ทำไมวิกฤตเศรษฐกิจจึง “ลุกลาม” และ “รุนแรง”?
วิกฤตเศรษฐกิจโลกที่กำลังก่อตัวอยู่ในปัจจุบันถูกมองว่าเป็นวิกฤตของระบบทุนนิยม ลองมาดูกันว่าวิกฤตเศรษฐกิจเกิดขึ้นได้อย่างไร David Harvey อ้างอิงการวิเคราะห์จากแนวคิดของ Karl Marx เพื่อขยายความคำอธิบายให้สอดคล้องกับโลกปัจจุบัน
……….
เวลาที่เกิดวิกฤตเศรษฐกิจ นักสังคมวิทยาและเศรษฐกิจการเมืองคนแรกที่จะถูกพูดถึงคือ Karl Marx โดย Marx ได้อธิบายถึงสาเหตุของการเกิดวิกฤตเศรษฐกิจมากว่า 100 ปีแล้ว
แนวคิดพื้นฐานในงานของ Marx คือ ระบบทุนนิยมจะก่อให้เกิด “ความขัดแย้งระหว่างชนชั้น” นั่นคือ นายทุน (Capitalist) กับแรงงาน (Labor) โดยที่นายทุนถือครองทรัพยากรที่มีน้อยกว่าคือ “เงิน” (Money) และแรงงานถือครองทรัพยากรที่เรียกว่า “กำลังแรงงาน” (Labor Force) ซึ่งมีมากกว่า นายทุนจึงมีอำนาจมากกว่าที่จะกำหนดวิถี(วิธี)การผลิต ว่าจะใช้เครื่องจักรหรือแรงงานในสัดส่วนมากน้อยเพียงใด
“Karl Marx (ภาพประกอบจาก Wikipedia)”
ทรัพยากรเงิน ซึ่งมีเจ้าของจำนวนน้อยกว่าจึงเป็นอำนาจต่อรองหลักของนายทุนในการเอาเปรียบและขูดรีดแรงงาน ผ่านการผลิตสินค้าแล้วขาย ได้กำไร เงินที่ได้กำไรก็ถูกนำไปลงทุนต่อ จนก่อให้เกิดเงินเพิ่มขึ้นอีกเรียกว่า Capital จึงเป็นที่มาของคำว่า “การสะสมทุน” (Capital Accumulation) [คล้ายๆ กับว่า การสะสมเงินต่อๆ ไปเรื่อยๆ]
เห็นได้ว่า ปัญหาของสังคมมาจากจุดเริ่มต้น (Origin) ของการสะสมทุน (Marx จึงใช้คำว่า primitive) เพราะไปอยู่ที่เงิน(หรือทุน ในความหมายของเงินต่อเงิน) แทนที่จะเป็นกำลังแรงงาน Marx จึงใช้คำว่า “การสะสมทุนเบื้องต้น” (“Primitive” Capital Accumulation)
เมื่อถึงเวลาหนึ่งระบบทุนนิยมจะเกิดวิกฤต เพราะการสะสมทุนที่มากเกินไป (Over Accumulation) จะก่อให้เกิดการการกระจุกตัวของทุนไปอยู่ที่นายทุน ขณะที่แรงงานก็จะไม่มีกำลังซื้ออีกต่อไป นั่นคือ สาเหตุหลักๆ ของวิกฤตจึงมาจาก การผลิตที่มากเกินไป (Overproduction) [เพราะมีนายทุนมีทุนจำนวนมาก จึงต้องผลิตมาก เพื่อสะสมทุนต่อ] และ การกดค่าจ้างแรงงาน (Immiseration) [จ่ายค่าจ้างแรงงานถูกเกินไป เพื่อการสะสมทุนต่อ]
……….
อย่างไรก็ตาม แนวคิดของ Marx อาจจะตอบได้ว่า ทำไมวิกฤตจึงเกิดขึ้น แต่ตอบไม่ได้ว่า ทำไมวิกฤตจึงลุกลามไปยังสังคม[ประเทศ]อื่นๆ ได้ จนนำมาสู่ข้อวิพากษ์วิจารณ์มากมายถึงการนำแนวคิดนี้มาใช้กับโลกปัจจุบัน
David Harvey ศาสตราจารย์ทางด้านมานุษยวิทยาจาก City University of New York ที่มีบทความถูกอ้างอิงมากที่สุด 1 ใน 20 ลำดับแรกทางสายมนุษยศาสตร์ ได้ขยายแนวคิดของ Marx มาอธิบายโลกปัจจุบัน
ในภาพรวม มุมมองต่อการสะสมทุนของ Marx และ Harvey ไม่ได้แตกต่างกันมากนัก เพราะ Harvey ยังคงเชื่อในพื้นฐานของ Marx เพียงแต่ Harvey ได้ผนวกเอาบริบทโลกและสาขาใหม่ๆ เช่นการเงินเข้ามาอธิบาย
เมื่อมีการผลิตที่มากเกินไป และกำลังซื้อไม่เพียงพอ [ตามแนวคิดของ Marx ที่อธิบายมาข้างต้น] สิ่งที่นายทุนทำก็คือ ต้องลดต้นทุน เพื่อให้เกิดการซื้อต่อไปได้ โดยย้ายฐานการผลิตไปประเทศที่มีต้นทุนต่ำกว่า และต้องให้เครดิต เช่น บัตรเครดิต หรือสินเชื่อ เพื่อเพิ่มมูลค่าการซื้อ [ให้พอกับการผลิตมากเกินไป]
ผลจากการย้านฐานการผลิตก็คือ วิกฤตที่จะเกิดขึ้นในสังคมหนึ่งจะถูกชะลอออกไป แต่ก็จะทำให้วิกฤตขยายตัวมากขึ้นจากสังคมหนึ่งไปยังอีกสังคมหนึ่ง และผลจากการให้เครดิตก็คือ วิกฤตจะถูกชะลอออกไป แต่วิกฤตก็จะหนักขึ้น เพราะทุนจะไปกระจุกตัวที่สาขาเดียวคือภาคการเงิน [และเป็นภาคที่ลอยๆ อยู่โดยไม่มีการผลิตเสียด้วย]
Harvey จึงเปลี่ยนจากคำว่า Primitive Capital Accumulation เป็น “การสะสมโดยการเลื่อนออกไป” (Accumulation by Dispossession) เพื่อให้เห็นภาพว่า หากเกิดการหดตัวอย่างรุนแรงในสังคมใดสังคมหนึ่ง โดยเฉพาะสังคมต้นทางของทุน วิกฤตจะ”ลุกลาม”ไปยังประเทศอื่นๆ ผ่านการลงทุนหรือย้ายฐานการผลิตที่ผ่านมา และ”รุนแรง” ผ่านกระจุกตัวของทุนอยู่ในภาคที่ไม่มีการผลิต และนี่คือสาเหตุที่วิกฤตเศรษฐกิจโลกจึงลุกลามและรุนแรง
“David Harvey (ภาพประกอบจาก Wikipedia)”
ดังนั้น ตราบใดที่ยังคงมีการแข่งขันจนก่อให้เกิดการบริโภคเกินความจำเป็น วิกฤตก็จะยังคงอยู่กับเราต่อไป เพราะมันไม่ใช่แค่วิกฤตเศรษฐกิจ แต่มันคือ “วิกฤตของทุนนิยม” (Crises of Capitalism) ซึ่งหวังว่าสักวันหนึ่ง วิกฤตสักครั้งคงเป็นบทเรียนให้เราถอยหลัง เพื่อการบริโภคที่พอดีและแบ่งปันให้กับแรงงานอย่างเป็นธรรม ^^
ขอขอบคุณ คุณสุรศักดิ์ ธรรมโม สำหรับบทความที่ให้ความรู้เรื่องเศรษฐกิจโลก และ คุณปาริชาต โชคเกิด สำหรับการตั้งคำถามที่น่าสนใจ จนนำมาสู่บทความชิ้นนี้ครับ ^^
ที่มา ๑): RSA Animate “RSA Animate – Crises of Capitalism”, [http://www.youtube.com/watch?v=qOP2V_np2c0&w=560&].
ที่มา ๒): David Harvey “Reading Marx’s Capital with David Harvey”, [http://davidharvey.org].