__Yakuza_tattoo____by_Milwa_cz

ทำไมต้อง “กร่าง”?

การแสดงความไม่สุภาพหรือหยาบคายในที่สาธารณะนั้น อาจทำให้หลายคนที่พบเห็นรู้สึกว่าน่ารังเกียจ แต่ในขณะเดียวกัน การกระทำเหล่านั้นก็เป็นสัญลักษณ์หนึ่งของอำนาจในสายตาของผู้พบเห็นเช่นกัน งานศึกษาชิ้นหนึ่งช่วยยืนยันเรื่องนี้ และทำให้เราเข้าใจว่า เรื่องนี้อาจไม่ใช่เรื่องของแค่คนบางคนเท่านั้น

……….


ก่อนหน้านี้ไม่นาน ผู้เขียนได้อ่านเจอโพสต์เรื่องเหตุเกิดที่สุวรรณภูมิ-ทำไมต้องตบ? ในบล็อกของคุณภรต ยมจินดา ที่นำเอาบทความทางวิชาการมาวิเคราะห์เหตุการณ์ระหว่างเจ้าหน้าที่ดูแลความปลอดภัยกับข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ที่สนามบินสุวรรณภูมิ ซึ่งนอกเหนือไปจากข้อสรุปของตัวบทความเองแล้ว วิธีวิเคราะห์ของบทความวิชาการชิ้นนี้ก็มีความน่าสนใจอยู่ไม่น้อย จึงขออนุญาตนำมาเล่าให้ฟังกันครับ

……….

Kleef, Homan, Finkenauer, Gündemir and Stamkou (2011) ได้ทำการศึกษาว่าการกระทำที่ไม่เหมาะสมหรือดูไม่สุภาพในที่สาธารณะมีผลต่อความรู้สึกของผู้ที่พบเห็นอย่างไร

การศึกษาเป็นการอธิบายความ เพื่อจำลองสถานการณ์ โดยแบ่งเป็น ๔ การทดลอง ได้แก่[1]

  • กรณีศึกษาที่ ๑ เทกาแฟ

    สถานการณ์: ผู้เข้าร่วมการทดลอง (ชาย 15 คน หญิง 25 คน; อายุเฉลี่ย = 19.53, SD = 1.91) ที่กำลังเข้าแถวเพื่อรอทำพาสปอร์ต มองเห็น คนหนึ่งลุกจากการนั่ง เดินตรงไปเทกาแฟใส่แก้วของตนเองจากโต๊ะบริการกาแฟที่ไม่มีคนอยู่ เปรียบเทียบกับ คนหนึ่งลุกจากการนั่ง เดินตรงไปเข้าห้องน้ำแล้วก็เดินออกมา [ที่ต้องมีส่วนนี้ เพื่อให้เป็นการเปรียบเทียบการกระทำที่มีระยะเวลาของกิจกรรมเท่าๆ กัน]

    ผลการศึกษา: ผู้เข้าร่วมการทดลองให้คะแนน คนที่เดินไปเทกาแฟใส่แก้วตนเอง (M = 4.89, SD = 0.70) ว่ามีอำนาจมากกว่า คนที่เดินไปเข้าห้องน้ำ (M = 4.03, SD = 0.82) ⇒ t(38) = 3.56 | p = .001

  • กรณีศึกษาที่ ๒ คนทำบัญชีไม่ทำตามระเบียบ

    สถานการณ์: ผู้เข้าร่วมการทดลอง (169 คน ไม่ได้ทำการบันทึกอายุและเพศ) ได้ยินคนทำบัญชีสองคนคุยกัน พนักงานฝึกหัดถามพนักงานประจำถึงความผิดปกติที่ตรวจพบในรายงานทางการเงิน และพนักงานประจำตอบว่า “มันเป็นเรื่องที่เกิดเป็นประจำแหล่ะ และผู้ตรวจบัญชีก็ไม่เคยตรวจเจอด้วย ปล่อยๆ ไป เดี๋ยวก็จะชินไปเอง” เปรียบเทียบกับ “มันเป็นเรื่องที่เกิดเป็นประจำแหล่ะ แต่เราต้องให้ความสำคัญกับมัน แม้ว่าผู้ตรวจบัญชีก็ไม่เคยตรวจเจอ แต่เราก็ควรทำตามระเบียบ”

    ผลการศึกษา: ผู้เข้าร่วมการทดลองให้คะแนน คนที่ไม่ทำตามระเบียบ (M = 4.85, SD = 1.10) ว่ามีอำนาจมากกว่า คนที่ทำตามระเบียบ (M = 4.36, SD = 1.15) ⇒ t(167) = 2.86 | p = .005

  • กรณีศึกษาที่ ๓ วางเท้าบนเก้าอี้ และทิ้งขี้บุหรี่ลงพื้น

    สถานการณ์: ผู้เข้าร่วมการทดลอง (ชาย 45 คน หญิง 81 คน; อายุเฉลี่ย = 21.93, SD = 4.49) ได้ดูวิดีโอของชายคนหนึ่ง ทำการวางเท้าบนเก้าอี้ ทิ้งขี้บุหรี่ลงพื้นซ้ำแล้วซ้ำอีก หยิบเมนูมาอ่านแล้วไม่เก็บเข้าที่ สั่งอาหารด้วยถ้อยคำห้วนๆ และไม่กล่าวขอบคุณเมื่อบริกรมาเสิร์ฟอาหาร (รูปที่ ๑ บน) เปรียบเทียบกับ ชายคนเดิม นั่งไขว้ขาอย่างสุภาพ ทิ้งขี้บุหรี่ลงในที่เขี่ยบุหรี่ หยิบเมนูมาอ่านแล้วเก็บเข้าที่ สั่งอาหารด้วยถ้อยคำสุภาพ และกล่าวขอบคุณเมื่อบริกรมาเสิร์ฟอาหาร (รูปที่ ๑ ล่าง)

    “ภาพที่ ๑ กรณีศึกษาที่ ๓”

    ……….

    ผลการศึกษา: ผู้เข้าร่วมการทดลองให้คะแนน ชายที่มีพฤติกรรมไม่สุภาพ (M = 5.53, SD = 0.81) ว่ามีอำนาจมากกว่า คนที่ทำตามระเบียบ (M = 4.27, SD = 1.04) ⇒ t(124) = 7.54 | p = .001

  • กรณีศึกษาที่ ๔ วางเท้าบนโต๊ะ

    สถานการณ์: ผู้เข้าร่วมการทดลอง (เป็นนักศึกษา ชาย 14 คน หญิง 38 คน; อายุเฉลี่ย = 20.63, SD = 2.09) ได้เดินทางไปร่วมการทดลอง กับคนที่มาร่วมการทดลองสายเล็กน้อย โยนกระเป๋าไปที่เก้าอี้ที่มีคนนั่งอยู่ และนั่งวางเท้าขึ้นมาบนโต๊ะ เปรียบเทียบกับ การเดินทางไปร่วมการทดลอง กับคนที่มารออยู่แล้ว และมีพฤติกรรมสุภาพ

    ผลการศึกษา: ผู้เข้าร่วมการทดลองให้คะแนน ชายที่มีพฤติกรรมไม่สุภาพ (M = 4.89, SD = 0.98) ว่ามีอำนาจมากกว่า คนที่ทำตามระเบียบ (M = 4.49, SD = 0.98) ⇒ t(51) = 2.27 | p = .028

แม้ว่าสุภาษิตจะบอกเราว่า “อำนาจมักทำให้เสียคน” (‘‘power corrupts.’’) แต่คำอธิบายสำคัญของการศึกษาครั้งนี้ก็คือ แท้จริงแล้ว คนส่วนใหญ่รู้สึกว่า “ความหยาบคายเป็นสัญลักษณ์อย่างหนึ่งของอำนาจ” ดังนั้น การแสดงความไม่สุภาพของคนบางกลุ่มจึงเป็นไปเพื่อตอบสนองต่อสิ่งที่สังคมคาดหวัง นั่นคือเป็นการแสดงอำนาจ

ทั้งนี้ไม่ได้พยายามจะบอกว่า การแสดงความหยาบคายเป็นเรื่องชอบธรรมที่สามารถทำได้ แต่เพื่อจะชี้ให้เห็นว่า มันอาจไม่ใช่แค่เรื่องของบางบุคคล แต่เป็นเพราะความรู้สึกของคนในสังคมเป็นเช่นนั้น และบางบุคคลที่ว่าก็เพียงแค่ต้องการตอบสนองการแสดงอำนาจตามความรู้สึกของคนในสังคม ทางออกนอกเหนือจากการบังคับใช้กฎหมายลงโทษผู้ที่แสดงความไม่สุภาพให้มีประสิทธิภาพแล้ว ยังต้องค่อยๆ ปรับความรู้สึกของคนรุ่นต่อๆ ไปในสังคมให้เกิดบรรทัดฐานที่ยอมรับไม่ได้กับการแสดงอำนาจด้วยความหยาบคายหรือความรุนแรงเช่นนี้ด้วย

“เด็กช่างกล (เด็กจริงๆ) (ภาพโดย doctorlizardo @flickr)”


นอกจากนี้ หากเอาผลการทดลองมามองพฤติกรรมการตีกันของเด็กช่างกล จะพบว่า โดยลึกๆ แล้ว เด็กช่างกลอาจไม่ได้ต้องการตีกันกับคนที่ไม่เคยรู้จักเลยจากโรงเรียนคู่อริ เพียงเพราะเรียนอยู่คนละโรงเรียนกัน [ไม่นับกรณีของความแค้นส่วนตัว] แต่เป็นเพราะการกร่างเป็นสัญลักษณ์อย่างหนึ่งของอำนาจ และพวกเขาต้องการแสดงอำนาจต่อหน้าเพื่อนๆ ของพวกเขาเอง [ไม่ใช่เด็กจากโรงเรียนคู่อริ] ดังนั้น พวกเขาจึงกร่างมากขึ้น เมื่อเวลามีจำนวนเพื่อนของตัวเองเยอะขึ้น [ถ้ากร่างตอนไม่มีเพื่อน จะไม่คุ้ม เพราะไม่มีคนเห็น ขณะที่ถ้ากร่างตอนมีเพื่อนมากๆ ถึงแม้จะตีกันแพ้ ก็อาจจะยังคุ้มกับการเอ่ยถึงในอนาคต] การแก้ปัญหาของนักเรียนตีกัน จึงไม่ใช่แค่ทำให้สองโรงเรียนเป็นมิตรต่อกันเท่านั้น แต่ยังต้องแก้ไขเรื่องความรู้สึกถึงความมีอำนาจอันมาจากการกร่างของนักเรียนในโรงเรียนนั้นๆ ด้วย

สุดท้ายนี้ก็อย่าลืมมาร่วมสร้างสังคมที่ยอมรับไม่ได้กับการใช้ความหยาบคายหรือความรุนแรงกันนะครับ ^^






ขอขอบคุณ คุณ Udomchai Tewasekson ที่ช่วยหาบทความต้นฉบับให้ครับ

อ้างอิง
[1] M คือ ค่าเฉลี่ยของคะแนนของความมีอำนาจในความรู้สึกของผู้ร่วมการทดลองจากคะแนนเต็ม 7, SD คือช่วงกว้างของค่าคะแนนดังกล่าว เช่น ถ้า M = 4.89, SD = 0.70 หมายความว่า ผู้เข้าร่วมการทดลองให้คะแนนมีอำนาจเฉลี่ย 4.89 จาก 7 และส่วนมากคะแนนจะอยู่ที่ 4.89 ± 0.70 หรือ 4.19-5.59
ขณะที่ t(s) คือตัวทดสอบความแตกต่างของ M ทางสถิติด้วยระดับความเป็นอิสระที่ s และ p คือเกณฑ์ทดสอบทางสถิติ มักจะถือว่า ถ้า p < 0.10 แสดงว่าค่า M สองค่ามีความแตกต่างกันจริง เช่น t(38) = 3.56 | p = .001 หมายความว่า ตัวทดสอบความแตกต่างของ M ทางสถิติมีค่า 3.56 ทำให้เกณฑ์ทดสอบทางสถิติ (=.001) < 0.10 หมายความว่า ค่าเฉลี่ยของคะแนนของความมีอำนาจในความรู้สึกของผู้ร่วมการทดลองในสองการทดลองก่อนหน้านั้นมีความแตกต่างกันจริง

ที่มา
Gerben A. Van Kleef, Astrid C. Homan, Catrin Finkenauer, Seval Gündemir and Eftychia Stamkou, Breaking the Rules to Rise to Power : How Norm Violators Gain Power in the Eyes of Others, Social Psychological and Personality Science 2011 2: 500 originally published online 26 January 2011.
ภรต ยมจินดา, เหตุเกิดที่สุวรรณภูมิ-ทำไมต้องตบ?, ออนไลน์ ที่นี่, 2011.

featured image from here

  • http://bharot.wordpress.com Bharot Yomchinda

    รายละเอียดและภาพประกอบนี้ทำให้ผมเข้าใจการทดลองครั้งนี้มากยิ่งขึ้น ขอบคุณผู้เขียนครับ!

    • http://setthasat.wordpress.com [เสด-ถะ-สาด].com

      ขอบคุณคุณภรตที่นำเสนอบทความดีดีเช่นกันครับ และต้องขอโทษที่ไม่ได้ขออนุญาตก่อนเอ่ยนามด้วยครับ ^^

  • http://evergreen473.wordpress.com mountain breeze

    ทำให้เข้าใจบางคนที่หยาบคายในที่สาธารณะ ขึ้นมาหน่อยนึงค่ะ
    แต่ก็ยังรังเกียจอยู่ดี
    ขอบคุณสำหรับบทความดีนี้ค่ะ

  • Ja

    ทำกริยาต่ำๆเดินไปตบเขา เขาก็อาจกลัว แต่ยังไงคนถูกกระทำก็ต้องแค้นและเอาคืน ไม่ได้รู้สึกว่าไอ้คนมาตบมีอำนาจอะไรเลย
    และมันอยู่ที่ความเคยชินของคนที่เห็นหรือโดนทำกริยาแบบนั้นใส่ว่าเติบโตมากับสภาพแวดล้อมแบบไหน หรือได้รับการอบรมมาอย่างไรมากกว่า เลี้ยงมาแบบให้ป๊อดก็เป็นแค่ไอ้ขี้แพ้ เลี้ยงแบบกุ๊ยก็ได้ลูกเป็นกุ๊ย เลี้ยงแบบสุภาพชนก็สู้คนอย่างมีศักดิ์ศรีแบบวีรบุรุษ, สตรี
    ยังไงก็รู้สึกว่าคนกริยากร่างก็แค่ทำให้คนที่พบเห็นรู้สึกขยาดแค่นั้นเอง เหมือนหมาเห่าแต่ไม่กัด

  • http://gravatar.com/birdmmm เบิร์ด ผู้กอง

    เป็นบทความที่น่าสนใจ เห็นทีการชวนทะเลาะ การด่าว่าลูกน้องอย่างรุนแรง การทำให้คนอื่นกลัว การพกปืน การไม่ยิ้ม การเยี่ยวที่เสาไฟฟ้า เหล่านี้อาจกำลังแสดง สัญลักษณ์แห่งอำนาจ และ การกบฏต่อจารีตสังคม ก็ได้

    • http://bharot.wordpress.com Bharot Yomchinda

      เห็นด้วยกับคุณ เบิร์ด ผู้กองว่า “การชวนทะเลาะ การด่าว่าลูกน้องอย่างรุนแรง การทำให้คนอื่นกลัว การพกปืน การไม่ยิ้ม ” นั้น ผู้กระทำ “อาจกำลังแสดง สัญลักษณ์แห่งอำนาจ”

      แต่สำหรับ ” การเยี่ยวที่เสาไฟฟ้า” ถ้าเป็นสุนัขก็เป็นแสดงอาณาเขตตามปกติของมัน แต่ถ้าเป็นคน ผมว่า อาจจะเป็นเพียงแค่การแสดงว่า “ฉันสุดจะกลั้นเอาไว้ได้” เท่านั้นนะครับ โดยเฉพาะอย่างยิ่งพี่น้องคนขับแท็กซี่ เขาคงไม่ได้ตั้งใจแสดงอำนาจอะไร

      ส่วนที่เกี่ยวกับ การกบฏต่อจารีตสังคม นั้น ผมไม่แน่ใจว่าคนที่ทำอย่างนั้น เขาคิดอย่างเดียวกับเราหรือเปล่า ผมคิดว่าเขาเข้าใจว่า นี่เป็นการปฏิบัติตามจารีตสังคมอย่างหนึ่งต่างหาก ซึ่งก็คือจารีตสังคม ที่ผู้คนยอมรับการวางอำนาจบาตรใหญ่ อย่างน้อยก็ยอมรับด้วยการไม่ลุกขึ้นมาคัดค้านทั้งๆที่ไม่เห็นด้วย