wikicommons_copyleft copy

“เสรีภาพทางการเมือง” หรือ “เสรีภาพทางเศรษฐกิจ” อะไรควรมาก่อนกัน?

เสรีภาพทางการเมือง และ เสรีภาพทางเศรษฐกิจ ต่างก็เป็นสิ่งที่ดีทั้งคู่ ประเทศที่พัฒนาแล้วย่อมประกอบด้วยเสรีภาพทั้งสองด้าน บทความชิ้นหนึ่งชี้ให้เห็นว่า ลำดับของการเปิดเสรีในแต่ละด้านก่อนหลังนั้น มีผลทำให้การเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศนั้นแตกต่างกันมากทีเดียว

……….


ายงาน World Economic Outlook ในปี 2003 ของกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) เคยตั้งข้อสังเกตไว้ว่า “คุณภาพของสถาบัน (Institutional Quality) กับความรุ่งเรืองทางเศรษฐกิจ (Economic Performance) มีความสัมพันธ์กันอย่างมากและชัดเจน แต่คำถามก็คือ แล้วอะไรเป็นตัวกำหนดคุณภาพของสถาบัน”

รายงานของ IMF หลังจากนั้นไม่นานระบุว่า “การเปิดการค้า (Trade Openness) และการแข่งขันที่เข้มแข็ง (Strong Competition) ของระบบตลาดจะช่วยส่งเสริมให้ระบบสถาบันเกิดการพัฒนา อันจะนำไปสู่การเติบโตทางเศรษฐกิจ มากกว่าที่จะเป็นปัจจัยเรื่องของภูมิศาสตร์หรือประวัติศาสตร์ของประเทศนั้นๆ”

คำถามที่ตามมาอีกก็คือ “แล้วอะไรเป็นปัจจัยที่มีผลสนับสนุนหรือขัดขวางการเปิดเสรีทางเศรษฐกิจ (Economic Liberalization)” คำตอบของงานวิจัยจำนวนหนึ่งก็คือ การเปิดเสรีทางการเมือง (Political Liberalization) หรือการเป็นประชาธิปไตยของประเทศนั้นๆ อันจะกลายเป็นแรงผลักดันของการเปิดเสรีการค้าในเวลาต่อมา ขณะที่ในทางตรงกันข้าม หากรัฐบาลประเทศนั้นๆ ตัดสินใจที่จะเปิดเสรีทางการค้าด้วยตัวเอง สถานการณ์ดังกล่าวก็จะกลายเป็นแรงกดดันให้เกิดการเปิดเสรีทางการเมืองตามมาเช่นกัน

……….

Giavazzi and Tabellini (2005) ตั้งคำถามต่อประเด็นนี้ว่า ถ้าประเทศมีการเปิดเสรีทางเศรษฐกิจ หรือเสรีทางการเมืองเพียงอย่างใดอย่างหนึ่ง จะมีผลแตกต่างกันหรือไม่ รวมทั้งจะมีผลแตกต่างกันกับกรณีของการเปิดเสรีทั้งสองด้านหรือไม่ นอกจากนี้ คำถามสำคัญของบทความของพวกเขาคือ ลำดับของการเปิดเสรีมีผลทำให้การเติบโตทางเศรษฐกิจของแต่ละประเทศต่างกันหรือไม่ นั่นคือ ประเทศที่เปิดเสรีทางเศรษฐกิจแล้วตามด้วยการเมือง มีผลเหมือนกันกับประเทศที่เปิดเสรีทางการเมืองแล้วตามด้วยเศรษฐกิจหรือไม่

“การเลือกตั้ง องค์ประกอบหนึ่งของเสรีภาพทางการเมือง” (ที่มาของภาพ)


ตัวแปรหลักในการระบุว่าประเทศนั้นๆ มีการเปิดเสรีจะพิจารณาจาก

– ประเทศจะถือว่ามีการเปิดเสรีทางเศรษฐกิจตามหลักของ Wacziarg and Welch (2003) เมื่อไม่เข้าเงื่อนไขใดเลยทั้ง 5 ข้อต่อไปนี้ ๑) อัตราภาษีศุลกากรเฉลี่ยของทั้งประเทศสูงกว่า 40% ๒) มาตรการกีดกันทางการค้าที่มิใช่ภาษี (Non-tariff barriers) ครอบคลุมมากกว่า 40% ของประเภทสินค้านำเข้า ๓) เป็นระบบเศรษฐกิจแบบสังคมนิยม ๔) ส่วนเกินของอัตราแลกเปลี่ยนในตลาดมืดมีค่ามากกว่า 20% และ ๕) สินค้าส่งออกจำนวนมากถูกควบคุมโดยรัฐวิสาหกิจที่ผูกขาด

– ประเทศจะถือว่ามีการเปิดเสรีทางการเมืองจากการพิจารณาค่า POLITY2 ซึ่งเป็นค่าที่ใช้วัดระดับความเป็นประชาธิปไตยในมิติหลายๆ ด้าน โดยค่านี้จะอยู่ระหว่าง -10 (ไม่เป็นประชาธิปไตย) ไปจนถึง +10 (เป็นประชาธิปไตย) หากประเทศมีค่า POLITY2 เป็นบวกจะนับว่ามีการเปิดเสรีทางการเมือง

การศึกษาใช้ข้อมูล 140 ประเทศในช่วง 1960-2000 มาวิเคราะห์โดยวิธีประมาณค่า difference-in-differences ประเทศที่ไม่มีการเปิดเสรีใดใดเลยเป็นตัวเปรียบเทียบ (Controls) และประเทศที่มีการเปิดเสรีเป็นตัววิเคราะห์ (Treated) แต่เนื่องจากการเปิดเสรีไม่ได้เกิดขึ้นในเวลาเดียวกันทั้งหมดจึงต้องอาศัยสมการถดถอยเข้ามาช่วยวิเคราะห์ระหว่างประเทศที่มีการเปิดเสรีและไม่มีการเปิดเสรี

 y_{it} = a_i + b_t + \gamma x_{it} + \delta reform_{it} + e_{it}

……….

ผลการศึกษาในส่วนของการเปิดเสรีที่มีต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจตามตารางที่ ๑ พบว่า การเปิดเสรีทางเศรษฐกิจ (lib) ส่งผลให้ประเทศมีการเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างมีนัยสำคัญ และหากพิจารณาคอลัมน์ที่ 3 จะพบว่า เศรษฐกิจที่ตกต่ำในช่วง 3 ปี (3y_pre_lib) เป็นตัวขับดันให้เกิดการเปิดเสรี และภายหลังจากเปิดเสรีแล้วอย่างน้อย 4 ปี (4yon_post_lib) จึงจะเห็นผลทางบวกต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างชัดเจน

“ตารางที่ ๑ ผลกระทบจากการเปิดเสรีทางเศรษฐกิจต่ออัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจ”


ในอีกด้านหนึ่ง ตารางที่ ๒ แสดงให้เห็นว่า การเปิดเสรีทางการเมือง (dem) แม้จะส่งผลดีต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจ แต่ก็ไม่ได้มีความชัดเจนเท่ากับการเปิดเสรีทางเศรษฐกิจ เมื่อพิจารณาจากค่านัยสำคัญทางสถิติ

“ตารางที่ ๒ ผลกระทบจากการเปิดเสรีทางการเมืองต่ออัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจ”

……….

เมื่อพิจารณาประเทศที่มีการเปิดเสรีเพียงด้านใดด้านหนึ่ง เปิดเสรีทั้งสองด้าน และไม่เปิดเสรีเลย โดย dem_1t และ lib_1t สำหรับประเทศที่มีการเปิดเสรีการเมืองหรือเศรษฐกิจอย่างใดอย่างหนึ่ง dem_2t และ lib_2t สำหรับประเทศที่มีทั้งการเปิดเสรีการเมืองและเศรษฐกิจ ส่วน lib_after_dem และ dem_after_lib เป็นตัวแปรบอกลำดับก่อนหลังของการเปิดเสรี

ผลการศึกษาในตารางที่ ๓ พบว่า ทั้งการเปิดเสรีทางเศรษฐกิจ (lib) และการเปิดเสรีทางการเมือง (dem) จะก่อให้เกิดประโยชน์ก็ต่อเมื่อมีการเปิดเสรีแล้วทั้งสองด้านเท่านั้น และเมื่อพิจารณาตัวแปรลำดับการเปิดเสรีจะเห็นว่า การเปิดเสรีเศรษฐกิจหลังการเปิดเสรีทางการเมือง (lib_after_dem) จะลดผลได้ของการเติบโตทางเศรษฐกิจจากการเปิดเสรีทั้งสองด้านลงอย่างมีนัยสำคัญ ขณะที่การเปิดเสรีทางการเมืองหลังการเปิดเสรีทางเศรษฐกิจ (dem_after_lib) ไม่มีผลชัดเจนต่อการลดลงของผลได้จากการเปิดเสรีทั้งสองด้าน

“ตารางที่ ๓ ผลกระทบจากการเปิดเสรีทางเศรษฐกิจ การเมือง และลำดับการเปิดต่ออัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจ”

สาเหตุที่การเปิดเสรีทางเศรษฐกิจก่อนการเมืองให้ผลดีมากกว่าในทางกลับกันก็ด้วยเหตุผลสองประการ หนึ่งคือ การเปิดเสรีทางเศรษฐกิจก่อให้เกิดการค้าเพิ่มสูงขึ้นมาก และเมื่อเปิดเสรีทางการเมืองตามมา การค้าก็ยิ่งเพิ่มไปอีก ขณะที่การเปิดเสรีทางการเมืองก่อนไม่ได้ทำให้เกิดการค้าที่เพิ่มขึ้นมากนัก สองคือ เมื่อเปิดเสรีทางเศรษฐกิจและมีการค้าเพิ่มขึ้นแล้ว เมื่อเปิดเสรีทางการเมืองจะได้คุณภาพของประชาธิปไตยที่ดี ขณะที่หากเปิดเสรีการเมืองก่อน คุณภาพประชาธิปไตยจะไม่ดีเท่าที่ควร เนื่องจากประชาชนยังคงมีข้อจำกัดทางด้านเศรษฐกิจอยู่

……….

กล่าวโดยสรุปก็คือ การเปิดเสรีทางเศรษฐกิจและการเปิดเสรีทางการเมืองนั้นจะให้ผลดีต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจก็ต่อเมื่อมีการเปิดเสรีแล้วทั้งสองด้าน การเปิดเสรีเพียงด้านใดด้านหนึ่งจะให้ผลที่ไม่ชัดเจน รวมทั้งการเปิดเสรีทางเศรษฐกิจก่อนการเมืองจะให้ผลดีกว่าในทางกลับกัน

ลองพิจารณา ประเทศรัสเซียและจีนที่ต่างก็เคยปิดประเทศมาก่อนทั้งคู่ รัสเซียเลือกที่จะเปิดเสรีทางการเมืองก่อน โดยเริ่มพัฒนาไปเป็นประชาธิปไตย จากนั้นก็เปิดเสรีทางเศรษฐกิจตามมา แนวทางนี้ดูเหมือนจะเป็นเส้นทางที่ง่าย (Easy Way) แต่ผลได้ต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจกลับไม่ชัดเจน ขณะที่จีนเลือกที่จะเปิดเสรีทางเศรษฐกิจโดยการเปิดการค้าก่อน ทั้งที่ยังไม่เป็นประชาธิปไตย ซึ่งถือเป็นเส้นทางที่ยาก (Hard Way) จากนั้นจึงค่อยๆ ให้เสรีภาพทางการเมืองตามมา ซึ่งนับว่าให้ผลดีต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจมากกว่ากรณีของรัสเซียมากทีเดียว

อันที่จริง หากเพื่อนๆ อ่านมาถึงตรงนี้แล้ว ไม่ต้องคิดไปไกลก็ได้ ลองนึกถึงประเทศไทยดูว่าเราเปิดเสรีอะไรก่อนกัน และอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจที่ดูเหมือนจะไม่ไปไหนในตอนนี้ก็อาจจะเกิดจากสาเหตุของลำดับที่ไม่ถูกต้องก็เป็นได้นะครับ ^^






ที่มา: Giavazzi, Francesco & Tabellini, Guido, 2005. “Economic and political liberalizations,” Journal of Monetary Economics, Elsevier, vol. 52(7), pages 1297-1330, October.

featured image from blogs.worldbank.org

  • http://www.facebook.com/darth.prin Prin Niamskul

    ผมคิดว่าเหตุและผลมันไม่ต่อเนื่องกันในลักษณะลำดับที่รัฐจะตัดสินทำอะไรก่อนนะครับ ผมมองว่า บางที อาจเป็นเพราะ เริ่มเปิดเสรีทางการค้าปุ๊บ ก็มีการแข่งขันทางการตลาดตามมา เศรษฐกิจอาจตกในช่วงแรกเพราะตลาดยังเคยตัวกับการ Monopoly จนเมื่อคนพัฒนาขีดความสามารถตัวเองขึ้นจากการแข่งขัน เศรษฐกิจจึงโตได้ในชั้นหลัง และประชาชนที่ถูกสภาพการแข่งขันบังคับให้ต้องคิดต้องใช้สมองพึ่งพาตัวเอง ก็จะมีความต้องการอิสระที่จะจัดการกับชีวิตของตัวเองมากขึ้น แล้วไงๆมันก็จะบีบให้มีการเปิดเสรีทางการเมืองตามมาในที่สุด

    ถ้าเปรียบกับประเทศไทย การเปิดเสรีทางการเมืองหรือการเปลี่ยนแปลงการปกครองตั้งแต่แรกเป็นการเคลื่อนไหวโดยกลุ่มคนที่จำกัด คือเรามีระบบที่เรียกว่าประชาธิปไตยมาสวมแทนสมบูรณ์อาญาสิทธิราชโดยที่ยังไม่ใช่ความต้องการทางตรงจากประชาชน และตามต่อจากยุคการเปลี่ยนแปลง รัฐก็ทำงานในลักษณะที่มิได้ต่างจากการปกครองแบบเดิม ยังเป็นคน Guide และออกแนวคิดแทนประชาชนอยู่ดี มันจึงออกมาเป็นรูปแบบประชานิยมอย่างที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน มันก็เหมือนวิวัฒนาการ มันต้องมีสิ่งเร้าที่กระตุ้นให้คนดิ้นรนจึงจะเกิดพัฒนาการ การพัฒนาประชากรในชาติก็มีความจำเป็นจะต้องเปิดอิสระให้รับผิดชอบตัวเอง และยอมให้มีการเจ็บในระดับหนึ่งไม่ใช่การอุ้มกันไปตลอด

    ในมุมมองของผมก็คือ การเปิดเสรีทางการเมืองไม่ให้เป็นการส่งเสริมให้ประชาชนดิ้นรน และเกิดการพัฒนาตัวเองขึ้นมาแข่งขัน การเปิดเสรีทางการค้าคือสิ่งที่ให้สภาพการแข่งขัน เกิดการพัฒนา และไม่ว่ารัฐจะต้องการหรือไม่ มันก็จะเกิดพลวัติขับเคลื่อนให้มีการเปิดเสรีทางการเมือง

    ปัญหาที่สำคัญของระบบประชานิยมก็คือการเอื้อให้เกิดสภาพงอมืองอเท้า แต่โดยที่การเปลี่ยนแปลงย่อมทำให้เกิดความไม่พอใจและรัฐบาลที่เปิดเสรีทางการค้าก็อาจเสี่ยงต่อการที่คะแนนนิยมจะฮวบลงจากความเดือดร้อนของ ปชช ในช่วงแรก ถ้าเป็นกรณีของสังคมนิยม น่าจะเปิดเสรีทางการค้าง่ายกว่าการเปิดเสรีโดยประเทศที่หลุดมาอยู่ในระบบการตามใจแบบประชานิยมอย่างของไทยนะครับ