นักการเมืองจะตอบ“อีเมล์”กันไหม…หนอ?
อีเมล์เป็นหนึ่งในเครื่องมือสื่อสารที่เข้าถึงนักการเมืองโดยตรง และเชื่อว่านักการเมืองทุกคนมีอีเมล์แน่ๆ (อย่างน้อยก็ในนามบัตร) แต่เคยสงสัยกันไหมว่า หากติดต่อพวกเขาด้วยช่องทางนี้จริงๆ เขาจะตอบเราหรือไม่
……….
อีกไม่นานจะถึงเวลาเลือกตั้งผู้ว่าราชการกรุงเทพฯ ซึ่งเป็นเมืองหลวงของประเทศไทย ผู้สมัครเกือบทุกคนเลือกใช้โลกออนไลน์เป็นกลยุทธ์หนึ่งในการหาเสียง ไม่ว่าจะเว็บไซต์ อีเมล์หรือเครือข่ายสังคม เพราะสามารถเข้าถึงคนรุ่นใหม่อย่างคนกรุงเทพฯได้ดีทีเดียว แต่เพื่อนๆ เคยสงสัยไหมว่า หากเราติดต่อพวกเขาโดยใช้ช่องทางออนไลน์ที่พวกเขาเป็นคนนำเสนอเองด้วยซ้ำนั้น เราจะได้รับความสนใจแค่ไหนกัน
โลกดิจิตอลอาจเรียกได้ว่าเป็นกลยุทธ์ใหม่ของนักการเมืองในการหาเสียง โดยเฉพาะในยุคปัจจุบันที่สามารถเข้าถึงกลุ่มเป้าหมายอย่างคนรุ่นใหม่ได้ง่าย และยังแสดงถึงภาพพจน์ของความทันสมัยด้วย
“รัฐสภาของยุโรป” (ที่มาของภาพ)
แม้ว่าเครือข่ายสังคมจะเข้ามามีบทบาทมากในปัจจุบัน อีเมล์ก็ยังอาจเรียกได้ว่าเป็นแกนหลักของการติดต่อสื่อสารในโลกดิจิตอล โดยเฉพาะในตลาดการเมืองที่นักการเมืองทุกคน(น่าจะ)มีอีเมล์ แต่ไม่ใช่ทุกคนที่มีเครือข่ายสังคม
หากมองให้ลึกลงไปในเชิงคุณูปการแล้ว อีเมล์สามารถเป็นเครื่องมือสื่อสารที่มีประสิทธิภาพระหว่างชนชั้นนำอย่างนักการเมืองกับชาวบ้านธรรมดา และยังสามารถเป็นเครื่องมือของนักการเมืองในการรับรู้ความคิดของประชาชน (Feedback) ได้ด้วยต้นทุนที่ต่ำมาก อีเมล์จึงเป็นเครื่องมือสื่อสารที่สร้างความเท่าเทียมและมีประสิทธิภาพในโลกยุคใหม่
……….
Vaccari (2012) ได้ทำการทดสอบการบริหารจัดการอีเมล์ของนักการเมือง พูดง่ายๆ ก็คือคนเหล่านี้ตอบอีเมล์กันบ้างหรือไม่ โดยใช้ข้อมูลผู้สมัครรับเลือกตั้งของประเทศออสเตรเลีย ฝรั่งเศส เยอรมนี อิตาลี สเปน สหราชอาณาจักร และสหรัฐอเมริกา ระหว่างปี 2007-2010 จำนวนทั้งสิ้น 142 พรรคการเมือง ที่ให้อีเมล์ติดต่อเอาไว้ในป้ายโฆษณาหาเสียง และที่ Vaccari เลือกประเทศเหล่านี้ก็เพราะมีอัตราการใช้อินเตอร์เน็ตสูงมากของโลก
วิธีการศึกษาของ Vaccari น่าสนใจมาก เพราะเป็นวิธีที่ง่ายทั้งการดำเนินการและการวัดผล โดยเขาทำการส่งอีเมล์ไปหานักการเมืองเหล่านั้นจริงๆ แล้วรอดูว่าพวกเขาจะตอบอีเมล์หรือไม่ โดยอีเมล์ที่เขาส่งแบ่งออกเป็นสองประเภท อีเมล์ประเภทแรกเพื่อสอบถามถึงแนวทางหรือข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับการเก็บภาษี(ที่นักการเมืองมักไม่ค่อยพูดถึงในเวลาหาเสียง) และประเภทสองคือเพื่อสอบถามข้อมูลในการอาสาเข้าไปช่วยทำงานให้กับผู้สมัคร พูดง่ายๆ คือขอเข้าไปเป็นอาสาสมัครในการทำงานให้ผู้สมัครคนนั้นๆ
ผลการศึกษาของ Vaccari (2012) ในภาพที่ ๑ พบว่า เพียงประมาณร้อยละ 20 ของผู้สมัครเท่านั้นที่ตอบอีเมล์ภายใน 1 วันทำการ ขณะที่กว่าร้อยละ 60 กลับไม่เคยตอบอีเมล์เลย ขณะที่พฤติกรรมการตอบอีเมล์แทบไม่มีความแตกต่างกันระหว่างประเภทของอีเมล์ ไม่ว่าจะถามเรื่องนโยบาย หรือขอสมัครเข้าไปช่วยทำงานก็ตาม โดยนักการเมืองจากสหรัฐอเมริกาเป็นกลุ่มที่ตอบอีเมล์มากที่สุดเมื่อเปรียบเทียบกับอีก 6 ประเทศที่เหลือ
“ภาพที่ ๑ สัดส่วนการตอบอีเมล์ของผู้สมัครรับเลือกตั้ง”
……….
อันที่จริง Vaccari (2012) ยังพยายามหาต่อไปด้วยว่ามีปัจจัยอะไรบ้างที่ทำให้ผู้สมัครทางการเมืองตอบอีเมล์เร็วหรือช้า โดยใช้แบบจำลอง multivariate logistic regression เปรียบเทียบระหว่างการตอบอีเมล์สองประเภท กับการไม่ตอบอีเมล์เป็นตัวแปรฐานของแบบจำลอง
ผลการศึกษาตามตารางที่ ๑ ไม่ได้พบประเด็นที่น่าสนใจมากนัก เพียงแต่ว่าการตอบอีเมล์เร็วหรือช้านั้นขึ้นอยู่กับพรรคการเมืองที่สังกัดเป็นหลัก พูดอีกอย่างก็คือขึ้นอยู่กับการดำเนินการหรือการให้ความสำคัญของตัวผู้สมัครหรือพรรคการเมืองนั้นๆ เท่านั้น
“ตารางที่ ๑ ผลการประมาณค่าสมการ”
……….
หากวิเคราะห์เรื่องนี้ในเชิงการสื่อสารการเมืองอาจไม่ใช่เรื่องแปลกอะไร เพราะอันที่จริงนักการเมืองที่ไม่ตอบเหล่านั้นอาจจะไม่เคยอ่านอีเมล์เลยด้วยซ้ำ ทั้งนี้เป็นเพราะอีเมล์เป็นการสื่อสารทางเดียว ในมิติที่ว่าเราไม่อาจรู้ได้เลยว่าอีกฝ่ายได้รับหรือไม่ หรือได้อ่านหรือไม่ (ทั้งๆ ที่พวกเขาอาจจะได้อ่านก็ตาม) ดังนั้น วิธีที่ดีขึ้นไปกว่าการส่งอีเมล์ก็คือการโทรศัพท์เข้าไปที่สำนักงานของผู้สมัครโดยตรง เพราะเท่ากับว่าเราสามารถทราบได้ว่ามีอีกฝ่ายหนึ่งได้รับข้อมูลที่เราต้องการสื่อสารแล้ว (แต่จะมีประสิทธิภาพแค่ไหนนั่นเป็นอีกประเด็นหนึ่ง)
ที่ผ่านมาในอดีต วิธีที่ดีที่สุดก็คือ การฝากคนที่เรารู้จักไปบอกผู้สมัครโดยตรง เพราะแน่ใจได้ว่ามีอีกฝ่ายหนึ่งรับรู้ข้อมูลข่าวสารที่เราส่ง และยังสามารถติดตามผลของสารที่เราส่งได้ด้วย (การโทรศัพท์ไปหาอาจติดตามผลได้ไม่ดีนัก) ซึ่งตลอดมาก็เลยทำให้คนที่รู้จักกับนักการเมืองกลายเป็นคนที่มีอภิสิทธิ์บางอย่าง เพราะเป็นผู้ผูกขาดช่องทางการสื่อสารเข้าสู่นักการเมือง ไม่ว่านักการเมืองคนนั้นจะเป็นคนที่ดีแค่ไหนก็ตาม
แต่ในปัจจุบัน ภาพของอดีตอาจเปลี่ยนไป เพราะวิธีที่ดีที่สุดอาจเป็นการสื่อสารผ่านเครือข่ายสังคม โดยเฉพาะ twitter เนื่องจากผู้ส่งสารแน่ใจได้ว่ามีอีกฝ่ายหนึ่งรับรู้ข้อมูลข่าวสารที่ส่ง ติดตามผลได้ มีหลักฐาน และยังมีสาธารณชนเป็นตัวแรงกดดันให้ผู้สมัครต้องตอบสนองต่อสารที่ส่ง (โดยเฉพาะคำถามดีดี) ส่วนที่ twitter น่าจะดีกว่า facebook ก็เพราะคนที่ใช้ twitter มีแนวโน้มที่ผู้ใช้จะเป็นเจ้าตัวจริงๆ มากกว่าทีมงาน
……….
อย่างไรก็ตาม วิธีการศึกษาเช่นนี้ยังไม่ได้ลองนำมาใช้กับประเทศไทย ซึ่งก็ดูน่าสนใจมาก หากครั้งต่อๆ ไป ใครลองนำไปใช้ก็คงน่าสนใจดีนะครับ อย่างไรก็ตาม เอาเป็นว่าครั้งนี้ที่จะมาถึง [เสด-ถะ-สาด].com ก็ขอสนับสนุนให้ชาวกรุงเทพฯออกไปใช้สิทธิเลือกตั้งกันเยอะๆ กันก่อนแล้วกันครับ
ที่มา:
- Christian Vaccari. You’ve Got (No) Mail: How Parties and Candidates Respond to Email Inquiries in Western Democracies. Paper prepared for the conference “Chasing the Digital Wave: International Lessons for the UK 2015 Election Campaign”, London, 22 November 2012.
- John Light. Do Politicians Read the Emails You Send Them?. December 26, 2012. online at BillMoyers
featured image from here