bluecinderella

แม่เลี้ยงของซินเดอเรลล่า“ใจร้าย”…จริงหรือ?

เทพนิยายซินเดอเรลล่าเป็นที่รักของเด็กๆ ทั่วโลก เรื่องราวของเจ้าชาย รองเท้าแก้ว รถฟักทอง แม่เลี้ยงและพี่สาวใจร้ายที่พยายามกีดกันไม่ให้ซินเดอเรลล่าได้แต่งงานกับเจ้าชาย แต่หากมองในทางเศรษฐศาสตร์ พฤติกรรมของแม่เลี้ยงอาจไม่เข้าข่ายใจร้าย แต่กลับสมเหตุสมผลแล้วต่างหาก

……….


ตามแนวคิดดั้งเดิมของเศรษฐศาสตร์ครอบครัว (Family Economics) ของ Becker (1981) พ่อแม่ที่รักลูกเท่ากันจะมีเส้นความพึงพอใจเท่ากัน (Indifference Curve) ที่มีลักษณะโค้งเว้าเข้า (Convex) แบบสมมาตร จุดที่จะทำให้ความพึงพอใจของพ่อแม่สูงที่สุดก็คือจุดที่จัดสรรรายได้ให้กับลูกแต่ละคนเท่าๆ กัน

ในเทพนิยายซินเดอเรลล่า แม่เลี้ยงของเธอใจร้าย ไม่ยอมแบ่งทรัพย์สินใดใดให้กับซินเดอเรลล่า เพราะเธอไม่ใช่ลูกแท้ๆ และแนวคิดนี้ก็ได้รับการสนับสนุนจาก Becker ด้วย เพราะเขาเชื่อว่าพ่อแม่จะรักลูกแท้ๆ ของตัวเองมากกว่าลูกเลี้ยง

Bettelheim (1976) เห็นด้วยว่าคำว่า “เลี้ยง” (step-) ที่เติมลงไปในคำว่าลูกนั้น เป็นกุศโลบายที่ทำให้เห็นว่า “ลูกเลี้ยง”ไม่เหมือนกันกับ”ลูก”(แท้ๆ) ซึ่งไม่น่าแปลกใจที่การเลี้ยงดูจะไม่เหมือนกัน

……….

Glaeser (1992) พยายามตอบคำถามนี้ด้วยวิธีทางเศรษฐศาสตร์ ซึ่งอยู่บนพื้นฐานของทฤษฎีที่ว่าด้วยแรงจูงใจ (Incentive Theory) โดยเริ่มจากว่า “มีโอกาสเป็นไปได้หรือไม่ที่แม่เลี้ยงไม่ได้ใจร้าย” หรืออย่างน้อยก็ไม่ได้ใจร้ายมากอย่างที่เรากล่าวโทษกัน

ในมุมมองเศรษฐศาสตร์ต่อเรื่องของซินเดอเรลล่า การได้แต่งงานกับเจ้าชาย (Marriage to the Prince) ถือเป็นสินค้าที่มีมูลค่ามหาศาล ในตลาดที่มีการแข่งขันสูงมากๆ และผลได้ในตลาดนี้มีลักษณะโค้งเว้าเข้า (Convex) เพราะผู้ชายคนอื่นๆ ที่เหลืออยู่ในเมืองนั้นมีแต่น่าเกลียดและยากจน [ลองดูในการ์ตูนดูสิครับ] ขณะที่เจ้าชายเอง (ตามแนวคิดของ Becker (1974)) ก็จะเลือกคู่ครองของตนโดยตัดสินจากความชอบของตัวเอง อันมาจากรูปร่างหน้าตา เสื้อผ้าหน้าผม เป็นต้น (เรื่องราวของรองเท้าแก้วดูไม่มีเหตุผลไปนิด แต่การที่เจ้าชายได้พบเห็นซินเดอเรลล่าแล้วชอบ และพยายามตามหาเธอ นั่นก็แสดงให้เห็นว่าเจ้าชายยังมีเหตุมีผลอยู่บ้างที่ทำตามแรงจูงใจของตัวเอง)

“แม่เลี้ยงกับลูกสาวของแม่เลี้ยงของซินเดอเรลล่า” (ที่มาของภาพ)

cinderella-evil-stepmother-and-stepsisters

Glaeser (1992) เสนอแบบจำลองด้านล่างที่ว่าด้วยความพอใจที่คาดหวังของแม่เลี้ยง (Expected Utility of Stepmother: U(Q)) ที่เป็นผลรวมของความพอใจของลูกสาวทุกคนอย่างเท่าๆ กัน โดยเธอมีลูกสาวจำนวน Q คนเพื่อแต่งเสื้อผ้าหน้าผมด้วยทรัพยากร(รายได้)อันมีจำกัดของเธอ ลูกสาวคนที่ได้แต่งงานกับเจ้าชายจะได้รับความพอใจเท่ากับ M ส่วนคนที่ไม่ได้แต่งจะได้รับความพอใจเท่ากับ 0 ส่วนเจ้าชายจะเลือกผู้หญิงมาแต่งงานด้วยหนึ่งคนที่ถูกใจที่สุดจากทุกคนในเมืองที่มีจำนวน W โดยแต่ละคนจะแต่งเสื้อผ้าหน้าผมเท่ากับ H ที่แสดงถึงคุณภาพและรสนิยมของตน ขณะที่ความถูกใจของเจ้าชายจะมาจากรสนิยมของเสื้อผ้าหน้าผมกับความแปรปรวนบางอย่างที่ควบคุมไม่ได้ (Noise) (ε) ถ้าใครนึกไม่ออกก็อย่างเช่น อารมณ์วันนี้อาจจะชอบคนหน้าตาแบบนี้ พออีกวันนึงก็อาจจะชอบอีกแบบหนึ่ง เป็นต้น

แม่เลี้ยงจะแสวงหาความพอใจที่คาดหวังสูงที่สุดจากแบบจำลอง
U(M\int F(Q_1-H+\epsilon)^WF(Q_1-Q_2+\epsilon)F(Q_1-Q_3+\epsilon)f(\epsilon)d\epsilon)\\+U(M\int F(Q_2-H+\epsilon)^WF(Q_2-Q_3+\epsilon)F(Q_2-Q_1+\epsilon)f(\epsilon)d\epsilon)\\+U(M\int F(Q_3-H+\epsilon)^WF(Q_3-Q_2+\epsilon)F(Q_3-Q_1+\epsilon)f(\epsilon)d\epsilon)

ภายใต้เงื่อนไข Q\geq Q_1+Q_2+Q_3, Q_1\geq 0, Q_2\geq 0 \text{ and } Q_3\geq 0

แบบจำลองที่ Glaeser (1992) เสนอมานี้ไม่มีคำตอบที่ตายตัว (เพราะมีจำนวนตัวแปรเยอะกว่าสมการ) แต่หากแทนค่าที่เป็นตัวเลขจากเรื่องซินเดอเรลล่าเข้าไป นั่นคือ M = 1, H = 0.3, Q = 0.9, W = 3, U(x) = x6 และ ε มีการกระจายแบบคงที่อยู่ระหว่าง [0,1] จะได้ค่าความพอใจที่คาดหวังสูงสุดคือการที่ผู้เป็นแม่ลงทุนเสื้อผ้าหน้าผมให้กับลูกสองคนจากสามคน โดยไม่สำคัญว่าจะเป็นลูกเลี้ยงหรือไม่ พูดง่ายๆ ก็คือไม่ว่าแม่คนนี้จะมีลูกเลี้ยงทั้งสามคนหรือลูกแท้ทั้งสามคน เขาก็ควรจะลงทุนเพียงสองในสามเท่านั้น โดยไม่เกี่ยวกับการกีดกันว่าเป็นลูกเลี้ยงหรือลูกแท้

……….

แล้วอะไรคือเหตุผลที่ต้องลงทุนสองในสาม ทำไมไม่หนึ่ง ทำไมไม่สาม ทั้งนี้ก็เพราะผู้เป็นแม่ที่มีรายได้จำกัด แต่อยากให้ลูกสาวหนึ่งในสามคนได้แต่งงานกับเจ้าชายนั้น ต้องชั่งน้ำหนักระหว่างที่ว่า ถ้าใช้รายได้ทั้งหมดลงทุนไปกับลูกสาวทั้งสามคน ความโดดเด่นเมื่อเปรียบเทียบกับผู้หญิงที่เหลือในเมืองจะลดลง (H ↓↓ of HW) แต่โอกาสถูกเลือกจะมาก (3 คนจาก W คน) แต่ถ้าใช้รายได้ทั้งหมดลงทุนไปกับลูกสาวเพียงคนเดียว ความโดดเด่นเมื่อเปรียบเทียบกับผู้หญิงที่เหลือในเมืองจะสูง (H ↑↑ of HW) แต่โอกาสถูกเลือกจะลดลงถึงสามเท่า (1 คนจาก W คน < 3 คนจาก W คน) พอผู้เป็นแม่ชั่งน้ำหนักระหว่างความโดดเด่นและโอกาสแล้ว การลงทุนกับลูกสาวสองคนจึงเป็นทางเลือกที่ดีที่สุด ไม่เกี่ยวกับว่าเป็นลูกเลี้ยงหรือลูกแท้

“องครักษ์ตามหาคนที่สวมรองเท้าแก้วได้พอดี” (ที่มาของภาพ)

cinderella4

……….

แน่นอนว่าค่าที่ได้นั้น อาจแปรเปลี่ยนตามรูปแบบของสมการ จำนวนผู้หญิงในเมือง จำนวนลูกสาว อารมณ์ของเจ้าชาย และอื่นๆ ซึ่งไม่มีใครรู้ค่าที่ถูกต้อง นอกจากคนเขียนนิยายเรื่องนี้ แต่อย่างน้อย จากสมการที่มีรูปทั่วไปตามที่ Glaeser (1994) เสนอมาแล้วล่ะก็ อาจต้องเปลี่ยนจากคำว่า “แม่เลี้ยงใจร้าย” เป็น “แม่เลี้ยงที่มีเหตุมีผล” ก็เป็นได้ ^^






ที่มา:
Glaeser, Edward L, 1992. “The Cinderella Paradox Resolved,” Journal of Political Economy, University of Chicago Press, vol. 100(2), pages 430-32, April.

featured image from here.

  • Cheng Hua Heng

    ผมชอบเวปนี้มาก แต่ว่า บทความนี้มีประเด็นที่แหม่งๆ คือ “โดยไม่สำคัญว่าจะเป็นลูกเลี้ยงหรือไม่ พูดง่ายๆ ก็คือไม่ว่าแม่คนนี้จะมีลูกเลี้ยงทั้งสามคนหรือลูกแท้ทั้งสามคน เขาก็ควรจะลงทุนเพียงสองในสามเท่านั้น โดยไม่เกี่ยวกับการกีดกันว่าเป็นลูกเลี้ยงหรือลูกแท้” เราว่าประเด็นนี้ มันต้องชี้แจงให้ชัดเจนนะ เหมือนกับว่าอาศัยหลักทางคณิตศาสตร์มาเป็ฯโล่ห์ ว่าแม่ทุกคนจะให้ความรักและโอกาสแก่ ลูกเลี้ยงหรือลูกแท้ โดยเท่าเทียมกันได้

    • Goldfish Tohfuu

      จากบทความได้กล่าวไว้ว่า

      Glaeser (1992) พยายามตอบคำถามนี้ด้วยวิธีทางเศรษฐศาสตร์ ซึ่งอยู่บนพื้นฐานของทฤษฎีที่ว่าด้วยแรงจูงใจ (Incentive Theory) โดยเริ่มจากว่า “มีโอกาสเป็นไปได้หรือไม่ที่แม่เลี้ยงไม่ได้ใจร้าย” หรืออย่างน้อยก็ไม่ได้ใจร้ายมากอย่างที่เรากล่าวโทษกัน

      คือมีการตั้งสมมติฐานว่า “แม่เลี้ยงใจร้ายจริงหรือ” จึงตัดเรื่องความลำเอียงออกไป ซึ่งตรงนี้หากให้แม่เลี้ยงรักนางซินน้อย(ลำเอียง)อาจจะต้องใช้แบบจำลองใหม่หรือปรับปรุงแบบจำลองของ Glaeser อีกทีครับ