thunder-bolt-plain-hi

ว่าด้วย “ภัยพิบัติ” ตอนที่ ๒ — ภัยพิบัติมีผลต่อเศรษฐกิจแค่ไหน?

ภัยพิบัตินับเป็นหายนะของสังคม ทำลายทั้งชีวิต และทรัพย์สินของทุกคนในสังคม แน่นอนว่าในระยะสั้น มันทำลายเศรษฐกิจอย่างรุนแรง แต่ในระยะยาวแล้ว มันกลับส่งผลให้ภาคบางเศรษฐกิจบางส่วนขยายตัว ซึ่งแท้จริง มันเกิดผลอย่างไรกันแน่

……….


ถานการณ์ภัยพิบัติในช่วงปี 2010 ที่ผ่านมากระจายทั้งประเภทและพื้นที่ไปตามจุดต่างๆ ทั่วโลก [ภาพที่ ๑] ไทยเองก็คงเป็นหนึ่งในนี้หากนับปี 2011 กับสถานการณ์น้ำท่วมที่กำลังเกิดขึ้น ลองมาดูกันว่า งานศึกษาส่วนใหญ่ให้ข้อสรุปเกี่ยวกับผลกระทบของภัยพิบัติที่มีต่อระบบเศรษฐกิจไว้ว่าอย่างไรบ้าง

“๑ – ภัยพิบัติจากธรรมชาติรอบโลกในปี 2010 (ภาพจาก OurAmazingPlanet.com)”


จากตอนที่ ๑ งานศึกษาของ Cavallo and Noy (2010) ได้ชี้ให้เห็นว่า ผลกระทบจากภัยพิบัติที่เกิดขึ้นกับเศรษฐกิจของแต่ละประเทศนั้น ส่วนมากมีผลกระทบเฉลี่ยเพียง 0.1% เท่านั้น ขณะที่เอเชีย-แปซิฟิค[ซึ่งมีไทยรวมอยู่ด้วย]จะมีผลกระทบอยู่ที่ประมาณ 0.05% ของ GDP

แน่นอนว่าไม่ใช่ Cavallo and Noy (2010) เท่านั้นที่ทำการศึกษาในประเด็นนี้ แต่ยังมีนักเศรษฐศาสตร์อีกจำนวนหนึ่งที่ทำการศึกษาผลกระทบของภัยพิบัติที่มีต่อระบบเศรษฐกิจ ทั้งระยะสั้นและระยะยาว

……….

ในระยะสั้น (1 ปี) งานศึกษาส่วนใหญ่พบว่า ภัยพิบัติจะทำให้การเติบโตทางเศรษฐกิจและระดับรายได้ต่อหัวลดลง ส่วนมากจะอยู่ที่ประมาณ -4% ไปจนถึง +1% แต่หากเป็นประเทศกำลังพัฒนา ผลกระทบจะมีความหลากหลายมากขึ้น ซึ่งส่วนมากจะเป็นไปในทางลบ และอาจจะลบมากถึง 11.7% ของ GDP [ตารางที่ ๒]

“”๒ – ผลกระทบของภัยพิบัติที่มีต่อ GDP ในระยะสั้น (ตารางจากบทความที่ ๑)”


ขณะที่ในระยะยาวแล้ว ผลกระทบของภัยพิบัตินั้นมีน้อยมาก ส่วนหนึ่งเป็นเพราะระบบเศรษฐกิจสามารถปรับตัวได้ ที่น่าสนใจก็คือ งานศึกษาของ Cuaresma et al. (2008) พบว่า การเกิดภัยพิบัติบ่อยครั้งมีผลกระทบต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจมากกว่าการเกิดภัยพิบัติที่ก่อให้เกิดความเสียหายมากๆ เสียอีก [ตารางที่ ๓]

“๓ – ผลกระทบของภัยพิบัติที่มีต่อ GDP ในระยะยาว (ตารางจากบทความที่ ๑)”

“๓ – ผลกระทบของภัยพิบัติที่มีต่อ GDP ในระยะยาว (ตารางจากบทความที่ ๑)”

……….

การฟื้นตัวจากภัยพิบัติจะเป็นได้เร็วหรือช้า และผลกระทบจากภัยพิบัติจะสามารถเป็นไปในทางบวกในระยะยาวต่อระบบเศรษฐกิจได้หรือไม่นั้น ขึ้นอยู่กับปัจจัย 4 ประการ ได้แก่

  1. ราคาสินค้าไม่ควรจะเพิ่มสูงขึ้นมากเกินไป เพราะถ้าประเทศตกอยู่ภายใต้เงื่อนไข “If I can pay it, I can get it” (ถ้าคุณจ่ายไหว คุณก็ได้ไป) เป็นเวลานานๆ เศรษฐกิจจะไม่สามารถฟื้นตัวได้ [นั่นคือ รัฐบาลต้องควบคุมราคาสินค้า]
  2. กระบวนการผลิตของโรงงานที่เหลืออยู่ต้องมีความยืดหยุ่นมากพอ เช่น สามารถเพิ่มกำลังการผลิตได้อย่างรวดเร็วและเพียงพอ ซึ่งจะทำให้มูลค่าการส่งออก การบริโภคและการจ้างงานภายในประเทศไม่ลดลงมากเกินไป
  3. การออมของภาคครัวเรือนต้องไม่ลดลงมากเกินไป เพราะหากเกิดภัยพิบัติแล้วการซ่อมแซมความเสียหายหรือฟื้นฟูกิจการอยู่ในความรับผิดชอบของครัวเรือนขนาดเล็กแล้ว การออมของครัวเรือนเหล่านี้จะลดลง ส่งผลให้พวกเขาติดกับดักความยากจน (Poverty Trap) และเป็นอุปสรรคต่อการพัฒนาเศรษฐกิจในระยะยาว [นั่นคือ รัฐบาลต้องจ่ายเงินช่วยเหลืออย่างรวดเร็ว และมีประสิทธิภาพ]
  4. การลงทุนเพื่อทดแทนส่วนที่เสียหายไป ย่อมก่อให้เกิดการขยายตัวของภาคเศรษฐกิจอื่นๆ ตามมา หรือที่เรียกว่า ผลของตัวทวี (Multiplier Effect) แต่ควรจะเป็นการลงทุนใหม่ที่ใช้เทคโนโลยีที่ทันสมัยกว่าก่อนเกิดภัยพิบัติ หากเป็นเช่นนี้ ผลิตภาพ (Productivity) การผลิตของประเทศก็จะสูงขึ้น [นั่นคือ รัฐบาลต้องสนุบสนุนการลงทุนใหม่ หรือให้สินเชื่อทดแทนความเสียหายที่เหมาะสม]

อย่างไรก็ดี อาจมีข้อถกเถียงตามมาว่า แท้จริงแล้ว การฟื้นตัวของระบบเศรษฐกิจอาจจะยาวนานกว่าที่มีการประมาณการไว้ เนื่องจากการประมาณการความเสียหายมักจะพิจารณาเฉพาะความเสียหายทางตรง หมายความว่า ความเสียหายที่เกิดกับผลผลิต การลงทุนและการจ้างงาน แต่แท้จริงแล้ว ในช่วงเวลาของการฟื้นผู ยังมีความเสียหายที่เกิดขึ้นเนื่องจากผลผลิตที่ควรจะถูกบริโภคในสถานการณ์ปกติถูกดึงไปใช้เพื่อการซ่อมแซม และความเสียหายของธุรกิจและอุตสาหกรรมต่อเนื่องจากบริษัทที่ได้รับผลกระทบดังกล่าว

Hallegatte (2008) ได้ทำการประเมินความเสียหายทางอ้อม เมื่อเปรียบเทียบกับความเสียหายทางตรงในสถานการณ์ที่สหรัฐอเมริกาประสบภัยพิบัติจากพายุเฮอร์ริเคน Katrina แสดงโดยกราฟด้านล่าง แกนตั้งคือความเสียหายทางอ้อม (พันล้านเหรียญ สรอ.) และแกนนอนคือความเสียหายทางตรง (พันล้านเหรียญ สรอ.) พบว่า ความเสียหายทางอ้อมจะเพิ่มสูงขึ้นในอัตราเร่งเมื่อความเสียหายทางตรงสูงขึ้น และความเสียหายทางอ้อมจะเริ่มมีมูลค่าสูงกว่าความเสียหายทางตรง เมื่อความเสียหายทางตรงมีมูลค่าคิดเป็น 220 พันล้านเหรียญ สรอ. [รูปที่ ๔]

“สัดส่วนความเสียหายทางตรงและทางอ้อม (ภาพจากบทความที่ ๒)”


แม้ว่าอาจจะยากในการประเมินว่าผลกระทบที่แท้จริงจะเป็นบวกหรือลบ เมื่อรวมเอาผลกระทบทางอ้อมของภัยพิบัติเข้าไปแล้ว แต่ก็ไม่ได้ทำให้ปัจจัยที่ส่งผลต่อการฟื้นตัวของระบบเศรษฐกิจจากภัยพิบัติเปลี่ยนไป ดังนั้น การส่งเสริมหรือสนับสนุนปัจจัยต่างๆ ที่เอื้อต่อการฟื้นตัวยังคงไม่เปลี่ยนแปลง นั่นคือภารกิจที่ไม่ง่ายนักของรัฐบาลยังคงไม่เปลี่ยนแปลง






ที่มา

๑) Cavallo, Eduardo and Ilan Noy (2010) “The Economics of Natural Disasters: A Survey” Inter-American Development Bank WORKING PAPER SERIES No. IDB-WP-124.
๒) Hallegatte, Stéphane and Valentin Przyluski (2010) “The Economics of Natural Disasters: Concepts and Methods” The World Bank Policy Research Working Paper 5507.

featured image from here