20111128-politics-economy-business

“การเมืองนำเศรษฐกิจ” หรือ “เศรษฐกิจนำการเมือง”?

การเมืองและเศรษฐกิจมีความสัมพันธ์กัน ในอดีต การเมืองเป็นปัจจัยภายนอกที่มีผลกระทบต่อเศรษฐกิจ แต่ในปัจจุบัน รัฐบาลของหลายประเทศมักจะอ้าง(ทางการเมือง)ว่า เศรษฐกิจนำการเมือง แท้จริงแล้ว ประเทศแบบไหนที่การเมืองนำ และแบบไหนที่เศรษฐกิจนำ

……….


“การเมือง” กับ “เศรษฐกิจ” เป็นสิ่งที่ดูเหมือนว่ามีความสัมพันธ์กัน ในด้านหนึ่ง การเปลี่ยนแปลงทางการเมืองส่งผลให้เกิดความไม่มั่นใจในการลงทุน และทำให้การดำเนินนโยบายบางส่วนต้องหยุดชะงัก จึงทำให้การพัฒนาเศรษฐกิจต้องชะงักไปด้วย ในอีกด้านหนึ่ง เศรษฐกิจที่ย่ำแย่ก็อาจนำไปสู่ความไม่พอใจ หรือความรุนแรงทางการเมือง รวมทั้งการแพ้เลือกตั้งในครั้งต่อไปของรัฐบาลชุดปัจจุบัน

งานศึกษาสามฉบับในเรื่องเดียวกันที่ [เสด-ถะ-สาด].com จะนำมาเล่าให้ฟังนี้ไม่ใช่งานรุ่นบุกเบิก (Pioneer) เพราะงานศึกษาที่อาจจะนับได้ว่าเป็นการกรุยทางของหัวข้อนี้จริงๆ คงเป็น Robert Barro (1991) ที่พบว่า สถานการณ์ไม่สงบทางการเมือง (Political Unrest) ซึ่งวัดจากการลอบสังหาร การเดินขบวน และการปฏิวัติ ทำให้อัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจลดลงอย่างมีนัยสำคัญ

“Florence ที่ครั้งหนึ่งเคยเป็นตัวแทนของความรุ่งเรืองทางการเมืองและเศรษฐกิจของยุโรปในเวลาเดียวกัน” (ที่มาของภาพ)

……….

Alesina, Roubini and Swagel (1996) ทำการศึกษาในประเด็นที่กว้างขึ้น คือ ความสัมพันธ์ระหว่างความไม่มีเสถียรภาพทางการเมือง (Political Instability) กับการเติบโตทางเศรษฐกิจ แต่เขานิยามคำว่า “ความไม่มีเสถียรภาพทางการเมือง” คือแนวโน้มที่จะมีการเปลี่ยนแปลงฝ่ายบริหาร ทั้งโดยวิถีทางตามรัฐธรรมนูญและไม่ใช่ (the propensity of a change in the executive, either by constitutional and unconstitutional means.)

อย่างไรก็ตาม ความไม่มีเสถียรภาพทางการเมือง ไม่เหมือนกับ “ความไม่มีเสถียรภาพของรัฐบาล” (Government Instability) เพราะโดยนิยามแล้ว มันหมายถึง แนวโน้มที่จะมีการเปลี่ยนแปลงรัฐบาล โดยอาจจะไม่ได้มีการแต่งตั้งหรือเลือกตั้งฝ่ายบริหารใหม่ (เช่น การเปลี่ยนตัวนายก หรือการปรับคณะรัฐมนตรี ฝ่ายบริหารชุดเดิมยังมีอำนาจ แต่เปลี่ยนรัฐบาล) อิตาลีและญี่ปุ่นเป็นตัวอย่างที่ดีของประเทศที่มีเสถียรภาพทางการเมือง แต่ไม่มีเสถียรภาพของรัฐบาล

Alesina et al. (1996) ใช้ข้อมูลจาก 113 ประเทศในช่วงปี 1950-1982 และ 1960-1982 (ขึ้นอยู่กับว่าจะหาข้อมูลของแต่ละประเทศได้นานขนาดไหน) มาประมาณค่าด้วยแบบจำลองหลายสมการ (Simultaneous Equations) เนื่องจากตัวแปรหลักเป็นตัวแปรต้นและตัวแปรตามของกันและกัน

ผลการศึกษาประเด็นความสัมพันธ์ระหว่างความสัมพันธ์ระหว่างความไม่มีเสถียรภาพทางการเมืองกับการเติบโตทางเศรษฐกิจ (ดูตารางที่ ๑) พบว่า การเปลี่ยนแปลงทางการเมืองมีผลทางลบต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจ แต่เศรษฐกิจที่ไม่เติบโตกลับไม่ส่งผลให้การเมืองเปลี่ยนแปลง

“ตารางที่ ๑ ผลการประมาณค่าความไม่มีเสถียรภาพทางการเมืองกับการเติบโตทางเศรษฐกิจของ Alesina et al. (1996)”

……….

ข้อสรุปของ Alesina et al. (1996) ถือได้ว่าเป็นจริงเป็นการทั่วไป แต่หากพิจารณาให้เฉพาะเจาะจงแล้ว ผลที่ได้บางส่วนอาจจะต่างออกไปหากพิจารณางานของ Dimitraki (2010) และ Chaiwat (2012) ประกอบกัน

Dimitraki (2010) ทำการหาความสัมพันธ์ระหว่างความไม่มีเสถียรภาพทางการเมืองกับการเติบโตทางเศรษฐกิจ เช่นเดียวกับ Alesina et al. (1996) แต่จำกัดเฉพาะประเทศในยุโรปตะวันตก [ซึ่งหมายถึงเฉพาะประเทศพัฒนาแล้วเท่านั้น] และใช้แบบจำลอง IV/GMM เพราะเป็นกรณีของความสัมพันธ์แบบสองทาง

ข้อสรุปของ Dimitraki (2010) (ดูตารางที่ ๒) ไม่เหมือนกับ Alesina et al. (1996) เพราะเขาพบว่าทั้งการเมืองและเศรษฐกิจต่างก็มีความสัมพันธ์ซึ่งกันและกัน นั่นคือ อัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจที่ต่ำอาจเป็นเหตุให้รัฐบาลต้องพังลงได้ แต่เขาก็ศึกษาเฉพาะกรณีของประเทศพัฒนาแล้ว

“ตารางที่ ๒ ผลการประมาณค่าความไม่มีเสถียรภาพทางการเมืองกับการเติบโตทางเศรษฐกิจของ Dimitraki (2010)”

……….

แล้วประเทศกำลังพัฒนาล่ะ? แม้จะไม่มีการศึกษาทางด้านนี้โดยตรง แต่หากเรานับเอาว่าแอฟริกาเป็นภูมิภาคที่ประกอบด้วยประเทศกำลังพัฒนา(เกือบ)ทั้งหมด ผลการศึกษาของ Chaiwat (2012) ด้วยแบบจำลอง IV-2SLS ในพื้นที่นี้ก็น่าจะเป็นข้อสรุปบางส่วนได้

Chaiwat (2012) จำแนกดัชนีชี้วัดความไม่มีเสถียรภาพทางการเมือง ออกเป็นโอกาสในการเกิดปฏิวัติ สงครามกลางเมือง และการเปลี่ยนพรรคแกนนำจัดตั้งรัฐบาล (ดูตารางที่ ๓) พบว่า ในกรณีของประเทศกำลังพัฒนานั้น อัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจจะช่วยลดโอกาสในการเกิดสงครามกลางเมืองเท่านั้น แต่ไม่ได้มีผลใดใดต่อความไม่เสถียรภาพทางการเมืองในด้านอื่นๆ

“ตารางที่ ๓ ผลการประมาณค่าความไม่มีเสถียรภาพทางการเมืองกับการเติบโตทางเศรษฐกิจของ Chaiwat (2012)”

……….

ข้อสรุปก็คือ ความไม่มีเสถียรภาพทางการเมืองส่งผลให้การเติบโตทางเศรษฐกิจลดลงแน่ๆ แต่การเติบโตทางเศรษฐกิจที่ต่ำจะส่งผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองหรือไม่นั้น ขึ้นอยู่กับระดับการพัฒนาของประเทศ หากเป็นประเทศพัฒนาแล้ว กลไกกำกับดูแลการทำงานทางการเมืองจะทำงานอย่างมีประสิทธิภาพ ทำให้ประชาชนสามารถให้คุณให้โทษกับนักการเมืองได้ เศรษฐกิจตกต่ำจึงเป็นสาเหตุให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางการเมือง แต่หากเป็นประเทศกำลังพัฒนา แม้เศรษฐกิจจะไม่ดี ประชาชนก็ไม่สามารถลงโทษนักการเมืองได้

หรือให้ง่ายกว่านั้นก็คือ ในประเทศพัฒนาแล้ว เศรษฐกิจนำการเมือง (หรืออย่างน้อยก็เสมอภาคกัน) แต่ในประเทศกำลังพัฒนา การเมืองนำเศรษฐกิจ นั่นเอง






ที่มา:
- Alesina, Alberto, Sule Ozler, Nouriel Roubini, and Phillip Swagel. (1996). Political instability and economic growth. Journal of Economic Growth 1(2): 189-211.
- Ourania Dimitraki. (2010). Political Instability and Economic Growth in Western Europe: A Causality Analysis for 55 Years. Conference Name: 3rd PHD CONFERENCE IN ECONOMICS 2010.
- Thanee Chaiwat. (2012). The Heterogenous Growth Effect of Ethnic Fractionalization on Political Instability in Sub-Saharan Africa. Mimeo.

featured image from here