made-in-italy

“Made in Italy” แต่ by China?

หลายคนที่มีโอกาสมาเที่ยวอิตาลีจะเห็นสินค้าตลาดนัดตามแหล่งท่องเที่ยวที่ดูคุณภาพไม่ค่อยดีนัก ราคาแพง และคนขายยืนยันหนักแน่นว่า “Made in Italy” พวกเขาไม่ได้โกหก เพราะ “Made in Italy” จริงๆ เพียงแต่ว่าไม่ใช่ความหมายอย่างที่เราเข้าใจกัน

……….


ากจะพูดถึงแฟชั่นอิตาลี คงต้องพูดถึงเมือง Prato ในแคว้น Tuscany (Florence และ Pisa ก็อยู่ในแคว้นนี้ด้วย) ซึ่งขึ้นชื่อว่าเป็นเมืองที่ผลิตผ้าเนื้อดีที่สุดของโลกจนได้เป็นศูนย์กลางการผลิตผ้าและเสื้อผ้าชั้นดี “Made in Italy” มานับร้อยๆ ปี อีกทั้งยังนับได้ว่าเป็นคลัสเตอร์สิ่งทอที่ดีที่สุดแห่งหนึ่งของโลก

“ที่ตั้งของเมือง Prato ในแผนที่ของอิตาลี” (ที่มาของภาพ)


จนกระทั่ง ในปลายทศวรรษ 1980 คนจีนเริ่มเข้าไปอยู่อาศัยใน Prato จากร้อยจนกลายเป็นหมื่นคน พวกเขาได้เปลี่ยนเมืองนี้จากศูนย์กลางการผลิตผ้า (Textile Hub) คุณภาพดี เป็นเมืองหลวงของการผลิตเสื้อผ้าราคาถูก ซึ่งเป็นที่นิยมของผู้มีรายได้น้อย และเป็นสิ่งที่พวกเขาชำนาญ

ปัจจุบัน Prato กลายเป็นแหล่งชุมชนคนจีนอพยพที่ใหญ่ที่สุดในยุโรป ทั้งผู้อพยพที่ถูกและผิดกฎหมาย อันที่จริง Prato มีประชากรประมาณ 187,000 คน สถิติของคนจีนที่ถูกกฏหมายคือ 11,500 คน แต่มีอีก 25,000 คนที่เข้าเมืองอย่างผิดกฏหมาย (ส่วนใหญ่คือคนจีน) เพื่อทำงานในโรงงานแฟชั่นทั้งสิ้น 3,200 แห่ง ในการผลิตเสื้อผ้าสำเร็จรูป รองเท้า และอุปกรณ์เสริมทั้งหลาย ส่วนใหญ่ใช้วัตถุดิบนำเข้าจากจีน เครื่องจักรนำเข้าจากจีน แรงงานคนจีน แต่ที่ดินเท่านั้นที่เป็นของอิตาลี

Bank of Italy เคยประเมินว่าธุรกิจจีนใน Prato ส่งผลกำไรกลับจีนเป็นเงิน 1.7 ล้านเหรียญสหรัฐต่อวัน (53 ล้านบาทต่อวัน) จากธุรกิจทอผ้าและเสื้อผ้าสำเร็จรูป ทั้งนี้ยังไม่นับรวมธุรกิจเกี่ยวเนื่องอื่นอีก

……….

สถานการณ์ดังกล่าวเกิดขึ้นภายใต้ความร่วมมือระหว่างมาเฟียจีนกับทนายและเจ้าหน้าที่ของรัฐบางคนของอิตาลี เนื่องจากทั้งคนจีนและคนอิตาเลียนต่างก็เชี่ยวชาญการหนีภาษีและการหาช่องว่างของกฎหมายอยู่แล้ว วิธีทั่วไปที่นิยมใช้กันก็คือการเปิดธุรกิจ และรีบปิดกิจการก่อนที่ตำรวจภาษีอิตาลีจะเข้าถึง จากนั้นก็เปิดทำธุรกิจในชื่อใหม่ โดยใช้ที่ตั้งเดิม แต่มีหมายเลขเสียภาษีใหม่ และปิดกิจการอีกก่อนจะต้องเสียภาษี วนเวียนไปมาอยู่แบบนี้ จนคนจีนหลายคนร่ำรวย ขยายกิจการ ถนนของเมืองนี้กลายเป็นชาวจีนมากขึ้นเรื่อยๆ พวกเขาใช้เงินสดซื้อร้านค้ากับอพาร์ตเม้นต์ของชาวอิตาลี โรงเรียนรัฐบาลก็มีเด็กชาวจีนเพิ่มมากขึ้นๆ

“เสื้อผ้าจีนจากโรงงานจีนในเมือง Prato (ที่มาของภาพ)”
ภาพชุดของโรงงานจีนในเมือง Prato สามารถดูได้ ที่นี่

เรื่องนี้อาจไม่ได้สร้างปัญหาเท่าไหร่ หากเสื้อผ้าที่ผลิตได้ไม่ได้ใช้ตราสินค้า “Made in Italy” แต่เพราะพวกเขาใช้ จึงเท่ากับว่าเป็นสินค้า “Made in China” ที่ผลิตในอิตาลีและได้ชื่อว่า “Made in Italy” ผลก็คือมันได้ก่อให้เกิดปัญหาทางการตลาดกับสินค้าคุณภาพดีราคาแพงของอิตาลีแท้ๆ อย่างมาก รวมไปถึงชาวอิตาเลียนเองก็ไม่พอใจในประเด็นเรื่องวัฒนธรรมดั้งเดิมของเมืองที่กำลังเลือนหายเพราะการตั้งอยู่ของไชน่า ทาวน์ที่มีป้ายชื่อเป็นภาษาจีน กับร้านขายของชำที่ขายสารพัดสินค้านำเข้าจากจีนโดยคนจีน

สภาหอการค้าของเมือง Prato ระบุว่า ธุรกิจเกี่ยวกับสิ่งทอของชาวอิตาลีในเมืองนี้ลดลงครึ่งหนึ่งนับจากปี 2544 เหลือไม่ถึง 3000 แห่งแล้ว น้อยกว่าบริษัทจีนที่มี 3200 แห่ง และจากเมืองที่เคยเป็นผู้ผลิตและส่งออกผ้ารายใหญ่ กลับต้องนี้มีสัดส่วนการนำเข้าผ้าถึง 27% ที่อิตาลีทั้งประเทศนำเข้ามาจากจีน ขณะที่ Edoardo Nesi กรรมาธิการวัฒนธรรมของเมือง Prato กล่าวว่า “นี่อาจเป็นอนาคตที่จะเกิดขึ้นทั่วอิตาลี”

Nesi ไม่ได้พูดผิด เพราะนอกจากเมือง Prato เกี่ยวกับสิ่งทอแล้ว สถานการณ์ที่คล้ายกันยังเกิดขึ้นกับเมือง Manzano ที่ขึ้นชื่อว่าเป็นเมืองแห่งการผลิตเก้าอี้อีกด้วย โดยมีการระบุว่าโรงงานเฟอร์นิเจอร์ของจีนกำลังเข้าไปแทรกซึมการผลิตโดยอาศัยชื่อ “Made in Italy” เช่นเดียวกัน

“อนุสาวรีย์เก้าอี้ในเมือง Manzano” (ที่มาของภาพ)

……….

สถานการณ์นี้บอกอะไรหลายอย่าง แต่ในแง่ของเศรษฐศาสตร์แล้ว สองเรื่องที่น่าสนใจที่ [เสด-ถะ-สาด].com จะได้กล่าวถึงในบทความต่อๆ ไปหากมีโอกาสก็คือ

๑. ชื่อของประเทศผู้ผลิต (Nation Branding) มีมูลค่าทางเศรษฐกิจ อย่างเช่นอิตาลีที่มีมูลค่าสูงมากพอจนสร้างแรงจูงใจให้เกิดการย้ายฐานการผลิต พร้อมๆ กับการจ่ายเงินใต้โต๊ะเพื่อให้ได้มาซึ่งคำว่า “Made in Italy”

๒. วิธีการมองความได้เปรียบโดยเปรียบเทียบ (Comparative Advantage) อาจจะต้องเปลี่ยนไปจากที่เคยมุ่งไปที่ตัวสินค้า (Product) เท่านั้น แต่ต้องมองความได้เปรียบโดยเปรียบเทียบที่กระบวนการ (Process) ผลิตด้วย ยกตัวอย่างเช่น คนจีนสามารถไปลงทุนได้ในหลายประเทศ เพราะมีความได้เปรียบโดยเปรียบเทียบในการติดต่อกับระบบราชการที่ไม่โปร่งใสหรืออาศัยความสัมพันธ์ส่วนตนเป็นพิเศษ ขณะที่ประเทศจากตะวันตกอื่นอาจจะมีความได้เปรียบโดยเปรียบเทียบในการติดต่อกับระบบราชการที่มีความโปร่งใสมากกว่า เป็นต้น

……….

อย่างไรก็ตาม กระแสการขยายตัวของธุรกิจจีนในอิตาลียังคงเป็นปัญหามาถึงปัจจุบัน และอาจจะแก้ไขได้ไม่ง่ายนักหากสายสัมพันธ์เป็นปัจจัยสำคัญในการดำเนินธุรกิจ เพราะคนจีนเองก็มีความสามารถในด้านนี้เช่นกัน

และที่น่าสนใจคือ ในอิตาลีเองกลับมีการพูดกันว่า สินค้าไม่แท้จะ Made in Italy / France / USA หรือประเทศอื่นๆ แต่สินค้าของแท้ต้อง Made in China ต่างหาก ^^






ที่มา:
– สุทธิชัย หยุ่น (2553) จีนบุกอิตาลี ผลิตเสื้อผ้า Made in Italy, http://www.suthichaiyoon.com/detail/5608.
– สินค้าจีน แต่เมดอินอิตาลี (2553) บทความจาก มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 1-7 ตุลาคม พ.ศ.2553 ปีที่ 30 ฉบับที่ 1572.
– RACHEL DONADIO (2010) Chinese Remake the ‘Made in Italy’ Fashion Label, The New York Times: September 12, 2010.