tv-ads

ละคร “สะท้อน” หรือ “ชี้นำ” สังคมกันแน่?

ข้อถกเถียงระหว่างกระทรวงวัฒนธรรมกับผู้จัดละครทีวีที่ว่าละครมีหรือไม่มีผลกระทบต่อสังคม(อย่างมีนัยสำคัญ)กันแน่ และมากหรือน้อยแค่ไหนกัน บทความทางเศรษฐศาสตร์เองก็สนใจเรื่องนี้และพยายามให้คำตอบเช่นกัน

……….


ลายคนอาจจะตั้งคำถามอยู่เสมอว่าละครก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในสังคมหรือไม่ จุดเริ่มต้นก็น่าจะตั้งแต่ละครเรื่อง “ระบำดวงดาว” ที่มีตัวเอกคือ “หวานหวาน” ตามด้วย “ดอกส้มสีทอง” ที่ตัวเอกคือ “เรยา” และล่าสุด ละครเรื่อง “แรงเงา” ในบทของ “มุนินทร์/มุตตา” ที่ในบท(รุน)แรงได้ใจคนไทยไปทั้งประเทศ

กระทรวงวัฒนธรรม หรือหน่วยงานทางด้านนิเทศศาสตร์จำนวนมาก ออกมาต่อต้าน/คัดค้านบทละครเรื่องเหล่านี้ตลอดมา เพราะเชื่อว่าความรุนแรงในละครจะส่งให้คนในสังคมมีความรุนแรงมากขึ้น หรืออย่างน้อยก็”รับได้”กับความรุนแรงมากขึ้น ขณะที่ผู้จัดละครและดารานักแสดงก็ออกมาโต้แย้งว่า “ไม่จริง เพราะประชาชนแยกแยะได้” และพวกเขาแค่ทำละครอย่างที่สังคมต้องการเท่านั้น ที่สำคัญดูได้จากยอดเรทติ้งที่พุ่งกระฉูด หยุดไม่อยู่เลยทีเดียว

……….

ในเชิงปรัชญา คำโต้เถียงของคนทั้งสองกลุ่มอยู่ภายใต้ความเชื่อที่ว่า ละครเป็น “ตะเกียง” ทำหน้าที่ให้ความสว่างเพื่อชี้นำสังคม หรือละครเป็น “กระจก” ทำหน้าที่เพียงสะท้อนความจริงของสังคมเท่านั้น

แล้วปรัชญาไหนน่าจะถูกต้อง คำตอบนี้อาจไม่ง่ายนัก ด้วยปัญหาทางเศรษฐมิติ ๒ ประการ ๑) ความรุนแรงมีอยู่แล้วในสังคมไทย เมื่อเนื้อหาของละครมีความรุนแรง และเกิดความรุนแรงขึ้นจริงในสังคม จะบอกได้อย่างไรว่าความรุนแรงนั้นมันจะเกิดอยู่แล้ว (แต่มีละครมาเป็นข้ออ้าง) หรือมันเกิดจากละครจริงๆ ๒) ผลกระทบของละครเป็นผลอาจเกิดขึ้นในระยะยาว แต่เนื่องจากละครที่มีความรุนแรงไม่ได้ถูกฉายอย่างต่อเนื่อง (มีเรื่องอื่นๆ ฉายคั่นในช่วงต่อจากเรื่องหนึ่งไปยังอีกเรื่องหนึ่ง) หากเกิดความรุนแรงขึ้นในอนาคต จะบอกได้อย่างไรว่าเป็นผลจากละครที่มีความรุนแรง

“ทีวีกับความรุนแรงที่อาจเกิดกับเด็ก” (ที่มาของภาพ)

……….

การตอบคำถามนี้ต้องอาศัยสถานการณ์พิเศษของบางพื้นที่ Jensen and Oster (2009) ทำการศึกษาผลกระทบของการดูโทรทัศน์ที่มีต่อสังคมในประเทศอินเดีย โดยมุ่งไปที่ความรุนแรงต่อผู้หญิง และทัศนคติต่อการมีบุตรชาย ซึ่งเป็นปัญหาใหญ่ของสังคมอินเดีย Sen (1992) ชี้ให้เห็นว่า ในแต่ละปี มีเด็กหญิงชาวอินเดียที่ควรจะได้เกิดแต่ไม่ได้เกิดประมาณ 41 ล้านคน อันเนื่องมาจากการปฏิบัติอย่างไม่ถูกต้องของแม่ จากทัศนคติของสังคมที่อยากได้ลูกชาย และหากเกิดมาแล้ว ก็ยังได้รับการปฏิบัติอย่างไม่เท่าเทียมทั้งการได้รับอาหาร สาธารณสุข และการศึกษา

โทรทัศน์เข้าสู่อินเดียเป็นครั้งแรกในปี 1959 และมีรายการอินเดียให้รับชมตลอดมา ต่อมา พื้นที่ชนบทของอินเดียก็เริ่มมี “เคเบิ้ลทีวี” แม้อาจจะดูเป็นเรื่องเล็กๆ แต่เคเบิ้ลทีวีทำให้ชาวอินเดียในเมืองได้เห็นวัฒนธรรมที่แตกต่างออกไป เพราะรายการจำนวนหนึ่งเป็นรายการของตะวันตก ทำให้ชาวอินเดียได้เห็นความเท่าเทียมกันระหว่างเพศ และอีกด้านของความเลวร้ายจากความรุนแรง

Jensen and Oster (2009) ทำการศึกษาตัวอย่าง 2,700 ครัวเรือนในช่วงปี 2001, 2002 และ 2003 ใน 4 เมือง (Bihar, Goa, Haryana และ Tamil Nadu) กับเมืองหลวงคือ Delhi สาเหตุที่พิจารณาการเข้ามาของเคเบิ้ลทีวีก็เพราะสัดส่วนของบ้านที่ดูเคเบิ้ลทีวีในชุมชนหนึ่งๆ อยู่ที่ร้อยละ 40-60 ทำให้สามารถเปรียบเทียบบ้านที่ดู(ได้รับผล)กับไม่ได้ดู(ไม่ได้รับผล)เคเบิ้ลทีวีในชุมชน(ที่มีวัฒนธรรม)เดียวกันได้ และเมื่อบ้านใดติดเคเบิ้ลแล้วก็มีแนวโน้มจะดูรายการทีวีจากเคเบิ้ลมากกว่ารายการจากช่องทีวีปกติด้วย

ตารางที่ ๑ แสดงให้เห็นว่า ผู้หญิงประมาณร้อยละ 30 “รับได้”กับความรุนแรงที่ถูกกระทำโดยผู้ชาย หากไม่ปฏิบัติตามครรลองของสังคม เช่น ดูแลลูกได้ไม่ดี ไม่แสดงความเคารพสามี ออกไปข้างนอกโดยไม่ได้บอกสามีก่อน หรือแม้แต่ครอบครัวของผู้หญิงไม่ให้เงินใช้ เป็นต้น รวมทั้ง ผู้หญิงที่ต้องการมีลูกประมาณร้อยละ 55 ต้องการลูกผู้ชาย ขณะที่เพียงร้อยละ 13 เท่านั้นที่ต้องการลูกผู้หญิง

“ตารางที่ ๑ ค่าสถิติเชิงพรรณาของความรุนแรงและทัศนคติต่อการมีลูกชายของผุ้หญิงชาวอินเดีย”


ความสัมพันธ์ระหว่างเคเบิ้ลทีวีที่มีผลต่อความรุนแรง และทัศนคติที่ต้องการลูกชาย เปรียบเทียบระหว่างบ้านที่ติดและไม่ติดเคเบิ้ลในชุมชนเดียวกัน แสดงให้เห็นในตารางที่ ๒ พบว่า เคเบิ้ลทีวีทำให้ความรุนแรงในครอบครัวลดลงประมาณ 3% ต่อปีอย่างมีนัยสำคัญ (= 0.1609/6×100) และทำให้ทัศนคติที่ต้องการลูกชายลดลงอย่างมีนัยสำคัญ 8.82% ต่อปีเช่นกัน แม้ว่าจะเป็นตัวเลขไม่มาก แต่ก็ลดลงอย่างชัดเจน และเมื่อเวลาผ่านไป สังคมก็จะค่อยๆ ดีขึ้นตามลำดับ

“ตารางที่ ๒ ผลการประมาณค่าสมการความสัมพันธ์ระหว่างเคเบิ้ลทีวีที่มีผลต่อความรุนแรง และทัศนคติที่ต้องการลูกชาย”

……….

มาถึงตรงนี้อาจมีข้อโต้แย้งว่า เคเบิ้ลทีวีไม่ได้หมายความเช่นเดียวกับละคร เพราะรวมไปถึงสารคดี ข่าวและรายการอื่นๆ ด้วย (แต่ที่จริง คนส่วนใหญ่ก็ดูละครมากกว่ารายการอื่นแน่ๆ) เนื่องด้วยความจำกัดของข้อมูลและสถานการณ์พิเศษที่จะวิเคราะห์เรื่องนี้ทำให้ไม่มีการศึกษาผลกระทบของละครที่มีต่อความรุนแรงโดยตรง แต่ก็มีงานศึกษาที่ยังคงให้ประโยชน์กับคำตอบเรื่องนี้ได้เช่นกัน

Ferrara, Chong and Duryea (2008) ทำการศึกษาเรื่องผลกระทบของละครช่วง Prime Time (พูดง่ายๆ ก็คือเหมือนละครหลังข่าวบ้านเรานี่เอง) ที่มีต่ออัตราการเกิดในประเทศบราซิล ซึ่งดูเหมือนจะไม่เกี่ยวกันเอามากๆ

ในช่วงประมาณปี 1980 Rede Globo ได้นำเอาละครจากโปรตุเกสเข้ามาฉายในบราซิล (ทั้งสองประเทศพูดภาษาเดียวกัน) และได้รับความนิยมอย่างล้นหลามจนกระทั่ง Rede Globo อาจเรียกได้ว่าเป็นผู้ผูกขาดละครหลังข่าวเพราะมีคนดูประมาณ 80-90% เลยทีเดียว โดยละครที่มาจากโปรตุเกส ซึ่งเป็นประเทศในยุโรป มักจะแสดงถึงความเป็นครอบครัวเล็ก แตกต่างจากสภาพสังคมของบราซิลโดยสิ้นเชิงที่เป็นครอบครัวใหญ่ มีลูกมาก ที่สำคัญ ละครจากยุโรปมักจะมีลักษณะที่ว่า ครอบครัวชนชั้นกลางถึงรวยจะเป็นครอบครัวเล็กและมีความสุข ขณะที่ครอบครัวใหญ่ที่มีลูกมากจะยากจนและไม่มีความสุข

“ละครเรื่องแรงเงาที่มีเรทติ้งสูงมาก” (ที่มาของภาพ)


ข้อค้นพบของ Ferrara, Chong and Duryea (2008) ไม่ต่างไปจาก Jensen and Oster (2009) ที่ว่าละครหลังข่าวมีผลทำให้อัตราการมีบุตรลดลงอย่างมีนัยสำคัญ ดังแสดงในตารางที่ ๓ ที่น่าสนใจก็คือ ละครหลังข่าวส่งให้อัตราการมีบุตรลดลงเร็วกว่าผลที่เกิดจากการให้การศึกษาที่ว่ามีลูกมากจะยากจนเสียอีก

“ตารางที่ ๓ ผลการประมาณค่าสมการความสัมพันธ์ระหว่างละครหลังข่าวกับอัตราการมีบุตร”

……….

แม้ว่าบทความทั้งสองชิ้นที่นำมา อาจไม่ได้ตอบคำถามตรงๆ ว่าเนื้อหาของละครมีผลต่อความรุนแรงแน่ๆ แต่ก็ได้ชี้ให้เห็นว่า รายการทีวีและละครมีผลต่อทัศนคติและวิถีการใช้ชีวิตของผู้คนในสังคมอย่างมีนัยสำคัญ ดังนั้น ละครจึงไม่ใช่มีบทบาทแค่เป็นกระจกที่สะท้อนสังคมจนเรทติ้งสูงและทำกำไรจากค่าโฆษณามากมายเท่านั้น แต่กลับเป็นตะเกียงที่ชี้นำสังคมให้เปลี่ยนแปลงไปในทิศทางที่ละครนำเสนอด้วย

อย่างไรก็ดี อาจจะโทษแค่ผู้จัดละครคงไม่ได้ เพราะสังคมเองก็ชื่นชม สนุกสนานและคิดว่าไม่เป็นไร ทุกวันนี้เราก็อาจจะเห็นคลิปเด็กตบกันจนรู้สึกธรรมดาไปแล้ว ขณะที่บางประเทศ เขาก็รับไม่ได้ ไม่แตกต่างไปจากการที่เราเห็นบางประเทศกินเนื้อสุนัขเป็นเรื่องรับไม่ได้ ทั้งๆ ที่คนในประเทศของเขาไม่รู้สึกอะไร

ที่น่าเสียดายคือ เรากำลังทำเหมือนกรณีของประเทศอินเดียในบทความแรก เพียงแต่เขาใช้รายการทีวีเพื่อลดความรุนแรงของสังคม แต่เราไม่ได้ทำแบบนั้น เท่านั้นเอง






ที่มา:
– Robert Jensen and Emily Oster, The Power of TV: Cable Television and Women’s Status in India, The Quarterly Journal of Economics (2009) 124(3): 1057-1094.
– Ferrara, Eliana La, Chong, Alberto and Duryea, Suzanne, Soap Operas and Fertility: Evidence from Brazil (June 2008). IDB Working Paper No. 533.

featured image from here and rabbit homepage image’s intuition from Antoinette Portis’s Drawing

  • http://twitter.com/plagapong plagapong

    topic แจ่มมากครับ

  • dddd

    คนไทยส่วนใหญ่เป็นผู้เจริญแล้วทางด้านปัญญา จริยธรรม และจิตใจ สามารถแยกแยะได้ว่าการแสดงกับชีวิตจริงเป็นยังใง ประเทศไทยจึงเจริญได้เหมือนปัจจุบันนี้

  • Theping

    แรงก็จริงไม่สมควรเลย แรงเงา ไม่นึกถึงสังคมและมีเด็กๆ นั่งดูเป็นแบบอย่าง เด็กๆ พวกนี้ จะคิดแบบมุนินและทำตาม มุนิน เป็นเมียน้อย เพราะมันถูกต้อง และ สามารถตบเมียหลวงได้ตามใจชอบ แบบนี้ถือไม่ดีเลยเด็กๆ จะทำตามมุนิน ในความคิดของผมนะครับ
    ผมไม่กล้าไปโพส บนแฟนคลับแรงเงาเค้า กลัวจะโดนกระทืบกลับมาเป็นแสนโพส – -*

  • อยากระบาย

    เหมือนทฤษฎีภาวะโรคร้อนแหละ ต้มกบตั้งแต่หม้อยังเย็นๆรู้ตัวอีกทีก็ตายห่า สื่อเหมือนกัน ทั้งเกมส์ทั้งละคร ทั้งหนังต่างๆมีผลหมด มันค่อยๆมีทีละนิดเหมือนยาเริ่มออกฤทธิ์กว่าจะรู้ตัวก็สายไปแล้ว บางคนย้อนว่าถ้ามันเปลี่ยนจะไม่รู้เลยเหรอ ตอบได้เลย “มันชิน” พอชินแล้วก็ไม่ยอมรับความจริง ลองพูดไรสิ แยกแยะได้โว้ย เด็กไทยฉลาดพอโว้ย – -*

  • http://www.facebook.com/wanchalerm.kawiean Wanchalerm Kawiean

    ไม่ได้เข้าข้างฝั่งแฟนคลับนะ แต่เวลาที่ฉาย มันก็เป็นเวลาที่เด็กสมควรนอนแล้ว อีกอย่าง จำกัดเรทว่า ผู้มีอายุน้อยกว่า18ปี ควรให้คำแนะนำ ถ้าผู้ใหญ่จะปล่อยให้เด็กดูโดยไม่แนะนำเลย จะไปโทษคนผลิดงั้นหรอ แล้วเรื่องนี้มันรีเมคมาตั้งหลายครั้ง คนรุ่นก่อนๆ ทำไมถึงไม่มาโวยวายแบบสมัยนี้ แสดงว่าคนสมัยนี้ ไม่มีหัวคืดแล้ว อย่างนั้นน่ะสิ ส่วนเรื่องเมียน้อย ตบเมียหลวง (ตัวละคร)แต่ละคนก็มีเหตุผลของเขา และจุดจบของแต่ละคน ที่ทำชั่วไว้อย่างไร ละครก็ชี้ให้เห็นแล้วว่า จุดจบของการทำกรรมชั่ว มันไม่ได้สวยหรูเลย ต่างทุกข์ด้วยกันทั้งนั้น มองละคร ก็มองย้อนดูตัว จะโทษแต่สื่อ มันไม่ใช่เรื่องที่ถูก นิสัยคนไทย ไม่ยอมรับผิด ไม่ยอมรับความจริง ชอบโทษคนอื่น พิสูจน์อะไรไม่ได้ ก็โทษผีสางเทวดา ….. เฮ้อ!

    • http://www.facebook.com/kampon.boonraksa Kampon Boonraksa

      เค้าไม่ได้โทษใครนะครับ -*- เค้าหยิบข้อมูลศึกษามาให้ดู

  • เงิบ

    ที่แน่ๆ เด็กผูกคอตายเลียนแบบละคร
    คนไทย : ด่าเด็กด่าพ่อแม่ด่าผู้ปกครอง แต่ไม่โทษเนื้อหาของละคร
    เด็กเลียนแบบเกมแทงแม่ แต่ในความเป็นจริงเด็กมันแทงแม่ เพราะ แม่ไม่ให้เล่นFacebook
    คนไทย : โทษเกมเลวยังงั้นเลวยังงี้ ไม่ดีน่าจะหมดๆ ไปจากประเทศ