9789881900265_p0_v1_s260x420

“เมียฝรั่ง” มีผลแค่ไหนต่อเศรษฐกิจอีสาน?

การแต่งงานกับชาวต่างชาติของหญิงไทยนั้นมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง จึงเป็นที่น่าสนใจว่าผลกระทบทางเศรษฐกิจของการแต่งงานดังกล่าวนั้นมีมูลค่าสูงเพียงใด และสาขาการผลิตอะไรบ้างที่ได้รับผลดีดังกล่าว ตารางปัจจัยการผลิต-ผลผลิตจะช่วยตอบคำถามที่น่าสนใจนี้ให้เรา

……….


คำว่า “เมียฝรั่ง” เป็นคำเรียกติดปากของคนชนบทสำหรับผู้หญิงที่แต่งงานกับชายชาวตะวันตก ในความหมายเดียวกันกับสิ่งที่วิชาการเรียกว่า “การแต่งงานข้ามวัฒนธรรม” (Cross-culture Marriage) ที่พบเห็นได้ทั่วไป โดยเฉพาะในภาคตะวันออกเฉียงเหนือของไทย [อันที่จริง ผู้หญิงไทยทางภาคตะวันออกเฉียงเหนืออาจจะมีการแต่งงานข้ามวัฒนธรรมกับหลายชาติ แต่ส่วนใหญ่เป็นชาวตะวันตก จึงใช้คำว่าเมียฝรั่ง เพื่อให้ง่ายต่อการเรียกขานกันเท่านั้น]

ข้อมูลจากการสำรวจภาคสนามของสํานักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ สํานักงานภาคตะวันออกเฉียงเหนือ (2546) พบว่า มีหญิงไทยที่สมรส (อยู่กิน) กับชาวต่างชาติในภาคอีสานทั้งหมดสูงถึง 19,594 คน โดยในจํานวนนี้ สามจังหวัดแรกที่มีจํานวนคู่สมรสมากที่สุดได้แก่ นครราชสีมา ขอนแก่น และอุดรธานี ซึ่งคิดเป็นร้อยละ 21 12 และ 11 ตามลําดับ

นอกจากนี้ จำนวนการแต่งงานข้ามวัฒนธรรมยังมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง จากการที่สังคมชนบทให้การสนับสนุนลูกหลานของตนเองไปแต่งงานกับชาวต่างชาติมากขึ้น ซึ่งหากฝ่ายหญิงมีญาติที่เคยแต่งงานกับชาวต่างชาติมาแล้ว ก็จะพยายามแนะนําให้ญาติพี่น้องของตนเองได้รู้จักกับญาติของสามีที่เป็นชาวต่างชาติ เพื่อเปิดโอกาสให้ทั้งสองฝ่ายรู้จักกันมากขึ้น รวมทั้งพ่อและแม่ของฝ่ายหญิงก็ให้การสนับสนุน เพราะมองว่าการแต่งงานดังกล่าวจะช่วยให้ฐานะของครอบครัวดีขึ้น

อย่างไรก็ดี หลังจากที่หญิงไทย(ในเขตภาคตะวันออกเฉียงเหนือ)ได้แต่งงาน/สมรสกับชาวต่างชาติแล้ว วิถีชีวิตและความเป็นอยู่ของกลุ่มดังกล่าวนั้นได้เปลี่ยนแปลงไปอย่างน้อยสองด้านใหญ่ๆ

หนึ่ง ด้านการเปลี่ยนแปลงทางสังคมและวัฒนธรรม ผู้หญิงที่แต่งงานกับชาวต่างชาติมักได้รับการคาดหวังจากสังคมในท้องถิ่นค่อนข้างสูงว่าจะสามารถเป็นผู้นําในการบริจาคเงินเพื่อช่วยเหลือชุมชนได้เป็นจํานวนมาก ไม่ว่าจะเป็นการบริจาคเงินเพื่อสร้างวัด สร้างโรงเรียน หรือทําบุญในโอกาสต่างๆ

สอง ด้านเศรษฐกิจ จากการศึกษาพบว่าผู้หญิงส่วนใหญ่ซึ่งได้แต่งงานกับชาวต่างชาตินั้นมักจะเคยผ่านการหย่าร้างมาแล้ว ซึ่งเป็นผลทําให้ตนเองต้องแบกรับภาระในการเลี้ยงดูบุตรและพ่อแม่ของตนเอง ด้วยเหตุผลดังกล่าว ผู้หญิงหลายคนจึงตัดสินใจแต่งงานกับชาวต่างชาติเพื่อให้ฐานะทางเศรษฐกิจของตนเองดีขึ้น โดยผู้หญิงเหล่านี้จะโอนเงินกลับมาให้กับทางบ้านเพื่อเป็นค่าใช้จ่ายประมาณเดือนละ 9,600 บาท

“ภาพโฆษณาชักชวนการมีคู่แต่งงานของคนไทยกับชาวตะวันตก” (ที่มาของภาพ)

85

ผู้หญิงที่แต่งงานกับชาวต่างชาติเหล่านี้มักจะเดินทางกลับมาเยี่ยมพ่อแม่และญาติพี่น้องในประเทศไทยเป็นประจําปีละครั้ง มีระยะเวลาพักอยู่ในประเทศไทยโดยเฉลี่ยประมาณ 1 เดือน ซึ่งในช่วงเวลาที่คู่สมรสพักอาศัยในประเทศไทยก็ได้มีการใช้จ่ายเพื่อการอุปโภคบริโภคและการท่องเที่ยว โดยมักเดินทางไปท่องเที่ยวพร้อมกับพ่อแม่ของฝ่ายหญิง ซึ่งสถานที่ท่องเที่ยวที่นิยมเดินทางไปมากที่สุด ได้แก่ พัทยา ภูเก็ตและเชียงใหม่ ทั้งนี้ค่าใช้จ่ายเฉลี่ยอยู่ที่เดือนละประมาณ 126,000 บาทต่อครอบครัว

……….

เมื่อเป็นเช่นนี้ ประเด็นที่น่าสนใจก็คือแล้วค่าใช้จ่ายต่างๆ ดังกล่าวที่ว่านั้นก่อให้เกิดผลกระทบต่อระบบเศรษฐกิจของภาคอีสานในสาขาการผลิตใดและเป็นมูลค่าเท่าไหร่

วิไลวรรณ (2551) ทำการศึกษาผลกระทบทางเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นในภาคตะวันออกเฉียงเหนืออันเกิดจากการใช้จ่ายของคู่สมรสชาวต่างชาติที่เดินทางเข้ามาท่องเที่ยวหรือตั้งถิ่นฐานในเขตภาคตะวันออกเฉียงเหนือต่อรายได้ของภาคตะวันออกเฉียงเหนือ โดยการวิเคราะห์อาศัยแบบจําลองปัจจัยการผลิต–ผลผลิต (Input-Output Table)

วิไลวรรณ (2551) ทำการปรับปรุงตารางปัจจัยการผลิต–ผลผลิตของประเทศไทย ด้วยการตัดทอนสาขาเศรษฐกิจที่ไม่มีการผลิตในภาคตะวันออกเฉียงเหนือออกไปให้เหลือเพียง 16 สาขาเศรษฐกิจ จากนั้นทำการรวมสาขาเศรษฐกิจบางสาขาเข้าไว้ด้วยกัน เพื่อให้เหลือสาขาเศรษฐกิจที่ต้องการจะศึกษาเพียง 16 สาขาเป็นแบบจําลองปัจจัยการผลิต-ผลผลิตของภาคตะวันออกเฉียงเหนือ โดยใช้ค่าสัมประสิทธิ์ Cross- Industry Location Quotient (SLQ)

อุปสงค์ขั้นสุดท้ายที่นำมาใช้ในการคํานวณคือ ค่าใช้จ่ายของคู่สมรสชาวต่างชาติในเขตพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือจากการสํารวจของสํานักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ สำนักงานภาคตะวันออกเฉียงเหนือ อันประกอบด้วยค่าใช้จ่ายในการท่องเที่ยว ค่าใช้จ่ายในการเดินทางกลับประเทศ ค่าอาหาร ค่าเสื้อผ้า ค่าพาหนะเดินทางไปที่ต่างๆ ค่าของใช้ส่วนตัว ค่าใช้จ่ายอื่นๆ โดยเมื่อจำแนกไปเป็นสาขาเศรษฐกิจตามตารางปัจจัยการผลิต-ผลผลิตจะได้ดังตารางท่ี ๑

“ตารางที่ ๑ ตารางแสดงค่าใช้จ่ายที่เกิดจากการใช้จ่ายของคู่สมรสชาวต่างชาติในเขตพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือที่กระทบต่อสาขาเศรษฐกิจต่างๆ (บาท)”

cross culture 1

……….

ผลการศึกษาโดยใช้ปัจจัยการผลิต-ผลผลิต พบว่า การใช้จ่ายของคู่สมรสชาวต่างชาตินั้นเป็นผลทําให้ผลผลิตมวลรวมของภาคอีสานในสาขาเศรษฐกิจต่างๆ เปลี่ยนแปลงเพิ่มขึ้นรวมทั้งสิ้นกว่า 8,666 ล้านบาท โดยสาขาเศรษฐกิจที่เกิดผลิตภัณฑ์มวลรวม มากที่สุด 5 สาขาแรก ได้แก่ 1. สาขาการขายส่ง การขายปลีก การซ่อมแซมยานยนต์ จักรยานยนต์ ของใช้ส่วนบุคคลและของใช้ในครัวเรือน 2. สาขาตัวกลางทางการเงิน 3. สาขาการขนส่ง สถานท่ีเก็บสินค้าและการคมนาคม 4. สาขาการโรงแรมและภัตตาคาร 5. สาขาลูกจ้างในครัวเรือนส่วนบุคคล ตามตารางที่ ๒

“ตารางที่ ๒ ตารางแสดงผลผลกระทบที่เกิดขึ้นจากการใช้จ่ายของคู่สมรสชาวต่างชาติต่อรายได้ (บาท)”

Cross culture 2

นอกจากผลกระทบทางตรง (Direct Effect) ตามที่ได้กล่าวไปแล้ว วิไลวรรณ (2551) ยังพิจารณาถึงผลกระทบทางอ้อม (Indirect Effect) อันเกิดจากการขยายตัวของอุตสาหกรรมที่มาจากการขยายตัวของความต้องการจากผู้ผลิตในสาขาเศรษฐกิจนั้นๆ และผลกระทบชักนํา (Induced Effect) อันเกิดจากการขยายตัวของอุตสาหกรรมที่มาจากการขยายตัวของความต้องการจากแรงงานในสาขาเศรษฐกิจนั้นๆ ด้วย โดยความต้องการในสินค้าและบริการที่เพิ่มขึ้นทางตรงยังก่อให้เกิดผลกระทบทางอ้อมต่อทั้งรายได้และผลผลิตอีกรอบเป็นจํานวน 355,210 และ 982,726 ล้านบาท ตามลําดับ ส่วนผลกระทบชักนําเนื่องจากการที่แรงงานมีรายได้เพิ่มขึ้นและนํารายได้จํานวนดังกล่าวมาใช้จ่ายมากขึ้นนั้น พบว่าเกิดผลต่อรายได้เพิ่มขึ้น 2,377 ล้านบาท และความต้องการในผลผลิตเพิ่มขึ้น 3,901 ล้านบาท ตามตารางที่ ๓

“ตารางที่ ๓ ตารางรวมผลกระทบที่เกิดขึ้นจากการใช้จ่ายของคู่สมรสชาวต่างชาติ”

cross culture 3

……….

กล่าวโดยสรุปก็คือ การสมรสข้ามวัฒนธรรมของผู้หญิงไทยในเขตภาคอีสานนั้นส่งผลให้เกิดมูลค่าทางเศรษฐกิจโดยตรงและต่อเนื่องไปยังสาขาการผลิตอื่นๆ ด้วยมูลค่าที่สูงถึงกว่า 1 หมื่นล้านบาท แม้ว่าบทความนี้จะถูกตีพิมพ์มาเป็นเวลาหนึ่งแล้ว แต่หัวข้อและวิธีคิดน่าจะทำให้คนที่สนใจเรื่องนี้นำไปประยุกต์ใช้และคิดต่อจากการวิเคราะห์ของบทความนี้ได้นะครับ ^^






ที่มา: วิไลวรรณ เที่ยงตรง (2551) “ผลกระทบของคู่สมรสชาวต่างชาติที่มีต่อเศรษฐกิจอีสาน” มนุษยศาสตร์สังคมศาสตร์ วารสารคณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ปีที่ 25 ฉบับที่ 1 มกราคม – เมษายน 2551.

featured image from here

  • http://www.facebook.com/tity.thitiratthipsamritkul Tity Ying Thitirat Thipsamritk

    “คู่สมรสชาวต่างชาติ” << ดูจากบริบทแล้วหมายถึงคู่สมรสข้ามวัฒนธรรมที่ฝั่งหนึ่งเป็นชาวต่างชาติและอีกฝั่งเป็นคนไทยใช่ไหมคะ?

    เนื้อหางานวิจัยของคุณวิไลวรรณสามารถเข้าถึงจากอินเตอร์เน็ตได้ไหมคะ?

    • http://setthasat.com/ [เสด-ถะ-สาด]

      ใช่ครับ เป็นนิยามตามนั้นเลยครับ

      ส่วนเรื่องบทความทางอินเตอร์เน็ต ผมไม่แน่ใจ แต่น่าจะหาวารสารนี้ได้ตามห้องสมุดของมหาวิทยาลัยทุกแห่งครับ ^^

  • http://www.facebook.com/bornme Ataporn Bom Jongrugsak

    ถ้าไป46สาวนครราชสีมาแต่งงานกับชาวต่างชาติถึงร้อยละ20 น่าคิดว่าปัจจุบันจะเป็นเท่าไหร่ ขอบคุณสำหรับบทความครับ :-)

  • cheapunitysandceremonykit

    บทความนี้มีประโยชน์จร้า