cartoon-tornado

ว่าด้วย “ภัยพิบัติ” ตอนที่ ๑ — ภูมิภาคไหนโดนภัยพิบัติกันบ้าง?

เหตุการณ์น้ำท่วมที่เกิดขึ้นถือเป็นภัยพิบัติครั้งใหญ่อีกครั้งหนึ่งของประเทศไทย มาลองดูกันว่าประเทศไหนในโลกบ้างที่ประสบกับภัยพิบัติต่างๆ เหล่านี้ และผลกระทบที่เกิดกับในแต่ละพื้นที่ เมื่อพิจารณาจากหลายๆ ด้านมีมากน้อยแค่ไหนกัน

……….


ลกของเราเกิดภัยพิบัติขึ้นหลายครั้งในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา เช่น ในปี 2009 เกิดสึนามิที่หมู่เกาะซามัว (Samoa) ไต้ฝุ่นสองครั้งที่ฟิลิปปินส์ แผ่นดินไหวที่หมู่เกาะสุมาตรา และพายุเฮอร์ริเคนที่ชายฝั่งเม็กซิโก ปี 2010 เกิดแผ่นดินไหวครั้งใหญ่ที่เฮย์ติ และชิลี และในปี 2011 นี้ก็เกิดแผ่นดินไหวครั้งใหญ่ที่ญี่ปุ่น และน้ำท่วมใหญ่ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้[รวมทั้งประเทศไทย]

งานศึกษาจำนวนมากมักมุ่งไปที่การพยากรณ์ และการเพิ่มศักยภาพในการป้องกันภัยพิบัติ แต่งานวิจัยจำนวนไม่มากนักที่พูดถึงผลกระทบทางเศรษฐกิจ ทั้งที่งานศึกษาที่มีชื่อเสียงของ Barro (2006, 2009) ที่เคยชี้ให้เห็นแล้วว่าภัยพิบัติและเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นไม่บ่อย (รวมไปถึงสงครามและวิกฤตเศรษฐกิจ) เป็นต้นทุนของระบบเศรษฐกิจสูงถึงประมาณร้อยละ 20 ของ GDP ซึ่งหากเปรียบเทียบกับความผันผวนทางเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นอยู่เสมอๆ ที่เป็นต้นทุนของระบบเพียงร้อยละ 1.5 กลับมีงานศึกษาเป็นจำนวนมาก

……….

มีงานศึกษาที่น่าสนใจชิ้นหนึ่งของ Cavallo and Noy (2010) ภายใต้การสนับสนุนของ Inter-American Development Bank ได้ทำการสำรวจภัยพิบัติ และผลกระทบจากภัยพิบัติที่มีต่อระบบเศรษฐกิจทั่วโลก [1]

เริ่มจาก พวกเขาจะนับว่า สถานการณ์นั้นเป็น “ภัยพิบัติ” จำเป็นต้องมีองค์ประกอบอย่างน้อย 1 ข้อจาก 4 ข้อต่อไปนี้ ๑) มีผู้เสียชีวิตมากกว่า 10 คน ๒) มีผู้ได้รับผลกระทบมากกว่า 100 คน ๓) มีการประกาศสถานการณ์/ภาวะฉุกเฉิน หรือ ๔) มีการขอความช่วยเหลือจากภายนอก

ภัยพิบัติประกอบไปด้วย 3 ประเภท ได้แก่ ๑) ภัยพิบัติที่เกิดจากสภาพอากาศหรือน้ำ (hydro-meteorological) ซึ่งเป็นสถานการณ์ส่วนใหญ่ที่เกิดขึ้น และมีผลกระทบต่อมนุษยชาติมากที่สุด เช่น น้ำท่วม พายุ ความแห้งแล้ง ดินถล่ม และหิมะถล่ม ๒) ภัยพิบัติที่เกิดจากธรณีฟิสิกส์ (geophysical) เช่น แผ่นดินไหว สึนามิ และการระเบิดของภูเขาไฟ และ ๓) ภัยพิบัติทางชีวภาพ (biological) เช่น โรคระบาด การติดเชื้อปรสิต เป็นต้น

ภาพรวมของภัยพิบัติที่เกิดขึ้นในพื้นที่ต่างๆ ของโลก พบว่า ในแถบเอเชีย-แปซิฟิคมีจำนวนครั้งของภัยพิบัติคิดเฉลี่ยต่อประเทศสูงที่สุด และสูงกว่าภูมิภาคอื่นๆ มาก [รูปที่ 1] แต่เมื่อพิจารณาเฉพาะภัยพิบัติ “ครั้งใหญ่” ซึ่งหมายถึง ภัยพิบัติครั้งที่มีจำนวนผู้เสียชีวิตมากกว่าจำนวนผู้เสียชีวิตเฉลี่ยของภัยพิบัติ กลับพบว่า ภัยพิบัติครั้งใหญ่นั้น ส่วนใหญ่จะเกิดขึ้นที่ลาตินอเมริกาและแถบคาริบเบียน [รูปที่ 2] นั่นคือ เอเชีย-แปซิฟิคเกิดภัยพิบัติบ่อยครั้ง แต่มักไม่ใหญ่ ขณะที่ลาตินอเมริกาและแถบคาริบเบียน เกิดภัยพิบัติจำนวนน้อยครั้งกว่า แต่มักเป็นครั้งใหญ่ [เนื่องจากการสำรวจนี้กระทำถึงปี 2008 จึงยังไม่ได้รวมสึนามิที่ญี่ปุ่นเข้าไปด้วย] [2]

“รูปที่ 1 จำนวนครั้งของภัยพิบัติจำแนกตามทวีปในช่วง 1970-2008 (ภาพประกอบจากบทความ)”

“รูปที่ 2 จำนวนครั้งของภัยพิบัติครั้งใหญ่จำแนกตามภูมิภาคในช่วง 1970-2008 (ภาพประกอบจากบทความ)”


ขณะที่การรวบรวมข้อมูลของ Cavallo and Noy (2010) แสดงโดยแผนภาพแท่งเทียน (Candlestick Chart) ซึ่งเส้นที่อยู่ตรงกลางภายในกล่องคือค่าเฉลี่ย ขอบของกล่องบนและล่างคือค่าเปอร์เซ็นไทล์ที่ 75 และ 25 ตามลำดับ และขอบของเส้นที่อยู่นอกกล่องคือค่าสูงสุดและค่าต่ำสุด พบว่า แอฟริกาและลาตินอเมริกาและแถบคาริบเบียนเป็นภูมิภาคที่มีสัดส่วนผู้เสียชีวิตมากที่สุด ขณะที่เอเชีย-แปซิฟิค ซึ่งเกิดภัยพิบัติอยู่บ่อยครั้งกลับมีสัดส่วนผู้เสียชีวิตไม่มากนัก [รูปที่ 3] ขณะที่สัดส่วนผู้ได้รับผลกระทบก็ยังคงเป็นลาตินอเมริกาและแอฟริกา รองลงมาคือเอเชีย-แปซิฟิค ประมาณ 100 คนต่อประชากร 1 ล้านคน [รูปที่ 4]

“รูปที่ 3 จำนวนผู้เสียชีวิตจากภัยพิบัติต่อประชากร 1 ล้านคน ในช่วง 1970-2008 (ภาพจากบทความ)”

“รูปที่ 4 จำนวนผู้ได้รับผลกระทบจากภัยพิบัติต่อประชากร 1 ล้านคน ในช่วง 1970-2008 (ภาพจากบทความ)”

……….

ที่น่าสนใจคือ Cavallo and Noy (2010) พบว่า ผลกระทบจากภัยพิบัติที่เกิดขึ้นกับเศรษฐกิจของแต่ละประเทศนั้น ส่วนมากมีผลกระทบเฉลี่ยเพียง 0.1% เท่านั้น ขณะที่เอเชีย-แปซิฟิคมีผลกระทบอยู่ที่ประมาณ 0.05% ของ GDP [รูปที่ 5] ทั้งนี้ การที่ภัยพิบัติมีผลกับระบบเศรษฐกิจไม่มากนักก็เพราะว่า ภายหลังจากภัยพิบัติแล้ว จะเกิดกิจกรรมทางเศรษฐกิจจำนวนมากตามมา เช่น การซ่อมแซมบ้าน การสร้างอาคารใหม่ การสร้างถนนใหม่ หรือการสร้างเขื่อนกั้นน้ำ ซึ่งกิจกรรมเหล่านี้ก่อให้เกิดการจ้างงานและการใช้จ่ายทางเศรษฐกิจ และนำไปสู่การขยายตัวของกิจกรรมทางเศรษฐกิจอื่นๆ ในระบบด้วย จึงเข้าไปชดเชยความเสียหายที่เกิดขึ้น

“รูปที่ 5 สัดส่วนของ GDP ที่ได้รับผลกระทบจากภัยพิบัติ ในช่วง 1970-2008 (ภาพจากบทความ)”


ประเด็นสำคัญก็คือว่า แท้จริงแล้ว ภัยพิบัติมีผลกระทบต่อระบบเศรษฐกิจน้อยมาก เพราะมันเป็นสิ่งที่สามารถฟื้นฟูให้กลับมาเหมือนดังเดิมได้ ขณะที่ชีวิตมนุษย์ที่ต้องสูญเสียไปมากมาย กลับเป็นสิ่งมีค่ามากกว่า แต่ก็ไม่สามารถนำกลับมาได้ ดังนั้น เมื่อเกิดภัยพิบัติใดใด อย่าลืมช่วยกันนึกถึงชีวิตของคนเรา ก่อนผลกระทบทางเศรษฐกิจนะครับ

สำหรับตอนที่ ๒ เราจะมาดูภาพรวมของงานศึกษาอื่นๆ ที่เกี่ยวกับผลกระทบทางเศรษฐกิจอันเกิดจากภัยพิบัติโดยใช้แบบจำลองกันดูบ้างว่า งานเหล่านั้นให้ข้อสรุปว่าอย่างไร และปัจจัยที่มีผลต่อการฟื้นตัวของภัยพิบัติอย่างรวดเร็วและมีประสิทธิภาพนั้นขึ้นอยู่กับอะไรบ้าง






อ้างอิง
[1] ข้อมูลของภัยพิบัติส่วนใหญ่มาจาก Emergency Events Database (EM-DAT).
[2] ข้อมูลเฉพาะภัยพิบัติประเภทที่ ๑ และ ๒ เท่านั้น

ที่มา: Cavallo, Eduardo and Ilan Noy (2010) “The Economics of Natural Disasters: A Survey” Inter-American Development Bank WORKING PAPER SERIES No. IDB-WP-124.

featured image from here