239855_725068520

เรามี“เพื่อน”ได้มากที่สุด…กี่คน?

Dunbar’s Number คือตัวเลขจำนวนเพื่อนที่สมองส่วนหน้าของมนุษย์จะสามารถจำรายละเอียดได้ ซึ่งก็คือ 150 คน และก็เป็นตัวเลขเดียวกับจำนวนคนเฉลี่ยของแต่ละกลุ่มในประวัติศาสตร์ ซึ่งมาจากผลได้และต้นทุนของการรวมกลุ่ม บทความนี้จะชี้ให้เห็นมิติที่สอดคล้องกันดังกล่าว

……….


วามสัมพันธ์ทางสังคม (Social Relationships) เป็นหัวข้อที่มีการศึกษามาเป็นเวลานาน เนื่องจากความสัมพันธ์เป็นองค์ประกอบพื้นฐานของการแลกเปลี่ยนและการเกี่ยวข้องกันทางสังคม (Social Exchange and Affiliation) ของมนุษย์ ประเด็นหนึ่งที่มีการศึกษากันมากก็คือ ขนาดของกลุ่ม (Group Size) หรือพูดให้ง่ายกว่านั้นก็คือ จำนวนคนที่มาอยู่รวมกลุ่มกันนั้นถูกกำหนดจากปัจจัยอะไรบ้าง

ในทางมานุษยวิทยาดั้งเดิม ขนาดของกลุ่มจะใหญ่หรือเล็ก (มีคนในกลุ่มมากหรือน้อย) ขึ้นอยู่กับความสมดุลของประโยชน์ที่จะได้รับกับต้นทุนของการรวมกลุ่ม (Cost-Benefit of Group Living) การอยู่รวมกันช่วยลดความเสี่ยงในการถูกล่าจากศัตรู (ซึ่งอาจเป็นสัตว์ป่าหรือมนุษย์กลุ่มอื่น) และยังเพิ่มโอกาสการมีชีวิตรอดจากการปกป้องดินแดนในการผลิตหรือหาอาหาร ขณะที่ขนาดของกลุ่มที่ใหญ่ขึ้นก็มีต้นทุนจากการแข่งขันระหว่างกันเองของคนในกลุ่ม และต้นทุนของการแบ่งปันผลผลิตให้จำนวนคนที่เพิ่มขึ้นเช่นกัน กล่าวโดยสรุปก็คือ ถ้าคนในกลุ่มมีน้อยไป โอกาสถูกล่าก็มาก แต่ถ้าคนในกลุ่มมีมากไป อาหารที่หาได้ก็จะถูกแบ่งไปมากจนไม่พอกิน

“มิตรภาพ” (ที่มาของภาพ)

ต่อมา นักมานุษยวิทยาและจิตวิทยาชื่อ Robin Dunbar (1992) ได้ปฏิวัติวิธีการอธิบายของนักมานุษยวิทยาดั้งเดิมเกี่ยวกับขนาดของกลุ่ม เขาเริ่มต้นจากการตั้งสมมติฐาน Social Brain Hypothesis (SBH) ภายใต้ความเชื่อที่ว่า สมองของมนุษย์มีขีดจำกัดในการจำรายละเอียดต่างๆ นั่นคือ จำนวนของเพื่อนมีมากหรือน้อยขึ้นอยู่กับข้อจำกัดของสมองส่วนหน้า (Neocortex Size as a Constraint on Group Size) [เนื่องจากผู้เขียนเป็นนักเศรษฐศาสตร์ ไม่อาจอธิบายรายละเอียดได้ว่าทำไมต้องเป็น "สมองส่วนหน้า" แต่คิดว่าคงทำหน้าที่เกี่ยวกับการเก็บข้อมูลกระมังครับ]

……….

ที่น่าสนใจก็คือ ทั้งข้อมูลของการรวมกลุ่มในประวัติศาสตร์ทางมานุษยวิทยาดั้งเดิมและผลที่ได้จากการทดลองทางจิตวิทยาต่างก็ให้ค่าที่ใกล้เคียงกันว่า “มนุษย์มีเพื่อนได้มากที่สุด 150 คน” ซึ่งตัวเลข 150 นี้ถูกเรียกว่า Dunbar’s Number

อย่างไรก็ดี การศึกษาของ Dunbar (2010) ไปไกลกว่านั้น เขาได้สร้างวงของการเข้าถึง (Circle of Acquaintanceship) ขึ้น ดังภาพที่ ๑ โดย EGO หมายถึงตัวเราเอง จากนั้นจะเป็นวงของเพื่อนที่สนิทที่สุด 5 คน และจะเริ่มขยายออกไปในอัตราส่วนประมาณ 3 เท่า คือ 15, 50 และ 150 ตามลำดับ Dunbar จึงมักเรียกวงของการเข้าถึงเหล่านี้ว่า วง 5-15-50-150 และขนาดของวงเช่นนี้เป็นได้ทั้งในแนวราบ เช่น ในกลุ่มเพื่อน และในแนวตั้ง เช่น ในกองทัพ องค์กรธุรกิจ เป็นต้น

“รูปที่ ๑ วงของการเข้าถึง (Circle of Acquaintanceship) เริ่มจาก 5 คนและค่อยๆ เพิ่มขึ้นในอัตราส่วน 3 เท่า”

Dunbar (2010) อ้างอิงงานของ Roberts, Dunbar, Pollet and Kuppens (2009) ที่ทำการทดสอบตัวเลขชุดนี้ทางสถิติ พวกเขาทำการสำรวจผู้หญิง 295 คนในสหราชอาณาจักรและเบลเยี่ยม เพื่อให้ระบุความใกล้ชิดทางอารมณ์ (Emotional Closeness) ในการพบปะพูดคุยกันครั้งสุดท้าย เป็นค่าตั้งแต่ 1-10 ที่มีต่อเพื่อนลำดับที่ 1, 2, 3, …, >150

ผลการศึกษาแสดงได้ตามรูปที่ ๒ ซึ่งหากจัดเพื่อนตามลำดับที่ว่ามาออกเป็นวง 5-15-50-150-500 จะพบว่า ค่าเฉลี่ยของความใกล้ชิดทางอารมณ์ที่มีต่อเพื่อนในแต่ละกลุ่มนั้นมีความแตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญ (F4,18538 = 2002.4; p<.0001) และแต่ละกลุ่มก็มีความแตกต่างจากกลุ่มอื่นๆ อย่างมีนัยสำคัญด้วย (Scheffe tests; p<.001) กล่าวคือ วง 5-15-50-150-500 มีความหมายต่อความใกล้ชิดทางอารมณ์ที่แตกต่างกัน

“รูปที่ ๒ ค่าเฉลี่ยของความใกล้ชิดทางอารมณ์ที่มีต่อเพื่อนในแต่ละกลุ่มตามวงของการเข้าถึง ซึ่งความใกล้ชิดทางอารมณ์มีความแตกต่างอย่างมีนัยสำคัญระหว่างกลุ่มต่างๆ”

นอกเหนือจากความใกล้ชิดทางอารมณ์ที่เป็นเรื่องของความรู้สึกแล้ว Roberts, Dunbar, Pollet and Kuppens (2009) ยังสอบถามเรื่องจำนวนครั้งของการติดต่อกัน (Contact per day) ด้วย ผลออกมาตามรูปที่ ๓ ซึ่ง เพื่อนสนิทที่สุด 5 คนแรกจะมีอัตราการติดต่อกันประมาณ 0.37 ครั้งต่อคนต่อวัน ขณะที่คนที่อยู่ในวง 50-150 มีการติดต่อกันน้อยมาก และวง 150-500 แทบจะไม่มีการติดต่อกันเลย

“รูปที่ ๓ จำนวนครั้งของการติดต่อกันระหว่างเพื่อนในแต่ละกลุ่มตามวงของการเข้าถึง ซึ่งมีความแตกต่างระหว่างกลุ่มอย่างมีนัยสำคัญ และเมื่อจำนวนเพื่อนเกิน 150 คนก็แทบจะไม่มีโอกาสติดต่อกันแล้ว”

……….

Sutcliffe, Dunbar, Binder and Arrow (2011) ได้เสนอแบบจำลองที่ผสมผสานแนวคิดเชิงจิตวิทยาเกี่ยวกับข้อจำกัดทางด้านความจำของสมองส่วนหน้ากับการวิเคราะห์ต้นทุนผลได้ในมุมมองของมานุษยวิทยาแบบดั้งเดิม ดังแสดงในภาพที่ ๔ พวกเขาสมมติว่าเพื่อนมีสองแบบ คือ เพื่อนที่เข้าใจอารมณ์ซึ่งกันและกัน (Emotional Support) กับเพื่อนที่ทำงานร่วมกันเฉยๆ (Alliances) ต้นทุนการมีเพื่อนมีความสัมพันธ์เป็นเส้นตรงกับจำนวนเพื่อน แต่เส้นต้นทุนของเพื่อนที่เข้าใจอารมณ์ซึ่งกันและกันจะมีความชันมากกว่าเพื่อนที่ทำงานร่วมกันเฉยๆ เพราะต้องอาศัยแรง เวลา และพลังงานมากกว่าในการทำความเข้าใจ ขณะที่ผลได้ของเพื่อนที่เข้าใจอารมณ์ซึ่งกันและกันก็จะมีมากกว่าเพื่อนที่ทำงานร่วมกันเฉยๆ เช่นกัน

เมื่อพิจารณาต้นทุนและผลได้ร่วมกันจะเห็นว่า ในกรณีของเพื่อนที่เข้าใจอารมณ์ซึ่งกันและกันจะมีได้จำนวนน้อย ขณะที่เพื่อนที่ทำงานร่วมกันเฉยๆ มีได้จำนวนมาก และจุดตัดระหว่างเส้นผลได้กับเส้นต้นทุนถือเป็นดุลยภาพแนช (Nash Equilibrium) ด้วย เพราะหากจำนวนเพื่อนมีมากกว่านี้ ต้นทุนจะสูงเกินกว่าผลได้ จำนวนเพื่อนจะลดลง ขณะที่หากมีเพื่อนน้อยกว่านี้ การเพิ่มจำนวนเพื่อนจะทำให้ผลได้ยังสูงกว่าต้นทุน จำนวนเพื่อนจะเพิ่มขึ้นต่อไป

“รูปที่ ๔ ต้นทุนและผลได้ของการมีเพื่อนแต่ละประเภท ซึ่งแสดงถึงการได้อย่างเสียอย่างของคุณภาพและจำนวนเพื่อน”

……….

กล่าวโดยสรุปก็คือ Dunbar’s Number บอกให้รู้ว่า เราสามารถมีเพื่อน(อย่างมีประสิทธิภาพ)ได้มากที่สุดประมาณ 150 คน อันเนื่องมาจาก ข้อจำกัดทางด้านความจำของสมองในการจำรายละเอียดของเพื่อน และเวลาที่ต้องใช้ในการสร้างมิตรภาพ ก่อให้เกิดการได้อย่างเสียอย่างของคุณภาพและจำนวนเพื่อน (Trade-offs between Quality and Quantity of Friends) อย่างชัดเจน อย่างไรก็ตาม วงของการเข้าถึงความเป็นเพื่อนตามความใกล้ชิดทางอารมณ์และค่าเฉลี่ยในการติดต่อกันคือ 5-15-50-150 คน ดังนั้น สิ่งสำคัญที่สุดคือ เลือกคบเพื่อน 5 คนแรกให้ดีนะครับ ^^






ขอขอบคุณอาจารย์สิทธินันท์ จันทรัตน์ (@Sittinan C. Sittinan) ในการหาบทความให้ครับ ^^

ที่มา:
– Sutcliffe, Alistair, Dunbar, Robin, Binder, Jens and Holly Arrow (2011) “Relationships and the social brain: Integrating psychological and evolutionary perspectives” British Journal of Psychology 103(2) pp.2044-8295.
– Dunbar, R. I. M. (1992). Neocortex size as a constraint on group size in primates. Journal of Human Evolution, 22, 469–493.
– Roberts, S. B. G., Dunbar, R. I. M., Pollet, T., & Kuppens, T. (2009). Exploring variations in active network size: Constraints and Ego characteristics. Social Networks, 31, 138–146.

featured image from here

  • Oom

    มืตรแท้ถึงแม้มีน้อย ดีกว่ามีมิตรเป็นร้อยที่คอยริษยา