deferpaybum

“คนไร้บ้าน”ในเมืองใหญ่ เป็นใคร มาจากไหน?

คนไร้บ้านในเมืองใหญ่เป็นปัญหาที่พบเห็นจนชินตา รัฐบาลเมืองมิลานต้องการแก้ไขปัญหานี้ในทางเศรษฐศาสตร์ จึงได้เริ่มต้นจากการสำรวจข้อมูลปฐมภูมิอย่างจริงจัง เพื่อทำความเข้าใจวิถีชีวิตในระดับมหภาคของคนกลุ่มนี้ ซึ่งหากนำมาปรับใช้ก็น่าจะเป็นจุดเริ่มที่ดีของสังคมไทยเช่นกัน

……….


ากเอ่ยถึงคำว่า “คนชายขอบ” (Marginal People) หลายคนอาจจะนึกถึงชาวเขาหรือชนกลุ่มน้อยที่อยู่ตามชายแดน แต่ที่จริงแล้ว นิยามของคนชายขอบ หมายถึง บุคคลหรือกลุ่มคนที่สังคมไม่สนใจเหลียวแล ถูกทิ้งขว้างแปลกแยกจากสังคมกระแสหลัก ซึ่งอาจรวมไปถึงผู้หญิงขายบริการ กลุ่มรักเพศเดียวกัน หรือคนพิการ นอกจากนี้ คนชายขอบยังรวมถึงผู้ที่ถูกปฏิเสธโดยสังคมส่วนใหญ่ ยกตัวอย่างเช่น ในห้องเรียน ถ้าบังเอิญเราเรียนไม่เก่ง แต่เพื่อนร่วมชั้นเรียนเป็นคนเรียนเก่งแทบทั้งหมด เราก็อาจจะกลายเป็นคนชายขอบได้เช่นกัน เพราะฉะนั้น คนชายขอบจึงไม่ใช่แค่คนที่อยู่ชายแดนเท่านั้น แต่หมายถึงคนที่ถูกคนส่วนใหญ่มองว่าเป็นคนส่วนน้อยในสังคม

การเติบโตทางเศรษฐกิจนำมาซึ่งการขยายตัวของความเป็นเมือง และการขยายเมืองก็เชื่อมโยงกับการเป็นอุตสาหกรรมของประเทศอย่างแยกกันไม่ออก ซึ่งกระบวนดังกล่าวนำมาสู่ปัญหาสังคมหลายประการ ไม่ว่าจะเป็นความยากจนถาวร การว่างงานระยะยาว ซึ่งลดทอนทักษะในการทำงาน การย้ายถิ่น ภาระทางด้านสวัสดิการของรัฐ หรือแม้กระทั่งอาชญากรรม

ปัญหาของความเป็นเมืองประการหนึ่งคือได้ก่อให้เกิดคนชายขอบเช่นเดียวกับการพัฒนาเศรษฐกิจ รูปแบบหนึ่งของคนชายขอบที่มองเห็นกันได้ก็คือ “คนไร้บ้าน” หรือ “คนจรจัด” ในคำเรียกของคนทั่วไป เนื่องจากคนเหล่านี้เองถูกกีดกันออกจากสังคมส่วนใหญ่ และกลายเป็นคนยากจนอย่างถาวร นำมาซึ่งปัญหาทางเศรษฐกิจในเวลาต่อมา

“คนไร้บ้านในมิลาน ณ Duomo หนึ่งในโบสถ์ที่สวยที่สุดในโลก” (ที่มาของภาพ)

……….

อันที่จริง ปัญหาเรื่องคนไร้บ้านไม่ใช่เรื่องใหม่ทางเศรษฐศาสตร์ เพราะ Jeremy Bentham เจ้าสำนักอรรถประโยชน์นิยม (Utilitarianism) เคยเขียนถึงประเด็นนี้เอาไว้ โดยเขามองว่า การมีคนไร้บ้าน(ซึ่งเป็นคนจำนวนน้อย)อาศัยอยู่ตามที่สาธารณะนั้น ส่งผลลบต่ออรรถประโยชน์รวมของสังคมในสองทาง หนึ่งคือในกรณีของคนใจอ่อน อรรถประโยชน์ของพวกเขาจะลดลงจากความสงสาร สองคือในกรณีของคนใจแข็ง อรรถประโยชน์ของพวกเขาจะลดลงจากความสมเพช

Bentham จึงเสนอว่ารัฐบาลควรจัดสรรที่อยู่ให้พวกเขา เพื่อไม่ให้การมาอยู่ตามที่สาธารณะของคนไร้บ้านลดอรรถประโยชน์โดยรวมของสังคม และเขาเองยังคิดต่อด้วยว่าหากให้รัฐบาลจ่ายเงินอุดหนุนให้คนไร้บ้าน อรรถประโยชน์ของสังคมก็อาจลดลงจากการเก็บภาษีเช่นกัน เขาจึงเสนอต่อว่ารัฐบาลควรจัดที่อยู่ให้พวกเขาอยู่รวมกัน และฝึกอาชีพให้พวกเขาเลี้ยงตัวเองได้

“สลัมในมิลาน” (ที่มาของภาพ)

……….

ที่ผ่านมาไม่มีงานวิจัยทางเศรษฐศาสตร์เกี่ยวกับเรื่องคนไร้บ้านมากนักก็ด้วยเหตุผล ๓ ประการ ได้แก่ ๑) การให้นิยามและระบุตัวตนของคนไร้บ้านนั้นค่อนข้างยาก ๒) คนไร้บ้านจำนวนหนึ่งเคลื่อนย้ายที่อยู่ไปเรื่อยๆ ทำให้การสำรวจทำได้ยากและอาจเกิดการนับซ้ำ ๓) การสัมภาษณ์คนเหล่านี้ ซึ่งบางส่วนเป็นคนมีปัญหา ต้องอาศัยผู้สัมภาษณ์ที่มีความรู้หรือถูกอบรมวิธีการสัมภาษณ์อย่างถูกวิธีมาก่อน และนักเศรษฐศาสตร์มักไม่มีความรู้ด้านนี้

มิลาน (Milan) หนึ่งในเมืองอุตสาหกรรมที่ใหญ่ที่สุดของอิตาลี ก็มีปัญหา”คนไร้บ้าน”อันนำมาสู่ภาระอันหนักหน่วงทางเศรษฐกิจและงบประมาณของรัฐบาลท้องถิ่น รัฐบาลเมืองมิลานต้องการจะแก้ปัญหานี้อันเนื่องมาจากแรงกดดันทางเศรษฐกิจ แต่…งานวิจัยทางเศรษฐศาสตร์เกี่ยวกับคนไร้บ้าน(ที่มีจำนวนมาก)ของเมืองมิลานกลับแทบไม่มีให้เห็น มีก็แต่งานวิจัยทางด้านสังคมวิทยากับคำด่าทอของ NGOs เท่านั้น

“คนไร้บ้านในมิลาน ณ ถนน Montenapoleone หนึ่งใน shopping street ที่แพงที่สุดของโลก” (ที่มาของภาพ)

……….

รัฐบาลเมืองมิลานจึงได้ไปขอความร่วมมือจากคณะเศรษฐศาสตร์ของ Universita degli studi di Milano ในการทำวิจัยเรื่อง Being an Homeless: An Evidence in Italy โดย Braga and Corno (2009) และแนวคิดที่สำคัญก็คือต้องเริ่มต้นจากการสำรวจว่าคนไร้บ้านเหล่านี้เป็นใคร มาจากไหน และ [เสด-ถะ-สาด].com เห็นว่ากระบวนการในการสำรวจคนไร้บ้าน อันเป็นจุดเริ่มต้นของการเข้าถึงข้อมูลโดยวิธีทางเศรษฐศาสตร์นั้นน่าสนใจอย่างยิ่งจึงนำมาเสนอให้ได้อ่านกัน

นิยามของคนไร้บ้านที่เป็นทางการโดย US Department of Housing and Urban Development (HUD) ก็คือ ๑) บุคคลที่ไม่มีที่พักพิงในเวลากลางคืนที่มั่นคง เป็นปกติและพอเพียง ๒) บุคคลที่มีที่พักพิงหลักในเวลากลางคืน ซึ่ง i) เป็นที่กำบังแบบสร้างขึ้นชั่วคราวเพื่อการอาศัย ii) ในสถาบันที่ให้ที่พักพิงชั่วคราวเพื่อการได้รับความช่วยเหลือต่อไป และ iii) สถานที่สาธารณะหรือเอกชนที่ไม่ได้สร้างขึ้นเพื่อเป็นที่หลับนอนตามปกติของมนุษย์

ในการสำรวจที่ทำขึ้นจริงนั้น Braga and Corno (2009) จำแนกคนไร้บ้านออกเป็น ๓ กลุ่ม ได้แก่ ๑) คนที่อาศัยอยู่ตามสถานที่ที่ไม่ได้ถูกออกแบบมาให้เป็นที่อยู่อาศัย เช่น ทางเดิน ที่จอดรถ ตึกร้าง เป็นต้น ๒) คนที่อยู่ในที่กำบังที่สร้างขึ้นชั่วคราว และ ๓) คนที่อยู่ในพื้นที่ที่ไม่ถูกใช้งาน กระท่อมหรือสลัม

ในการสำรวจ ใช้อาสาสมัคร 350 คน รับผิดชอบพื้นที่ที่แบ่งเป็น 66 ส่วน ดำเนินการสำรวจเพียงวันเดียวในเวลากลางคืน (เพื่อไม่ให้เกิดการนับซ้ำ) ในเดือนมกราคม (เพราะเป็นช่วงอุณหภูมิต่ำที่สุดของมิลาน ทำให้คนไร้บ้านไม่กระจัดกระจายมากเกินไป) โดยวันที่ทำการสำรวจและวันที่สัมภาษณ์เป็นคนละวันกัน เพราะ ๑) ไม่สามารถทำเสร็จในวันเดียวกันได้ ๒) การสำรวจต้องการข้อมูลครบทุกคน แต่การสัมภาษณ์ใช้แค่บางคนเป็นกลุ่มตัวอย่าง และ ๓) เวลาที่เหมาะสมในการสำรวจคือตั้งแต่ 22 น. แต่เวลาที่เหมาะสมในการสัมภาษณ์คือ 21 น.

……….

ผลการสำรวจ พบว่า ในมิลานมีคนไร้บ้านที่อาศัยอยู่ตามตามถนน (แบบที่ ๑) จำนวน 408 คน คนไร้บ้านที่อยู่ในที่กำบังที่สร้างขึ้นชั่วคราว (แบบที่ ๒) จำนวน 1152 คน และคนไร้บ้านที่อยู่ในพื้นที่ที่ไม่ถูกใช้งาน กระท่อมหรือสลัม (แบบที่ ๓) จำนวน 2300 คน รวมทั้งสิ้น 3860 คน โดยคนไร้บ้านในแบบที่ ๑ จะกระจายตัวอยู่ตามที่ต่างๆ ในเขตเมือง (ดูภาพที่ ๑) ขณะที่คนไร้บ้านแบบที่ ๓ จะกระจุกตัวอยู่นอกเขตเมือง (ดูภาพที่ ๒)

“ภาพที่ ๑ การกระจายตัวของคนไร้บ้านที่นอนตามถนนในมิลาน ซึ่งส่วนมากอยู่ในเขตเมือง”

“ภาพที่ ๒ การกระจุกตัวของคนไร้บ้านที่นอนในสลัมของมิลาน ซึ่งส่วนมากอยู่นอกเขตเมือง”

การสำรวจถูกทำขึ้นหลายด้าน และมีความน่าสนใจในบางด้าน เช่น คนไร้บ้านที่อายุมากมีแนวโน้มจะอยู่ตามถนน แต่คนไร้บ้านที่อยู่สลัมมีแนวโน้มจะอายุน้อย ขณะที่การศึกษาของคนเหล่านี้มีการกระจายตัวในสัดส่วนเดียวกับประชากรทั่วไป ไม่ใช่ว่าเป็นคนไร้การศึกษาเสมอไป (ดูตารางที่ ๑)

“ตารางที่ ๑ ระดับการศึกษาของคนไร้บ้านที่มีสัดส่วนคล้ายกับระดับการศึกษาของคนทั่วไป”

สาเหตุหลักของการกลายเป็นคนไร้บ้านก็เนื่องจากตกงาน และมีปัญหาครอบครัว (ดูภาพที่ ๓) ซึ่งส่วนหนึ่งเคยมีประสบการณ์ติดคุกติดตารางมาก่อน แล้วไม่ได้รับโอกาสในการทำงานอีก ขณะที่มากกว่าครึ่ง มีงานทำในตลาดมืด (Black Market)

“ภาพที่ ๓ สาเหตุของการกลายเป็นคนไร้บ้าน”

รายได้ของคนไร้บ้านเฉลี่ยอยู่ที่ 151 ยูโรต่อคน ซึ่งหากเปรียบเทียบกับครัวเรือนที่มีคนสองคนแล้ว รายได้นี้สูงกว่าระดับความยากจนสัมพัทธ์ (Relative Poverty) ของอิตาลี ซึ่งอยู่ที่ 246.5 ยูโร เพียงแต่ไม่พอที่จะนำไปจ่ายค่าเช่าบ้าน และที่น่าสนใจคือ ความช่วยเหลือหลักที่พวกเขาได้รับนั้นมาจากครอบครัว (35%) องค์กรการกุศล (24%) และเพื่อน (20%) ขณะที่พวกเขาเข้าถึงความช่วยเหลือจากรัฐบาลได้ไม่มาก (7%) (ดูตารางที่ ๒)

“ตารางที่ ๒ แหล่งความช่วยเหลือลำดับแรกของคนไร้บ้าน”

……….

แม้ว่างานวิจัยของ Braga and Corno (2009) จะเป็นเพียงแค่การสำรวจ แต่นับได้ว่าเป็นก้าวแรกของความตั้งใจในการแก้ปัญหาอย่างแท้จริง เนื่องจากพยายามรวบรวมข้อมูลปฐมภูมิอย่างเป็นระบบ รวมทั้งอย่างน้อยทำให้ได้รู้ว่า แท้จริงแล้วคนไร้บ้านสามารถเข้าถึงสวัสดิการของรัฐบาลได้น้อย ส่วนหนึ่งก็อาจจะเป็นเพราะความไม่มีบ้านเองด้วย เพราะการขอสวัสดิการหลายประเภทต้องการข้อมูลที่อยู่ที่เป็นทางการ ซึ่งคนไร้บ้านย่อมไม่มี

นอกจากนี้ งานวิจัยยังได้สำรวจถึงรายรับและรายจ่าย ทั้งที่ว่ามีมูลค่าเท่าไหร่ และได้รับหรือใช้จ่ายไปกับอะไรบ้างด้วย แต่ประเด็นนี้ไม่สามารถเปิดเผยกับสาธารณะได้ คงเป็นเพราะประโยชน์ต่อการวางแผนการให้เงินช่วยเหลือสนับสนุนโดยรัฐบาลกระมัง ไม่อย่างนั้น อาจจะมีการเรียกร้องมูลค่าที่สูงเกินกว่าความเป็นจริง

อย่างไรก็ตาม หากงานวิจัยทางเศรษฐศาสตร์ในประเทศไทยจะนำเอาประเด็นนี้มาเป็นแนวคิดหรือจุดเริ่มต้นในการทำวิจัยเพื่อหาคำตอบเชิงนโยบายของคนไร้บ้านด้วยก็น่าจะดีนะครับ เพราะได้เห็นมูลนิธิกระจกเงาและสถานีโทรทัศน์ ThaiPBS ให้ความสนใจเรื่องนี้กันอยู่พอสมควรทีเดียว ^^






ที่มา: Braga, Michela and Corno, Lucia, (2009), Being an homeless: evidence from Italy, Departmental Working Papers, Department of Economics, Management and Quantitative Methods at Università degli Studi di Milano.

featured image from here