reality-expectation-gap

“คิดอย่างไร ก็ได้อย่างนั้น” … จริงหรือ?

คำพูดที่ว่า “คิดอย่างไร ก็ได้อย่างนั้น” เป็นคำพูดที่เกี่ยวข้องกับความคาดหวังของคนในสังคม ซึ่งอาจเป็นได้ทั้งด้านดีและร้าย ขึ้นอยู่กับว่าคาดหวังอะไร ลองมาพิจารณาดูกันว่า ในมิติทางจิตวิทยาและเศรษฐศาสตร์ ข้อความนี้จะเป็นจริงได้หรือไม่

……….


คำพูดที่ว่า “คิดอย่างไร ก็ได้อย่างนั้น” เป็นคำพูดติดปากของสังคม ที่จริงแล้ว ในทางเศรษฐศาสตร์ (รวมถึงอีกหลายศาสตร์) ก็มีคำอธิบายที่มาที่ไปของคำนี้เอาไว้

Self-fulfilling Prophecy ซึ่งมีความหมายเป็นภาษาไทยว่า คิดอย่างไร ก็ได้อย่างนั้น แท้จริงแล้วหมายถึง การคาดการณ์อันเป็นสาเหตุให้สิ่งที่คาดการณ์นั้นๆ เป็นจริงขึ้นมาภายหลัง โดยอาจจะการคาดการณ์ทางตรงหรือทางอ้อมก็ได้

[เคยมีตำนานหนึ่งของกรีกที่เกี่ยวกับเรื่องนี้ก็คือ ผู้ชายคนหนึ่งเฝ้าหลงรักรูปปั้นผู้หญิง จึงทะนุถนอมและให้ความรัก ราวกับเป็นผู้หญิงจริงๆ จนเทพบนสวรรค์รู้สึกเห็นใจและเสกรูปปั้นนั้นมีชีวิตขึ้นมาจริงๆ ถูกนำมาอ้างอิงว่าเป็นที่มาของแนวคิดนี้]

นักสังคมวิทยาชื่อ Robert K.Merton ดูเหมือนว่าจะเป็นคนแรกๆ ที่นำเอาคำนี้มาใช้ โดยยกตัวอย่างง่ายๆ ว่า ถ้าเราเชื่ออย่างผิดๆ อยู่เสมอว่าชีวิตสมรสของเราจะล่ม ความกลัวที่อยู่ในใจของเราจะส่งผลต่อพฤติกรรม จนทำให้มันล่มจริงๆ เข้าในสักวันหนึ่ง

……….

กระบวนการที่ก่อให้เกิด Self-fulfilling Prophecy เรียกว่า Pygmalion Effect เกี่ยวข้องกับการกระทำของพวกเราแต่ละคน ได้ก่อให้เกิดความคาดหวังจากคนอื่นในสังคม จนเป็นการกระทำของพวกเขาเหล่านั้น และนำมาซึ่งความคาดหวังของตัวเราเองด้วยเช่นกัน

“Pygmalion Effect” (ที่มาของภาพ)

……….

บทประยุกต์ทางเศรษฐศาสตร์ส่วนใหญ่ที่เกี่ยวกับ Self-fulfilling Prophecy มักจะเกี่ยวข้องกับการคาดการณ์ราคาสินค้าและราคาสินค้าที่เกิดขึ้นจริงตามมา

ตัวอย่างแรก เช่น หากคนในสังคมอยู่ในภาวะสงคราม หรือสถานการณ์ภัยพิบัติ พวกเขาย่อมคาดการณ์ว่า สินค้าจะขาดแคลนและราคาจะสูงขึ้น จากนั้นทุกคนก็จะกักตุนสินค้า ส่งผลให้สินค้าขาดแคลน และนำมาซึ่งราคาที่สูงขึ้นจริงๆ สุดท้ายแล้ว ราคาสินค้าไม่ได้สูงขึ้นเพราะสงครามหรือภัยพิบัติ แต่สูงขึ้นเพราะทุกคนคาดการณ์ไปในทางเดียวกัน

ตัวอย่างที่สอง ในทางตรงกันข้าม หากคนในสังคมคาดการณ์ว่าสินค้าอาจจะลดราคาลง พวกเขาก็จะชะลอการซื้อ จนในที่สุดราคาสินค้าก็ต้องลดลงมาจริงๆ แต่ถ้าทุกคนยังคงรอไปเรื่อยๆ อย่างที่เคยเกิดขึ้นในญี่ปุ่น ดัชนีราคาสินค้าในญี่ปุ่นลดลงอย่างต่อเนื่อง แต่ชาวญี่ปุ่นก็ยังคงชะลอการซื้อต่อไป เพราะยิ่งลดราคา ก็ยิ่งทำให้ประชาชนคาดการณ์ว่าพรุ่งนี้ ราคาจะถูกลงไปกว่าวันนี้  ผลก็คือสินค้าขายไม่ออกจริงๆ จนสุดท้ายนำไปสู่วิกฤตเศรษฐกิจแทน [ไม่ต่างไปจากถ้าเราคิดว่าธนาคารจะล้ม เราก็จะแห่กันไปถอนเงิน ผลก็คือธนาคารจะล้มจริงๆ ไม่ใช่ธนาคารล้มเพราะไม่มีประสิทธิภาพ แต่ล้มเพราะคนไปถอนเงินพร้อมๆ กัน]

[นอกจากนี้ ความกลัวผิดหวังอันเป็นสามัญสำนึกของมนุษย์นั้น จะส่งผลให้การคาดการณ์ในทางดีมีจำกัด แต่การคาดการณ์ในทางร้ายไม่จำกัด นั่นคือ หากคาดการณ์ว่าเศรษฐกิจะดี ถึงจุดหนึ่งการคาดการณ์จะหยุดลง แต่หากคาดการณ์ว่าเศรษฐกิจจะแย่ กลับจะไม่มีจุดสิ้นสุด]

ที่น่าสนใจก็คือ ประเด็นของ “คิดอย่างไร ก็ได้อย่างนั้น” มันสามารถเป็นจริงได้ ถ้าสังคมร่วมกัน และทำให้เรารู้ว่า การบริหารจัดการเศรษฐกิจให้ดีได้จำต้องบริหารจัดการความคาดหวังด้วย เช่นหากจะทำให้เศรษฐกิจดีก็ต้องทำให้ประชาชนเชื่อว่าเศรษฐกิจจะดีขึ้น

ไม่ต่างจากในช่วงที่เกิดภัยธรรมชาติ หากเราซื้อหาสินค้าเท่าที่จำเป็น สินค้าก็จะไม่ขาดแคลนและราคาจะไม่สูงขึ้น รวมถึงทุกคนก็จะมีเพียงพอ เช่นเดียวกันกับ ถ้าเราทุกคนเชื่อว่าเราจะผ่านมันไปได้อย่างเข้มแข็ง เราก็จะผ่านไปได้ด้วยกัน ขอเอาใจช่วยผู้ประสบภัยทุกคนครับ






featured image from trisha-asha.blogspot.com

  • http://www.facebook.com/telecomz Attaporn Singkiree

    ขอบคุณบทความดีๆครับ

  • chang surin

    ทีดัชนีหุ้นไทย 1050 จุด โบรกเกอร์บอกว่าหุ้นไทยจะไปถึง 1300 จุด
    ฝูงแมงเม่าก็ซื้อๆๆๆๆ
    พอถึง 1200 จุด รายใหญ่ซึ่งเป็นคนกลุ่มน้อยนิด ก็ขายๆๆๆๆ
    จนตกกลับไปที่ 1000 จุด ฝูงแมงเม่าก็ฝันนนนกันต่อไป 1300 1300 ZZZZ
    ……
    อันนี้เป็นมุขขำ
    แต่เรื่องจริงคือ “คิดอย่างไร ก็ได้อย่างนั้น”
    ใน the secret กฎแห่งแรงดึงดูด อธิบายได้แม่นมากๆๆๆ
    หรือแม้แต่คำสอนของหลวงปู่ชา ที่ว่า
    ……
    เธอจงระวังความคิดของเธอ
    เพราะความคิดของเธอจะกลายเป็นความประพฤติของเธอ
    เธอจงระวังความประพฤติของเธอ
    เพราะความประพฤติของเธอจะกลายเป็นความเคยชินของเธอ
    เธอจงระวังความเคยชินของเธอ
    เพราะความเคยชินของเธอจะกลายเป็นอุปนิสัยของเธอ
    เธอจงระวังอุปนิสัยของเธอ
    เพราะอุปนิสัยของเธอจะกำหนดชะตากรรมของเธอชั่วชีวิต
    ( หลวงพ่อชา สุภัทโท วัดหนองป่าพง )