทำการทดสอบดูว่า องค์ประกอบของศาสนาในการให้รางวัลและการลงโทษที่อิงกับเรื่องเหนือธรรมชาติ นั่นคือความเชื่อเรื่องสวรรค์และนรกนั้น มีผลต่อพฤติกรรมของคนในสังคมผ่านทางจำนวนอาชญากรรมที่แตกต่างกันหรือไม่

บทความใช้ข้อมูลเกี่ยวกับความเชื่อเรื่องสวรรค์ นรก และพระเจ้า [ความเชื่อที่มีต่อพระเจ้าอาจนับได้ว่าเป็นความเชื่อรวมๆ ที่ไม่ได้จำแนกความเป็นสวรรค์หรือนรก] จากการสำรวจ World Value Surveys และ European Value Surveys จำนวน 143,197 ตัวอย่างใน 67 ประเทศตลอด 5 ช่วงเวลามีการสำรวจระหว่างปี 1981-2007 โดยความเชื่อเรื่องสวรรค์ นรก และพระเจ้ามาจากคำถามที่ว่า “คุณมีความเชื่อต่อเรื่องเหล่านี้หรือไม่?” ซึ่งหากกลุ่มตัวอย่างเชื่อก็จะถูกนับค่าเป็น 1 และไม่เชื่อนับค่าเป็น 0

ตัวแปรทางจำนวนอาชญากรรมมาจาก United Nations Office on Drugs and Crime (UNODC) ซึ่งประกอบด้วยอาชญากรรมทางด้านการฆาตกรรม ปล้น ข่มขืน ลักพาตัว ลอบฆ่า ลักขโมย ยาเสพติด ลักรถ ย่องเบา และค้ามนุษย์ โดยจำนวนอาชญากรรมจะวัดเป็นค่ามาตรฐานทางสถิติ (Z Score) เพื่อให้จำนวนอาชญากรรมเฉลี่ยของแต่ละประเทศถูกปรับมาอยู่ในมาตรฐานค่าเดียวกัน

ความสัมพันธ์ระหว่างตัวแปรต่างๆ กับจำนวนอาชญากรรมแต่ละประเภทผ่านทางการประมาณค่าสมการถดถอยเส้นตรง แสดงได้ตามตารางที่ ๑ ที่น่าสนใจคือ ความเชื่อเรื่องสวรรค์กลับมีผลในทางบวกกับจำนวนอาชญากรรม ขณะที่ความเชื่อเรื่องนรกมีผลในทางลบต่อจำนวนอาชญากรรม

ผลการประมาณค่าสมการดังกล่าวยังคงให้ความสัมพันธ์ทางบวกของความเชื่อเรื่องสวรรค์ และทางลบของความเชื่อเรื่องนรกที่มีต่อจำนวนอาชญากรรมไม่เปลี่ยนแปลง แม้ว่าจะทำการควบคุมตัวแปรที่จำเป็นอื่นๆ เพิ่มเติม เช่น จำนวนครั้งของการเข้าร่วมพิธีกรรมทางศาสนา ศาสนาที่นับถือ รายได้ต่อหัว และอื่นๆ ดูได้จากด้านล่างของตารางที่ ๑

“ตารางที่ ๑ ผลการประมาณค่าความสัมพันธ์โดยสมการถดถอยของความเชื่อเรื่องสวรรค์และนรกกับจำนวนอาชญากรรม”

journal.pone.0039048.t001

หากพิจารณาผลการประมาณค่าจำนวนอาชญากรรมรวม (ในคอลัมน์สุดท้าย) ในสมการที่ควบคุมตัวแปรอื่นๆ แล้ว จะพบว่า ความเชื่อเรื่องนรกมีผลทำให้จำนวนอาชญากรรมของประเทศนั้นๆ ลดลงจากค่ามาตรฐาน 1.698 หน่วย ขณะที่ความเชื่อเรื่องสวรรค์จะกลับมีผลทำให้จำนวนอาชญากรรมของประเทศนั้นๆ สูงขึ้นจากค่ามาตรฐาน 1.820 หน่วย

……….

อย่างไรก็ตาม การประมาณค่าสมการอาจมีปัญหาว่ามีความสัมพันธ์ระหว่างความเชื่อเรื่องสวรรค์และนรกอยู่ในสมการ (Multicollinearity) ซึ่งค่าที่ได้อาจมีความคลาดเคลื่อนไป Shariff (2012) จึงทำการยุบรวมตัวแปร (ความเชื่อเรื่องสวรรค์ – ความเชื่อเรื่องนรก) ให้เป็นตัวแปรเดียวกันก่อนการประมาณค่า เพื่อลดปัญหานี้ที่เกิดขึ้น ผลการประมาณค่าแสดงได้ตามรูปที่ ๑ ซึ่งยังคงสอดคล้องกับสมการที่ประมาณค่าแยกตัวแปรกัน

ผลการประมาณค่า พบว่า (ความเชื่อเรื่องสวรรค์ – ความเชื่อเรื่องนรก) มีความสัมพันธ์ในทางบวกกับจำนวนอาชญากรรมในประเทศนั้นๆ ซึ่งสามารถตีความได้ว่า ความเชื่อเรื่องสวรรค์มีความสัมพันธ์ในทางบวก และความเชื่อเรื่องนรกมีความสัมพันธ์ในทางตรงกันข้าม [เนื่องจากเครื่องหมายเป็นลบ] เช่นเดียวกับผลที่ปรากฎในสมการตามตารางที่ ๑

“รูปที่ ๑ ความสัมพันธ์ระหว่าง(ความเชื่อเรื่องสวรรค์-นรก)กับจำนวนอาชญากรรม”

journal.pone.0039048.g001

……….

อันที่จริง ค่าตัวเลขที่มากขึ้นหรือลดลงกว่าค่ามาตรฐานว่าจะเป็นเท่าไหร่นั้น อาจดูไม่น่าสนใจมากนัก หากเปรียบเทียบกับทิศทางของความสัมพันธ์ที่ออกมา เพราะนั่นหมายความว่า สังคมที่คนกลัวจะ “ตกนรก” กันมากจะก่ออาชญากรรมน้อยลง ขณะที่สังคมที่มีคนที่พร้อมจะทำความดีเพื่อ “ขึ้นสวรรค์” จำนวนมาก กลับจะมีจำนวนอาชญากรรมมาก ทั้งนี้ก็เพราะสังคมที่เชื่อเรื่องสวรรค์มักจะผูกโยงกับ “การให้อภัย” หรือการให้โอกาสกับคนที่ทำผิด เพราะเป็นรูปแบบหนึ่งของการทำความดี รวมไปถึงการให้ความช่วยเหลือกับคนที่น่าสงสาร โดยไม่ได้สนใจมากนักว่าเขาควรได้รับหรือไม่ จึงมักก่อให้เกิดผลเสียด้านอื่นตามมา เช่น บทลงโทษทางสังคมที่ไม่มีประสิทธิผล หรือบทลงโทษทางกฎหมายที่ไม่จริงจัง เนื่องจากท้ายที่สุดแล้วบทลงโทษเหล่านี้ย่อมต้องสอดคล้องกับความเห็นชอบของคนในสังคม กระบวนการเหล่านี้เองที่มีผลทำให้อาชญากรรมในสังคมที่เชื่อเรื่องสวรรค์และพร้อมจะให้อภัยเพราะคิดว่าเป็นการทำดีเพิ่มสูงขึ้น

แม้ว่าการประมาณค่าแบบจำลองนี้ยังมีข้อวิจารณ์อยู่อีกมาก แต่ข้อสรุปหรืออย่างน้อยในแง่ของความสัมพันธ์ระหว่างความเชื่อเรื่องสวรรค์และนรกนั้น ก็น่าจะกระตุกให้เราคิดอะไรบางอย่างได้พอสมควรว่าการทำความดี โดยเฉพาะในมิติของการให้อภัยและการให้ความช่วยเหลือผู้อื่นแบบไม่คิดหน้าคิดหลังนั้นอาจทำร้ายสังคมที่เราอยู่โดยไม่รู้ตัวก็เป็นได้






ขอขอบคุณ @Flurrywong สำหรับบทความดีดีใน MEconomics ครับ

ที่มา:
- Flurrywong (2012) ความเชื่อเรื่องนรกสวรรค์กับอัตราการก่ออาชญากรรมมีความสัมพันธ์กันอย่างไร. ออนไลน์ที่นี่.
- Shariff AF, Rhemtulla M (2012) Divergent Effects of Beliefs in Heaven and Hell on National Crime Rates. PLoS ONE 7(6): e39048.

featured image from here