1000x500px-LL-bdc4df0e_cartoon-pirate

“โจรสลัด” มีที่มาอย่างไร?

การโจมตีของโจรสลัดเป็นเรื่องที่เราคุ้ยเคยกันดี แต่ก็เฉพาะในภาพยนตร์เท่านั้น แล้วในความจริง การโจมตีของโจรสลัดมีมากน้อยเพียงใด ที่ไหน ได้อะไรไปบ้าง รวมทั้งอะไรที่ทำให้คนเหล่านี้เลือกเป็นโจรสลัด เศรษฐศาสตร์จะลองตอบคำถามเหล่านี้ดู

……….


วลาที่พูดถึงโจรสลัด หลายคนคงนึกไปถึงสิ่งที่มีอยู่ในภาพยนตร์ โดยเฉพาะเรื่องดังอย่าง Pirates of the Caribbean ที่มีจำนวนผู้ชมมากมายและมีการสร้างอย่างยิ่งใหญ่ถึงสามภาค แต่เคยนึกกันไหมว่าสถานการณ์การโจมตีของโจรสลัดนั้นเป็นเรื่องจริง และยังมีอยู่จริงในปัจจุบัน

“ภาพยนตร์เรื่อง Pirates of the Caribbean” (ที่มาของภาพ)

blackbeards-ship-in

ในช่วงปี 1984 ถึง 2010 จำนวนครั้งของการโจมตีของโจรสลัด(เท่าที่มีการบันทึกอย่างเป็นทางการโดย International Maritime Organization: IMO)มีจำนวนมากถึง 6,078 ครั้ง และเพิ่มขึ้นมากในช่วงทศวรรษ 1990s ประมาณ 2.7 เท่า ช่วงที่เพิ่มมากที่สุดคือจากปี 1998 ไปยังปี 2000 ถึงเกือบ 2 เท่า (ดูภาพที่ ๑)

“ภาพที่ ๑ จำนวนครั้งในการโจมตีของโจรสลัด”

Maritime 1

จากข้อมูลของ IMO พบว่า ในช่วงปี 1991 ถึง 2010 มีคนถูกฆ่า 390 คน บาดเจ็บ 945 คน ถูกลักพาตัว 7,111 คน และหายสาบสูญ 203 คน นี่ยังไม่นับการรายงานที่ว่ายอดตัวเลขอย่างเป็นทางการอาจจะต่ำกว่าตัวเลขจริงกว่า 50% เลยทีเดียว อย่างไรก็ดี ตัวเลขของจำนวนครั้งในการโจมตีจริงและความพยายามจะโจมตี(แต่ยังไม่ได้ลงมือจริง)นั้นมีส่วนต่างที่มากขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งอาจจะเป็นเรื่องดี (ดูภาพที่ ๒)

“ภาพที่ ๒ จำนวนครั้งของความพยายามและการโจมตีจริงของโจรสลัด”

Maritime 2

ในปี 2009 พื้นที่ที่มีการโจมตีของโจรสลัดนั้น กว่า 50% (จำนวน 266 ครั้งจาก 406 ครั้ง) กระจุกตัวอยู่ในทวีปแอฟริกา และส่วนใหญ่เป็นโจรสลัดสัญชาติโซมาเลีย (Somali Pirates) ทั้งนี้ เพราะประเทศโซมาเลียไม่มีรัฐบาลปกครองมาตั้งแต่ปี 1993 รองลงมาคือ แถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้จำนวน 70 ครั้งจาก 406 ครั้ง ภาพที่ ๓ แสดงพื้นที่ที่โจรสลัดเข้าโจมตี โดยจุดสีแดงคือเกิดการโจมตีจริง จุดสีเหลืองคือพยายามเข้าโจมตี

“ภาพที่ ๓ ทำเลที่มีการโจมตีของโจรสลัด (สีแดง=โจมตีจริง สีเหลือง=พยายาม)”

Maritime 3

“โจรสลัดโซมาเลียขณะถูกจับ” (ที่มาของภาพ)

pirates090211-N-1082Z-111

……….

Watcharapong (2012) ทำการศึกษาสาเหตุของการกระทำที่เป็นโจรสลัด โดยใช้ข้อมูลสถิติที่มีการเก็บอย่างเป็นระบบจำนวน 3,362 ครั้งในช่วงปี 1998 ถึง 2007 ที่ระบุถึงช่วงเวลาของการโจมตี จำนวนโจรสลัด ลักษณะของเรือ ผลของการโจมตี (ความรุนแรง มูลค่าสินค้าที่เอาไปได้) ทำเลที่โจมตี และประเภทของการโจมตี

ข้อมูลเบื้องต้นที่น่าสนใจ พบว่า โจรสลัดมักจะทำการโจมตีในเดือนเมษายน พฤษภาคม และตุลาคม (ดูตารางที่ ๑) ซึ่งเป็นช่วงต้นและปลายฤดูหนาวที่ทะเลมีหมอกค่อนข้างมาก การโจมตีของโจรสลัดส่วนมากไม่ได้สินค้าอะไรไปเลย รองลงมาก็ได้เพียงอาหาร น้ำดื่มและยารักษาโรค (ดูตารางที่ ๒) และโจรสลัดก็มักจะไม่ทำร้ายลูกเรือ ส่วนใหญ่จะปลอดภัยหรือเพียงถูกจับมัดเท่านั้น (ดูตารางที่ ๓)

“ตารางที่ ๑-๓ รายละเอียดเกี่ยวกับเดือน สินค้าที่ได้ และการทำร้ายจากการโจมตีของโจรสลัด”

Maritime 4

Watcharapong (2012) ทำการประมาณค่าสมการจำนวนครั้งของการโจมตีจากโจรสลัด (ดังตารางที่ ๔) พบว่าปัจจัยที่มีผลต่อจำนวนครั้งของการโจมตีประกอบด้วยรายได้ที่แท้จริงต่อหัว (Real GDP per Capita) อัตราการว่างงาน (Unemployment) เสรีภาพทางการเมืองของประเทศเจ้าของน่านน้ำ (Freedom House Status) และขนาดของเรือ (Tonnage)

“ตารางที่ ๔ ผลการประมาณค่าปัจจัยกำหนดจำนวนครั้งในการโจมตีของโจรสลัด”

Maritime 5

[ในบทความมีการประมาณค่าด้วยเทคนิค Instrumental Variables ซึ่งได้ข้อสรุปไม่ต่างกันมากกับผลที่นำเสนอในตาราง Reduced Form Estimation ที่นำเสนอในบล็อกนี้ครับ ^^]

……….

จากผลการประมาณค่าแบบจำลองสามารถสรุปในเบื้องต้นได้ว่า ปัจจัยที่มีผลต่อจำนวนครั้งของการโจมตีของโจรสลัดประกอบด้วย

  • รายได้ที่แท้จริงต่อหัว และอัตราการว่างงาน เนื่องจากถ้าแรงงานตกงานในระบบ หรือมีรายได้น้อยลง พวกเขาย่อมหางานอื่นที่ให้ผลตอบแทนสูงกว่า นั่นก็คือเป็นโจรสลัด ซึ่งสอดคล้องกับข้อสรุปของงานศึกษาที่ผ่านๆ มาว่า จำนวนโจรสลัดที่เพิ่มสูงขึ้นนั้นเกิดจากการจับปลาที่มากเกินไป (Overfishing) ของบริษัทขนาดใหญ่ ทำให้ชาวประมงขนาดเล้กไม่มีปลาให้จับ จึงไม่มีรายได้พอเพียงกับการยังชีพ และไม่สามารถไปหางานทำในระบบได้ เพราะอัตราการว่างงานสูง พวกเขาจึงต้องใช้ความสามารถพิเศษ (Specialization) ที่มีอยู่ในการเดินเรือมาประกอบอาชีพโจรสลัดแทน
  • เสรีภาพทางการเมืองของประเทศเจ้าของน่านน้ำ เป็นผลมาจากลักษณะการพัฒนาทางการเมืองของประเทศนั้นๆ โครงสร้างทางการเมืองที่มีเสรีภาพมากขึ้น(พัฒนามากขึ้น) กระบวนการกำกับดูแลการกระทำที่ผิดกฎหมาย เช่น โจรสลัด ก็จะมีประสิทธิภาพมากขึ้น จำนวนครั้งของการโจมตีจะลดลง
  • ขนาดของเรือ เป็นต้นทุนของการโจมตี เพราะหากเรือมีขนาดใหญ่เกินไป หรือลูกเรือมีจำนวนมากเกินไป โจรสลัดจะเอาชนะลำบาก และสินค้าที่มีขนาดใหญ่ก็จะขนได้ยากด้วย การโจมตีจะลดลง

“ขนาดของเรือโจรสลัดเมือ่เปรียบเทียบกับเรือขนสินค้า” (ที่มาของภาพ)

allianz_piracy_study_skiff_vs_carrier_size

……….

กล่าวโดยสรุปก็คือ การกระทำที่เป็นโจรสลัดนั้นเกิดจากผลกระทบทางเศรษฐกิจ โดยเฉพาะเศรษฐกิจทางทะเลที่ทำให้ชาวประมงซึ่งมีความเชี่ยวชาญในการเดินเรือไม่มีงานทำ จึงใช้ความเชี่ยวชาญของตนเองแสวงหารายได้ในวิถีที่เป็นไปได้ รวมถึงปัจจัยทางการเมืองเองก็มีความสำคัญไม่น้อยไปกว่ากัน เพราะเกี่ยวข้องกับประสิทธิภาพของบทลงโทษผู้ที่กระทำผิดกฎหมาย

การแก้ไขปัญหาโจรสลัดจึงไม่ใช่แค่เรื่องการปราบปรามหรือจับกุมเท่านั้น แต่เป็นเรื่องของการพัฒนาเศรษฐกิจ หรือการใช้ทรัพยากรธรรมชาติในระดับที่เหมาะสมของประเทศนั้นๆ ด้วย






ขอขอบคุณ อ.ดร.วัชรพงศ์ รติสุขพิมล คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ที่ส่งเอกสารการบรรยายในงานสัมมนามาให้ครับ ^^

ที่มา: Watcharapong Ratisukpimol (2012) A Theory and Some Empirics on Modern Maritime Piracy, เอกสารนำเสนอในงานสัมมนาประจำปีศูนย์ศึกษาเศรษฐศาสตร์การเมือง จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มิถุนายน 2012.

featured image from here