shopping

ทำไมผู้หญิงต้อง “ช็อปปิ้ง”?

หลายๆ ครั้งคุณผู้ชายไม่เข้าใจว่าทำไมคุณผู้หญิงต้องช็อปปิ้ง และหลายครั้งคุณผู้หญิงเองก็ควบคุมตนเองไม่ได้ ทั้งนี้ก็เพราะความสุขของพวกเธออยู่ที่การปลดปล่อยอารมณ์ในการจับจ่ายมากกว่าเรื่องการใช้สอย โดยเหตุผลที่แท้จริงของการช็อปปิ้ง Sheconomics จะทำให้เราเข้าใจ และนำเสนอวิธีการแก้ไขที่(น่าจะ)ได้ผล

……….


ทความวันนี้ของ [เสด-ถะ-สาด].com ขอเป็นเรื่องเบาๆ แต่น่าสนใจดูบ้างครับ เป็นเหตุผลและข้อมูลที่น่าสนใจเกี่ยวกับการช็อปปิ้งของคุณผู้หญิงทั้งหลาย

หนังสือ Sheconomics โดย Karen Pine และ Simonne Gnessen ได้เขียนถึงเรื่องราวเกี่ยวกับการช็อปปิ้งของคุณผู้หญิง โดยเริ่มต้นจากการตั้งประเด็นของความสัมพันธ์ระหว่างอารมณ์กับการใช้จ่ายเงิน เพราะจากงานวิจัยที่ผ่านมาก่อนหน้านั้น ได้แสดงให้เห็นว่าการใช้จ่ายเงินของคุณผู้หญิงมีอารมณ์เข้ามาเกี่ยวข้องมากกว่าคุณผู้ชายมากนัก

“การช็อปปิ้งของสาวๆ” (ที่มาของภาพ)


Pine and Gnessen (2009) ทำการออกแบบสอบถามจำนวน 700 ชุดเพื่อสำรวจคุณผู้หญิงในช่วงอายุ 18-50 ปี เกี่ยวกับสาเหตุ รูปแบบ และพฤติกรรมการใช้จ่ายเงินเพื่อการช็อปปิ้ง โดยผลการสำรวจแบ่งออกได้สามประเด็น ดังต่อไปนี้

ประเด็นแรก ว่าด้วยอารมณ์กับการใช้เงิน ตารางที่ ๑ แสดงเหตุผลหลักๆ ที่คุณผู้หญิงใช้เงินอย่างเมามัน (spending spree) หรือใช้มากกว่าที่ควรจะเป็น ซึ่งเกือบร้อยละ 80 ของคุณผู้หญิงที่ใช้จ่ายอย่างเมามันนั้น เป็นเพราะต้องการให้กำลังใจตัวเอง (เหตุผลนี้ได้ยินบ่อยจริงๆ แหล่ะครับ)

เหตุผลของการใช้จ่ายเงินอย่างเมามัน ร้อยละ
ฉันต้องการให้กำลังใจตัวเอง 79%
ฉันต้องการปฏิบัติกับคนอื่น 75%
เป็นช่วงเวลาที่ฉันรู้สึกว่าฉันกำลังดูดี 61%
ฉันรู้สึกแย่กับตัวเอง 61%
ฉันรู้สึกมีความสุข 53%
ฉันต้องการทำให้คนอื่นประทับใจ 52%
ฉันรู้สึกหดหู่ 40%
ฉันมีปัญหากับคนรัก 34%
ฉันรู้สึกว่าตัวเองไม่มีเสน่ห์ 33%
ฉันรู้สึกสับสนหรือกังวลใจ 31%


ประเด็นที่สอง ว่าด้วยความเชื่อและทัศนคติต่อตนเองที่มีต่อการใช้เงิน ตารางที่ ๒ แสดงความรู้สึกของผู้หญิงว่า อะไรจะเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมการช็อปปิ้งได้ แน่นอนว่าคุณผู้หญิงส่วนใหญ่เชื่อว่า ถ้าเขาควบคุมตัวเองได้ เขาก็คงจะไม่ช็อป (ซึ่งมันจะยากก็ตรงเนี้ยแหล่ะครับ)

เหตุผลจะทำให้ใช้จ่ายเงินน้อยกว่าที่ใช้อยู่ปกติ ร้อยละ
ถ้าฉันควบคุมตนเองได้ 60%
ถ้าฉันเข้าใจอารมณ์ตอนนั้นๆ ที่ส่งผลต่อการใช้จ่าย 55%
ถ้าฉันค้นพบทางอื่นที่จะให้กำลังใจตัวเองได้ 55%
ถ้าฉันมีงานอดิเรกและความสนใจอื่นให้ทำ 43%
ถ้าฉันสามารถหยุดนิสัยชอบช็อปปิ้งได้ 31%


ประเด็นที่สาม ว่าด้วยความรู้สึกที่มีต่อพฤติกรรมการใช้จ่าย(ในรอบเจ็ดวันที่ผ่านมา) ตารางที่ ๓ แสดงผลการสำรวจ ซึ่งส่วนใหญ่หลังจากการช็อปอย่างเมามันก็มากังวลเรื่องเงินเสียอีก

ในช่วง 7 วันที่ผ่านมา คุณรู้สึก ร้อยละ
มีความกังวลเรื่องเงิน 70%
ได้ซื้อของที่ให้กำลังใจตัวเอง 60%
ได้จ่ายเงินจำนวนหนึ่งที่จำเป็น 55%
อยากไปซื้อของอย่างหนึ่ง แต่ได้ของมาอีกอย่างหนึ่ง 46%
ใช้เงินเยอะเกินไป 37%
รู้สึกผิดหลังจากการไปช็อปปิ้ง 35%
เสียดายของบางอย่างที่ซื้อมา 29%


ข้อสรุปที่น่าสนใจของทั้งสามประเด็นก็คือ การช็อปปิ้งเป็นหนทางหนึ่งของผู้หญิงในการควบคุมและเอาชนะอารมณ์ของตนเอง พวกเธอจะชอปมากขึ้นเมื่ออารมณ์ดีหรือแย่กว่าปกติ โดยส่วนมากให้เหตุผลว่า เพื่อให้กำลังใจตัวเอง (ถ้าอารมณ์ดี ช็อปปิ้งจะเป็นรางวัลเพื่อให้กำลังใจตัวเอง ถ้าอารมณ์ไม่ดี ช็อปปิ้งจะยังเป็นเครื่องมือช่วยให้กำลังใจตัวเองอยู่ดี) แต่เมื่อเวลาผ่านไป คุณผู้หญิงจำนวน 7 จาก 10 คนก็จะมีความกังวลเรื่องเงินตามมา

แบบสอบถามยังทำการทดสอบความสำคัญทางด้านอารมณ์ของคุณผู้หญิงด้วย วิธีการคือ การเล่นเกมยื่นคำขาด (Ultimatum Game) กติกามีอยู่ว่า มีเงินอยู่ 100 บาท ให้คุณผู้หญิงคนที่ ๑ แบ่งกันกับคุณผู้หญิงคนที่ ๒ โดยให้คุณผู้หญิงคนที่ ๑ เป็นคนแบ่งให้ แบ่งจำนวนเท่าไรก็ได้ตั้งแต่ 10 บาทจนถึง 90 บาท แต่มีข้อแม้คือ คุณผู้หญิงคนที่ ๒ เป็นคนตัดสินใจว่าจะเอาหรือไม่ ถ้าไม่ ทั้งสองคนก็จะไม่ได้เงินเลยสักเหรียญเดียว … ที่นี้ลองนึกดูว่า ถ้าคุณเป็นผู้หญิงที่ ๒ และคุณผู้หญิงคนที่ ๑ แบ่งให้คุณ 10 บาท โดยเก็บไว้เอง 90 บาท คุณจะตกลงรับหรือไม่ ?

กว่าร้อยละ 80 ของคุณผู้หญิงที่เล่นเกมนี้ตอบ “ปฏิเสธ” ลองนึกในอีกมุมหนึ่ง หากตัดสินใจด้วยเหตุผล การรับเงินแม้เพียง 1 บาท ไม่ได้ทำให้เสียอะไรไปเลย แต่การที่พวกเธอยอมปฏิเสธเงิน 10 บาทนั่นก็เพราะโมโหว่าโดนเอาเปรียบ จึงทำให้พวกเธอตัดสินใจด้วยอารมณ์

……….

แล้วเมื่อคุณผู้หญิงช็อปมาแล้วได้ใช้อย่างคุ้มค่าหรือไม่ Mycelebrityfashion.co.uk ได้ทำการสำรวจผู้หญิงชาวอังกฤษในช่วงอายุ 18-30 ปี จำนวน 1,623 คน พบว่า

– ผู้หญิง 1 ใน 4 ตอบว่า เสื้อผ้าที่พวกเธอใส่บ่อยๆ มีแค่ 10% ของจำนวนที่มีเท่านั้น และผู้หญิง 8% เท่านั้นที่ใส่เสื้อผ้าบ่อยๆ ในทุกตัวที่มี
– ผู้หญิงจำนวน 84% ยังมีเสื้อผ้าที่ไม่ได้แกะป้ายอยู่ในตู้
– ผู้หญิงจำนวน 46% มีเสื้อผ้าที่อายุมากกว่า 10 ปีอยู่ในตู้ และหวังว่าแฟชั่นแบบเดิมจะกลับมา
– หากคิดเป็นจำนวนแล้ว โดยเฉลี่ย ในตู้เสื้อผ้าของผู้หญิง 1 คน จะมีเสื้อผ้าที่ซื้อมาแล้วไม่ได้ใส่ 22 ตัว

[อยากรู้เหมือนกันว่า เพื่อนๆ ผู้หญิงที่อ่านมาถึงตรงนี้แล้ว เห็นว่าข้อมูลตัวเลขที่ว่านั้น ถูกต้องหรือไม่ครับ ^^]

……….

อย่างไรก็ตาม อารมณ์เป็นสิ่งสำคัญมากในการตัดสินใจทางด้านการเงินของคุณผู้หญิง ซึ่งไม่ใช่แค่การช็อปปิ้งเท่านั้น แต่ยังรวมไปถึงการใช้จ่ายเงินทั้งหมดในภาพรวมด้วย

“ปกหนังสือ Sheconomics”


Pine and Gnessen (2009) จึงได้นำเสนอกฎ 7 ข้อเพื่อการควบคุมการใช้จ่ายเงินด้วยอารมณ์ของคุณผู้หญิง

๑. รู้จักควบคุมอารมณ์ (Take Emotional Control) เพราะหากเราตระหนักและเข้าใจถึงบทบาทของอารมณ์ เราจะเริ่มควบคุมมันได้
๒. ก้าวข้ามความเชื่อเดิมๆ (Go beyond Beliefs) ที่ว่าการช็อปปิ้งจะช่วยให้รู้สึกดีกับเรื่องต่างๆ ขึ้นได้
๓. คุมเงิน และอย่าให้เงินคุมเรา (Spend with Power) ตัดสินใจทางการเงินโดยยึดหลักเหตุผล และไม่ต้องพยายามตอบสนองความต้องการของผู้อื่น
๔. มีเป้าหมาย (Have Goals) ตั้งเป้าในการใช้จ่ายเงินกับของใหญ่ๆ เช่น วางแผนท่องเที่ยว จะเป็นกำไรชีวิตที่ดีกว่า
๕. เผชิญหน้ากับหนี้ (Look Debt in the Face) กล้าเผชิญความจริง และวางแผนระยะยาวเพื่อจ่ายคืนให้หมด
๖. หาเพื่อนคู่คิดทางการเงิน (Share Financial Intimacies) เพื่อปรึกษา แลกเปลี่ยนหรือพูดคุย เพื่อปรึกษาและระบาย
๗. ตระหนักถึงวันพรุ่งนี้ (Know Tomorrow Comes) ใช้จ่ายอะไรก็ตาม อย่าลืมคิดถึงวันพรุ่งนี้ด้วย

เมื่อเป็นเช่นนี้ ต่อไปคุณผู้ชายก็น่าจะเข้าใจคุณผู้หญิงมากขึ้นเกี่ยวกับเรื่องการช็อปปิ้งนะครับ จะได้ไม่คอยบ่นคอยห้าม แถมยังอาจทำให้ชนะใจเธอได้ด้วย ถ้าตามใจมากพอ คุณผู้หญิงเองก็จะได้เข้าใจตัวเองและควบคุมอารมณ์อันอ่อนไหว ไม่ให้นำไปสู่การช็อปปิ้งที่มากเกินไปนะครับ ^^






ที่มา:

Daily Mail Reporter, Over 90 per cent of women own an item of clothing with the tags still on, mail online, 17 December 2009.
Karen J. Pine and Simonne Gnessen, Sheconomics, Headline, 2009.
Sean Poulter, In every woman’s closet, 22 items she never wears ­ and the guilty complex that stops them clearing wardrobes out, mail online, 26 January 2011.
ศรุตยา วงศ์วิเชียรชัย, Sheconomics พลิกชีวิตการเงินแบบเศรษฐศาสตร์ฉบับคุณสาวๆ, ออนไลน์ ที่นี่.

featured image from gloucester-rd.co.uk