5102436162_3f6389f6061

“ศีลธรรม” สำคัญอย่างไร? (ตอนที่ ๑ – กับตัวเราเอง)

เศรษฐศาสตร์ดูจะห่างเหินจากการนำเอา “ศีลธรรม” เข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของการวิเคราะห์ Dan Ariely นักเศรษฐศาสตร์พฤติกรรม จะช่วยให้เรารู้ว่าทั้งโอกาสที่จะถูกจับได้ และผลได้จากการโกงอาจไม่มีผลต่อการตัดสินใจโกงเลยก็เป็นได้

……….


ากจะกล่าวถึงการทุจริต หรือการโกง แบบจำลองทางเศรษฐศาสตร์ที่ถือเป็นมาตรฐานตลอดมาก็คือ การวิเคราะห์ต้นทุน-ผลได้ของการก่ออาชญากรรม ซึ่งสามารถนำเสนออย่างง่ายๆ ได้ว่า

หาก ผลได้ของการก่ออาชญากรรม > (โอกาสที่จะถูกจับได้ x โทษที่จะได้รับ) → คนก็จะก่ออาชญากรรม
แต่หาก ผลได้ของการก่ออาชญากรรม < (โอกาสที่จะถูกจับได้ x โทษที่จะได้รับ) → คนก็จะไม่ก่ออาชญากรรม

เมื่อเรามองว่าการทุจริตหรือการโกงเป็นรูปแบบหนึ่งของการก่ออาชญากรรม เราจึงนำเอาแนวคิดนี้ไปประยุกต์ใช้ แนวทางแก้ไขตามนัยยะทางเศรษฐศาสตร์ก็คือ การเพิ่มโอกาสที่จะถูกจับได้ (เช่น สร้างระบบที่โปร่งใส อาศัยเทคโนโลยีเข้ามาช่วย มีการตรวจสอบอย่างรัดกุม) และการเพิ่มโทษที่จะได้รับ (เช่น ออกกฎมายที่รุนแรงขึ้น ตัดสินคดีอย่างรวดเร็วขึ้น)

……….

เมื่อไม่นานมานี้ Dan Ariely นักเศรษฐศาสตร์พฤติกรรมชื่อดังของโลก ตั้งข้อสงสัยถึงความมีเหตุมีผลต่อการโกง ว่ามันมีเหตุมีผลตามตรรกะที่แบบจำลองทางเศรษฐศาสตร์เกี่ยวกับการก่ออาชญากรรมว่าไว้จริงหรือไม่

“Dan Ariely นักเศรษฐศาสตร์พฤติกรรมชื่อดังของโลก (ภาพโดย kk+ @flickr)”


เขาเริ่มต้นโดยออกแบบการทดลองง่ายๆ โดยแจกกระดาษให้ผู้เข้าร่วมการทดลองคนละหนึ่งแผ่น กับโจทย์เลขง่ายๆ 20 ข้อที่แก้ได้อย่างแน่นอน แต่ผู้ร่วมการทดลองจะมีเวลาสั้นมากๆ เพียงห้านาทีเท่านั้น แบบที่ไม่มีทางทำทันได้ครบทุกข้อ เมื่อเวลาหมดลง เขาจะบอกผู้ร่วมการทดลองว่า “คืนกระดาษให้ผม แล้วผมจะจ่ายคุณข้อละหนึ่งดอลลาร์” สุดท้ายแล้วเขาจ่ายประมาณสี่ดอลลาร์ต่อคน ซึ่งก็คือ โดยเฉลี่ยผู้เข้าร่วมการทดลองแต่ละคนทำได้ 4 ข้อ

กับคนอีกกลุ่มหนึ่งที่มีคุณสมบัติเฉลี่ยของทั้งกลุ่มเหมือนกับกลุ่มแรก เขาเปิดโอกาสให้ผู้ร่วมการทดลองสามารถโกงได้ เขาส่งกระดาษให้ผู้ร่วมการทดลองคนละแผ่น เมื่อครบห้านาที เขาจะบอกว่า “ฉีกกระดาษแผ่นนั้น แล้วเก็บมันใส่ในกระเป๋าหรือเป้ของคุณ จากนั้นเดินมาบอกผมว่าคุณทำถูกกี่ข้อ” คราวนี้ผู้ร่วมการทดลองทำถูกเฉลี่ย 7 ข้อ ดังนั้น เมื่อมีโอกาสก็จะมีคนโกงจริงๆ ด้วย [นี่อาจจะแสดงได้ว่ามันไม่ใช่แค่มีคนไม่กี่คนโกงมากๆ แต่ที่จริง มีคนจำนวนมากที่โกงเล็กๆ น้อยๆ ด้วย]

……….

ตามที่ได้กล่าวมาแล้ว การโกงอาจจะถูกวิเคราะห์ในเชิงของต้นทุนและผลได้ที่เกิดจากการคิดว่า จะได้ผลตอบแทนเท่าไหร่จากการโกง? โอกาสที่จะถูกจับได้มีมากแค่ไหน? และถ้าโดนจับได้จะถูกลงโทษอย่างไร? จากนั้นก็ชั่งน้ำหนักเอา เพื่อตัดสินใจว่าคุณจะโกงดีหรือไม่ Ariely ได้ทดสอบความมีเหตุมีผลในแต่ละด้านกับผู้ร่วมการทดลอง เพื่อตอบคำถามว่าคนเรามีเหตุมีผลตามตรรกะทางเศรษฐศาสตร์จริงหรือไม่

Ariely เริ่มต้นจากการเพิ่ม/ลดจำนวนเงินที่เขามีโอกาสโกงได้ เพื่อเป็นการเพิ่ม/ลดผลตอบแทนจากการโกง จากนั้น ดูว่าเขาจะโกงมากน้อยสักแค่ไหน โดยจากเดิมที่จ่ายข้อละ 1 ดอลลาร์กลายเป็นจ่ายตั้งแต่ 10 เซนต์ 50 เซนต์ 1 ดอลลาร์ 5 ดอลลาร์ และ 10 ดอลลาร์ต่อข้อที่ทำถูก คุณอาจคิดว่า เมื่อจำนวนเงินมากขึ้น คนก็น่าจะโกงมากขึ้น แต่ผลการทดลองไม่เป็นเช่นนั้น คนจำนวนมากกว่ากลับโกงเฉพาะตอนที่เงินน้อยๆ

นอกจากนี้ Ariely ยังให้บางกลุ่มฉีกกระดาษแค่ครึ่งเดียว (แปลว่ายังมีโอกาสโดนจับได้) บางกลุ่มเราให้ฉีกทั้งแผ่น บางคนฉีกทุกอย่าง (แปลว่าไม่มีโอกาสโดนจับได้แน่ๆ) เพื่อลองเปลี่ยนแปลงโอกาสที่จะโดนจับได้ แล้วให้ผู้ร่วมการทดลองเดินออกจากห้อง ไปหยิบเงินเอาเองตามจำนวนข้อที่ทำถูกจากกล่องที่มีเงินอยู่มากกว่า 100 ดอลลาร์ คุณคงคิดว่า เมื่อโอกาสที่จะถูกจับได้ลดลง พวกเขาจะโกงมากขึ้น แต่ผลการทดลองก็ไม่ได้เป็นแบบนั้นอีก การโกงยังคงไม่มีความสัมพันธ์กับโอกาสที่จะถูกจับได้

น่าสนใจอย่างยิ่งว่า การโกงไม่ได้แปรผันไปตามปัจจัยทางเศรษฐศาสตร์เลย ทั้งผลตอบแทนที่จะได้รับจากการโกง และโอกาสที่จะถูกจับได้ นั่นหมายความว่าการโกงจะค่อนข้างคงที่(หรือเปลี่ยนแปลงน้อยมาก)กับค่าๆ หนึ่งของแต่ละบุคคล

“พุทธศาสนา (ภาพโดย pareeerica @flickr)”

……….

ถ้าคนไม่ตอบสนองต่อสิ่งจูงใจ ตามที่หลักเหตุและผลทางเศรษฐศาสตร์ แล้วเราจะอธิบายเรื่องนี้ได้อย่างไร? Ariely เสนอว่า มันน่าจะมีแรงผลักดันมาจากการที่พวกคุณคงอยากจะกลับบ้านส่องกระจก แล้วยังคงรู้สึกดีกับตัวเองได้อยู่ ด้วยเหตุนี้ คุณจึงไม่โกง แต่ถ้าคุณโกงแค่เล็กๆ น้อยๆ คุณอาจจะยังรู้สึกดีกับตัวเองได้อยู่ ดังนั้น สิ่งที่เกิดขึ้นก็คือ มันมีขอบเขตการโกงระดับหนึ่งที่คุณไม่อยากทำเกินไปกว่านี้ คือ คุณยังคงเก็บเกี่ยวผลประโยชน์เล็กๆ น้อยๆ จากการโกงได้ ตราบเท่าที่มันไม่ไปเปลี่ยนแปลงความรู้สึกที่เรามีต่อตัวเราเอง Ariely เรียกมันว่า “ระดับการโกงที่ยอมรับได้ของแต่ละคน” (Personal Fudge Factor) [ที่จริงคล้ายๆ กับการที่เราคิดว่า "ไม่เป็นไรหรอก" ในบางเวลาที่เรากำลังจะทำผิด]

แล้วอะไรที่จะทำให้ระดับการโกงที่ยอมรับได้ลดลง?

เขาทดสอบโดยการพาคนมาที่ห้องทดลอง แล้วแบ่งผู้เข้าร่วมการทดลองออกเป็นสองกลุ่มอย่างละเท่าๆ กัน กลุ่มแรก ให้นึกถึงหนังสือสิบเล่มที่เคยอ่านสมัยมัธยมปลาย ส่วนอีกกลุ่มหนึ่ง ให้นึกถึงบัญญัติสิบประการ [คล้ายๆ กับศีลห้าในกรณีของศาสนาพุทธ] แล้วจากนั้นลองเปิดโอกาสให้สามารถโกงได้

ผลการศึกษาพบว่า คนที่นึกถึงบัญญัติสิบประการ [ซึ่งไม่มีผู้ร่วมการทดลองสักคนที่จำได้ครบทุกข้อ] เมื่อมีโอกาสจะโกงแล้ว กลับไม่มีใครโกงเลยสักคนเดียว เรื่องนี้น่าสนใจมาก เพราะไม่ใช่เพราะคนที่เคร่งศาสนามากกว่า หรือจำบัญญัติสิบประการได้มากกว่า จะโกงน้อยกว่า และคนที่ไม่เคร่งศาสนา หรือคนที่แทบจะจำบัญญัติสิบประการไม่ได้ จะโกงมากกว่า แต่การที่แค่พยายามจะนึกถึงบัญญัติสิบประการเท่านั้น พวกเขาก็หยุดโกง นั่นคือ ต่อให้เป็นคนที่ประกาศตัวว่าไม่มีศาสนา แต่การให้พวกเขาสาบานต่อพระคัมภีร์ แล้วให้โอกาสที่จะโกง พวกเขาก็จะไม่โกง

แล้วอะไรที่ทำให้ระดับการโกงที่ยอมรับได้เพิ่มขึ้น?

การทดลองแรก — Ariely เดินไปรอบๆ มหาวิทยาลัยของเขา (ในตอนที่ทดลอง เขายังอยู่ที่ MIT) แล้วเอาโค้กจำนวนหกแพ็คไปใส่ไว้ในตู้เย็นรวมในหอพักของนักศึกษาปริญญาตรี แล้วก็กลับมาวัดสิ่งที่เรียกว่า ช่วงอายุของโค้ก (Half Life) นั่นคือ โค้กจะอยู่ในตู้เย็นได้นานแค่ไหน? อย่างที่คาดไว้ มันอยู่ได้ไม่นานก็หายไป แต่เมื่อเขาเปลี่ยนจากโค้ก เป็นธนบัตรหกดอลลาร์ใส่ไว้ในจาน แล้วก็ทิ้งจานนั้นไว้ในตู้เย็นแบบเดียวกัน ธนบัตรกลับไม่หายไป

การทดลองแรกอาจดูหละหลวม Ariely จึงทำการทดลองอย่างเป็นระบบอีกครั้ง เพื่อให้ได้ผลที่เชื่อถือได้มากขึ้น เขาทำการทดลองแบบเดิม แต่จำแนกออกเป็นสามกลุ่ม หนึ่งในสามของผู้ร่วมการทดลองให้ส่งกระดาษคำตอบคืน อีกหนึ่งในสามให้ฉีกกระดาษทิ้งไป แล้วมาบอกว่า “คุณนักวิจัยครับ ผมแก้โจทย์ได้ X ข้อ จ่ายผมมา X ดอลลาร์” และอีกหนึ่งในสามให้ฉีกกระดาษคำตอบทิ้ง แล้วมาบอกว่า “คุณนักวิจัยครับ ผมแก้โจทย์ได้ X ข้อ จ่ายชิปผมมา X อัน” เราไม่ได้จ่ายเป็นเงิน เราจ่ายเป็นอย่างอื่น แล้วเมื่อพวกเขาได้รับอย่างอื่นที่ว่า เขาต้องเดินไปด้านข้างอีกสิบสองฟุต แล้วค่อยแลกเป็นเงิน

“ชิปสำหรับแลกเป็นเงิน (ภาพโดย BePak @flickr)”


ลองนึกดูว่าคุณจะรู้สึกแย่แค่ไหน ถ้าจิ๊กดินสอจากที่ทำงานกลับบ้าน เปรียบเทียบกับ การขโมยเงินสิบบาทจากกล่องใส่เงิน? ความรู้สึกมันต่างกันมาก การเพิ่มขั้นตอนที่ทำให้คุณอยู่ห่างจากเงินสดไปอีกไม่กี่วินาทีโดยการได้รับชิปแทน เชื่อไหมว่า มันมีผลถึงขั้นว่าผู้ร่วมการทดลองโกหกเพิ่มเป็นสองเท่าเลยทีเดียว [นี่อาจจะเป็นเหตุผลหนึ่งที่ในตลาดหุ้นมีการโกงกันอย่างมหาศาล]

……….

ข้อสรุปของการทดลองที่ว่ามาทั้งหมดก็คือ การโกงของคนเราไม่ใช่ทั้งหมดที่ขึ้นอยู่กับผลได้จากการโกง หรือโอกาสที่จะถูกจับได้ โดยเฉพาะการโกงกับเรื่องเล็กๆ น้อยๆ แต่กลับขึ้นอยู่กับระดับการโกงที่ยอมรับได้ของแต่ละบุคคลมากกว่า เนื่องจากเราคงอยากกลับบ้าน ส่องกระจกแล้วรู้สึกดีกับตัวเองอยู่ และระดับการโกงที่ยอมรับได้นั้นจะลดลง ถ้าคนเรามีศีลธรรมเป็นเครื่องเตือนใจ (แม้แต่กับคนไม่มีศาสนาก็ตาม) ขณะที่ระดับการโกงที่ยอมรับได้นั้นจะเพิ่มสูงขึ้น ถ้าสิ่งที่เขาจะโกงนั้นห่างไกลจากเงินจริงๆ ออกไป

สำหรับตอนที่ ๒ จะเป็นการทดลองต่อเนื่องจากตอนที่ ๑ นี้ เพื่อตอบคำถามว่า “ศีลธรรม” สำคัญอย่างไรกับสังคมของเรา ขอได้โปรดติดตาม






ที่มา: คัดลอกและปรับเล็กน้อย จาก บทบรรยายไทย ของ Dan Ariely (2009) Dan Ariely on our buggy moral code, แปลโดย Thanee Chaiwat และตรวจทาน โดย Thipnapa Huansuriya, TED Talk available “here”.

  • http://www.facebook.com/profile.php?id=739808002 Pornthep Nivatyakul

    เอะ … จะโกงดีมั้ยเนี่ย

  • goodday

    เป็นการทดลองที่น่าสนใจครับ เสด ถะ สาด เชิงพฤติกรรมตอบโจทย์หลายๆอย่างได้ดีครับ
    blog นี้ก้อน่าสนใจครับ เรียบง่ายและดูดีครับ

  • http://gravatar.com/kongmahidol KM

    น่าจะทดลองกับกลุ่มตัวอย่างที่มีวัฒนธรรมต่างๆกัน แล้วลองนำมาเทียบกันนะครับ

    • http://setthasat.wordpress.com [เสด-ถะ-สาด].com

      เห็นด้วยครับ น่าจะให้ผลที่น่าสนใจทีเดียว ^^

  • http://www.miraclesheep.com แกะสวรรค์

    ผมว่าต้องมีการนำไปปรับใช้กับสังคมไทยของเรานะครับ
    บทความนี้ดีมากๆ Ariely เองก็สุดยอดเสมอ

    ขอบคุณมากครับ

  • Athit

    ขอบคุณครับ เป็นทดลองที่น่าทึ่งจริง ๆ