2212255130_15f70a0d33_z

“ศีลธรรม” สำคัญอย่างไร? (ตอนที่ ๒ – กับสังคมของเรา)

Dan Ariely นักเศรษฐศาสตร์พฤติกรรม จะช่วยให้เรารู้ว่าศีลธรรมของแต่ละบุคคลจะส่งผลต่อการอยู่ร่วมกันในสังคมอย่างไร และสืบเนื่องไปยัง Adam Smith ที่จะบอกให้เราเข้าใจว่า ทำไมคุณธรรมของผู้นำจึงควรจะสูงกว่าคนทั่วไป

……….


ากบทความในตอนที่ ๑ ให้ข้อสรุปว่า ระดับการโกงของคนเราอาจไม่ได้ขึ้นอยู่กับสิ่งจูงใจทางเศรษฐศาสตร์ เพราะแต่ละคนจะมีระดับการโกงที่ยอมรับได้ (Personal Fudge Factor) ของตนเอง และระดับการโกงที่ว่านั้นขึ้นอยู่กับความใกล้ชิดกับศีลธรรม และความห่างเหินจากตัวเงินที่แท้จริง

Ariely ขยายการทดลองต่อไป เพื่อพิจารณาผลกระทบต่อสังคม โดยมีนักเรียนกลุ่มใหญ่มาร่วมการทดลอง และ Ariely ก็จ่ายค่าจ้างพวกเขาล่วงหน้า ทุกคนจะได้รับซองที่ใส่เงินทั้งหมดที่พวกเขามีโอกาสจะได้รับ ซึ่งจะขอถูกให้จ่ายคืนในตอนท้ายเท่าจำนวนข้อที่พวกเขาแต่ละคนทำไม่ได้

ผลที่ได้ในตอนเริ่มต้นไม่ต่างจากเดิม ถ้าเราให้โอกาสเขาโกง เขาก็โกง พวกเขาโกงเล็กๆ น้อยๆ แต่ก็โกงไม่ต่างจากตอนแรก แต่ในการทดลองนี้ Ariely จ้างนักศึกษาคนหนึ่งมาเป็นหน้าม้า โดยหน้าม้าจะยืนขึ้นหลังจากสามสิบวินาทีผ่านไป [มีเวลาทำโจทย์ห้านาที] แล้วพูดว่า “ผมทำได้ครบทุกข้อแล้ว ผมต้องทำอะไรต่อ?” ผู้วิจัยก็จะพูดว่า “ถ้าคุณทำเสร็จแล้ว กลับบ้านได้เลย” ก็เท่านั้น จบภารกิจ ดังนั้น คราวนี้การทดลองจะมีนักศึกษาหน้าม้ามาเป็นส่วนหนึ่งของกลุ่ม โดยไม่มีใครรู้ว่าเขาคือหน้าม้า และเขาก็โกงกันชัดๆ หน้าด้านๆ แบบที่ไม่น่ายอมรับได้ แล้วจะเกิดอะไรขึ้นกับคนอื่นๆ ในกลุ่ม? เขาจะโกงเพิ่มขึ้นหรือลดลง?

……….

ต่อไปนี้คือสิ่งที่เกิดขึ้นและน่าสนใจมาก เพราะ Ariely บอกว่า “ที่จริงแล้ว คำตอบขึ้นอยู่กับว่า เขาใส่เสื้ออะไร”

รายละเอียดก็คือ การทดลองทำขึ้นที่รัฐพิตต์สเบอร์ก (Pittsburgh) ซึ่งมีมหาวิทยาลัยขนาดใหญ่อยู่สองแห่งคือ คาร์เนกี้ เมลลอน (Carnegie Mellon University) และพิตต์สเบอร์ก (University of Pittsburgh)

เมื่อผู้เข้าร่วมการทดลองทุกคนเป็นนักศึกษาของคาร์เนกี้ เมลลอน ถ้าหน้าม้า(ที่โกง)ยืนที่ขึ้นใส่เสื้อว่าเป็นนักศึกษาของคาร์เนกี้ เมลลอน เขาก็คือส่วนหนึ่งของกลุ่ม การโกงก็จะเพิ่มขึ้นทันที แต่ถ้าหน้าม้าใส่เสื้อของพิตต์เบอร์ก การโกงจะกลับลดลง

“แสงเทียนในโบสถ์ Duomo ที่ Milano (ภาพโดย ธานี ชัยวัฒน์)”


เรื่องนี้น่าสนใจมาก เพราะเมื่อนักศึกษาที่เป็นหน้าม้ายืนขึ้นแล้วโกง มันเหมือนกับการบอกกับทุกคนอย่างชัดเจนเลยว่าคุณสามารถโกงได้ เพราะผู้วิจัยบอกว่า “คุณทำทุกอย่างเสร็จแล้ว กลับบ้านได้” และพวกเขาก็กลับไปพร้อมกับเงินที่โกง มันไม่เกี่ยวกับโอกาสที่จะถูกจับได้แล้ว แต่มันเป็นเรื่องบรรทัดฐานของการโกง ถ้าบางคนในกลุ่มของพวกเราโกง และเราเห็นเขาโกง เราจะรู้สึกว่ามันเป็นพฤติกรรมที่กลุ่มเราทำได้ แต่ถ้าคนๆ นั้นมาจากกลุ่มอื่น เราจะไม่อยากเข้าไปเกี่ยวข้องกับบุคคลที่เลวร้ายพวกนี้ เพราะเขามาจากมหาวิทยาลัยอื่น จากกลุ่มอื่น จากที่อื่น คนก็จะตระหนักในเรื่องความซื่อสัตย์เพิ่มขึ้นทันที แล้วคนก็โกงจะน้อยลง

……….

ผลการทดลองของ Ariely สอดคล้องกับงานเขียนของ Adam Smith บิดาของสาขาวิชาเศรษฐศาสตร์ เรื่อง The Theory of Moral Sentiments (1759) ในบทที่ 5 ว่าด้วย อิทธิพลของการกระทำอันเป็นกิจวัตร (Customs) กับการกระทำที่เป็นแฟชั่น (Fashions) ที่ส่งผลต่อความรู้สึกผิดชอบชั่วดีของคนในสังคม

“สุโขทัย (ภาพโดย Taiger808 @flickr)”


สมิธชี้ให้เห็นว่า การที่สังคมจะตัดสินว่าสิ่งใดถูกหรือผิด ชั่วหรือดี เหมาะสมหรือไม่นั้น มักจะขึ้นอยู่กับสิ่งที่คนในสังคมเคยพบเห็นมาในอดีต อาทิเช่น เมื่อเราเห็นคนหนึ่งที่ใส่สูทอย่างเป็นทางการไปงานศพ แต่สูทที่เขาใส่เป็นสีส้ม เราคงรู้สึกว่าคนนี้กำลังทำในสิ่งที่ไม่เหมาะสม ทั้งที่เขากำลังเสียใจอย่างสุดซึ้ง(มากกว่าคนใส่สูทสีอื่นอีก) หากลองนึกดีๆ การใส่สูทสีส้มไปงานศพไม่ใช่สิ่งที่ผิดอะไร และการที่เขาใส่เช่นนั้นก็ไม่ได้ทำให้คนอื่นเดือดร้อนด้วย แต่การที่เรารู้สึกว่าเขาทำไม่ถูกต้องนั้นไม่ได้มีเหตุผลอะไร นอกเสียจากการที่เราเห็นสูทสีดำในงานศพเสมออย่างเป็น”กิจวัตร”เท่านั้นเอง

ตัวอย่างที่สมิธยกขึ้นมาก็คือ ในสมัยกรีกโบราณที่มีความศิวิไลซ์ที่สุด สังคมกรีกในสมัยนั้นยอมรับต่อสิทธิของพ่อแม่ในการฆ่าเด็กทารกที่เพิ่งคลอดออกมาว่าเป็นสิ่งที่ถูกต้อง หากว่าเมื่อคลอดออกมาแล้วพ่อแม่ไม่มีความสามารถเลี้ยงดูได้ หรือทารกที่คลอดออกมานั้นมีความพิการทางร่างกาย ทำให้ไม่อาจดูแลตัวเองได้เมื่อโตขึ้น การกระทำที่แสนโหดร้ายที่กระทำต่อเด็กผู้บริสุทธิ์และไม่มีทางสู้นั้นกลับเป็นเรื่องที่ยอมรับได้ อันเนื่องมาจากการเป็นกิจวัตรของสังคม

……….

ขณะที่ “แฟชั่น” ซึ่งหมายถึงการกระทำโดยชนชั้นนำหรือบุคคลต้นแบบของสังคม ที่แม้จะดูตลกขบขันหรือแตกต่างจากกิจวัตรจนไม่น่าจะรับได้ แต่หากผู้ที่นำเสนอแฟชั่นเป็นชนชั้นนำหรือบุคคลต้นแบบของสังคม การกระทำดังกล่าวก็จะกลายเป็นการกระทำที่ดูทันสมัยและน่าสนใจขึ้นมาทันที ซึ่งแฟชั่นเองก็สามารถชี้นำพฤติกรรมของคนในสังคมได้เช่นกัน

อาทิเช่น ในสมัยของกษัตริย์ชาร์ลส์ที่สอง (Charles II) ที่มีชื่อเสียงในเรื่องความมักมากในกาม ได้ทำการอุปการะเลี้ยงดูเด็กผู้หญิงไว้มากมาย กลับได้รับคำชื่นชมจากสังคมว่าเป็นผู้ใหญ่ที่มีความเมตตาและเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ ขณะที่คนยากจนซึ่งทำงานอย่างหนัก แต่ก็ยังมีรายได้ไม่เพียงพอที่จะเลี้ยงตัวเองได้ กลับถูกมองว่าเป็นคนเห็นแก่ตัวและคิดแต่เรื่องของตนเอง

หรือแม้แต่การแต่งตัวที่ดูแปลกประหลาด ซึ่งก็จะถูกยอมรับได้จากสังคมและกลายเป็นแนวปฏิบัติใหม่ของสังคมก็จะเกิดจากชนชั้นนำหรือบุคคลต้นแบบของสังคมเช่นกัน

“อนุสาวรีย์ Adam Smith (ภาพโดย feministjulie @flickr)”


สมิธพยายามชี้ให้เห็นว่า ชนชั้นนำ บุคคลต้นแบบ หรือผู้นำของสังคมจึงมีอิทธิพลในการสร้างแฟชั่นให้กับสังคม ไม่น้อยไปกว่ากิจวัตรที่เป็นอยู่ของสังคม นั่นหมายความว่า พวกเขามีส่วนในการเสริมสร้างบรรทัดฐาน(อย่างน้อยก็ในความรู้สึกของคนบางกลุ่ม)ในสังคม ซึ่งสอดคล้องกับข้อสรุปของ Ariely ที่ว่าหากคนที่โกงเป็นพวกเดียวกับเรา เป็นผู้นำของเรา เราย่อมคิดว่าการโกงเป็นสิ่งที่ยอมรับได้ แต่หากผู้ที่โกงไม่ใช่พวกของเรา ไม่ใช่ผู้นำของเรา เราจะไม่อาจยอมรับมันได้ และนี่คงเป็นเหตุผลส่วนหนึ่งที่สนับสนุนว่า ทำไมสังคมจึงต้องการคุณธรรมของผู้นำในระดับที่สูงกว่าคนทั่วไปนั่นเอง ^^






ที่มา
Smith, Adam (1759). “The Theory of Moral Sentiments.” Cambridge University Press.
คัดลอกและปรับเล็กน้อย จาก บทบรรยายไทย ของ Dan Ariely (2009) Dan Ariely on our buggy moral code, แปลโดย Thanee Chaiwat และตรวจทาน โดย Thipnapa Huansuriya, TED Talk available “here”.
ธานี ชัยวัฒน์ (2552). “เมื่อผู้นำทำไม่ถูก แต่ใครๆ เขาก็ทำกัน” ในมุมมองเศรษฐศาสตร์, ใน หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ ทัศนะวิจารณ์ ฉบับวันที่ 21 พฤษภาคม 2552.

  • http://www.facebook.com/ThInvestForum TIF

    ผลทดลองที่ออกมาแปรตามเสื้อของคนโกง สงสัยว่า ในการออกแบบการทดลอง ตะหงิดอยู่แต่แรกว่าน่าจะเกี่ยวกันจึงกำหนดไว้ หรือมีหลักวิชาว่าไว้ หรือว่าบังเอิญแต่มาสรุปผลได้ทีหลังครับ

    • http://setthasat.wordpress.com [เสด-ถะ-สาด].com

      เสื้อเป็นตัวแทนของการบ่งบอกว่าเป็นพวกเดียวกันหรือคนละพวกน่ะครับ ผู้วิจัยคงมีความสงสัยอยู่ก่อนแล้วจริงๆ ว่าถ้าเป็นพวกเดียวกันหรือคนละพวกกันจะมีผลต่อระดับการโกงหรือไม่ จึงใช้กุศโลบายเรื่องเสื้อมาเป็นตัวทดสอบครับ

  • http://kaebmoo.wordpress.com kaebmoo

    ตอนนี้เมืองไทย มีบรรทัดฐาน ไปทางไหนหนอ

  • http://www.miraclesheep.com แกะสวรรค์

    “เมื่อผู้นำทำไม่ถูก แต่ใครๆ เขาก็ทำกัน”

    ผมว่าคำกล่าวนี้เหมาะกับประเทศไทยมากเลยครับ