poor girl

“ความยากจน” คืออะไร?

ความยากจนเป็นปัญหาที่ถูกตั้งคำถามมานาน บทความนี้จะชี้ให้เห็นว่าความยากจนคืออะไร มีจุดเริ่มต้นมาจากไหน และทำไมจึงแก้ไขได้ยากยิ่ง รวมทั้งยังได้เกริ่นถึงโครงการของช่างภาพคนหนึ่งที่ตระเวนถ่ายภาพทางเลือกของคนจนในแต่ละประเทศมาให้ชมกันด้วย

……….


หัวข้อเกี่ยวกับ “ความยากจน” อาจจะดูน่าสนใจน้อยเมื่อเปรียบเทียบกับหัวข้ออื่นๆ ที่ [เสด-ถะ-สาด].com เคยนำเสนอมาก่อนหน้านี้ แต่อันที่จริงน้อยคนมากที่จะเข้าใจปัญหา”ความยากจน”อย่างแท้จริง ซึ่งในที่นี้ขอนำเอางานของ สมบูรณ์ นิธินันท์ และศุภชัย (2547) ที่ได้สำรวจความรู้เกี่ยวกับความยากจนมาสรุปให้ฟังกันอย่างคร่าวๆ นะครับ

อะไรคือความยากจน?

ในทางวิชาการ(เศรษฐศาสตร์)นั้น แม้ความยากจนจะเป็นเรื่องเชิงจิตวิสัย แต่จำเป็นต้องถูกวัดให้เป็นวิทยาศาสตร์ เพื่อให้สามารถนําไปวิเคราะห์ต่อและเปรียบเทียบระหว่างพื้นที่ได้ โดยคํานิยามของธนาคารโลก ระบุว่า “ความยากจน” คือ “สภาวะที่อัตคัดอย่างที่ไม่อาจยอมรับได้ (unacceptable deprivation) ของมนุษย์ปุถุชน”

แนวคิดของการพิจารณาความอัตคัดที่ว่ามาทำให้เกิดแนวทางการวัดว่าใครคือคนจนสองแนวทาง หนึ่งคือ วัดคนจนแบบจนอย่างสัมบูรณ์ (absolute poverty) หมายถึง คนที่มีน้อยกว่าที่จําเป็นจะต้องมี จนไม่สามารถมีความมั่นคงในการเสาะหาสินค้าหรือบริการที่ให้พอเพียงแก่ความจําเป็นพื้นฐานในการดํารงชีพ และสองคือ วัดคนจนแบบจนโดยเปรียบเทียบ (relative poverty) หมายถึง คนที่มีน้อยกว่าคนอื่นๆ ในสังคมโดยเปรียบเทียบ

ในปัจจุบัน การพัฒนาเศรษฐกิจทำให้คนจนโดยสัมบูรณ์ ซึ่งไม่มีอันจะกินนั้น มีแนวโน้มลดลง โดยหากพิจารณาจากเส้นความยากจน (poverty line) ซึ่งหมายถึง”รายจ่ายที่ต่ำที่สุดที่เขาสามารถซื้ออาหารให้มีสารอาหารเพียงพอเพื่อประทังชีพได้” แล้วล่ะก็จะพบว่าจำนวนประชากรที่มีรายได้ต่ำกว่าเส้นความยากจนมีแนวโน้มลดลง

……….

สาเหตุของความยากจน?

ขณะที่สาเหตุที่ก่อให้เกิดความยากจนนั้น สมบูรณ์ นิธินันท์ และศุภชัย (2547) สรุปเอาไว้ 4 ประการ ได้แก่

1. ปัจจัยทางเศรษฐกิจ หมายถึง การขาดแคลนทรัพย์สินที่จะก่อให้เกิดรายได้ ไม่ว่าจะเป็นที่ดิน ทุน ทรัพยากรมนุษย์ รวมถึงโอกาสที่จะหามาซึ่งทรัพย์สินเหล่านี้ด้วย ผลก็คือครอบครัวที่ยากจนมักจะต้องเผชิญกับความยากจนถาวร ปัจจัยทางเศรษฐกิจประกอบด้วย

1.1) ขนาดของที่ดินทํากิน จากการศึกษาของธนาคารโลก (2001) พบว่า ถ้าให้ประชากรในชนบทมีที่ดินทํากินเพิ่มขึ้น 1% จะสามารถลดโอกาสที่จะตกอยู่ในภาวะ ยากจนได้ประมาณ 0.1% นอกจากนี้ ยังพบว่าลักษณะการถือครองที่ดินมีความสําคัญมาก หากเป็นผู้เช่า (แทนที่จะเป็นเจ้าของที่ดิน) จะเพิ่มโอกาสของการตกอยู่ในภาวะความยากจนถึง 30%

1.2) โอกาสการศึกษา งานของธนาคารโลก (2001) พบว่า ครัวเรือนที่มีผู้ใหญ่ที่ได้รับการศึกษาจนจบระดับประถมศึกษาหรือมัธยมศึกษาตอนต้นเป็นอย่างน้อย ความเสี่ยง ของการตกอยู่ในภาวะความยากจนจะลดลงถึง 66-74% เมื่อเทียบกับครัวเรือนที่ไม่มีการศึกษาเลย และถ้าได้รับการศึกษาไปถึงระดับมหาวิทยาลัย โอกาสจะลดลงไปอีกถึง 90%

1.3) ภาวะเศรษฐกิจตกต่ํา Warr (2000) พบว่าภายหลังจากการเกิดวิกฤตเศรษฐกิจในปี 2540 ประเทศไทยมีสัดส่วนประชากรที่จัดว่ายากจนเพิ่มขึ้นจากร้อยละ 6.15 ในปี 2539 เป็นร้อยละ 8.58 ในปี 2542

2. ปัจจัยเชิงโครงสร้างประชากร ธนาคารโลก (2001) พบว่า ครอบครัวที่มีขนาดใหญ่จะมีโอกาสตกอยู่ในภาวะความยากจนมากกว่าครอบครัวขนาดเล็ก นอกจากนี้ ถ้าครอบครัวมีขนาดเท่ากัน ครอบครัวที่มีสัดส่วนของผู้ใหญ่มากกว่าจะเสี่ยงต่อภาวะความยากจนน้อยกว่า

3. ปัจจัยเชิงภูมิศาสตร์ พบว่า การมีที่พักอาศัยอยู่ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือของไทย จะมีความเสี่ยงต่อความยากจนเพิ่มขึ้นถึง 56% ในขณะที่ถ้าที่พักอาศัยตั้งอยู่ในกรุงเทพมหานครและปริมณฑล โอกาสที่จะตกเป็นคนยากจนจะลดลงถึง 80%

4. เหตุปัจจัยเชิงสังคมและวัฒนธรรม ครั้งหนึ่งผู้เขียนเคยฟัง ดร.สมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์ ให้สัมภาษณ์ในรายการวิทยุเกี่ยวกับผลการสำรวจทัศนคติของคนไทย คำถามเริ่มต้นว่า คุณคิดว่าตัวเองเป็นคนจนหรือไม่? ประมาณ 70% คิดว่าตัวเองเป็นคนจน ที่น่าสนใจก็คือ เมื่อถามต่อว่า ทำไมถึงจน? คนที่คิดว่าตัวเองจน ส่วนใหญ่ตอบว่า จนเพราะขาดโอกาส แต่คนที่คิดว่าตัวเองไม่จน ส่วนใหญ่ตอบว่า จนเพราะขี้เกียจ ทัศนคติที่แตกต่างเช่นนี้ทำให้คนจนที่คิดว่าตนเองจนไม่อาจได้รับโอกาสที่ดีพอจากคนที่คิดว่าตนเองไม่จนได้เลย

……….

ความยากจนเริ่มมาจากไหน? และจะแก้อย่างไร?

นักเศรษฐศาสตร์ชื่อ Kuznets เคยนำเสนอทฤษฎีของเขาจนเป็นที่ยอมรับไปทั่วโลกเมื่อปี 2493 ว่า ความเหลื่อมล้ําของการพัฒนาเป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ในตอนแรกเริ่มของการพัฒนาเศรษฐกิจแบบใหม่ แต่เมื่อมีการพัฒนาไประยะหนึ่งแล้ว การกระจายรายได้หรือความเหลื่อมล้ําก็จะดีขึ้นเอง เสมือนเป็นรูประฆังคว่ำหรือ U-inverted curve ซึ่งแนวคิดนี้ได้รับการยอมรับอย่างมากในเวลานั้นและทำให้ความยากจนกลายเป็นเรื่องที่ยอมรับได้ในสังคม

แต่ต่อมาได้เกิดคำถามขึ้นว่า ความเป็นธรรมของการกระจายรายได้เป็นเรื่องที่สามารถเกิดขึ้นพร้อมๆ กับความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจได้หรือไม่? และจะต้องใช้เวลานานเท่าใหร่กัน? ไม่ต่างจากประเทศไทยที่พบว่าความยากจนสัมบูรณ์อาจจะค่อยๆ ดีขึ้นอย่างช้าๆ แต่ความเหลื่อมล้ำซึ่งบ่งบอกถึงความยากจนสัมพัทธ์นั้นไม่ได้มีแนวโน้มที่ดีขึ้นเลยตลอด 40 ปีที่ผ่านมา

แม้ว่าชุดความคิดจำนวนมากจะเห็นด้วยกับการลดความยากจนลงในสังคม แต่แนวทางการแก้ไขปัญหายังไม่อาจเห็นพ้องกันทั้งหมดได้ โดยสามารถสรุปข้อเสนอในการแก้ความยากจนออกได้เป็น 3 กลุ่ม

1. กลุ่มวิพากษ์การเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ กลุ่มนี้มีความเชื่อว่าความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจไม่เพียงแต่ไม่สามารถแก้ปัญหาความยากจนได้เท่านั้น แต่ยังสร้างปัญหากับการกระจายรายได้ให้มีปัญหามากขึ้นอีกดัวย นับตั้งแต่ McCleary(1972), Medhi(1996), Rizwanul(1983), Bandid(1987) และ Bruno, Ravallion and Spuire(1996) ที่สรุปว่าทฤษฎีของ Kuznets เป็นจริงที่ว่าเกิดความเหลื่อมล้ํามากขึ้นในระยะแรก แต่กลับไม่พบข้อมูลยืนยันว่าการกระจายรายได้จะดีขึ้นเมื่อเวลาผ่านไป ข้อเสนอแนะทางนโยบายก็คือ รัฐบาลต้องหันมาสนใจประเด็นการกระจายรายได้ให้เป็นธรรมยิ่งขึ้น โดยไม่ใช่ว่าเน้นที่ความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจแต่เพียงด้านเดียว เช่น กระบวนการทางภาษีเพื่อปรับรูปแบบการบริโภคและการลงทุนให้กระจายไปสู่คนจนจริงๆ

2. กลุ่มวิพากษ์ความเหลื่อมล้ำทางนโยบาย กลุ่มนี้ เช่น Pranee(1995), Somlucrat(1978), Glassman(1997) เชื่อว่าความยากจนเกิดจากการแยกกันอย่างชัดเจนระหว่างภาคเกษตรและภาคอุตสาหกรรม เพราะคนจนส่วนใหญ่อยู่ในภาคเกษตรกรรมในชนบท แต่ภาคอุตสาหกรรมกระจุกตัวอยู่ในเมือง อีกทั้งภาคเกษตรยังไม่ได้รับความเป็นธรรมจากการดําเนินนโยบายของรัฐ เนื่องจากยุทธศาสตร์การพัฒนาประเทศมุ่งไปที่การทําให้เป็นอุตสาหกรรมที่เน้นการส่งออก (Export-led growth industrialization) ขณะที่การกระจายอุตสาหกรรมไปสู่ชนบทกลับไม่ประสบความสำเร็จเพราะขาดปัจจัยพื้นฐาน (infra structure) รวมทั้งการสนับสนุนอุตสาหกรรมผ่านนโยบายภาษีนำเข้าก่อให้เกิดการบิดเบือนราคาที่แท้จริงของสินค้าภายในประเทศและส่งผลกับการกระจายรายได้อีกต่อหนึ่ง เช่น ภาคอุตสาหกรรมมักได้รับการคุ้มครองทางด้านภาษี ขณะที่ภาคเกษตรได้รับการคุ้มครองน้อยมาก อย่างไรก็ตาม บางครั้งงานของกลุ่มนี้ก็ถูกจัดไว้ในกลุ่มแรก เพียงแต่งานของกลุ่มนี้มีความเด่นชัดในเรื่องที่เชื่อว่าการทําให้เป็นอุตสาหกรรมก่อให้เกิดปัญหาความเหลื่อมล้ําทางนโยบายโดยเฉพาะ

3. กลุ่มวิพากษ์นิยามความยากจน เน้นที่ความยากจนโอกาสมากกว่าความยากจนที่เป็นตัวเงิน โดยมองว่าการที่ผู้ที่ประสบภาวะยากจนและไม่สามารถหลุดจากวังวนแห่งความยากจนได้นั้นเกิดจากการขาดโอกาสเข้าถึงทรัพยากรและส่วนแบ่งทางเศรษฐกิจ Amartya Sen ชี้ว่าการมองความยากจนที่เป็นตัวเงินทําใหัเราละเลยปัญหาเรื่องโอกาสในการเข้าถึงทรัพยากร กล่าวคือ เขาลองตั้งคําถามเพื่อให้มองง่ายๆ ว่า หากมีคนสองคนที่มีรายได้เท่ากันและอยู่ใต้เส้นความยากจน ทั้งสองคนมีโอกาสหลุดพ้นจากความยากจนเท่ากันจริงหรือ ถ้าหากว่าไม่เท่ากันแล้ว อะไรที่ทำให้แตกต่าง สิ่งนั้นก็คือความยากจนจากการขาดโอกาส นอกจากนี้ งานในกลุ่มที่สามยังทำการสํารวจชุดความรู้เรื่องความยากจนของตัวละครต่างๆ ในระบบเศรษฐกิจที่เกี่ยวข้องกับความยากจน เช่น Somchai(2001) พบว่า คนจนมองความจนคือความไม่พอกิน ไม่มีที่ดินและเป็นหนี้ นักวิชาการมองไปที่การแก้ปัญหาการกระจายรายได้เชิงโครงสร้าง ส่วนผู้กําหนดนโยบายมองที่จํานวนคนที่อยู่ใต้เส้นความยากจนเท่านั้น การแก้ปัญหาที่แท้จริงจึงต้องเริ่มจากมาตกลงกันก่อนว่าจะนิยามคนจนให้เหมือนกันได้อย่างไร

……….

ความยากจนที่เห็นภาพ

เมื่อไม่นานมานี้ ในงาน TED ที่ประเทศจีน ช่างภาพมืออาชีพ Stefen Chow ได้ตอบคำถามเรื่องความยากจนผ่านโครงการที่มีชื่อว่า “Poverty line” โดยเขาเล่าว่า เขาเกิดในครอบครัวที่พอมีอันจะกิน ในระดับที่มีสวนกว้างพอจะสามารถขว้างบูมเมอแรงได้ แต่เมื่อโตพอที่จะเข้าโรงเรียน ครอบครัวของเขากลับถังแตกถึงขนาดเกือบไม่มีจะกิน คำถามเรื่องความรวยความจนจึงเกิดในหัวของเขาหลังจากนั้น

โครงการ “Poverty line” ค้นหาความหมายของความยากจนผ่านภาพถ่ายที่ตั้งเส้นแบ่งของความยากจนจากประเทศต่างๆ ผ่านแนวคิดที่ว่า One frame, one day, one person โดยเขาสนใจปริมาณแคลอรี่ในอาหารต่อหนึ่งวันที่คนยากจนในท้องถิ่นนั้นจะหาทานได้ และถ่ายภาพนั้นจะใช้หนังสือพิมพ์ท้องถิ่นเป็นพื้นหลัง เพราะความยากจนสำหรับเขา คือ การที่คนมีทางเลือกในการเข้าถึงอาหารที่จำกัด มันใช้ชีวิตยากลำบากกว่าคนอื่น และในแต่ละที่ก็มีทางเลือกที่จำกัดแตกต่างกันหลากรูปแบบ การถ่ายภาพอาหารของเขาที่ได้จากการลงไปสัมผัสพื้นที่ต่างๆ และนี่คือส่วนหนึ่งของภาพจากโครงการ “Poverty line”

“ไทย ความยากจนอยู่ที่ THB 52.87 = USD 1.71″ (ที่มาของภาพ)

“ญี่ปุ่น ความยากจนอยู่ที่ 394 Yen = 4.88 USD” (ที่มาของภาพ)

“ฝรั่งเศส ความยากจนอยู่ที่ EUR 5.60 = USD 7.68″ (ที่มาของภาพ)

“จีน ความยากจนอยู่ที่ CNY 6.30 = USD 1.00″ (ที่มาของภาพ)

“USA ความยากจนอยู่ที่ USD 4.91 = EUR 3.60″ (ที่มาของภาพ)

ภาพของประเทศอื่นๆ ดูเพิ่มเติมได้ที่ Project Poverty Line

……….

กล่าวโดยสรุปก็คือ ความยากจนเป็นปัญหาที่เรื้อรังมานาน เป็นที่สงสัยและถูกตั้งคำถามได้ง่าย แต่แก้ไขได้ยาก อย่างไรก็ตาม หลายประเทศเริ่มยอมรับแนวคิดของกลุ่มที่สามมากขึ้น คือเริ่มจากการนิยามความหมายของคำว่าคนจนให้ตรงกันในทุกหน่วยงานและจัดสรรงบประมาณอย่างมียุทธศาสตร์ตรงเข้าไปแก้ไขคนจนที่ถูกนิยามเหมือนกันก่อน ซึ่งจะมีโอกาสประสบความสำเร็จมากกว่าให้นโยบายกว้างๆ และทุกหน่วยงานเข้าไปแก้ไขกันเอง ซึ่ง [เสด-ถะ-สาด].com ก็หวังว่าวันหนึ่งจะเห็นยุทธศาสตร์เช่นนี้เกิดขึ้นกับรัฐไทยและเห็นภาพของคนจนในประเทศไทยลดลงให้เหลือน้อยที่สุดให้ได้

อีกเรื่องหนึ่งคือ พอเห็นอาหารที่พอจะเลือกได้สำหรับคนจนแล้วล่ะก็ลองเลือกกันดูนะครับว่าเป็นคนจนที่ไหนดี สำหรับผมแล้ว ประเทศไทยดีที่สุดครับ ^^






ที่มา:
– สมบูรณ์ ศิริประชัย , นิธินันท์ วิศเวศวร และศุภชัย ศรีสุชาติ (2004) “นโยบายเศรษฐศาสตร์มหภาคกับความยากจนในประเทศไทย: การสำรวจสถานะความรู้”, วาสารเศรษฐศาสตร์ธรรมศาสตร์ Volume 22 Number 3 September 2004.
– พีระพงษ์ เตชะทัตตานนท์ (2012) “เราโชคดีที่เกิดเป็นคนไทย ใน “เส้นแบ่งความยากจนที่เห็นภาพ””, ออนไลน์ที่นี่.
– http://thepovertyline.net

featured image from here

  • http://twitter.com/kokoyadi PT kokoyadi

    เป็นเกียรติมากที่ได้รับการอ้างอิงถึงในเอนทรีนี้ครับ

  • http://twitter.com/karn_vorarak vorarak muangchoo

    ของไทยเรามีบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปด้วย

  • http://twitter.com/pwhyp PYP J.

    คนที่มีรายได้ แต่เป็นหนี้ถือว่าจนไหม?

    • http://setthasat.com/ [เสด-ถะ-สาด]

      ถ้าตามนิยามความอัตคัตนี้จะไม่พิจารณาหนี้สินครับ เช่น ถ้านาย ก.มีหนี้สิน 10 ล้านบาท แต่ ณ วันนี้ นาย ก.ยังมีกินแบบไม่อัตคัดก็ไม่นับว่านาย ก.เป็นคนจนครับ