5

เพศสัมพันธ์ก่อนวัยอันควร: “พ่อแม่ไม่สั่งสอน” หรือ “คบเพื่อนไม่ดี” กันแน่?

ข้อถกเถียงใหญ่ประการหนึ่งของสังคม เมื่อเด็กวัยรุ่นมีเพศสัมพันธ์ก่อนวัยอันควรคือ เป็นเพราะพ่อแม่ไม่สั่งสอน หรือเพราะพวกเขาคบเพื่อนไม่ดีกันแน่ แบบจำลองทางเศรษฐศาสตร์จะเปรียบเทียบผลประทบทั้งสอง โดยควบคุมปัจจัยอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง เพื่อดูว่า ใครกันที่ควรรับผิดชอบ

……….


[ก่อนอื่นต้องทำความเข้าใจก่อนว่า คำว่า “เพศสัมพันธ์ก่อนแต่งงาน” (Premarital Sex) ของภาษาอังกฤษที่ใช้กัน มีความหมายโดยนัยยะถึงการมีเพศสัมพันธ์โดยที่ฝ่ายหญิงยังไม่พร้อมในการมีลูก โดยไม่ได้หมายความว่าการมีเพศสัมพันธ์การการจัดงานแต่งงานหรือจดทะเบียนสมรสกัน ซึ่งให้ความหมายที่ใกล้เคียงกับคำภาษาไทยที่ใช้ว่า “เพศสัมพันธ์ก่อนวัยอันควร”]

บทความตอนที่แล้ว เรื่อง ทำไม “เพศสัมพันธ์ก่อนวัยอันควร” จึงเพิ่มขึ้น? [เสด-ถะ-สาด].com ได้นำเสนอผลกระทบของการพัฒนาประสิทธิภาพการคุมกำเนิดที่มีต่อโอกาสในการตั้งท้องที่ลดลง ต่อเนื่องไปยังความกลัวการตั้งท้องที่ลดลงของวัยรุ่น และความพยายามหรือใช้เวลาในการอบรมสั่งสอนของครอบครัว รัฐและโบสถ์ที่ลดลง อันนำไปสู่การมีเพศสัมพันธ์ก่อนวัยอันควรที่มากขึ้น

แต่ประเด็นคำถามที่ตามมาก็คือว่า แล้วอิทธิพลจากการอบรวมสั่งสอนโดยครอบครัว (บางส่วนจากรัฐและโบสถ์) กับอิทธิพลของเพื่อนๆ นั้น อะไรมีบทบาทมากกว่ากัน เพราะพวกเขาอาจจะมีความละอายใจต่อการกระทำของตัวเอง เนื่องจากได้รับการอบรมสั่งสอนมา แต่เมื่ออยู่ในกลุ่มเพื่อนที่มีพฤติกรรมที่แตกต่างออกไปจากสิ่งที่เคยถูกสอนมา ก็อาจส่งผลให้พวกเขารู้สึกละอายใจน้อยลงเช่นกัน

Jesús Fernández-Villaverde, Nezih Guner, Jeremy Greenwood (2012) ใช้ข้อมูลระยะยาวจาก the National Longitudinal Study of Adolescent Health (“Add Health”) ของวัยรุ่น 90,000 คนช่วงมัธยมปลายถึงมหาวิทยาลัย(ประมาณปี 1 – ปี 2) ในสหรัฐฯ โดยชุดข้อมูลจะมีทั้งพฤติกรรมทางเพศ ความรู้ทางเพศ ความละอายจากการมีเพศสัมพันธ์ก่อนแต่งงานหรือการตั้งครรภ์ ความเคร่งศาสนา พื้นฐานครอบครัว ลักษณะของโรงเรียน และอื่นๆ รวมไปถึง กลุ่มตัวอย่างจำนวนมากมาจากโรงเรียนเดียวกันและได้ให้ข้อมูลด้วยว่าใครเป็นเพื่อนสนิทของพวกเขาบ้าง ทำให้สามารถหาผลกระทบจากกลุ่มเพื่อนได้

“ภาพยนตร์เรื่อง Lolita จากนิยายของ Vladimir Nabokov ที่เกี่ยวข้องกับชายสูงวัยคนหนึ่งหลงรักเด็กสาวจนยอมแต่งงานกับแม่ของเธอเพื่อให้ได้ใกล้ชิดกับเด็กสาวคนนั้น”


การศึกษาใช้แบบจำลองลอจิสติคส์ (Logistic Regression Model) โดยตัวแปรตามคือ การตัดสินใจมีเพศสัมพันธ์ครั้งแรกของวัยรุ่นหญิงที่เกิดขึ้นในระหว่างช่วงที่ I และ II ของการเก็บข้อมูล สาเหตุที่สนใจเฉพาะคนที่มีเพศสัมพันธ์ครั้งแรกในช่วงนี้ก็เพราะฐานข้อมูลจะบอกให้ทราบว่าในช่วงที่ I เพื่อนที่มาจากโรงเรียนเดียวกันกับพวกเขากี่คนที่เคยมีเพศสัมพันธ์มาก่อน ซึ่งเพื่อนเหล่านี้น่าจะมีผลต่อการตัดสินใจมีเพศสัมพันธ์ในระหว่างช่วง I และ II โดยที่ตัวเขาเองไม่สามารถมีผลกลับไปยังเพื่อนเหล่านั้นได้ กล่าวคือไม่มีปัญหาสะท้อนกลับ (Reflection Problem) ของพฤติกรรมระหว่างตัวเขาเองกับเพื่อน และแนวคิดนี้จะช่วยให้ทราบถึงบทบาทของ “คบเพื่อนไม่ดี”

ขณะที่อีกด้านหนึ่งก็คือ ความรู้สึกละอายใจกับตนเองในการมีเพศสัมพันธ์ก่อนวัยอันควร โดยความรู้สึกละอายใจกับตนเองนี้มักเกิดมาจากการอบรมสั่งสอนจากครอบครัวในวัยเด็ก บทบาทนี้อยู่ในส่วนที่ถูกเรียกว่า “พ่อแม่ไม่สั่งสอน” ตัวแปรของสมการมาจากข้อมูลที่หลากหลายของ Add Health แต่เนื่องจากตัวแปรส่วนใหญ่ในประเด็นนี้มักมีความสัมพันธ์กัน การศึกษาจึงใช้ Factor Analysis ในการแปลงข้อมูลก่อน ซึ่งข้อมูลที่ถูกนำมาใช้ประกอบด้วยความรู้สึกละอายถ้าครอบครัวรู้ว่ามีเพศสัมพันธ์ ความรู้สึกละอายกับการเห็นวัยรุ่นคนอื่นมีเพศสัมพันธ์ ความรู้สึกละอายหากมีการตั้งท้อง และความรู้สึกละอายต่อคำสอนทางศาสนา

……….

ผลจากการประมาณค่าสมการที่สนใจตัวแปรความละอายใจ (พ่อแม่ไม่สั่งสอน) กับสัดส่วนของเพื่อนที่เคยมีเพศสัมพันธ์มาก่อนที่มีต่อการตัดสินใจมีเพศสัมพันธ์ของตนเอง (คบเพื่อนไม่ดี) ทั้งสองตัวแปรมีผลอย่างมีนัยสำคัญ โดยวัยรุ่นมีแนวโน้มที่จะมีเพศสัมพันธ์มากขึ้นหากคบกับเพื่อนๆ ที่มีเพศสัมพันธ์มาแล้ว ขณะที่วัยรุ่นมีแนวโน้มที่จะมีเพศสัมพันธ์ลดลงหากมีความรู้สึกละอายใจมาก (ดูตารางที่ ๑)

“ตารางที่ ๑ ผลการประมาณค่าสมการ”


วิธีการตีความผลการศึกษาแบบจำลองลอจิสติคส์ (Logistic Regression Model) ก็คือ ต้องปรับจากค่าสัมประสิทธิ์ที่ประมาณค่าได้มาเป็นค่าความยืดหยุ่น (ดูตารางที่ ๒) กล่าวคือ หากอยู่ในกลุ่มเพื่อนที่โดยเฉลี่ยมีเพศสัมพันธ์มาแล้วเพิ่มขึ้น 1% จะเพิ่มโอกาสการมีเพศสัมพันธ์ขึ้น 6.8% ขณะที่หากความรู้สึกละอายใจต่อการมีเพศสัมพันธ์เพิ่มขึ้น 1% จะลดการมีเพศสัมพันธ์ลง 2.3%

“ตารางที่ ๒ ค่าความยืดหยุ่นของปัจจัยที่มาจากค่าสัมประสิทธิ์ของสมการ”

……….

อย่างไรก็ตาม การตีความผลการศึกษาว่า “พ่อแม่ไม่สั่งสอน” หรือ “คบเพื่อนไม่ดี” อะไรมีบทบาทมากกว่ากัน อาจไม่ตรงไปตรงมาตามตัวเลข เนื่องจาก 1% ของกลุ่มเพื่อนที่โดยเฉลี่ยมีเพศสัมพันธ์มาแล้วไม่ได้มีค่าเท่ากับ 1% ของความรู้สึกละอายใจ (จากตารางที่ ๓ จะเห็นได้ว่าช่วงของค่าความรู้สึกละอายใจสูงกว่าค่าเฉลี่ยของกลุ่มเพื่อนที่มีเพศสัมพันธ์มาแล้ว) จึงต้องเปรียบเทียบกันด้วยค่าส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐานเดียวกัน (เป็นการปรับหน่วย) พบว่า ใน 1 ช่วงของส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐานที่เปรียบเทียบกันได้นั้น ค่าเฉลี่ยของกลุ่มเพื่อนที่มีเพศสัมพันธ์มาแล้วจะเพิ่มโอกาสการมีเพศสัมพันธ์ 2.5% และความรู้สึกละอายใจจะลดโอกาสการมีเพศสัมพันธ์ 5.3% ซึ่งเท่ากับว่าที่จริงแล้ว บทบาทของ “พ่อแม่ไม่สั่งสอน” สำคัญกว่า “คบเพื่อนไม่ดี”

อย่างไรก็ตาม แม้ว่าบทบาทของการอบรมจากพ่อแม่จะมีผลต่อการตัดสินใจของลูกมากกว่าบทบาทของเพื่อน เมื่อใช้เวลาเท่าๆ กัน แต่ในโลกความเป็นจริง วัยรุ่นเป็นวัยที่ใช้เวลาส่วนใหญ่อยู่กับเพื่อน และนี่อาจจะเป็นอีกสาเหตุหนึ่งที่ทำให้พวกเขาได้รับอิทธิพลจากเพื่อนมากกว่า ซึ่งพ่อแม่เองก็คงต้องสละเวลาในการอบรมเลี้ยงดูลูกมาขึ้นเช่นกันจึงจะเห็นผล

“ตารางที่ ๓ ค่าสถิติเบื้องต้นของตัวแปต่างๆ ที่ใช้ในสมการ”


แบบจำลองอาจถูกโต้แย้งในเรื่องของการระบุผลกระทบจากกลุ่มเพื่อน เพราะการคบเพื่อนอาจไม่ได้เป็นไปแบบสุ่ม (Non-Randomly) เพราะเด็กที่สนใจอยากจะมีเพศสัมพันธ์อยู่แล้วอาจจะเป็นคนเลือกโรงเรียนที่น่าจะมีเพื่อนแบบที่เขาต้องการ ซึ่งย่อมหมายความว่าการมีเพศสัมพันธ์เป็นเพราะตัวของเขาเอง ไม่ใช่เพราะเพื่อน

การควบคุมประเด็นในนี้ไม่ให้เข้ามาบิดเบือนผลการวิเคราะห์สามารถทำได้โดยสามวิธี หนึ่งคือ ต้องพิจารณาว่าพ่อแม่เป็นคนเลือกโรงเรียนให้ลูก หรือลูกเป็นคนเลือกโรงเรียนเอง เพราะถ้าพ่อแม่เป็นคนเลือก ประเด็นการบิดเบือนผลก็น่าจะมีน้อย สองคือ ถ้าเด็กเพิ่งย้ายโรงเรียนเข้ามาเรียน ก็จะมีแนวโน้มของการมีเพื่อนแบบสุ่มมากกว่าการเรียนอยู่ที่โรงเรียนนี้มานานแล้ว ประเด็นการบิดเบือนผลก็จะน้อย และสามคืิอนักเรียนที่อยู่ในโรงเรียนประเภทที่คล้ายกัน เช่น โรงเรียนคอนแวนต์ ก็น่าจะมีพฤติกรรมบางอย่างที่คล้ายๆ กัน การบิดเบือนผลก็น่าจะน้อยลงหากผลออกมาว่าเด็กที่อยู่โรงเรียนเหล่านี้มีนิสัยคล้ายๆ กัน และผลที่ได้จากการควบคุมปัจจัยเหล่านี้ก็ยืนยันค่าที่วิเคราะห์ออกมาได้ในตอนต้นอยู่ดี

“ภาพยนตร์เรื่อง รักจัดหนัก ที่เกี่ยวข้องกับความรักและเซ็กซ์ของวัยรุ่น”

……….

แม้ว่าแบบจำลองนี้จะไม่ได้ควบคุมปัจจัยทางด้านสื่อ แต่ผลของการประมาณค่าทางเศรษฐมิติก็ยังคงน่าสนใจว่า อันที่จริง ทั้งพ่อแม่ไม่สั่งสอนและคบเพื่อนไม่ดีต่างก็มีผลต่อการตัดสินใจเพศสัมพันธ์ก่อนวัยอันควร แต่เนื่องจากผลของความรู้สึกละอายใจกับตัวเองมีบทบาทสูงกว่าผลของการคบเพื่อนประมาณ 2 เท่า พูดง่ายๆ ก็คือ ถ้าพ่อแม่สอนมาดี คบเพื่อนไม่ดีก็ยังไม่ค่อยเป็นไรมาก แต่ถ้าพ่อแม่สอนไม่ดี คบเพื่อนดีก็ไม่ได้ช่วยมากนัก คนเป็นพ่อแม่จึงไม่อาจโทษเพื่อนหรือโทษโรงเรียนได้ และคนที่เป็นพ่อแม่ หรือกำลังจะเป็นพ่อแม่คงต้องหันกลับมาดูวิธีการดูแลลูกของตนเองมากกว่าการโทษแค่ว่า “เด็กสมัยนี้มันไม่ดี” กระมัง






ที่มา: Fernández-Villaverde, J, J Greenwood and N Guner (2011), “From Shame to Game in One Hundred Years: A Macroeconomic Model of the Rise in Premarital Sex and its De-Stigmatization”, CEPR Discussion Paper 8667.

featured image from webboard.yenta4.com/topic/458797