r_12238

ข้อควรคำนึง(ทางเศรษฐศาสตร์)ในการ“บริจาค”(หรือทำบุญ)

การใช้เงินไปเพื่อการบริจาคไม่เหมือนกับการใช้เงินเพื่อการบริโภคหรือลงทุน เพราะเรามักจะไม่หาข้อมูลก่อนตัดสินใจ และเมื่อจ่ายไปแล้ว เราก็มักจะไม่สนใจติดตามผลลัพธ์ของการบริจาคอีกต่างหาก เหล่านี้คือนิสัยที่ไม่ดีของการบริจาค ลองดูว่าเศรษฐศาสตร์จะช่วยให้แง่คิดอะไรกับเราได้บ้าง

……….


ป็นเรื่องปกติของทุกๆ ปลายปีต่อเนื่องจนถึงต้นปีที่คนส่วนใหญ่นิยมทำบุญ ทำทาน ทำกุศล หรือบริจาคทั้งเงินและสิ่งของต่างๆ จนเรียกได้ว่าเป็นเทศกาลแห่งการให้กันเลยทีเดียว แต่การบริจาคซึ่งนับเป็นรายจ่ายอย่างหนึ่งของคนทั่วไปนั้น มีความไม่เหมือนกับรายจ่ายทั่วไป เพราะเวลาที่คนเราจะซื้อของ เรามักจะอ่านรีวิวร้านค้าและคุณภาพของสินค้าที่เราจะซื้อ หรือแม้แต่รายจ่ายเพื่อการลงทุนหรือการออม เราเองก็ทำคล้ายๆ กันคือหาข้อมูลไปก่อน แต่เรามักไม่ได้ทำกับการบริจาค

การตัดสินใจบริจาคส่วนใหญ่จึงมักถูกพิจารณาจากทำเลที่สะดวก มูลนิธิที่รู้จัก หรือการบอกต่อๆ กันมา จนเหมือนว่ามันเป็น “กล่องดำ” (Black Box) ที่บริจาคไปแล้วก็แล้วกันไป มักไม่ได้สนใจว่ามูลนิธิจะเอาไปทำอะไร ที่ไหน หรืออย่างไร

พฤติกรรมการบริจาคให้กับมูลนิธิดังกล่าวจึงอาจนำมาสู่สิ่งที่ Dean Karlan (2012) เรียกว่า “นิสัยไม่ดีของการบริจาค” (Bad Giving Habit) และ [เสด-ถะ-สาด].com ขอนำพฤติกรรมที่ว่ามาปรับให้เข้ากับสังคมไทยเป็น ข้อควรคำนึง(ทางเศรษฐศาสตร์พฤติกรรม)ในการบริจาค ทั้งเงินหรือสิ่งของ

……….

ข้อควรคำนึงในการบริจาคประการที่ ๑: คนเรามักจะบริจาคให้กับมูลนิธิที่มีต้นทุนการบริหารจัดการและจัดหาทุนต่ำ

คนที่ตัดสินใจบริจาคมักจะสนใจแค่ว่า “ถ้าฉันบริจาคไป 100 บาทจะถูกนำไปใช้จริงกี่บาท(หลังหักต้นทุน)” โดยไม่ได้สนใจอะไรมากกว่านั้น แต่อันที่จริงต้นทุนของแต่ละมูลนิธิกลับไม่ได้ให้บอกอะไรมากนักเกี่ยวกับคุณภาพของการใช้เงินบริจาค มูลนิธิสองแห่งที่มีต้นทุนไม่เท่ากันอาจจะมาจากประเภทของการใช้เงินไม่เหมือนกัน เช่น มูลนิธิเพื่อการศึกษาของเด็กยากจน กับมูลนิธิเพื่อรณรงค์ลดการทารุณสัตว์ป่า หรือแม้แต่เป็นมูลนิธิที่ทำหน้าที่แบบเดียวกันก็ยังอาจมีต้นทุนไม่เท่ากันอยู่ดี เพราะขึ้นอยู่กับอีกหลายปัจจัย เช่น มูลนิธิเพื่อการศึกษาของเด็กยากจนเหมือนกัน แต่ต้นทุนจะต่างกันตามระดับการศึกษา สถานที่อยู่ของเด็ก หรือรายจ่ายที่ครอบคลุมให้เด็ก (ค่าเทอมเฉยๆ หรือค่ากินอยู่ด้วย) เป็นต้น

ข้อควรคำนึงในการบริจาคประการที่ ๒: คนเรามักจะบริจาคให้กับมูลนิธิที่ยอมให้เราระบุได้ว่าเอาเงินไปทำอะไร

องค์กรการกุศลบางแห่งเสนอทางเลือกให้คุณสามารถระบุได้ว่า เงินที่คุณบริจาคนั้นจะให้เขาเอาไปทำอะไร แน่นอนว่าวิธีการแบบนี้จะทำให้คุณเห็นภาพการใช้เงินบริจาคของคุณได้อย่างชัดเจนขึ้น แต่ที่จริงแล้ว มูลนิธิน่าจะมีประสิทธิภาพในการจัดสรรเงินของตัวเองได้ดีกว่า หากเงินบริจาคมีความยืดหยุ่นและไม่มีข้อจำกัดว่าต้องนำไปใช้อะไร ทั้งนี้ยังไม่นับว่ามูลนิธิอาจจะเอาเงินของคุณไปรวมๆ กันแล้วใช้จ่ายตามปกติลับหลังโดยไม่ให้คุณรู้

ข้อควรคำนึงในการบริจาคประการที่ ๓: คนเรามักจะรู้สึกว่่าได้แสดงความรักอันยิ่งใหญ่หากบริจาคให้กับมูลนิธิหลายๆ แห่งในคราวเดียวกัน

การดำเนินงานของมูลนิธิแต่ละแห่งมีต้นทุนธุรกรรม (Transaction Costs) ในการจัดหาและใช้เงินบริจาค ซึ่งต้นทุนส่วนนี้ขึ้นอยู่กับประสิทธิภาพของมูลนิธินั้นๆ และก็ขึ้นอยู่กับจำนวนผู้บริจาคด้วย เช่น ต้นทุนการส่งข่าวสารหรือจดหมายรายเดือนให้กับผู้บริจาคแต่ละคน เป็นต้น ไม่ว่าคนๆ หนึ่งจะบริจาคมากหรือน้อยก็ตาม ต้นทุนธุรกรรมต่อผู้บริจาคหนึ่งคนจะคงที่ เพราะต้องส่งจดหมายรายเดือนเหมือนกัน นั่นหมายความว่า สัดส่วนของต้นทุนธุรกรรมต่อจำนวนเงินบริจาคจะสูงกว่า หากเงินบริจาคมีมูลค่าน้อยกว่า การที่ผู้บริจาคกระจายเงินของตัวเองออกไปให้กับหลายๆ มูลนิธิก็เท่ากับเป็นการเพิ่มต้นทุนต่อหน่วยให้กับแต่ละมูลนิธิ และเพิ่มต้นทุนรวมให้กับสังคมด้วย

ข้อควรคำนึงในการบริจาคประการที่ ๔: คนเรามักจะหลอกตัวเองว่าผู้รับอยากได้ในสิ่งที่เราอยากให้

เรามักจะให้คุณค่าและความสำคัญมากกว่ากับสิ่งที่อยู่ในความสนใจของเรา เวลาที่เราบริจาคอะไรก็ตาม เราก็มักบริจาคสิ่งที่เราอยากจะให้มากกว่าที่จะสนใจว่าทางผู้รับหรือมูลนิธิต้องการอะไร หลายคนก็มักลงเอยที่ตามความสะดวกของตัวเอง (ตามแต่จะหาได้) แต่บางคนก็มีความตั้งใจจริงๆ ที่จะซื้อของอย่างที่คิดว่าดี ทั้งที่จริงแล้ว มูลนิธิจะมีความต้องการของไม่เหมือนกันในแต่ละช่วงเวลา ซึ่งทางที่ดีหากเป็นไปได้ การติดต่อมูลนิธิล่วงหน้าว่าเขาอยากได้อะไรคงเป็นวิธีที่ดีกว่า

ข้อควรคำนึงในการบริจาคประการที่ ๕: คนเรามักจะบริจาคให้กับมูลนิธิที่เป็นที่ประสบความเร็จทางการตลาด มากกว่าจะสนใจว่ามูลนิธินั้นทำงานดีขนาดไหน

เวลาที่คนเรานึกถึงสถานที่ที่จะไปทำบุญ มูลนิธิ(หรือวัด)ที่มีคนบริจาคให้มากๆ ก็จะเป็นที่รู้จักและจะยิ่งมีคนบริจาคมากขึ้นไปอีก ขณะที่มูลนิธิ(หรือวัด)ก็มีแนวโน้มที่จะไม่ได้รับเงินบริจาคอย่างเพียงพอต่อไป หากมองให้ลึกลงไป มูลนิธิ(หรือวัด)ที่มีคนบริจาคให้มากๆ มักจะเป็นมูลนิธิ(หรือวัด)ที่มีตำแหน่ง (Position) ทางการตลาดชัดเจน เช่น ปีเกิดต่างๆ จะต้องสะเดาะเคราะห์ที่วัดนั้นวัดนี้ เป็นต้น ซึ่งเมื่อบริจาคไปแล้วและคนที่บริจาคเองก็สบายใจ แต่กลับแทบไม่มีคนที่สนใจเรื่องของประสิทธิภาพในการใช้เงินของมูลนิธินั้นๆ

“ของเตรียมบริจาค”

47645

……….

กล่าวโดยสรุปแบบสั้นมากๆ ก็คือ ถ้าเราอ่านรีวิว หาข้อมูล หรือทำการบ้านก่อนจะไปบริจาค ว่าบริจาคที่ไหนดี และสถานที่นั้นๆ ต้องการอะไรให้เหมือนกับเวลาที่เราจะออกไปซื้อของอะไรสักอย่างหนึ่งก็คงจะดี นอกจากนี้ หากมีเวลา ติดตามผลการดำเนินงานของมูลนิธิกับการใช้เงินบริจาคของเราก็คงจะดีเช่นกัน

แน่นอนว่าข้อควรคำนึงทั้งหมดนี้อาจจะไม่ใช่ข้อบังคับที่ต้องปฏิบัติอย่างเคร่งครัด แต่ก็อาจทำให้เราได้คิด ได้เรียนรู้ในอีกบางด้านที่อาจมองข้ามไปในเวลาที่ไปบริจาคหรือทำบุญ นอกจากนี้ ข้อคำนึงที่กล่าวมาทั้งหมดอาจปรับให้ใช้ได้กับมูลนิธิ องค์กรการกุศล วัด โบสถ์หรือมัสยิดต่างๆ ได้เช่นกัน ต่อไปนี้เราจะได้ทำบุญอย่างมีประสิทธิภาพกันนะครับ ^^






ที่มา: DEAN KARLAN, An Economist’s Guide to Year-End Charitable Giving, available at Freakonomics (December 2012).

featured image from here