“กวดวิชา” ทำให้เศรษฐกิจเติบโตหรือไม่?
การกวดวิชาเป็นรายจ่ายมหาศาลของระบบเศรษฐกิจ แต่การกวดวิชาก็สามารถก่อให้เกิดการเติบโตทางเศรษฐกิจได้ อาจจะมากถึง 5% เลยทีเดียว เพียงแต่แบบจำลองชี้ให้เห็นว่าจำเป็นต้องมีเงื่อนไขบางอย่างเพื่อให้การกวดวิชาก่อให้เกิดการยกระดับความสามารถของนักเรียน
……….
การศึกษาเป็นช่องทางในการสะสมทุนมนุษย์ เพราะความรู้จากการศึกษาส่งผลต่อผลิตภาพของตัวผู้ได้รับการศึกษาในเกือบทุกด้าน หากพิจารณาระดับการศึกษาคร่าวๆ ก็จะสามารถแบ่งออกได้เป็นสองระดับคือ ก่อนอุดมศึกษา และอุดมศึกษา โดยมีการสอบวัดความรู้ฯ เป็นปราการแบ่งแยกสองระดับที่ว่า
เมื่อเป็นเช่นนั้น หนทางหนึ่งที่นักเรียนก่อนอุดมศึกษาส่วนใหญ่กระทำก็คือ เรียนกวดวิชาเพิ่มเติมนอกเหนือจากการเรียนในชั้นเรียนปกติ ดุสิตโพลล์ (2547) ชี้ว่า การเรียนพิเศษเป็นการช่วยทบทวนความรู้และสรุปเนื้อหาให้เข้าใจได้มากขึ้น สอดคล้องกับงานของไพฑูรย์ สินลารัตน์ (2545) ที่ให้รายละเอียดด้วยว่า นักเรียนหนึ่งคนจะเรียนกวดวิชาเฉลี่ยสองวิชา ค่าใช้จ่ายวิชาละประมาณ 1,600 บาท แต่ละปีมีนักเรียนเรียนกวดวิชาประมาณ 3.3 แสนคน หรือประมาณร้อยละ 30 ของจำนวนนักเรียนมัธยมปลายทั้งหมด นั่นคือธุรกิจโรงเรียนกวดวิชาจะมีเงินหมุนเวียนประมาณภาคเรียนละ 1,000 ล้านบาท อีกทั้งแนวโน้มของนักเรียนที่เรียนกวดวิชายังเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องตามภาพที่ ๑
“ภาพที่ ๑ จำนวนและร้อยละของผู้สมัครสอบวัดระดับความรู้ที่เรียนกวดวิชา”
อย่างไรก็ดี ไม่ใช่ประเทศไทยเพียงประเทศเดียวที่มีนักเรียนมัธยมปลายเข้าเรียนกวดวิชาเป็นจำนวนมาก ประเทศอื่นๆ โดยเฉพาะแถบบ้านเราก็มีนักเรียนกวดวิชาจำนวนมากเช่นกัน ดังตารางที่ ๑
“ตารางที่ ๑ ขนาดของการเรียนกวดวิชาในประเทศต่างๆ”
……….
มนชยา และ ศิวพงศ์ (2548) จึงตั้งคำถามต่อเม็ดเงินของระบบเศรษฐกิจจำนวนมหาศาลนี้ว่า แท้จริงแล้วการกวดวิชาส่งผลต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจหรือไม่ เพราะในด้านหนึ่ง คุณภาพแรงงานและทุนมนุษย์เป็นปัจจัยที่ก่อให้เกิดการเติบโตทางเศรษฐกิจ ซึ่งมาจากการศึกษา และการศึกษาในระดับอุดมศึกษาก็ย่อมดีกว่าการศึกษาในระดับก่อนอุดมศึกษา แต่ในอีกด้านหนึ่ง การศึกษาก็มีต้นทุน ทั้งต้นทุนค่าจัดการศึกษา ค่าใช้จ่ายในการศึกษา และค่าเสียโอกาสในการทำงาน ขณะที่การกวดวิชา แม้จะช่วยเพิ่มโอกาสในการเข้าเรียนต่อระดับอุดมศึกษา แต่ก็เป็นค่าใช้จ่ายมหาศาลของสังคมเช่นกัน
การศึกษาอาศัยแบบจำลองรุ่นอายุเหลื่อมกันสองช่วงเวลา (Two-Period Overlapping Generation Model) ในการวิเคราะห์ โดยช่วงแรก (t=1) คือวัยเรียน และช่วงหลัง (t=2) คือวัยทำงาน คนที่เกิดมาจะเริ่มต้นจากวัยเรียนในช่วงแรก และเข้าสู่วัยทำงานในช่วงถัดไป จากนั้นจะตายตอนสิ้นสุดวัยทำงาน นอกจากนี้ ความสามารถของคนในระบบเศรษฐกิจมีตั้งแต่ต่ำสุด (j=0) ไปจนถึงสูงสุด (j=1) และกระจายแบบสม่ำเสมอ (Uniformly Distributed)
ในวัยเรียน นักเรียนทุกคนจะได้รับการศึกษาภาคบังคับอย่างเท่าเทียม ดังนั้น ทุกคนจะมีเวลาเหลือจากการเรียนเท่าๆ กัน พวกเขาสามารถเลือกเอาเวลาที่เหลือไปใช้ได้สองทาง หนึ่งคือเอาชั่วโมงไปเรียนกวดวิชา (v) โดยค่ากวดวิชาคิดตามเวลาที่ใช้ (T) (จ่ายค่ากวดวิชารวม = Tv) และสองคือเอาชั่วโมงไปทำงาน (1-v) ได้ค่าจ้างแรงงานระดับมัธยมศึกษา (W) (ได้ค่าจ้างรวม = (1-v)W) ซึ่งพวกเขาอาจจะใช้ทั้งหมดไปกับอย่างใดอย่างหนึ่งหรือผสมผสานทั้งสองอย่างก็ได้
เนื่องจากความสามารถของคนมีการกระจายอย่างสม่ำเสมอ การกวดวิชาจะเข้ามามีบทบาททำให้ความสามารถของคนที่ไปกวดวิชาเพิ่มขึ้นได้ ดังสมการ
เมื่อ คือความสามารถหลังการกวดวิชา คือระดับเฉลี่ยเริ่มต้นของประชากร และมีการกระจายของคนที่ j=0 ถึง j=1 อยู่ระหว่าง
ดังนั้น บุคคลที่ความสามารถเริ่มต้นต่ำกว่าเกณฑ์ก็สามารถเรียนกวดวิชาเพื่อเพิ่มความสามารถของตนให้ถึงเกณฑ์ได้ด้วยการเรียนกวดวิชาเป็นเวลาเท่ากับ
อย่างไรก็ดี ตามหลักการทางเศรษฐศาสตร์แล้ว คนที่มีความสามารถ j=1 จะไม่เรียนกวดวิชา เนื่องจากสอบเข้าเรียนระดับอุดมศึกษาได้อย่างแน่นอน ขณะที่คนที่มีความสามารถ j=0 ก็จะไม่เรียนกวดวิชาเช่นกัน เพราะไม่สามารถสอบเข้าเรียนระดับอุดมศึกษาได้อย่างแน่นอน ดังนั้น นักเรียนจะเลือกเรียนกวดวิชาตราบเท่าที่ความพึงพอใจจากการได้เข้าเรียนระดับอุดมศึกษาภายหลังกวดวิชาเท่ากับความพึงพอใจจากการทำงานโดยไม่เรียนต่อ
“ห้องเรียนกวดวิชา” (ที่มาของภาพ)
……….
ผลได้ของระบบเศรษฐกิจของการเรียนกวดวิชาที่ทำให้นักเรียนสามารถเรียนต่อในระดับอุดมศึกษามากขึ้นจะถูกส่งผ่านมาทางสมการการผลิตแบบ Cobb-Douglas ที่พิจารณาร่วมกับทุนมนุษย์
โดยสมมติให้ระบบเศรษฐกิจมีสินค้าชนิดเดียว (Yt) ที่ผลิตจากปัจจัยการผลิตสามประเภท ได้แก่ ทุนทางกายภาพ (Kt) ทุนมนุษย์ (Ht) และแรงงานอันประกอบด้วยแรงงานที่ไม่จบอุดมศึกษา (ltN) และแรงงานที่จบอุดมศึกษา (ltG) ซึ่งแรงงานที่ไม่จบอุดมศึกษาก็สามารถได้รับประโยชน์จากทุนมนุษย์ของแรงงานที่จบอุดมศึกษาบางส่วน ()
อัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจสามารถพิจารณาได้จากการเปลี่ยนแปลงค่าทุนนุษย์ โดยสมมติว่าทุนมนุษย์ไม่มีการเสื่อมค่า จะได้ว่า
จัดรูปใหม่ได้ว่า
โดย คืออัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจ คือบัณฑิตคนที่ตัดสินใจเรียนกวดวิชา คือดัชนีชี้วัดความคับคั่ง (Congestion) เพราะการมีบัณฑิตมากเกินไปอาจไม่เป็นผลดีกับระบบเศรษฐกิจ และ คือผลรวมความสามารถของบัณฑิตที่มีในเวลา t ซึ่งเป็นคนรุ่นอายุ t-1 ตั้งแต่คนที่ ถึง 1
……….
สุดท้ายนำเอาแบบจำลองที่ได้มาทำ Calibration ได้สัดส่วนรายได้ของแรงงานต่อผลผลิตเท่ากับ 0.56 สัดส่วนผู้เข้าศึกษาต่อระดับมหาวิทยาลัย 55.3 และค่าอัตราการเติบโตร้อยละ 5.1
นั่นหมายความว่า การกวดวิชาสามารถเพิ่มอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจให้สูงขึ้นได้ และสาเหตุที่การเติบโตเพิ่มสูงขึ้นไม่มากนักก็เพราะคนที่เลือกเรียนกวดวิชามักจะเป็นคนที่มีความสามารถค่อนข้างสูงและมีโอกาสได้เรียนต่อระดับอุดมศึกษาอยู่แล้ว ขณะที่คนที่ไม่มีโอกาสได้เรียนต่อก็จะเลือกไม่เรียนกวดวิชาตั้งแต่ต้น
“เส้นทางชีวิตของคนในแบบจำลอง”
นอกจากนี้ แบบจำลองยังทำให้เราตระหนักในอีกสามประเด็น ได้แก่
– การเพิ่มจำนวนบัณฑิตให้มากขึ้นจากการลดเกณฑ์ขั้นต่ำ () ในการรับบุคคลเข้าศึกษาต่อของมหาวิทยาลัย (ทั้งโดยตรงและโดยอ้อม) จะทำให้เกืดความคับคั่งของแรงงานบัณฑิตที่มีประสิทธิภาพต่ำ อันจะส่งผลให้อัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจไม่สูงอย่างที่ควรจะเป็นจนอาจไม่คุ้มกับค่าใช้จ่ายของสังคมในการกวดวิชา
– หากไม่สามารถเพิ่มคุณภาพของการศึกษาภาคบังคับได้ การกวดวิชาก็ยังเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับนักเรียน และอย่างน้อยมันก็ก่อให้เกิดผลบวกต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจ
– การให้น้ำหนักกับเกรดเฉลี่ยในการคัดเลือกเข้าเรียนระดับอุดมศึกษา ไม่สามารถลดปริมาณการกวดวิชาได้ ตราบใดที่ความต้องการเรียนต่อในระดับอุดมศึกษายังมีมากกว่าจำนวนที่นั่งอยู่
……….
โดยสรุปแล้ว การกวดวิชาสามารถทำให้เศรษฐกิจเติบโตขึ้นประมาณร้อยละ 5 ต่อปี เพียงแต่เงื่อนไขสำคัญที่จะทำให้การกวดวิชาก่อให้การเติบโตก็คือ ต้องมีการขยายจำนวนการรับบุคคลเข้าศึกษาต่อระดับอุดมศึกษา แต่มาตรฐานการรับบุคลเข้าศึกษาต่อต้องไม่ลดลง เพราะนั่นจะเป็นการประกันว่า การกวดวิชาจะทำให้เกิดการเพิ่มความสามารถของบุคคลก่อนเข้าศึกษาต่อ เมื่อเป็นเช่นนี้แล้วจะเห็นว่าปัญหาสำคัญของการใช้จ่ายมหาศาลในการเรียนกวดวิชาของประเทศไทย อาจจะแก้ไขได้ในระดับหนึ่งหากการรับเด็กเข้าเรียนมหาวิทยาลัยไม่ได้ดูเหมือนว่าลดมาตรฐานลงอย่างที่เป็นอยู่
ที่มา: มนชยา อุรุยศ และ ศิวพงศ์ ธีรอําพน (2548) “การกวดวิชากับความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ”, การประชุมวิชาการระดับชาติของนักเศรษฐศาสตร์ ครั้งที่ 1 คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, 28 ตุลาคม 2548.
featured image from here