CapitalismInCrisis

ทำไมวิกฤตเศรษฐกิจจึง “ลุกลาม” และ “รุนแรง”?

วิกฤตเศรษฐกิจโลกที่กำลังก่อตัวอยู่ในปัจจุบันถูกมองว่าเป็นวิกฤตของระบบทุนนิยม ลองมาดูกันว่าวิกฤตเศรษฐกิจเกิดขึ้นได้อย่างไร David Harvey อ้างอิงการวิเคราะห์จากแนวคิดของ Karl Marx เพื่อขยายความคำอธิบายให้สอดคล้องกับโลกปัจจุบัน

……….


วลาที่เกิดวิกฤตเศรษฐกิจ นักสังคมวิทยาและเศรษฐกิจการเมืองคนแรกที่จะถูกพูดถึงคือ Karl Marx โดย Marx ได้อธิบายถึงสาเหตุของการเกิดวิกฤตเศรษฐกิจมากว่า 100 ปีแล้ว

แนวคิดพื้นฐานในงานของ Marx คือ ระบบทุนนิยมจะก่อให้เกิด “ความขัดแย้งระหว่างชนชั้น” นั่นคือ นายทุน (Capitalist) กับแรงงาน (Labor) โดยที่นายทุนถือครองทรัพยากรที่มีน้อยกว่าคือ “เงิน” (Money) และแรงงานถือครองทรัพยากรที่เรียกว่า “กำลังแรงงาน” (Labor Force) ซึ่งมีมากกว่า นายทุนจึงมีอำนาจมากกว่าที่จะกำหนดวิถี(วิธี)การผลิต ว่าจะใช้เครื่องจักรหรือแรงงานในสัดส่วนมากน้อยเพียงใด

“Karl Marx (ภาพประกอบจาก Wikipedia)”


ทรัพยากรเงิน ซึ่งมีเจ้าของจำนวนน้อยกว่าจึงเป็นอำนาจต่อรองหลักของนายทุนในการเอาเปรียบและขูดรีดแรงงาน ผ่านการผลิตสินค้าแล้วขาย ได้กำไร เงินที่ได้กำไรก็ถูกนำไปลงทุนต่อ จนก่อให้เกิดเงินเพิ่มขึ้นอีกเรียกว่า Capital จึงเป็นที่มาของคำว่า “การสะสมทุน” (Capital Accumulation) [คล้ายๆ กับว่า การสะสมเงินต่อๆ ไปเรื่อยๆ]

เห็นได้ว่า ปัญหาของสังคมมาจากจุดเริ่มต้น (Origin) ของการสะสมทุน (Marx จึงใช้คำว่า primitive) เพราะไปอยู่ที่เงิน(หรือทุน ในความหมายของเงินต่อเงิน) แทนที่จะเป็นกำลังแรงงาน Marx จึงใช้คำว่า “การสะสมทุนเบื้องต้น” (“Primitive” Capital Accumulation)

เมื่อถึงเวลาหนึ่งระบบทุนนิยมจะเกิดวิกฤต เพราะการสะสมทุนที่มากเกินไป (Over Accumulation) จะก่อให้เกิดการการกระจุกตัวของทุนไปอยู่ที่นายทุน ขณะที่แรงงานก็จะไม่มีกำลังซื้ออีกต่อไป นั่นคือ สาเหตุหลักๆ ของวิกฤตจึงมาจาก การผลิตที่มากเกินไป (Overproduction) [เพราะมีนายทุนมีทุนจำนวนมาก จึงต้องผลิตมาก เพื่อสะสมทุนต่อ] และ การกดค่าจ้างแรงงาน (Immiseration) [จ่ายค่าจ้างแรงงานถูกเกินไป เพื่อการสะสมทุนต่อ]

……….

อย่างไรก็ตาม แนวคิดของ Marx อาจจะตอบได้ว่า ทำไมวิกฤตจึงเกิดขึ้น แต่ตอบไม่ได้ว่า ทำไมวิกฤตจึงลุกลามไปยังสังคม[ประเทศ]อื่นๆ ได้ จนนำมาสู่ข้อวิพากษ์วิจารณ์มากมายถึงการนำแนวคิดนี้มาใช้กับโลกปัจจุบัน

David Harvey ศาสตราจารย์ทางด้านมานุษยวิทยาจาก City University of New York ที่มีบทความถูกอ้างอิงมากที่สุด 1 ใน 20 ลำดับแรกทางสายมนุษยศาสตร์ ได้ขยายแนวคิดของ Marx มาอธิบายโลกปัจจุบัน

ในภาพรวม มุมมองต่อการสะสมทุนของ Marx และ Harvey ไม่ได้แตกต่างกันมากนัก เพราะ Harvey ยังคงเชื่อในพื้นฐานของ Marx เพียงแต่ Harvey ได้ผนวกเอาบริบทโลกและสาขาใหม่ๆ เช่นการเงินเข้ามาอธิบาย

เมื่อมีการผลิตที่มากเกินไป และกำลังซื้อไม่เพียงพอ [ตามแนวคิดของ Marx ที่อธิบายมาข้างต้น] สิ่งที่นายทุนทำก็คือ ต้องลดต้นทุน เพื่อให้เกิดการซื้อต่อไปได้ โดยย้ายฐานการผลิตไปประเทศที่มีต้นทุนต่ำกว่า และต้องให้เครดิต เช่น บัตรเครดิต หรือสินเชื่อ เพื่อเพิ่มมูลค่าการซื้อ [ให้พอกับการผลิตมากเกินไป]

ผลจากการย้านฐานการผลิตก็คือ วิกฤตที่จะเกิดขึ้นในสังคมหนึ่งจะถูกชะลอออกไป แต่ก็จะทำให้วิกฤตขยายตัวมากขึ้นจากสังคมหนึ่งไปยังอีกสังคมหนึ่ง และผลจากการให้เครดิตก็คือ วิกฤตจะถูกชะลอออกไป แต่วิกฤตก็จะหนักขึ้น เพราะทุนจะไปกระจุกตัวที่สาขาเดียวคือภาคการเงิน [และเป็นภาคที่ลอยๆ อยู่โดยไม่มีการผลิตเสียด้วย]

Harvey จึงเปลี่ยนจากคำว่า Primitive Capital Accumulation เป็น “การสะสมโดยการเลื่อนออกไป” (Accumulation by Dispossession) เพื่อให้เห็นภาพว่า หากเกิดการหดตัวอย่างรุนแรงในสังคมใดสังคมหนึ่ง โดยเฉพาะสังคมต้นทางของทุน วิกฤตจะ”ลุกลาม”ไปยังประเทศอื่นๆ ผ่านการลงทุนหรือย้ายฐานการผลิตที่ผ่านมา และ”รุนแรง” ผ่านกระจุกตัวของทุนอยู่ในภาคที่ไม่มีการผลิต และนี่คือสาเหตุที่วิกฤตเศรษฐกิจโลกจึงลุกลามและรุนแรง

“David Harvey (ภาพประกอบจาก Wikipedia)”


ดังนั้น ตราบใดที่ยังคงมีการแข่งขันจนก่อให้เกิดการบริโภคเกินความจำเป็น วิกฤตก็จะยังคงอยู่กับเราต่อไป เพราะมันไม่ใช่แค่วิกฤตเศรษฐกิจ แต่มันคือ “วิกฤตของทุนนิยม” (Crises of Capitalism) ซึ่งหวังว่าสักวันหนึ่ง วิกฤตสักครั้งคงเป็นบทเรียนให้เราถอยหลัง เพื่อการบริโภคที่พอดีและแบ่งปันให้กับแรงงานอย่างเป็นธรรม ^^






ขอขอบคุณ คุณสุรศักดิ์ ธรรมโม สำหรับบทความที่ให้ความรู้เรื่องเศรษฐกิจโลก และ คุณปาริชาต โชคเกิด สำหรับการตั้งคำถามที่น่าสนใจ จนนำมาสู่บทความชิ้นนี้ครับ ^^

ที่มา ๑): RSA Animate “RSA Animate – Crises of Capitalism”, [http://www.youtube.com/watch?v=qOP2V_np2c0&w=560&amp].
ที่มา ๒): David Harvey “Reading Marx’s Capital with David Harvey”, [http://davidharvey.org].

  • http://www.facebook.com/suthon.hin Suthon Hin

    วิกฤตวัฏจักรเศรษฐกิจส่วนใหญ่ทีเดียวเกิดจากการเก็งกำไรที่ดินหรืออสังหาริมทรัพย์ซึ่งมีที่ดินเป็นส่วนสำคัญ
    ถ้าไม่มีการเก็งกำไรที่ดินอย่างกว้างขวาง ก็ไม่มีการกู้เงินอย่างกว้างขวาง
    และไม่มีวัฏจักรราคาที่ดินที่เหวี่ยงตัวรุนแรง วิกฤตการเงินที่แผ่ลามทั่วโลกก็ไม่เกิด

    วิกฤตครั้งสุดท้ายเกิดตั้งแต่ ค.ศ. ๒๐๐๘ คือ ๓ ปีแล้ว เริ่มที่หลักทรัพย์ค้ำกู้ (จำนอง) ด้อยคุณภาพ (subprime mortgage) ในการเก็งกำไรอสังหาริมทรัพย์ (มีที่ดินเป็นปัจจัยสำคัญ) ในสหรัฐฯ พอถึงคราวราคาอสังหาฯ ตกตามวัฏจักรของมัน (ซึ่งไม่ค่อยจะมีคนรู้ว่าจะเกิดเมื่อไร) ธนาคารเจ้าหนี้ก็เดือดร้อน ยึดทรัพย์ลูกหนี้แล้วยังขาดทุนอยู่มหาศาล รัฐบาลก็ต้องทุ่มเงินเข้าช่วยธนาคาร (น่าจะเป็นต้นเหตุของ Occupy Wall Street) แล้ววิกฤตวัฏจักรนี้ก็ลามไปยุโรป แล้วก็เป็นไปตามที่อาจารย์ไสว บุญมากล่าว http://www.bangkokbiznews.com/home/detail/politics/opinion/sawai/20111223/425915/ความปรารถนาดีต้องมีทรัพย์สนับสนุน.html

    เหตุที่ลุกลาม เพราะยิ่งมีการค้าระหว่างประเทศมาก การที่กำลังซื้อและขายของประเทศหนึ่งเปลี่ยนแปลงไปอย่างมาก ย่อมกระเทือนประเทศคู่ค้าด้วย แล้วก็ส่งผลกระเทือนกันต่อๆ ไป

    วิธีป้องกันไม่ให้เกิดเหตุเช่นนี้อย่างเป็นธรรมและแก้ความยากจนไปด้วยนั้น เฮนรี จอร์จได้เสนอไว้ตั้งแต่ ค.ศ. ๑๘๗๙ (กว่า ๑๓๐ ปีแล้ว) คือ ยกเลิกภาษีทั้งสิ้น เก็บแต่ภาษีที่ดินซึ่งในที่สุดจะเท่ากับค่าเช่าศักย์ของที่ดินแต่ละแปลง

    Fred Harrison ยอดนักพยากรณ์วัฏจักรอสังหาฯ ก็สนับสนุนแนวของเฮนรี จอร์จด้วย (http://en.wikipedia.org/wiki/Fred_Harrison_(author ))
    เหมือนคนอีกมากทั่วโลก (http://www.cgocouncil.org/showcgo.php )
    แต่น่าเสียดายที่วิธีนี้ไม่ค่อยแพร่หลายทั้งๆ ที่วิเศษจริงๆ เป็นแนวเสรี

    ศาสตราจารย์ Mason Gaffney สหรัฐฯ ได้วิจัยไว้ว่าภาษีที่ดินอย่างเดียวจะได้มากเกินพอสำหรับเป็นงบประมาณของส่วนการปกครองทุกระดับ นี่เป็นรายล่าสุดที่ผมได้ทราบ (http://economics.ucr.edu/papers/papers08/08-12old.pdf )

    ภาษีที่ดินเท่าค่าเช่าศักย์จะขจัดความได้เปรียบเสียเปรียบกันในการได้ครองที่ดินดีเลวผิดกัน และทำให้ไม่มีการเก็งกำไรกักตุนที่ดิน ก็ไม่เกิดวิกฤตฟองสบู่วัฏจักรอสังหาฯ และแผ่นดินของชาติจะได้รับการทำประโยชน์มากขึ้น ที่สำคัญเราค่อยๆ เพิ่มภาษีที่ดินได้เพื่อมิให้เจ้าของที่ดินเดือดร้อนเกินไป และค่อยๆ ลดภาษีอื่นชดเชยกันไป อาจใช้เวลาสัก ๓๐ ปีภาษีที่ดินจึงเท่าค่าเช่าศักย์ซึ่งไม่มีปัจจัยการเก็งกำไรมาทำให้ค่าเช่านี้สูงกว่าที่ควร
    (จาก utopiathai.webs.com )

    มีบทเรียนสั้นๆ เกี่ยวกับวัฏจักรธุรกิจ ที่ http://www.oknation.net/blog/utopiathai/2009/09/16(แปลจาก http://foldvary.net/economics.html บทที่ 12) ขอบคุณครับ