โครงสร้างตลาด“บริการค้าประเวณีของนักศึกษา”เป็นแบบไหนกัน?
การค้าประเวณีของนักศึกษาเป็นธุรกิจหนึ่งที่สามารถนำเอากรอบการวิเคราะห์ตลาดของเศรษฐศาสตร์มาใช้ได้ไม่ต่างจากธุรกิจอื่นๆ วิทยานิพนธ์ของอัญชลี (2544) ได้นำเอา Porter 5 Forces Model มาอธิบายธุรกิจนี้ได้อย่างน่าสนใจ
……….
การค้าประเวณีไม่ใช่เรื่องใหม่ และไม่ใช่อาชีพใหม่ของสังคมไทย ตลอดมานโยบายของรัฐไทยเหมือนปิดตาข้างหนึ่ง เพราะไม่ใช่อาชญากรรมร้ายแรง จึงมุ่งไปที่การปรามไม่ใช่ปราบการค้าประเวณี ดังจะเห็นได้จากการที่สถานบริการ ซึ่งแอบแฝงขายบริการสามารถเปิดให้บริการได้อย่างถูกกฎหมาย รวมไปถึงกฎหมายที่มุ่งเอาผิดตัวโสเภณี แทนที่จะร่วมเอาผิดผู้มาใช้บริการด้วย
อย่างไรก็ตาม แม้ว่ารัฐจะมีการปรามอย่างจริงจัง(อาจจะจริงจังกว่านี้ หากไม่มีการคอรัปชั่นมาเกี่ยวข้อง) การเข้าสู่อาชีพโสเภณีก็ยังเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยในปี 2543 มีหญิงขายบริการทางเพศประมาณการอยู่ที่ 200,000 คน ซึ่งมากกว่า 20 ปีก่อนหน้านั้นถึง 5 เท่า โดยจากการสำรวจพบว่าหญิงบริการทางเพศในเมมเบอร์คลับจะมีรายได้เฉลี่ยสูงที่สุดประมาณ 75,000 บาทต่อเดือน และรับลูกค้าน้อยครั้ง ขณะที่หญิงบริการทางเพศในสำนักหรือซ่องจะทำงานหนักที่สุด โดยรับลูกค้าเฉลี่ย 3 ครั้งต่อวัน แต่มีรายได้ไม่มาก นั่นคือ ความไม่เท่าเทียมกันของการทำงานในธุรกิจนี้มีสูงมาก (ดูตารางที่ ๑)
“ตารางที่ ๑ ประมาณการหญิงบริการจำแนกตามประเภทสถานบริการ”
……….
การจัดสรรรายได้จากการทำงานของหญิงบริการแบ่งออกได้เป็น 3 ระบบ ได้แก่
- ระบบเหมาจ่าย คือ ลูกค้าจ่ายให้กับเจ้าของสถานบริการโดยตรง ซึ่งเจ้าของจะแบ่งกับหญิงบริการอีกทีหนึ่งตามสัดส่วน ขณะที่รายได้ของหญิงบริการโดยตรงจะอยู่ที่ทิปของลูกค้าเท่านั้น เช่น สถานอาบอบนวด
- ระบบเงินเดือน + คอมมิชชั่น(จากการสั่งอาหาร เครื่องดื่ม) + ค่าบริการทางเพศ เช่น บาร์ คาราโอเกะ หญิงบริการจึงต้องคอยนั่งกับลูกค้า เพื่อให้มีการสั่งอาหารและเครื่องดื่มด้วย
- ระบบ freelance หรือขายบริการอิสระ โดยมักจะแฝงตัวอยู่ตามโรงแรมใหญ่ๆ หรือสถานเริงรมย์ชั้นสูง ซึ่งหญิงบริการจะมีความสามารถ(ระดับหนึ่ง)ในการกำหนดรายได้เอง บางครั้งอาจมีเอเย่นต์คอยติดต่อและหักส่วนแบ่งไปตามที่ตกลงกัน
อย่างไรก็ดี รายได้ของหญิงบริการจำนวน 200,000 คนนั้นได้ก่อให้เกิดมูลค่าเพิ่มให้กับระบบเศรษฐกิจเช่นเดียวกับธุรกิจอื่นๆ ผ่านทางอุตสาหกรรมก่อสร้าง บันเทิงและอาหาร ประมาณ 100,000 ล้านบาทในปี 2538 ซึ่งถือว่าสูงมาก หรืออยู่ที่ประมาณ 1 ใน 4 ของมูลค่าเพิ่มในสาขาบริการทั้งหมด (ดูตารางที่ ๒) ทั้งนี้ยังมีมูลค่าเพิ่มทางอ้อมที่เกี่ยวเนื่องกับอุตสาหกรรมอื่นๆ อีก เช่น วงดนตรี ดาวตลก โรงพิมพ์ ร้านขายเสื้อผ้าเครื่องแต่งกาย และธุรกิจสันทนาการด้วย
“ตารางที่ ๒ มูลค่าเพิ่มจากการค้าบริการของหญิงบริการ”
นอกจากนี้ ในบางมิติ การค้าประเวณียังมีส่วนช่วยให้การกระจายรายได้ระหว่างเมืองและชนบทดีขึ้น เพราะส่วนหนึ่งของรายได้ของหญิงบริการจะถูกส่งไปให้พ่อแม่ที่ต่างจังหวัด [หลายคนอาจไม่เห็นด้วยกับประเด็นนี้ แต่ข้อสรุปส่วนนี้ของหญิงบริการทั่วไปสอดคล้องกับงานศึกษาหลายชิ้น และก็ค่อนข้างเป็นไปได้ในเรื่องของการส่งเงินกลับบ้านที่มีจำนวนมากพอสมควร] (ดูตารางที่ ๓)
“ตารางที่ ๓ ร้อยละของหญิงบริการที่ใช้จ่ายเงินในเรื่องต่างๆ”
……….
อย่างไรก็ตาม ในบรรดาหญิงขายบริการนั้น ตลาดที่น่าสนใจคือ “การค้าประเวณีของนักศึกษา” เพราะเป็นกลุ่มที่มีความรู้ในระดับสูง มีโอกาสและทางเลือกในการทำงานที่หลากหลาย และมักไม่มีความขัดสนทางฐานะครอบครัวด้วย
อัญชลี (2544) ทำการวิเคราะห์ธุรกิจนักศึกษาค้าประเวณี โดยอาศัยแนวคิดของแบบจำลอง Porter’s Five Forces Model อันที่เป็นที่รู้จักกันดีในการวิเคราะห์อุตสาหกรรมทั่วไป (รูปต้นแบบดูภาพที่ ๔)
“ภาพที่ ๔ แบบจำลอง Porter’s Five Forces Model”
อัญชลี (2544) เริ่มจากการวิเคราะห์โครงสร้างภายในตลาดธุรกิจค้าประเวณีในกลุ่มนักศึกษาว่าเป็น “ตลาดผู้ขายมากราย” (หรือตลาดกึ่งแข่งขันกึ่งผูกขาด) (Monopolistic Competition) ซึ่งหากพิจารณาตามนิยามของตลาดผู้ขายมากรายจะอธิบายได้ว่า
- จำนวนนักศึกษาหญิงที่ขายบริการมีจำนวนมาก และมากพอจนการกำหนดราคาหรือการดำเนินการของผู้ขายรายใดรายหนึ่งไม่มีผลกระทบต่อตลาดโดยรวม
- บริการที่ได้รับจากผู้ขายแต่ละคนมีความแตกต่างกัน อาจด้วยรูปร่างหน้าตา การแต่งตัว หรือการเอาอกเอาใจ แต่ก็สามารถใช้ทดแทนกันได้ในเชิงประโยชน์ใช้สอย (Differentiated Product)
- การเข้าหรือออกในธุรกิจนี้เป็นไปโดยเสรี และมีต้นทุนที่ต่ำมาก โดยใช้เพียงเครื่องมือสื่อสารเท่านั้น [การบังคับกักขังเพื่อขายบริการใช้หนี้มีน้อยมากในปัจจุบัน]
“ภาพในสถานบริการ” (ที่มาของภาพ)
ในส่วนของการวิเคราะห์ด้านอื่นๆ ประกอบด้วย
อำนาจต่อรองของนักศึกษา แบ่งออกเป็นสองกลุ่มตามที่นักศึกษามีปฏิสัมพันธ์ด้วย หนึ่งคือ อำนาจต่อรองกับเอเย่นต์ ซึ่งนักศึกษาอาจต่อรองเรื่องวันที่จะมาทำงานได้ในระดับหนึ่ง (ไม่ถึงขั้นว่าจะมาหรือไม่มาก็ได้ เพราะต้องมาให้ได้จำนวนวันขั้นต่ำ) แต่ไม่สามารถต่อรองเรื่องค่านายหน้าหรือราคาได้ สองคือ อำนาจต่อรองกับลูกค้า ถ้าเป็นกรณีที่นักศึกษาหาลูกค้าเองจะเลือกลูกค้าและราคาเองได้ โดยหากแขกไม่สุภาพ นักศึกษาก็ปฏิเสธในครั้งต่อไปได้ หรือหากนักศึกษาบริการไม่ดี ลูกค้าก็ปฏิเสธได้เช่นกัน
อำนาจต่อรองของลูกค้า อำนาจต่อรองของลูกค้าจะอยู่ที่ความสามารถในการจ่าย หากเป็นคนที่มีฐานะทางการเงินดีก็จะต่อรองได้มาก เพราะนักศึกษาหรือเอเย่นต์ต้องการให้กลับมาซื้อซ้ำ
สินค้าทดแทน เป็นปัจจัยคุกคามธุรกิจขายบริการของนักศึกษา เพราะราคาถูกกว่า หาซื้อได้ง่ายกว่า และอาจบริการด้วยความเชี่ยวชาญที่มากกว่าด้วย ดังจะเห็นได้จากกลุ่มนักศึกษามีส่วนแบ่งตลาดประมาณร้อยละ 20 เท่านั้น
คู่แข่งรายใหม่ แม้จะมีการเข้าสู่ตลาดของคู่แข่งรายใหม่จำนวนมาก แต่ลูกค้ารายใหม่ก็เกิดขึ้นไม่น้อยไปกว่าผู้ให้บริการเช่นกัน จึงยังส่งผลให้ธุรกิจนี้ยังดำเนินต่อไปได้
ทัศนคติและผลกระทบจากสังคมแวดล้อม สังคมแวดล้อมของนักศึกษามักจะอยู่ในวงของเพื่อนนักศึกษา ซึ่งจากการสำรวจในงานของอัญชลี (2544) เองพบว่า แม้เพื่อนบางคนจะรู้สึกรังเกียจอยู่บ้าง แต่ส่วนใหญ่รับได้เพราะถือว่าเป็นสิทธิส่วนตัว และนี่เป็นเหตุผลหนึ่งที่ทำให้การตัดสินใจเข้าสู่อาชีพนี้ไม่ยากนัก
……….
โดยสรุปก็คือ ตลาดการค้าประเวณีของนักศึกษาเป็นตลาดผู้ขายมากราย(หรือตลาดกึ่งแข่งขันกึ่งผูกขาด) (Monopolistic Competition) เพราะมีผู้ให้บริการจำนวนมาก สินค้ามีความแตกต่างแต่ทดแทนกันได้ และเข้าออกตลาดได้โดยเสรี ขณะที่องค์ประกอบด้านอื่นๆ พบว่า ผู้ให้บริการมีอำนาจต่อรองอยู่บ้างในการเลือกลูกค้า กำหนดราคาหรือเลือกวันทำงาน แต่การแข่งขันของจากรายใหม่และการค้าประเวณีอื่นๆ ก็มีสูงเช่นกัน เพียงแต่ลูกค้าใหม่ๆ ยังคงเข้าสู่ตลาดอย่างต่อเนื่องและมากพอที่จะทำให้ธุรกิจนี้ดำเนินต่อไปได้ จึงมีการเติบโตอย่างต่อเนื่อง
อย่างไรก็ตาม บทความนี้ไม่ได้เขียนเพื่อชี้นำให้นักศึกษาเข้าสู่ธุรกิจการค้าประเวณีมากขึ้น แต่มันคือสิ่งที่เกิดขึ้นจริงด้านหนึ่งของสังคมที่เศรษฐศาสตร์สามารถนำมาวิเคราะห์ได้อย่างน่าสนใจ และน่าจะก่อให้เกิดการร่วมกันหาแนวทางที่เหมาะสมต่อ โดยแนวทางที่ว่าอาจจะนำไปสู่การแก้ไขปัญหาในธุรกิจสีเทาอีกจำนวนมากด้วยเช่นกัน
ที่มา: อัญชลี พินิจรักษ์ธรรม (2544) การค้าประเวณี: กรณีนักศึกษาหญิงในเขตกรุงเทพมหานคร. วิทยานิพนธ์เศรษฐศาสตรมหาบัณฑิต จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย.
featured image from here