img_191

ทำไม “เพศสัมพันธ์ก่อนวัยอันควร” จึงเพิ่มขึ้น?

การมีเพศสัมพันธ์ก่อนวัยอันควรเพิ่มสูงขึ้นมากในช่วงที่ผ่านมา ผลการวิจัยจำนวนหนึ่งมักจะอ้างถึงพฤติกรรมหรือนิสัยที่เปลี่ยนแปลงไปของวัยรุ่นยุคใหม่ แต่ถ้าสมมติว่าพวกเขามีความมีเหตุมีผลไม่ได้เปลี่ยนไปจากรุ่นก่อนๆ แล้วอะไรคือเหตุผลทางที่ทำให้พฤติกรรมของพวกเขาเปลี่ยนไป เศรษฐศาสตร์จะช่วยตอบเราเรื่องนี้

……….


[ก่อนอื่นต้องทำความเข้าใจก่อนว่า คำว่า “เพศสัมพันธ์ก่อนแต่งงาน” (Premarital Sex) ของภาษาอังกฤษที่ใช้กัน มีความหมายโดยนัยยะถึงการมีเพศสัมพันธ์โดยที่ฝ่ายหญิงยังไม่พร้อมในการมีลูก โดยไม่ได้หมายความว่าการมีเพศสัมพันธ์การการจัดงานแต่งงานหรือจดทะเบียนสมรสกัน ซึ่งให้ความหมายที่ใกล้เคียงกับคำภาษาไทยที่ใช้ว่า “เพศสัมพันธ์ก่อนวัยอันควร”]

ในช่วง 100 ปีที่ผ่านมา ค่านิยมของการมีเพศสัมพันธ์ก่อนวัยอันควรเปลี่ยนแปลงไปมาก ในปี 1900 ผู้หญิงที่อายุ 19 ปีเพียง 6% เท่านั้นที่เคยมีเพศสัมพันธ์ เปรียบเทียบกับปี 2000 ที่จำนวนสูงถึง 75% (ดูรูปที่ ๑) โดยช่วงเวลาดังกล่าว การยอมรับได้ของสังคมต่อเพศสัมพันธ์ก่อนวัยอันควรก็เพิ่มขึ้นจาก 15% ในปี 1968 ซึ่งผู้หญิงอายุ 19 ปีที่เคยมีเพศสัมพันธ์มีเพียง 40% มาเป็น 45% ในปี 1983 ที่ผู้หญิงอายุ 19 ปีมีเพศสัมพันธ์เพียง 73%

“รูปที่ ๑ ทัศนคติ (เส้นสีเขียว) และการมีเพศสัมพันธ์ก่อนวัยอันควร (เส้นสีน้ำเงิน)”

มากไปกว่าแค่การยอมรับได้ของสังคม ปัจจัยอื่นๆ ก็มีผลเช่นกัน เช่น ปัจจัยทางด้านรายได้ เด็กผู้หญิงในช่วงอายุ 15 ถึง 19 ปีจากครอบครับที่ยากจนที่สุด 10% ล่างจำนวน 70% เคยมีเพศสัมพันธ์ ขณะที่เด็กจากครอบครับที่ร่ำรวยที่สุด 10% บนเคยมีเพศสัมพันธ์เพียง 47% เท่านั้น รวมถึง 68% ของเด็กผู้หญิงที่มาจากครอบครัวที่มีรายได้สูงจะรู้สึก “แย่มาก” กับการตั้งท้อง ขณะที่เด็กผู้หญิงที่มาจากครอบครัวที่มีรายได้ต่ำจะรู้สึก “แย่มาก” กับการตั้งท้องเพียง 46% เท่านั้น

ผลต่อเนื่องจากการมีเพศสัมพันธ์ก่อนวัยอันควรไปยังนโยบายสาธารณะมีความสำคัญ แม้ว่าการคุมกำเนิดจะมีประสิทธิภาพมากขึ้นแล้วในปัจจุบัน แต่เพราะจำนวนเพศสัมพันธ์ก็เพิ่มสูงขึ้นอย่างมหาศาล และการมีเพศสัมพันธ์ก่อนวัยอันควรก็ยังคงมีความสัมพันธ์กับการมีลูกอย่างไม่พร้อมตั้งแต่แม่ยังเป็นวัยรุ่น (ดูรูปที่ ๒) ปัญหาการมีลูกไม่พร้อมจึงเป็นเรื่องใหญ่ของสังคม ซึ่งแนวทางหนึ่งที่รัฐบาลพยายามลดการตั้งท้องไม่พร้อมก็คือสร้าง “บรรทัดฐานทางสังคม” (Social Norms) ที่ดี

“รูปที่ ๒ ประสิทธิภาพของการคุมกำเนิด (เส้นสีเขียว) และการมีบุตรโดยไม่ตั้งใจ (เส้นมีน้ำเงิน)”

……….

แล้วปัจจัยอะไรที่ขับเคลื่อนการเปลี่ยนแปลงบรรทัดฐานทางสังคม Becker and Mulligan (1997) Bisin and Verdier (2001) และ Doepke and Zilibotti (2008) ได้ชี้ให้เห็นว่า การเลี้ยงดูของพ่อแม่ในวัยเด็กภายใต้ต้นทุนเวลาและเงินทองอันจำกัด เป็นตัวหล่อหลอมความชอบ (Preferences) ของลูกๆ ซึ่งจะส่งผลต่อการตอบสนองในเรื่องต่างๆ ที่พวกเขาเผชิญ

ในทางเศรษฐศาสตร์ ลูกๆ จะตอบสนองต่อทางเลือกที่ดีที่สุดที่เขาพึงมี เมื่อพวกเขาต้องตัดสินใจว่าจะมีเพศสัมพันธ์ก่อนวัยอันควรหรือไม่ พวกเขาชั่งน้ำหนักระหว่างความสุขที่ได้จากการมีเพศสัมพันธ์ (Joy of Sex) กับต้นทุนของมัน ซึ่งก็คือโอกาสที่จะตั้งท้องไม่พร้อม และการมีลูกโดยที่ยังไม่พร้อมจะนำมาซึ่งต้นทุนอีกมหาศาลของผู้เป็นแม่ ทั้งลดโอกาสในการได้รับการศึกษาและได้งานทำที่ดี และยังลดโอกาสที่จะได้พบคู่ครองที่ดีในอนาคตด้วย เธอเองก็อาจจะรู้สึกอับอายและเสียชื่อเสียง แต่ในปัจจุบัน โอกาสตั้งท้องไม่พร้อมจากการมีเพศสัมพันธ์ก่อนวัยอันควรลดลงมาก เนื่องจากการคุมกำเนิดที่มีประสิทธิภาพและถูกนำมาใช้มากขึ้น ซึ่งก็ทำให้การตั้งท้องไม่พร้อมลดลงจริงๆ

“โฆษณาถุงยางอนามัยที่กำลังบอกว่าราคาของถุงยางหนึ่งกล่องประหยัดกว่าต้นทุนอื่นๆ มหาศาล”

ความรู้สึกว่าเป็นที่น่าอับอายของการมีเพศสัมพันธ์ก่อนวัยอันควรก็ลดลงเรื่อยๆ เช่นกัน การที่พ่อแม่คอยสั่งสอนลูกสาวว่าการมีเพศสัมพันธ์ก่อนวัยอันควรเป็นเรื่องที่ไม่ถูกต้องของลูกผู้หญิงก็เพราะพวกเขารู้ดีว่าการตั้งท้องไม่พร้อมอาจทำลายสิ่งดีดีในชีวิตของลุูกสาว แต่เมื่อการคุมกำเนิดดีขึ้น การตั้งท้องไม่พร้อมก็ลดลง โอกาสที่จะต้องอับอายก็ลดลง ความพยายามในการสั่งสอนของพ่อแม่ก็ดูเหมือนจะลดลง เช่นเดียวกับการอบรมสั่งสอนทางอ้อมของโบสถ์และรัฐก็ลดลงเพราะเหตุผลเดียวกัน

……….

งานของ Fernández-Villaverde et al. (2010) วิเคราะห์เรื่องนี้ในเชิงทฤษฎีด้วยแบบจำลอง Overlapping Generation Model (OLG) ที่คนรุ่นพ่อแม่จะต้องใช้ความพยายาม (Effort) ในการอบรมเลี้ยงดูลุูกเพื่อกำหนดทัศนคติเกี่ยวกับการตั้งท้องโดยไม่ได้ตั้งใจ โดยต้นทุนความอับอายของลูกจะขึ้นอยู่กับการอบรมของพ่อแม่ตามความพยายามของพวกเขา โดยถ้าวัยรุ่นตัดสินใจมีเพศสัมพันธ์ก่อนวัยอันควร พวกเขาจะเผชิญต้นทุนของโอกาสในการตั้งท้องไม่พร้อม

ข้อสรุปของแบบจำลองเป็นดังนี้

ประการแรก ในสภาวะที่ทุกอย่างคงที่ (Steady State) แบบจำลองพบว่า ผู้หญิงที่มีการศึกษาสูงจะมีแนวโน้มการมีเพศสัมพันธ์ก่อนวัยอันควรน้อยกว่าผู้หญิงที่มีการศึกษาต่ำ (ดูรูปที่ ๓) และพ่อแม่ที่มีการศึกษาสูงกว่าจะใช้เวลาในการอบรมสั่งสอนลูกมากกว่า ซึ่งทำให้ต้นทุนการมีเพศสัมพันธ์ก่อนวัยอันควรของลูกสูงขึ้น (ดูรูปที่ ๔) โดยข้อค้นพบนี้สอดคล้องกับความเป็นจริงของสหรัฐฯ

“รูปที่ ๓ ความสัมพันธ์ระหว่างผุู้หญิงที่มีเพศสัมพันธ์ก่อนวัยอันควรที่ระดับการศึกษาต่างๆ กัน แบบจำลองและข้อมูลจริง”

“รูปที่ ๔ ความสัมพันธ์ระหว่างเวลาที่พ่อแม่ใช้ในการอบรมสั่งสอนลูกที่ระดับการศึกษาต่างๆ กัน แบบจำลองและข้อมูลจริง”


ประการที่สอง เมื่อเวลาผ่านไป ต้นทุนการคุมกำเนิดลดลง พ่อแม่ก็ใช้ในการอบรมสั่งสอนลูกลดลง (Socialization) มีผลต่อการเพิ่มขึ้นของการมีเพศสัมพันธ์ก่อนวัยอันควรและการมีลูกโดยไม่ได้ตั้งใจ (ดูรูปที่ ๕) แต่ถ้าการใช้เวลาสั่งสอนของพ่อแม่ไม่ลดลงมากเท่าที่เป็นอยู่ สมมติว่าพ่อแม่ใช้ความพยายามสั่งสอนลูกเหมือนกับช่วงปี 1900 การมีเพศสัมพันธ์ก่อนวัยอันควรก็จะมีเพียง 40% ของสถานการณ์ปัจจุบันเท่านั้น

“รูปที่ ๕ การลดลงของการอบรมสั่งสอนโดยพ่อแม่กับการมีลูกโดยไม่ได้ตั้งใจ”


ประการสุดท้าย การมีบุตรโดยไม่ได้ตั้งใจเป็นต้นทุนของรัฐกับโบสถ์ที่ต้องคอยดูแลแม่ที่ไม่พร้อมในรูปแบบของการกุศล รัฐกับโบสถ์จึงต้องพยายามปรับเปลี่ยนทัศนคติของคนในสังคมเพื่อลดต้นทุนการตั้งท้องไม่พร้อม และเมื่อการคุมกำเนิดมีประสิทธิภาพมากขึ้น ต้นทุนเหล่านี้ลดลง รัฐกับโบสถ์จึงสนใจทำหน้าที่นี้ลดลง และการมีเพศสัมพันธ์ก่อนวัยอันควรก็สูงขึ้นตามมา (ดูรูปที่ ๖)

“รูปที่ ๖ การอบรมสั่งสอนโดยโบสถ์และพ่อแม่”

……….

ในกรณีของตะวันตก วัยรุ่นหญิงมีเพศสัมพันธ์ก่อนวัยอันควรมากขึ้น พร้อมๆ กับการคุมกำเนิดที่ถูกนำมาใช้มากขึ้น แต่กรณีของประเทศไทย เราอาจรับวัฒนธรรมทางตะวันตกมาไม่ครบทั้งหมด ข้อมูลจากศูนย์วิจัยและฝึกอบรมด้านเพศภาวะและสุขภาพสตรีมหาวิทยาลัยขอนแก่น (มข.) ทำการสำรวจหญิงตั้งครรภ์ที่มีอายุต่ำกว่า 20 ปี ที่มารับบริการด้านสูตินรีเวชในโรงพยาบาลชุมชน หรือโรงพยาบาลศูนย์ใน 7 จังหวัดตัวอย่าง จำนวน 3,114 คน พบว่า ส่วนใหญ่เป็นนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาตอนต้น รองลงมาคือชั้นมัธยมศึกษาตอนปลาย มีเพศสัมพันธ์ครั้งแรกเมื่ออายุ 15 ปี และตั้งครรภ์ที่อายุน้อยที่สุดคือ 11 ปี โดย 62.9% สอดคล้องกับข้อมูลของ ดร.อมรวิช นาครทรรพ ผู้อำนวยการสถาบันรามจิตติ ที่พบว่า ในช่วงปี 2548-2549 เด็กนักเรียนมัธยมศึกษาถึงอุดมศึกษา มีเพศสัมพันธ์ถึงร้อยละ 20 เพิ่มขึ้นจากร้อยละ 16 ในช่วง 2-3 ปีก่อนหน้านั้น และในกลุ่มนี้ร้อยละ 30 เคยมีเพศสัมพันธ์มาก่อนอยู่แล้ว จึงชี้ให้เห็นอย่างชัดเจนว่า เพศสัมพันธ์ก่อนวัยอันควรของสังคมไทยเพิ่มสูงขึ้นเรื่อยๆ

แล้วมันเป็นผลข้างเคียงของการคุมกำเนิดที่ดีขึ้นใช่หรือไม่? ในกรณีของสังคมไทยอาจจะไม่ ศูนย์วิจัยและฝึกอบรมด้านเพศภาวะและสุขภาพสตรีมหาวิทยาลัยขอนแก่น พบว่า 33.9% ไม่มีการคุมกำเนิดในการมีเพศสัมพันธ์ครั้งแรก และผู้ที่ตั้งท้อง 70% เป็นการตั้งท่้องโดยไม่ตั้งใจ ในจำนวนผู้ที่ตั้งท้องประมาณ 8% ไม่ได้บอกให้แฟนทราบ สอดคล้องกับรายงานสำรวจของสถาบันประชากรและสังคมในปี 2003 พบว่า วัยรุ่นที่มีเพศสัมพันธ์โดยใช้ถุงยางอนามัยมีเพียง 20% เท่านั้น ผลก็คือประเทศไทยกลายเป็นประเทศในลำดับต้นๆ ของเอเชียที่มีปัญหาวัยรุ่นตั้งครรภ์ไม่พร้อมและวัยรุ่นคลอดลูกจำนวนมาก (จากข้อมูลของ UNICEF ในปี 2003 พบ่วา ค่าเฉลี่ยของวัยรุ่นไทยที่มีลูกอยู่ที่ 70 ต่อพันคนของหญิงวัย 15-19 ปี ปัจจุบันเพิ่มขึ้นเป็น 90 ต่อพัน หรือวันละเกือบ 200 คน ในขณะที่ค่าเฉลี่ยทั่วทวีปเอเชียอยู่ที่ 56 ต่อพันคนของหญิงวัย 15-19 ปี และค่าเฉลี่ยทั่วโลกอยู่ที่ 65 ต่อพันคนของหญิงวัย 15-19 ปีเท่านั้น) นั่นย่อมหมายความว่า วัยรุ่นไทยให้ความสนใจเฉพาะความสุขที่ได้จากการมีเพศสัมพันธ์ (Joy of Sex) เท่านั้น โดยเกี่ยวข้องกับต้นทุนการคุมกำเนิดที่ลดลงน้อยมาก

(ที่มาของภาพ)

……….

ประเด็นนี้ได้ชี้ให้เห็นพัฒนาการที่สมเหตุสมผลทางเศรษฐศาสตร์บางมิติโดยเฉพาะในฝั่งตะวันตก ค่านิยมของสังคมที่เห็นว่าการมีเพศสัมพันธ์ก่อนวัยอันควรว่าเป็นเรื่องไม่เหมาะสมที่ลดลงไปนั้น มาจากประสิทธิภาพที่ดีขึ้นและต้นทุนการคุมกำเนิดที่ลดลง จนวัยรุ่นส่วนใหญ่สามารถเข้าถึงได้โดยง่าย สืบเนื่องต่อไปยังแรงจูงใจที่ลดลงในการอบรมสั่งสอนของพ่อแม่ โบสถ์และรัฐที่เคยเป็นผู้แบกรับต้นทุนการมีลูกโดยไม่ตั้งใจ ซึ่งพวกเขาก็ลดการอบรมสั่งสอนลงจริงๆ นั่นหมายความว่า เกิดการได้อย่างเสียอย่าง (Trade-off) ของการตั้งท้องโดยไม่ตั้งใจที่ลดลงกับการมีเพศสัมพันธ์ก่อนวัยอันควร อันเนื่องมาจากประสิทธิภาพในการคุมกำเนิดที่ดีขึ้น จนทำให้วัยรุ่นสามารถแสวงหาความสุขจากการมีเพศสัมพันธ์ได้ด้วยต้นทุนการดำเนินชีวิตที่ลดลง

ขณะที่ปัญหาของประเทศไทยกลับต่างออกไป เพราะไม่ใช่ประเด็นเรื่องของการได้อย่างเสียอย่าง เนื่องจากทั้งการตั้งท้องโดยไม่ตั้งใจ (เพราะไม่คุมกำเนิด) และการมีเพศสัมพันธ์ก่อนวัยอันควรต่างก็เพิ่มขึ้น ประเด็นที่แตกต่างนี้น่าจะทำให้สังคมลองช่วยกันคิดว่าเกิดอะไรขึ้น เช่น อาจจะเป็นเพราะการรณรงค์เรื่องการใช้ถุงยางอนามัยไม่ประสบความสำเร็จ การปิดกั้นความรู้ทางเพศอย่างไม่เป็นทางการ และที่สำคัญ แนวทางแก้ปัญหาการมีเพศสัมพันธ์ก่อนวัยอันควรของตะวันตกคงจะนำมาใช้กับสังคมของเราไม่ได้เลยทีเดียว

เพื่อนสามารถติดตามตอนที่สอง เพศสัมพันธ์ก่อนวัยอันควร: “พ่อแม่ไม่สั่งสอน” หรือ “คบเพื่อนไม่ดี” กันแน่? ได้เช่นกันครับ






ที่มา:
- ศิริพร จิรวัฒน์กุล (2555), ผลวิจัยแม่วัยใส มีเซ็กส์ครั้งแรกไม่ป้องกัน 33.9%. ออนไลน์ที่นี่.
- mootie (2551), วัยรุ่นกับเพศสัมพันธ์. ออนไลน์ที่นี่.
- Jeremy Greenwood, Jesús Fernández-Villaverde, Nezih Guner (2010) From shame to game in one hundred years: An economic model of the rise in premarital sex and its de-stigmatisation. online here.
- Jesús Fernández-Villaverde, Jeremy Greenwood, Nezih Guner (2010) From shame to game in one hundred years: An economic model of the rise in premarital sex and its de-stigmatisation. NBER Working Paper 15677.

featured image from here

  • http://www.facebook.com/zaklowza เกล้า ไอ้หัวฟู

    วัยรุ่นไทยยังอายกับการเข้าไปซื้อถุงยางอนามัยตามร้านสะดวกซื้อเยอะอยู่นะ เพราะสังคมเรายอมรับไม่ได้ในการมีเพศสัมพันธ์อย่างเปิดเผย ทำให้ไม่ได้ทำในสิ่งที่ควรจะทำ ไม่รู้สึกผิดในการที่จะมีเพศสัมพันธ์ แต่กลับรู้สึกผิดกับการเดินเข้าไปซื้อถุงยาง

  • http://www.facebook.com/KornnarongP Kornnarong Pakdeepan

    ประเทศเรามีภาพมายาคติของค่านิยมอันดีงามมากเกินไป จนทำให้บางสิ่งบางอย่างที่สมควรจะต้องเปิดเผย ไม่สามารถเปิดเผยได้

    • Keng watthong

      นั่นถือว่าเป็นสาเหตุให้เยาวชนไทยท้องก่อนวัยอันควรมากขึ้นครับ แต่เยาวชนชาวไทยเชื้อสายจีนรู้จักการคุมกำเนิดมากขึ้นเพราะอากอาม่าจะตรวจสอบผลการเรียนเรื่องเพศศึกษาของอาตี๋อาหมวยครับ

  • http://www.facebook.com/profile.php?id=653673696 ORn PHk

    เรารับวัฒนธรรมตะวันตกมาแบบไม่กลั่นกรอง ทั้งจากภาพยนตร์ มิวสิควีดีโอ…พ่อแม่ให้เวลาพูดคุยและเปิดใจกับลูกน้อยไป…
    รัฐดึงวัดและศาสนาออกจากโรงรียน ทำให้การอบรมเรื่องศีลธรรมน้อยลง (ถึงแม้นเด็กอาจจะเบื่อ แต่มันเป็นการหล่อหลอมหัวใจเขาได้ไม่มากก็น้อย)…..หลายสาเหตุ

  • Pingback: เพศสัมพันธ์ก่อนวัยอันควร: “พ่อแม่ไม่สั่งสอน” หรือ “คบเพื่อนไม่ดี” กันแน่? – [เสด-ถะ-ส

  • Keng watthong

    ต้องการให้เยาวชนดอนเมืองเรียนเรื่องเพศศึกษากับชมรมเพศศึกษาอาเซียน โปรดเลือก แทนคุณ จิตต์อิสระ เบอร์ 8 พรรคประชาธิปัตย์