The-Godfather-the-godfather-trilogy-15981863-1280-800

“มาเฟียอิตาเลียน” มีที่มาอย่างไร?

เมื่อพูดถึงมาเฟียอิตาเลียน ทุกคนคงนึกถึงภาพยนตร์เรื่อง The Godfather ที่โด่งดัง แต่เคยสงสัยกันไหมว่า มาเฟียมีประวัติศาสตร์ที่มาอย่างไร ทำไมจึงเกิดระบอบนี้ขึ้นได้ ทั้งๆ ที่ไม่ได้มีปรัชญาใดสนับสนุนให้มันเกิดขึ้น บทความนี้จะเล่าถึงการถือกำเนิดขึ้นของระบอบมาเฟียในประวัติศาสตร์อิตาลี

……….


คำว่า “มาเฟีย” (Mafia) ตามพจนานุกรมของ Oxford, Merrium-Webster และ Longman ต่างก็ให้ความหมายเหมือนกันคือ “องค์กรอาชญากรรมลับ” (A Secret Criminal Organization) และยังให้บริบทเดียวกันด้วยว่า “มีจุดเริ่มต้นมาจากเมืองซิชิเลีย (ทางตอนใต้ของ)ประเทศอิตาลี (Sicilia, Italy)” จนกระทั่งต่อมา คำว่ามาเฟียได้ถูกขยายความและนำไปใช้เป็นการทั่วไปเพื่อสื่อความหมายถึง “องค์กรอาชญากรรม (Organized Crime) ที่มีแขนขา (Octopus) แพร่กระจายอยู่ทั่วไปในพื้นที่หนึ่งๆ” นั่นย่อมหมายถึงจุดเริ่มต้นของมาเฟียมาจากทางตอนใต้ของอิตาลี(แน่ๆ)

“ซิชิเลีย เมืองต้นกำเนิดมาเฟียทางตอนใต้ของอิตาลี” (ที่มาของภาพ)


แม้ว่าจะไม่มีข้อมูลอย่างเป็นทางการว่ามาเฟียมีบทบาทมากแค่ไหนในทางเศรษฐกิจ แต่การประมาณการของ Merryl Lynch (2008) ชี้ว่ามูลค่าของเศรษฐกิจนอกกฎหมาย (Illegal Economy) มีสัดส่วนประมาณร้อยละ 30 ของ GDP โลก และ L.A. Times (2009) ประมาณการว่าองค์กรอาชญากรรมข้ามชาติครอบครองกิจกรรมทางเศรษฐกิจประมาณร้อยละ 15 ของ GDP โลก (อ้างใน Meyer, 2009) ซึ่งหากเทียบเคียงมาเฟียกับองค์กรอาชญากรรมที่มักถูกใช้ในความหมายเดียวกัน ก็เท่ากับว่า “ครึ่งหนึ่งของมูลค่าเศรษฐกิจนอกกฎหมายอยู่ในการครอบครองของมาเฟีย หรือหากคิดเป็นมูลค่าจาก GDP (2009) ก็จะอยู่ที่ 291 ล้านล้านบาทต่อปี”

คำว่ามาเฟียจึงอาจจะดูเป็นเรื่องล้าหลังและไกลตัว ทั้งที่จริงแล้วมาเฟียไม่ได้หายไปจากสังคมแต่ยังคงมีบทบาทที่สำคัญดังจะเห็นได้จากมูลค่าที่มีการประมาณการไว้ แต่ที่ดูเป็นเรื่องไกลตัวก็เพราะมาเฟียได้ปรับจนกลายเป็นส่วนหนึ่งของการพัฒนาอย่างลงตัว ในปัจจุบันมาเฟียในประเทศต้นแบบต้นแบบอย่างอิตาลีก็ยังคงมีบทบาทสำคัญ และควบคุมเศรษฐกิจทางตรง (ไม่นับรวมส่วนที่อยู่นอกกฎหมายและธุรกิจสีเทาอีกเป็นจำนวนมาก) ถึงร้อยละ 7-10 ของ GDP ทั้งประเทศ

“อนุสาวรีย์ในการต่อต้านมาเฟียของเมือง Palermo สร้างจากเหล็กที่ใช้ในการก่อสร้าง เพราะมาเฟียส่วนใหญ่ผูกโยงกับอุตสาหกรรมนี้” (ที่มาของภาพ)

……….

ถึงระบอบมาเฟียจะเป็นส่วนสำคัญหนึ่งของประวัติศาสตร์ซิชิเลีย แต่ก็ไม่มีหลักฐานอย่างชัดแจ้งที่จะระบุได้ว่าระบอบมาเฟียเริ่มก่อตัวขึ้นมาตั้งแต่เมื่อไหร่ การถือกำเนิดขึ้นของมาเฟียซิชิเลียนเริ่มต้นก่อนศตวรรษที่ 19 ที่โครงสร้างสังคมในซิชิเลียอยู่ภายใต้ระบอบศักดินาเช่นเดียวกับยุคกลางของประเทศในยุโรปอื่นๆ สังคมศักดินาในบทความนี้ก็คือสังคมที่ประกอบด้วยคนสองชนชั้น ชนชั้นสูงที่มีจำนวนน้อยจะถือครองทรัพย์สินและที่ดินเป็นส่วนใหญ่ และชนชั้นล่างที่มีจำนวนมาก ส่วนใหญ่เป็นชาวนาที่ทำงานบนที่ดินของชนชั้นสูง (Blok, 1966)

ในซิชิเลีย ที่ดินของชนชั้นสูงในระบบศักดินาถูกแบ่งออกเป็นผืนๆ เรียกว่า “ที่ดินศักดินา” (Feudo) ถือครองโดยเจ้าขุนมูลนาย (Baron) (Blok, 1966) เจ้าขุนมูลนายเหล่านี้จะได้รับอำนาจการปกครองซึ่งรวมถึงการใช้กำลังและอาวุธมาจากผู้ปกครองอีกทีหนึ่ง โดยมีจำนวนไม่กี่ครอบครัวและจะทำหน้าที่กำกับดูแลพื้นที่ปกครองไปในตัวด้วย จากข้อมูลในอดีต พบว่า ผู้ปกครองเหล่านี้เป็นเจ้าของที่ดินมากถึงสามในสี่ของพื้นที่ปกครองทั้งหมด (Bandiera, 2003) และ ประชากรจำนวน 0.1% ถือครองที่ดินมากถึง 99% ของที่ดินทั้งหมด (Baldwin, 2008) จากนั้น ผู้ปกครองก็จะว่าจ้างหรือปล่อยทรัพย์สินให้เช่าแก่คนกลาง (Gabelloti) เพื่อทำหน้าที่กำกับดูแลผลตอบแทนที่เกิดจากการใช้ที่ดินแทนตนเอง โดยคนกลางก็จะทำการตกลงกับเจ้าขุนมูลนายเพื่อส่งส่วยในอัตราคงที่เป็นรายปี แล้วทำหน้าที่แทนเจ้าของที่ดินในการใช้ประโยชน์จากที่ดิน ทำสัญญาว่าจ้างชาวนามาสร้างผลผลิตและดูแลทรัพย์สิน (Blok, 1966) โดยชาวนาจะได้รับค่าตอบแทนเป็นอาหารเพียงเล็กน้อยของสัดส่วนของผลผลิตที่ผลิตได้เท่านั้น

ต่อมา สหราชอาณาจักรเข้ายึดครองซิชิเลียในช่วงสงครามนโปเลียนตอนต้นศตวรรษที่ 19 และได้ทำการปฏิรูประบบศักดินาในปี ค.ศ.1812 ซึ่งสาระสำคัญของการปฏิรูปประกอบด้วย (Bandiera, 2003)
- การยกเลิกสิทธิประโยชน์ของการเป็นลูกคนแรก เช่น การที่ลูกคนแรกได้รับกรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินของบิดามารดาทั้งหมด
- การเวนคืนที่ดินส่วนใหญ่ และการจัดสรรกรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินให้ชาวนาจำนวนหนึ่งในห้าของที่ดินที่ชาวนาเคยทำนาอยู่ก่อน

ผลที่ตามมาก็คือ ธรรมเนียมปฏิบัติของการยกทรัพย์สินให้ลูกคนแรกถูกยกเลิกไป แต่ก็ไม่มีระบบการจัดสรรทรัพย์สิน รวมทั้งพ่อแม่ก็ไม่มีความรู้มากพอในการแบ่งสรรทรัพย์สินอย่างเป็นธรรม ความขัดแย้งก็เริ่มก่อตัวขึ้นภายในครอบครัว ซึ่งจะกลายเป็นความขัดแย้งในสังคมในเวลาต่อมา

นอกจากนี้ จำนวนเจ้าของที่ดินยังเพิ่มขึ้นจาก 2,000 รายเป็น 20,000 รายในช่วงปี ค.ศ.1812 ถึงปี ค.ศ.1860 (Bandiera, 2003)

โดยการปฏิรูปที่ดินก็ไม่ได้ประสบความสำเร็จอย่างที่คาดหวัง เพราะชนชั้นชาวนาไม่ได้เข้มแข็งขึ้น และการสูญเสียสิทธิการทำมาหากินตามวัฒนธรรมดั้งเดิมที่เคยเป็นมากลับทำให้พวกเขามีปัญหา เนื่องจากแม้พวกเขาจะเพาะปลูกได้ แต่ก็ไม่สามารถดูแลผลผลิตและทรัพย์สินของตนเองได้ ดังนั้น การปฏิรูปที่ดินจึงก่อให้เกิดชนชั้นใหม่ขึ้นจากคนกลางที่ร่ำรวยและมีศักยภาพในการเข้าถึงเจ้าขุนมูลนายมาปกป้องคุ้มครองทรัพย์สินของพวกเขา

นั่นคือมันเพียงแต่เปลี่ยนจากระบอบศักดินาเจ้า (Baron Feudalism) กลายเป็นระบอบกึ่งศักดินานายทุน (Capitalist Quasi-Feudalism)

“ภาพมุมสูงตอนกลางคืนของเมืองหนึ่งในซิชิเลีย” (ที่มาของภาพ)

……….

ต่อมา เมื่อมีการปฏิวัติของอิตาลี (Italian Revolution of 1860) และการรวมชาติอิตาลี รัฐบาลจำเป็นต้องดำเนินการบางอย่างเพื่อรวบอำนาจบางส่วนเข้าสู่ศูนย์กลาง เช่น ช่วงปี ค.ศ.1862 ถึง ค.ศ.1863 รัฐทำการยึดกรรมสิทธิ์ที่ดินจำนวนมาก(โดยเฉพาะจากเจ้าของที่ดินและโบสถ์)เพื่อมาจัดสรรใหม่ให้กับสาธารณชน (Bandiera, 2003) ซึ่งทำให้ประชาชนจำนวนมากขึ้นมีที่ดินเป็นของตนเอง แต่อย่างไรก็ตาม ส่วนใหญ่ของที่ดินที่ถูกจัดสรรก็ยังไปตกอยู่กับเจ้าของที่ดินเดิมและคนกลาง เพราะพวกเขามีอำนาจต่อรองกับรัฐบาลกลางมากกว่า ขณะที่ชาวนารายย่อยที่ได้รับการจัดสรรที่ดินก็ได้รับเพียง 4.5 เฮคตาร์ต่อคนและเป็นที่ดินที่มีคุณภาพต่ำมาก สำคัญกว่านั้นคือการปฏิรูปที่ดินยิ่งทำให้ชาวนาสูญเสียความสามารถในการเข้าถึงที่ดินเพื่อทำการเกษตรแบบดั้งเดิมที่เคยเป็นมา (Blok, 1966)

ภายหลังความพยายามในการปฏิรูปที่ดินกลับยิ่งส่งเสริมให้ระบบมาเฟียมีบทบาทมากขึ้น การยึดที่ดินมาจากโบสถ์สร้างความไม่พอใจต่อนักบวชที่มีต่อรัฐบาลอิตาเลียน และเนื่องจากซิชิเลียเป็นพื้นที่ของคาทอลิคที่เข้มแข็ง ซึ่งประชาชนจะได้รับอิทธิพลอย่างมากจากนักบวชของศาสนา ทำให้พวกเขามีความรู้สึกปฏิเสธรัฐบาลกลาง สุดท้ายแล้ว รัฐบาลอิตาเลียนจึงมีบทบาททางสังคมในการเข้าถึงประชาชนชาวซิชิเลียน้อยมาก นอกจากนี้ หากใครเข้าหาอำนาจรัฐหรือให้การช่วยเหลือตำรวจก็อาจหมายถึงการต่อต้านศาสนา นักบวชหรือสังคมด้วย (Brogger, 1968) ช่องว่างของอำนาจรัฐจึงทำให้มาเฟียมีบทบาทชัดเจนมากขึ้น

นอกจากนี้ อาชญากรรมในพื้นที่เพิ่มสูงขึ้นมากอันเป็นผลโดยตรงมาจากการยึดที่ดินของโบสถ์แล้วแจกจ่ายไปให้ประชาชน เพราะชาวนาบางส่วนไม่สามารถหารายได้โดยวิธีดั้งเดิมคือทำการเกษตรบนที่ดินของโบสถ์ได้อีกต่อไป รวมทั้งประชาชนก็ไม่มีความสามารถที่จะปกป้องทรัพย์สินของตนเองได้ ชาวนาเหล่านี้จึงกลายเป็นคนนอกกฎหมาย (Blok, 1966) โดยอาจจะขโมยวัวควาย และฆ่าเจ้าของ หรือแม้แต่ข่มขู่แย่งชิงผลผลิตทางการเกษตรที่นำไปผลิตไวน์ จนทำให้เจ้าของที่ดินและผู้ประกอบการต่างย้ายออกจากพื้นที่ เพราะเกรงกลัวอันตราย (Blok, 1966) และก็ไม่สามารถหาแรงงานจากนอกพื้นที่มาทำงานได้ (Bandiera, 2003)

ภายใต้ระบอบศักดินาเดิม เจ้าของที่ดินไม่ได้มากำกับดูแลเอง แต่อาศัยสิทธิในการใช้อาวุธเพื่อป้องกันคนนอกกฎหมายและควบคุมชาวนา แต่หลังจากที่ระบบนี้ล่มสลาย อำนาจในการบังคับใช้อาวุธกลับตกไปเป็นของตำรวจซึ่งกำกับโดยรัฐ แต่ทั้งตำรวจและรัฐกลับไม่ได้มีประสิทธิภาพเพียงพอ เจ้าของที่ดินจึงต้องอาศัยคนกลางเข้ามาดูแลทรัพย์สิน ซึ่งเท่ากับว่าคนกลางเหล่านี้ทำหน้าที่เหมือนตำรวจ (Blok, 1969) และแน่นอนว่า เจ้าของที่ดินทุกรายย่อมต้องการคนกลางที่เข้มแข็งที่สุดหรือก่อความรุนแรงได้มากที่สุดมาดูแลทรัพย์สินของตน เพื่อการคุ้มครองที่มีประสิทธิภาพมากกว่า (Bandiera, 2003) จึงเกิดการเรียงลำดับหรือลำดับขั้นของคนกลางขึ้นในพื้นที่ ซึ่งเท่ากับว่าระบบศักดินาก็ยังคงสถานะอยู่ต่อไปภายในระบอบมาเฟียด้วย

“ความเชื่อมโยงของบุคคลกลุ่มต่างๆ ในระบอบมาเฟีย (Sardell, Pavlov and Saeed (n.d.d))”

……….

กล่าวโดยสรุปก็คือ ส่วนหนึ่งของการเกิดระบอบมาเฟียก็คือการยกเลิกระบอบศักดินา โดยที่ยังไม่มีระบบกฎหมายที่เข้มแข็งมากพอและสังคมเองก็ยังไม่มีความพร้อมในการทำงานร่วมกันของภาคประชาชน ผลก็คือระบอบศักดินาจึงถูกถ่ายโอนไปสู่ผู้ที่ควบคุมหรือสร้างความรุนแรงได้มากกว่าอย่างมาเฟีย จนกลายเป็นรัฐคู่ขนาน (Parallel State) ของรัฐบาลกลางดังเช่นปัจจุบัน

หากมองเรื่องนี้ในมิติของมาร์กซ ระบอบมาเฟียเป็นรูปแบบหนึ่งของการสะสมทุนขั้นต้น (Primitive Capital Accumulation) นั่นคือ คนกลางได้เปลี่ยนเงิน (Money) ที่ได้รับจากการว่าจ้างให้ดูแลที่ดินกลายเป็นทุน (Capital) แล้วเปลี่ยนจากทุนให้กลายเป็นส่วนเกิน (Surplus) เพื่อการสะสมทุนในช่วงเวลาต่อๆ ไปโดยอาศัยความรุนแรงเป็นเครื่องคุ้มกันระบอบ เมื่อเวลาผ่านไปนานขึ้นๆ ส่วนเกินก็ทำให้ทุนที่สะสมก็ยิ่งมากขึ้น เงินก็มากขึ้น ขณะที่ชนชั้นล่างหรือคนที่อยู่นอกระบอบมาเฟียยังคงถูกขูดรีดและไม่ได้รับประโยชน์ใดใดจากระบอบนี้เช่นเดิม






ที่มา: ธานี ชัยวัฒน์ (2555) “มาเฟียกับการพัฒนา: กรณีศึกษามาเฟียซิชิเลียน” บทความชิ้นนี้เป็นส่วนหนึ่งของโครงการเมธีวิจัยอาวุโส ศาสตราจารย์ ดร.ผาสุก พงษ์ไพจิตร ชื่อว่า “สู่สังคมไทยเสมอหน้า การศึกษาโครงสร้างความมั่งคั่งและโครงสร้างอำนาจเพื่อการปฏิรูป” สนับสนุนโดย สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย สำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา และจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, 2008 – 2011.

  • kaebmoo

    “ผมก็คือระบอบศักดินา” น่าจะเป็นคำว่า “ผลก็คือระบอบศักดินา” รึเปล่า? ย่อหน้าก่อน ย่อหน้าสุดท้าย

    • http://setthasat.com/ [เสด-ถะ-สาด]

      แก้ไขแล้ว ขอบคุณมากครับ ^^

  • Nichanan Khwanmak

    ขอบคุณค่ะ หายากมากเลยค่ะเรื่องมาเฟียเนี่ย อยากรู้มาตั้งนานแล้ว