divorce

เนื้อคู่แบบไหนอยู่กัน“ไม่ยืด”?

เนื่องในวันแห่งความรัก [เสด-ถะ-สาด].com ขอเสนอบทความที่เกี่ยวกับการตัดสินใจเลือกเนื้อคู่ที่เหมาะกับเรา เพื่อให้มีโอกาสหย่าร้างหลังแต่งงานน้อยที่สุด และในการใช้ชีวิตร่วมกันให้รอด แต่ละคู่อาจจะต้องผ่านมรสุมครั้งใหญ่ประมาณสองครั้ง ซึ่งเกือบทุกคู่ก็ไม่ต่างจากเราทุกคน ถนอมความรักกันให้ดีนะครับ

……….


ก่อนอื่นต้องขอโทษที่หายไปนาน เริ่มมาจากงานที่ยุ่ง แล้วตามมาด้วยอาการป่วย ถึงตอนนี้ [เสด-ถะ-สาด].com ก็(หวังว่า)พร้อมจะกลับมารับใช้เพื่อนๆ ทุกคนเช่นเดิม หวังว่าเพื่อนๆ จะยังไม่ลืมกันไปนะครับ ^^

เนื่องในโอกาสวันแห่งความรักที่จะมาถึง [เสด-ถะ-สาด].com ก็ขอเกาะกระแสเรื่องความรักเหมือนๆ คนอื่นกันบ้าง แต่เนื่องจากงานศึกษาที่เกี่ยวกับความรัก เพื่อนๆ คงได้เห็นกันเยอะแล้ว จึงขอนำเอาเรื่องการเลิกกันมาให้อ่านบ้าง อย่างน้อยในอีกมุมหนึ่งมันก็ช่วยการคัดเลือกคนรักของเราเช่นกัน

Kippen, Chapman and Yu (2010) ได้ทำการศึกษาเรื่องนี้ ในประเด็นที่ว่า ลักษณะของชายหญิงแบบไหนที่คู่แต่งงานมีโอกาสหย่าร้างกันมากกว่าปกติ ซึ่งในอีกทางหนึ่งก็จะทำให้เราเข้าใจได้ด้วยว่า ลักษณะของชายหญิงแบบไหนที่มีโอกาสเป็นเนื้อคู่และแต่งงานกันอย่างมีความสุข

พวกเขาใช้ข้อมูลของประเทศออสเตรเลีย จาก Household, Income and Labour Dynamics in Australia Survey (HILDA) จำนวน 7,682 ครัวเรือน ในช่วงปี 2001-2007 โดยได้ข้อมูลคู่ชายหญิงที่แต่งงานหรือใช้ชีวิตอยู่ร่วมกัน จำนวน 2,482 คู่ อายุไม่เกิน 58 ปี ภายในช่วง 7 ปีดังกล่าว มีคู่ที่หย่าร้าง แยกทางกันหรือแยกกันอยู่ จำนวน 10.7% (ในงานวิจัยได้แสดงความเห็นว่าอาจจะมีความลำเอียงของข้อมูล (Biasedness) อยู่ด้วย เนื่องจากพอเอาเข้าจริงแล้ว คนที่แยกทางกันหรือแยกกันอยู่จำนวนหนึ่งอาจไม่ได้ตอบว่าได้แยกทางกันหรือแยกกันอยู่แล้ว)

“เมื่อต้องแยกทางกัน” (ที่มาของภาพ)

divorce1

……….

Kippen, Chapman and Yu (2010) ใช้แบบจำลอง Cox Proportional Hazards ซึ่งเป็นรูปแบบหนึ่งของ Hazard Model เพื่อประมาณช่วงระยะเวลาของชีวิตสมรสจนถึงสิ้นสุดลง ซึ่งมีรูปแบบสมการคือ
h_i(t) = h_0(t)exp(x_i,\beta)
โดย h_i(t) คือความไม่แน่นอนที่จะเกิดการหย่าหรือแยกกันอยู่ของคู่แต่งงานที่ i ในช่วงเวลา t x_i คือ คุณลักษณะส่วนตัวของคู่แต่งงาน \beta คือ ชุดของค่าสัมประสิทธิ์ และ h_0(t) คือ ค่าตั้งต้นของความไม่แน่นอนที่จะเกิดการหย่าหรือแยกกันอยู่ โดยมีค่าเท่ากับศูนย์ในทุกคู่

งานวิจัยจำแนกปัจจัยที่มีผลต่อโอกาสในการหย่าร้างของคู่แต่งงานออกเป็นสามกลุ่ม ได้แก่ คุณลักษณะเฉพาะของแต่ละบุคคล เช่น สัญชาติ อายุหรือความต้องการมีบุตร ปัจจัยทางเศรษฐกิจสังคม เช่น การศึกษา รายได้หรือสถานภาพการทำงาน และปัจจัยเกี่ยวกับชีวิตสมรส เช่น พ่อและแม่ของพวกเขาเคยหย่าร้างหรือไม่ จำนวนครั้งที่เคยแต่งงานมาก่อน มีบุตรหรือไม่ เป็นต้น

……….

ผลการประมาณค่าแสดงได้ตามตารางที่ ๑ ซึ่งข้อสรุปหลักๆ พบว่า คู่แต่งงานจะมีโอกาสหย่าร้างกันมากขึ้น(มาก) หาก

  • คู่แต่งงานที่มีอายุห่างกันเกิน 9 ปี
  • แต่งงานเมื่อสามีมีอายุน้อยกว่า 25 ปี
  • ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งสูบบุหรี่ แต่อีกฝ่ายไม่สูบ
  • ผู้หญิงดื่มเหล้ามากกว่าผู้ชาย
  • ตัวของพวกเขาเคยผ่านการแต่งงานมาก่อน
  • พ่อหรือแม่ของพวกเขาเคยหย่าร้างกันมาก่อน
  • สามีตกงาน
  • ผู้หญิงอยากมีลูก(จำนวน)มากกว่าที่ผู้ชายอยากมี
  • ไม่มีลูกด้วยกัน

ขณะที่สัญชาติหรือประเทศที่เกิด ศาสนา และการศึกษาของภรรยาไม่มีผลต่อการหย่าร้าง แต่หากระดับการศึกษาใกล้เคียงกันก็จะอยู่กันได้ยืดกว่า

“ตารางที่ ๑ ผลการประมาณค่าสมการ”

Kippen1

“ตารางที่ ๑ (ต่อ) ผลการประมาณค่าสมการ”

Kippen2

……….

แม้ว่ารายละเอียดของโอกาสหย่าร้างหรือแยกทางกันจะดูหยุมหยิมจนน่ากังวล แต่ต้องไม่ลืมว่าในจำนวนคู่แต่งงานทั้งหมดนั้น มีเพียงร้อยละ 10.7 เท่านั้นที่หย่าร้างหรือแยกทางกันจริง ซึ่งไม่ได้มากเลย

นอกจากนี้ โอกาสของการหย่าร้างหรือแยกทางกันไม่ได้เท่ากันตลอดทั้งช่วงการแต่งงาน Kippen, Chapman and Yu (2010) ยังประมาณการเพิ่มเติมและพบว่า โอกาสของการหย่าร้างหรือแยกทางกันจะสูงที่สุดในช่วงปีที่ห้าของการแต่งงาน จากนั้นจะค่อยๆ ลดลง และสูงขึ้นอีกครั้งประมาณปีที่ 20 แล้วจะลดลงอย่างมากในเวลาต่อมา (ดูรูปที่ ๑)

“รูปที่ ๑ โอกาสหย่าร้างในช่วงอายุการแต่งงานต่างๆ”

Kippen3

ประเด็นนี้แสดงให้เห็นว่า หากคู่แต่งงานมีความอดทนต่อการใช้ชีวิตร่วมกัน และผ่านอุปสรรคอันหนักหนาสาหัสประมาณสองครั้ง พวกเขาก็จะได้อยู่ร่วมกันตลอดไป

……….

สุดท้ายนี้ [เสด-ถะ-สาด].com ก็หวังว่าเพื่อนๆ หลายคนที่ชอบไปทำนายเนื้อคู่ว่าจะได้คนแบบไหนมาแต่งงานด้วย ตอนนี้สถิติและแบบจำลองบอกเราแล้วว่า คู่แบบไหนที่น่าจะมีโอกาสอยู่รอดมากที่สุด ซึ่งไม่ได้หมายความว่าทุกคู่ต้องเลือกเหมือนกันหมด เพียงแต่น่าจะเป็นจุดเริ่มต้นของงานวิชาการสำหรับใครหลายคนที่เปลี่ยนจากวิจัยจุดเริ่มของความรักมาเป็นจุดจบของความรักดูบ้าง

สุขสันต์วันแห่งความรักครับ






ที่มา:
Rebecca Kippen & Bruce Chapman & Peng Yu, 2010. “What’s love got to do with it? Homogamy and dyadic approaches to understanding marital instability,” CEPR Discussion Papers 631, Centre for Economic Policy Research, Research School of Economics, Australian National University.

featured image from here

  • Nitirat

    หายไปนานเลยนะครับ หายเร็วๆนะครับ ผมติดตามตลอดเลย

    • http://setthasat.com/ [เสด-ถะ-สาด]

      ตอนนี้ดีขึ้นแล้ว ขอบคุณมากครับ ^^

  • Supachai Yaniwong

    คิดถึงเพจนี้มากเลยครับ ติดตามตลอด

    • http://setthasat.com/ [เสด-ถะ-สาด]

      ขอบคุณมากครับ ^^

  • พีพี

    เพจนี้ดีมากครับ ติดตามตลอด ขอบคุณนะครับ

  • http://www.facebook.com/attapoz Attaphon Singhakiree

    Model 1กับ 2 นี่ต่างกันยังไงครับ

  • Atermist

    เป็นข้อมูลที่ดีมากครับ ^^