1253

อะไรจะเกิดขึ้น หากผู้นำประเทศถูก”ลอบสังหาร”?

สาขารัฐศาสตร์ทำการศึกษาเรื่องการลอบสังหารผู้นำมาเป็นจำนวนมาก แต่มักเป็นแบบกรณีศึกษา หากวิเคราะห์เรื่องนี้ด้วยการใช้ฐานข้อมูล ซึ่งถือเป็นวิถีทางที่ถนัดของนักเศรษฐศาสตร์ ผลที่ออกมาจะบอกเราได้ว่า ในภาพรวมแล้ว ความสำเร็จของการลอบสังหารจะเปลี่ยนแปลงประวัติศาสตร์ได้หรือไม่

……….


ารลอบสังหาร (Assassination) ผู้นำประเทศเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นมาอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ในอดีต ไม่ว่าจะเป็น Julius Caesar, Abraham Lincoln, John F.Kennedy, Yitzhak Rabin และคนอื่นๆ อีกมาก นอกจากนี้ ยังมีการลอบสังหารที่ไม่สำเร็จอีก เช่น ในปี 1939 Hitler ออกจากโรงเบียร์ที่ Munich ก่อนจะเกิดระเบิดขึ้นเพียง 13 นาทีเท่านั้น ส่งผลให้เขารอดตายไปได้ ที่น่าสนใจก็คือ จากสถิติบอกเราว่า ตั้งแต่ 1950 เป็นต้นมา จะมีการลอบสังหารผู้นำประเทศประมาณสองคนในทุกๆ 3 ปี

Benjamin Disraeli (1965) เคยกล่าวภายหลังการเสียชีวิตของ Abraham Lincoln ไว้ว่า “การลอบสังหารไม่มีวันจะทำให้ประวัติศาสตร์เปลี่ยนแปลงไปได้” แม้คำพูดนี้จะดูกินใจ แต่มันนำมาสู่คำถามสำคัญทางเศรษฐศาสตร์ว่า ประวัติศาสตร์จะเปลี่ยนหรือไม่เปลี่ยนกันแน่ แม้ว่าการศึกษาในทางรัฐศาสตร์ที่เป็นกรณีๆ ไปจะมีอยู่จำนวนมาก แต่การศึกษาด้วยชุดข้อมูลตามแนวทางของเศรษฐศาสตร์ยังแทบไม่มีให้เห็น

“สถานการณ์การเสียชีวิตของ Julius Caesar” (ที่มาของภาพ)

……….

ในบทความนี้ [เสด-ถะ-สาด].com ขอผนวกเอาบทความวิชาการสองชิ้นเข้าด้วยกัน บทความแรกศึกษาผลกระทบของการลอบสังหารผู้นำประเทศที่มีต่อการเปลี่ยนแปลงสถาบันและโอกาสเกิดสงคราม กับบทความที่สองว่าด้วยอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจ ซึ่งทั้งสองบทความใช้วิธีการศึกษาแบบเดียวกัน

บทความแรกของ Jones and Olken (2007) ใช้ข้อมูลปี 1875 – 2004 จากความพยายามลอบสังหาร 298 ครั้ง และทำได้สำเร็จ 59 ครั้ง โดยแบบจำลองของเขาใช้การลอบสังหารที่ไม่สำเร็จเป็นตัวแปรควบคุม (Controls) (เนื่องจากการลอบสังหารเกิดขึ้นแล้ว บทความจึงมุ่งไปที่การเปรียบเทียบผลของการลอบสังหารสำเร็จและไม่สำเร็จ ไม่ใช่การเปรียบเทียบระหว่างมีหรือไม่มีการลอบสังหาร) นอกจากนี้ คำว่าผู้นำประเทศจะหมายถึงตัวผู้นำสูงสุดของประเทศนั้นๆ เท่านั้น ไม่รวมถึงผู้นำระดับสูงอื่นๆ เช่น รัฐมนตรี

“สถานการณ์การลอบสังหาร Abraham Lincoln” (ที่มาของภาพ)


ตัวแปรที่ใช้วัดสถาบันมีสองตัว ตัวแปรแรกเป็นตัวแปรหุ่น (Dummy Variable) โดยวัดจากระบอบการปกครอง ซึ่ง 1 คือประชาธิปไตย และ 0 คือระบอบเผด็จการ (Autocracy) ใช้ข้อมูล POLITY2 และตัวแปรที่สองเป็นสัดส่วนของผู้นำประเทศที่มาตามวิถีทางปกติ(ตามกฎหมาย) (Regular Change) กับวิถีทางที่ไม่ปกติ(เช่น การรัฐประหาร) (Irregular Change) โดยใช้ข้อมูล Archigos ขณะที่ตัวแปรที่ใช้วัดสงครามมีสองตัวเช่นกันคือ ตัวแปรหุ่นจากฐานข้อมูล Correlates of War ที่จะนับความเป็นสงครามเมื่อมีผู้เสียชีวิตเกิน 1,000 คน และตัวแปรหุ่นจากฐานข้อมูล PRIO ที่จะนับว่าเป็นความขัดแย้ง (Conflict) (ถือเป็นสงครามอย่างอ่อนๆ) (Moderate War) เมื่อมีผู้เสียชีวิตเกิน 25 คน และนับเป็นสงคราม (Intense War) เมื่อมีผู้เสียชีวิตเกิน 1,000 คน

ข้อมูลพื้นฐานในตารางที่ ๑ แสดงให้เห็นว่า อาวุธหลักที่ใช้ในการลอบสังหารผู้นำคือ ปืน (55%) รองลงมาคืออุปกรณ์จำพวกระเบิด (31%) โดยปืนจะมีโอกาสลอบสังหารสำเร็จ 30% ขณะที่ระเบิดมีโอกาสเพียง 7% เท่านั้น และส่วนใหญ่การลอบสังหารจะเกิดขึ้นในประเทศตัวเองมากกว่าจะเกิดในต่างประเทศ

“ตารางที่ ๑ ค่าสถิติเชิงพรรณนาของการลอบสังหารผู้นำ”


การประมาณค่าผลกระทบของการลอบสังหาร อยู่ภายใต้ข้อสมมติสำคัญที่ว่า ความสำเร็จของการลอบสังหารเป็นแบบสุ่ม ดังนั้น ประเทศที่มีการลอบสังหารไม่สำเร็จ จะเป็นตัวควบคุม (Controls) ผลของการลอบสังหารสำเร็จ (Treatments) รูปแบบสมการที่ใช้ในการประมาณค่าคือ y_i = \beta\ SUCCESS_i + \delta X_i + \varepsilon_i และ \beta = E[y\mid SUCCESS_i=1,X] -  E[y\mid SUCCESS_i=0,X] ซึ่งหมายถึงผลกระทบต่อตัวแปร y ในกรณีที่ลอบสังหารสำเร็จหรือไม่สำเร็จ

ผลการประมาณค่าการลอบสังหารผู้นำประเทศที่มีต่อการเปลี่ยนแปลงสถาบันแสดงได้ตามตารางที่ ๒ Panel A พิจารณารวมกันทั้งประเทศที่เป็นเผด็จการและประชาธิปไตย คอลัมน์ที่ 1 แสดงให้เห็นว่า หากการลอบสังหารผู้นำสำเร็จ จะมีโอกาสที่ระบอบการปกครองจะเปลี่ยนแปลงไป คอลัมน์ที่ 2 พิจารณาเพิ่มเติมถึงทิศทางการเปลี่ยนแปลง และพบว่าการลอบสังหารผู้นำสำเร็จมีแนวโน้มที่จะทำให้ประเทศมีความเป็นประชาธิปไตยมากขึ้น สอดคล้องกับผลที่ได้ในคอลัมน์ 3 ที่พบว่า การลอบสังหารผู้นำสำเร็จจะทำให้ประเทศมีแนวโน้มเข้าสู่ระบบการเปลี่ยนผู้นำให้เป็นไปตามวิถีทางปกติ(ตามกฎหมาย)มากขึ้น

ขณะที่ใน Panel B แยกพิจารณาผลของประเทศที่เป็นเผด็จการและประชาธิปไตยออกจากกัน ทั้งคอลัมน์ 2 และ 3 ชี้ให้เห็นว่า การลอบสังหารผู้นำที่สำเร็จนั้น มีแนวโน้มที่จะเปลี่ยนจากประเทศที่มีระบอบเผด็จการไปเป็นประชาธิปไตย แต่กลับไม่มีผลอย่างมีนัยสำคัญกับกรณีที่ประเทศเป็นประชาธิปไตยอยู่แล้ว

“ตารางที่ ๒ ผลการประมาณค่าการลอบสังหารผู้นำประเทศที่มีต่อการเปลี่ยนแปลงสถาบัน”


ผลการประมาณค่าการลอบสังหารผู้นำประเทศที่มีต่อโอกาสในการเกิดสงครามแสดงได้ตามตารางที่ ๓ คอลัมน์แรกใช้ข้อมูลตั้งแต่ 1875-2002 และคอลัมน์ที่สองใช้ข้อมูลหลังสงครามโลกช่วง 1946-2002 พบว่า ความสำเร็จของการลอบสังหารผู้นำมีผลไม่ชัดเจนนักต่อโอกาสการเกิดสงคราม แต่เมื่อพิจารณาในคอลัมน์ที่สาม ซึ่งใช้ข้อมูลช่วง 1946-2002 และจำแนกระดับของสงครามออกเป็นความรุนแรงระดับกลาง (จำนวนผู้เสียชีวิต 26-999 คน) กับระดับสูง (จำนวนผู้เสียชีวิตมากกว่า 1,000 คน) โดยพบว่าความสำเร็จจากการลอบสังหารผู้นำจะมีผลต่อการเกิดความขัดแย้ง (สงครามอย่างอ่อน) แต่ไม่ถึงขั้นเกิดสงครามขั้นรุนแรง

“ตารางที่ ๓ ผลการประมาณค่าการลอบสังหารผู้นำประเทศที่มีต่อโอกาสเกิดสงคราม”

……….

นอกจากผลกระทบที่มีต่อสถาบันและสงครามแล้ว Gilbert, Sylwester and Gao (2011) ใช้วิธีเดียวกันกับ Jones and Olken (2007) เพื่อวิเคราะห์ผลกระทบที่มีต่ออัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจ โดยใช้ข้อมูลอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจจากแหล่งข้อมูลสองแหล่งคือ Penn World กับ Maddison และพิจารณาส่วนต่างของอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจ GAP = growth_{after} - growth_{before} ทั้งแบบเส้นตรง และแบบกำลังสอง เพื่อตรวจสอบว่ามีการเปลี่ยนแปลงหรือไม่โดยไม่สนใจทิศทางว่าอัตราการเติบโตเพิ่มขึ้นหรือลดลง

ผลการประมาณค่า แสดงได้ตามตารางที่ ๔ ซึ่งพบว่า ไม่ว่าจะเป็นข้อมูลอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจที่มาจาก Penn World หรือ Maddison และไม่ว่าจะเป็นตัวแปรแบบเส้นตรงหรือกำลังสอง ความสำเร็จในการลอบสังหารผู้นำก็ไม่มีผลต่อการเปลี่ยนแปลงอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจต่างไปจากกรณีที่ลอบสังหารไม่สำเร็จ นั่นหมายถึงอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจน่าจะอ่อนไหวต่อสถานการณ์ลอบสังหาร แต่ชัดเจนว่าไม่อ่อนไหวต่อความสำเร็จของการลอบสังหาร

“ตารางที่ ๔ ผลการประมาณค่าการลอบสังหารผู้นำประเทศที่มีต่ออัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจ”

……….

ข้อสรุปของประเด็นการลอบสังหารผู้นำที่มีต่อประเทศนั้นคือ ความสำเร็จของการลอบสังหารมีผลเฉพาะในประเทศเผด็จการ ซึ่งจะนำประเทศไปสู่ความเป็นประชาธิปไตยมากขึ้น โดยอาจก่อให้เกิดความขัดแย้งบ้าง แต่ไม่ถึงขั้นก่อให้เกิดสงคราม ขณะที่ในประเทศที่เป็นประชาธิปไตยอยู่แล้วนั้น ความสำเร็จของการลอบสังหารผู้นำไม่ได้ก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงกลับไปสู่ระบอบเผด็จการแต่อย่างใด นอกจากนี้ ความสำเร็จหรือล้มเหลวของการลอบสังหารผู้นำก็ไม่ได้ส่งผลกระทบใดใดต่ออัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศอีกด้วย






ขอขอบคุณ อาจารย์กฤษฎ์เลิศ สัมพันธารักษ์ ที่แนะนำหัวข้อและบทความที่น่าสนใจของ Jones and Olken ครับ ^^

ที่มา:
- Benjamin F. Jones & Benjamin A. Olken, 2007. “Hit or Miss? The Effect of Assassinations on Institutions and War,” NBER Working Papers 13102, National Bureau of Economic Research.
- Scott Gilbert, Kevin Sylwester, and Wei Gao, 2011. “Leader Assassination and Economic Growth” Discussion Paper for 2011, Southern Illinois University.

featured image from here