ทำไมน้อง“ไม่”แต่งงาน?
การแต่งงานก่อให้เกิดผลดีกับทั้งชายและหญิง เพราะเป็นการแลกเปลี่ยนความเชี่ยวชาญระหว่างกัน แต่ทำไมในปัจจุบันเรากลับเห็นคนที่ไม่แต่งงานทั้งโดยสมัครใจและไม่สมัครใจมากขึ้น ปัจจัยอะไรที่ทำให้พวกเขาเลือกจะเป็นโสด และเขาตัดสินใจกันจริงๆ จังๆ ตอนอายุเท่าไหร่กัน
……….
เรื่องของการแต่งงานไม่ใช่เรื่องใหม่ทางเศรษฐศาสตร์ Gary Becker เคยเสนอว่าการแต่งงานคือสถานการณ์ที่ก่อให้เกิดการแบ่งงานกันทำตามความได้เปรียบเทียบโดยเปรียบเทียบ (Comparative Advantage) ของการอยู่ร่วมกันระหว่างชาย-หญิง ก่อให้เกิดความเชี่ยวชาญเฉพาะทาง (Specialisation) ของแต่ละคน อันจะนำไปสู่ผลิตภาพ (Productivity) ที่เพิ่มขึ้นของระบบเศรษฐกิจ
นอกจากนี้ นับตั้งแต่ Gary Becker เป็นต้นมา เรื่องการแต่งงานยังถูกวิเคราะห์เพิ่มเติมในอีกหลายแง่มุม ทั้งการวิเคราะห์ต้นทุน-ผลได้ (Cost-Benefit Analysis) ของการแต่งงาน ทฤษฎีเกม (Game Theory) ที่ว่าด้วยการตัดสินใจของสามีและภรรยา ผลกระทบทางด้านเศรษฐกิจมหภาค (Macro Impact) เป็นต้น
“ความรักเพียงครึ่ง” (ที่มาของภาพ)
แม้ว่าในปัจจุบัน เราจะเห็นคนโสดจำนวนมากขึ้น หรือแม้แต่การแต่งงานที่ช้าลงของคู่บ่าวสาวกว่าในอดีต แนวคิดของ Becker ก็ยังสามารถอธิบายเรื่องนี้ในเชิงเศรษฐศาสตร์ได้ ทั้งนี้ก็เป็นเพราะตัวผู้หญิงสามารถทำงานด้วยตัวเองมากขึ้น โดยไม่ต้องพึ่งพาผู้ชายเหมือนในอดีต ขณะที่หน้าที่ในการทำงานบ้านของผู้หญิงเองก็ถูกทดแทนโดยเครื่องใช้ไฟฟ้าภายในบ้าน (เช่น เครื่องซักผ้า เครื่องรีดผ้า) ความได้เปรียบโดยเปรียบเทียบจากการแต่งงานจึงลดลง นำมาสู่การแต่งงานที่น้อยลง
เวลาที่พูดถึงเรื่องเป็นโสด เรามักจะนึกถึงผู้หญิงมากกว่าผู้ชาย [อันนี้ก็ไม่ทราบเพราะอะไร] และเรามักเรียกสถานการณ์นี้ว่า “ขึ้นคาน” โดยสำนวนโบราณนี้มีนัยในเชิงตำหนิที่มาจากว่า เมื่อครั้งอดีต วิถีไทยที่อยู่กับสายน้ำ มักจะทำการซ่อมเรือที่ชำรุด เช่น รอยรั่ว ยาชัน ทาน้ำมันใหม่ โดยการยกพาดไว้บนคาน ทำให้ในเวลานั้น เรือจะค้างเติ่งอยู่บนคาน ต่อมาจึงนำมาใช้เป็นสำนวนเปรียบเทียบกับผู้หญิงที่ไม่ยอมแต่งงานเสียที
……….
ชัชทอง (2541) ทำการศึกษาปัจจัยที่มีอิทธิพลต่อการอยู่เป็นโสดแต่ละรูปแบบของผู้หญิงอายุ 25-50 ปีจำนวน 384 คนในเขตกรุงเทพมหานคร (ร้อยละ 91.4 ไม่เคยผ่านการแต่งงานมาก่อน) โดยประมาณครึ่งหนึ่งไม่ได้สมัครใจอยู่เป็นโสด (Involuntary Singleness) อีกประมาณหนึ่งในสี่เท่าๆ กัน สมัครใจอยูเป็นโสดแบบชั่วคราว (Temporary Voluntary Singleness) กับสมัครใจอยูเป็นโสดแบบถาวร (Permanent Voluntary Singleness) (ดูตารางที่ ๑)
“ตารางที่ ๑ ข้อมูลด้านการเป็นโสดของกลุ่มตัวอย่าง” (ที่มาของภาพ)
ประเด็นที่น่าสนใจคือเรื่องของอายุคือ ผู้หญิงที่อายุ 25-30 ปีส่วนใหญ่จะสมัครใจเป็นโสดแบบชั่วคราว อายุ 30-35 ปี ส่วนใหญ่ไม่สมัครใจเป็นโสด และอายุ 36-40 ปี และมากกว่านั้น ส่วนใหญ่สมัครใจเป็นโสดแบบถาวร (ดูตารางที่ ๒(๑))
“ตารางที่ ๒(๑) เปรียบเทียบรูปแบบการเป็นโสดของผู้หญิงที่มีอายุแตกต่างกัน” (ที่มาของภาพ)
ผลการทดสอบทางสถิติยืนยันความแตกต่างทางด้านอายุที่ชัดเจน โดยคนที่สมัครใจเป็นโสดชั่วคราวมีอายุเฉลี่ยอยู่ที่ 30 ปี คนที่ไม่สมัครใจเป็นโสดมีอายุเฉลี่ยอยู่ที่ 31 ปี และคนที่สมัครใจเป็นโสดถาวรมีอายุเฉลี่ยมากที่สุดอยู่ที่ 36 ปี (ดูตารางที่ ๒(๒))
“ตารางที่ ๒(๒) ค่าทดสอบทางสถิติของรูปแบบการเป็นโสดของผู้หญิงที่มีอายุแตกต่างกัน” (ที่มาของภาพ)
……….
ชัชทอง (2541) ยังทำการประมาณค่าแบบจำลองถดถอยพหุแบบใส่ทีละตัวแปร (Enter Multiple Regression) ของปัจจัยกำหนดความโสดทั้งสามรูปแบบ โดยปัจจัยที่มีผลทำให้ตัดสินใจเป็นโสดถาวรมากขึ้นคือ อายุที่มากขึ้น และความคิดเห็นต่อการเป็นโสดที่ว่าเป็นโสดดีกว่าแต่งงาน (ดูตารางที่ ๓)
“ตารางที่ ๓ ปัจจัยที่มีอิทธิพลต่อการสมัครใจเป็นโสดแบบถาวร” (ที่มาของภาพ)
ขณะที่รายได้ที่สูงขึ้น และอายุที่น้อยจะเป็นปัจจัยทำให้ผู้หญิงตัดสินใจเป็นโสดชั่วคราวมากขึ้น (ดูตารางที่ ๔)
“ตารางที่ ๔ ปัจจัยที่มีอิทธิพลต่อการสมัครใจเป็นโสดแบบชั่วคราว” (ที่มาของภาพ)
และความคิดเห็นต่อปัญหาสตรีโสดที่ว่าการครองชีวิตโสดเป็นปัญหา และความคิดเห็นต่อการเป็นโสดที่ว่าแต่งงานดีกว่าเป็นโสด ส่งผลให้ผู้หญิงอยู่ในกลุ่มที่เป็นโสดอย่างไม่สมัครใจมากขึ้น (ดูตารางที่ ๕)
“ตารางที่ ๕ ปัจจัยที่มีอิทธิพลต่อการไม่สมัครใจเป็นโสด” (ที่มาของภาพ)
……….
อย่างไรก็ดี คำอธิบายของการเลือกที่จะเป็นโสดอาจมองได้ทางสังคมศาสตร์ด้วย ปริญญา (2552) ให้ข้อสรุปทางด้านสตรีศึกษาไว้ว่าเป็นเพราะสังคมเปิดโอกาสและยอมรับการมีชีวิตโสดของผู้หญิงมากขึ้น การศึกษาและรายได้ของตัวผู้หญิงเองที่มากขึ้น และความเจ็บปวดทางความรู้สึกของอดีตที่ผ่านมา แต่ผลของการอยู่เป็นโสดก็ทำให้ผู้หญิงส่วนใหญ่กลับรู้สึกเป็นสุขกับชีวิตโสดจากการมีเวลาส่วนตัวและมีอิสระในการใช้ชีวิต
ข้อสรุปของปริญญา (2552) บางส่วนสอดคล้องกับการวิเคราะห์เชิงปริมาณของ Oranuch (2007) ที่ทำการศึกษาผู้หญิงโสด 150 คน อายุ 30-50 ปี พบว่า ผู้หญิงเกือบทั้งหมดตอบว่าความสุขของการเป็นโสดคือ การมีอิสระ (Independence) (ดูตารางที่ ๖)
“ตารางที่ ๖ ความสุขของการเป็นโสด” (ที่มาของภาพ)
ขณะที่ความสุขของการแต่งงานในมุมมองของผู้หญิงโสดค่อนข้างหลากหลาย ที่น่าสนใจคือส่วนใหญ่ตอบว่าข้อดีของชีวิตแต่งงานคือ การมีเพื่อน (Friend) รองลงมาคือ การมีครอบครัวและลูก (Family and Children) แต่ความรักและความเข้าใจ (Love and Understanding) กลับมีคนตอบไม่มากนัก (ดูตารางที่ ๗)
“ตารางที่ ๗ ความสุขของการแต่งงาน” (ที่มาของภาพ)
นอกจากนี้ งานของ Oranuch (2007) ยังพบว่าผู้หญิงกว่าครึ่งหนึ่งที่ยังคงเป็นโสดนั้น เคยมีประสบการณที่เลวร้ายเกี่ยวกับความรักมาก่อน สอดคล้องกับงานของปริญญา (2552) ด้วย (ดูตารางที่ ๘)
“ตารางที่ ๘ การมีประสบการณ์ที่เลวร้ายจากความรัก” (ที่มาของภาพ)
……….
กล่าวโดยสรุปก็คือ การที่ปัจจุบันผู้หญิงมีแนวโน้มจะไม่แต่งงานมากขึ้น หรือแต่งงานช้าลงนั้น เป็นเพราะพวกเขาสามารถหาเลี้ยงตัวเองได้และสังคมเองก็ยอมรับคนที่มีชีวิตโสดมากขึ้น ส่งผลให้ความได้เปรียบโดยเปรียบเทียบจากการแต่งงานลดลง ตลาดการแต่งงานจึงทำงานน้อยลงด้วย นอกจากนี้ อายุ ทัศนคติที่มีต่อการอยู่เป็นโสด และประสบการณ์เกี่ยวกับความรักที่ผ่านมา ดูจะเป็นปัจจัยที่ส่งผลต่อการตัดสินใจอยู่เป็นโสดอย่างมีนัยสำคัญเช่นกัน
ประเด็นที่น่าสนใจดูจะเป็นเรื่องของอายุที่มีผลต่อรูปแบบการตัดสินใจโสดที่ชัดเจน กล่าวคือ ผู้หญิงที่อายุต่ำกว่า 30 ปีส่วนใหญ่จะสมัครใจเป็นโสดแบบชั่วคราว ผู้หญิงในช่วงอายุ 30-35 ปี มักมีความต้องการแต่งงาน คนโสดส่วนใหญ่จึงไม่สมัครใจเป็นโสด และอายุ 36 ปี ขึ้นไป หากเป็นโสดอยู่ก็มักจะสมัครใจเป็นโสดแบบถาวร ดังนั้น ความชอบ (Preference) ของผู้หญิงจะมีการเปลี่ยนแปลงค่อนข้างมากในสามช่วงนี้ แต่ก็ขอให้ทุกคนพบเจอความรักของตนเองก่อนที่ความชอบจะเปลี่ยนไปนะครับ ^^
ที่มา:
[1] ชัชทอง ธุระทอง, ปัจจัยที่มีอิทธิพลต่อการเป็นโสด รูปแบบการเป็นโสด และปัจจัยสนับสนุนการใช้ชีวิตโสด: ศึกษาเฉพาะสตรีโสดวัย 25-50 ปี ในกรุงเทพมหานคร, วิทยานิพนธ์ สังคมสงเคราะห์ศาสตรมหาบัณฑิต, มหาวิทยาลัยหัวเฉียวเฉลิมพระเกียรติ, 2541.
[2] Oranuch Chatratananon, Factors influencing decisions to stay single or delay marriage of working singles aged between 30-50 years old, Research paper (M.A.)–Thammasat University, 2007.
[3] ปริญญา อยู่เป็นแก้ว, การตัดสินใจอยู่เป็นโสดของผู้หญิงในยุคโลกาภิวัตน์, วิทยานิพนธ์ ศิลปศาสตรมหาบัณฑิต (สตรีศึกษา), วิทยาลัยสหวิทยาการ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, 2552.
featured image from here and rabbit homepage image’s intuition from Antoinette Portis’s Drawing