tv_licence

ใครเชื่อ “สิ่งที่นายกฯพูด”บ้าง ยกมือขึ้น?

ในอิตาลี อดีตนายกฯ Berlusconi ซึ่งเป็นเจ้าของสื่อทีวีร้อยละ 90 ออกทีวีบ่อยมากๆ แต่มีคนให้คะแนนความน่าเชื่อถือของเขาเพียง 2 เต็ม 10 เท่านั้น แต่เมื่อถามต่อ กลับพบว่าคนเชื่อถือสื่อทีวีถึง 6 เต็ม 10 แต่เขาก็ชนะการเลือกตั้งมาหลายครั้ง คนไม่เชื่อ Berlusconi แล้วเขาเชื่ออะไรในสื่อทีวีกัน

……….


ก่อนอื่นต้องออกตัวก่อนว่า นี่ไม่ใช่งานศึกษาเกี่ยวกับประเทศไทย แต่เป็นกรณีศึกษาของประเทศอิตาลี ซึ่งสถานการณ์ในช่วงที่มีนายกรัฐมนตรีชื่อ Silvio Berlusconi มีความใกล้เคียงกับประเทศไทยมาก [และไม่ได้มีความเกี่ยวข้องว่าพรรคการเมืองใดเป็นรัฐบาล เนื่องจากเป็นการศึกษาในภาพรวมของสื่อทีวีที่ให้ข้อสรุปที่น่าสนใจเท่านั้น]

Silvio Berlusconi ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีครั้งแรกในปี 1994 โดยดำรงตำแหน่งทั้งสิ้นสามสมัย(ไม่ต่อเนื่องกัน) หากนับเวลารวมแล้ว เขาเป็นนายกรัฐมนตรีที่ดำรงตำแหน่งยาวนานที่สุดของอิตาลีเป็นอันดับที่สองรองจาก Benito Mussolini ทั้งๆ ที่ส่วนมากนายกฯแต่ละคนจะอยู่ในตำแหน่งได้แค่เพียงช่วงเวลาสั้นๆ เท่านั้น

“Silvio Berlusconi บนปก Rolling Stone”


นอกจากนี้ Berlusconi ยังมีประวัติเกี่ยวกับการฟอกเงิน การปลอมบัญชี การโกงภาษี การให้ความร่วมมือกับมาเฟีย การคอรัปชั่น การติดสินบนผู้พิพากษาและตำรวจ รวมไปถึงการซื้อประเวณีเด็กผู้หญิง จน The Economist ถึงกับเคยเขียนบทความที่มีข้อความว่า “ไม่น่าเชื่อว่าคนที่มีประวัติเช่นนี้จะกลายมาเป็นนายกรัฐมนตรีได้” (The Economist, 2001)

……….

แล้วคนที่มีประวัติโชกโชนขนาดนี้ ทำไมจึงกลายมาเป็นนายกฯของหนึ่งในประเทศที่มีการพัฒนาระบอบประชาธิปไตยสูงอย่างอิตาลีได้ บางสำนักอ้างถึงความสำเร็จของนโยบายประชานิยมและการซื้อเสียง ขณะที่สำนักที่ไม่เห็นด้วยจะอ้างว่า ทุกพรรคการเมืองก็เสนอนโยบายประชานิยมและก็ซื้อเสียงเหมือนๆ กัน หากกระบวนการนี้เป็นปัจจัยที่ของความสำเร็จแล้ว ทำไมพรรคการเมืองอื่นจึงไม่ชนะการเลือกตั้ง [น่าสังเกตว่า ฝ่ายที่ไม่เห็นด้วยไม่ได้ค้านว่า Berlusconi ไม่ได้ทำตามที่ถูกอ้าง]

หลายสำนักเห็นตรงกันว่า ปัจจัยที่ส่งผลให้ Berlusconi ขึ้นสู่ตำแหน่งได้คือ การที่เขาเป็นเจ้าของอาณาจักรสื่อ Mediaset ซึ่งเป็นเจ้าของทีวีเอกชนเกือบทั้งหมด และยังมีบทบาททางอ้อมในการควบคุม RAI (Radio Televisione Italia) ช่องทีวีของรัฐบาลด้วย นั่นคือ สื่อทีวีกว่าร้อยละ 90 อยู่ในมือของเขาคนเดียว

สื่อทีวีจะช่วยเอื้อประโยชน์ให้กับคนที่มีประวัติโชกโชนได้มากขนาดนี้เเชียวหรือ? Sabatini (2011) ตอบคำถามนี้โดยหาว่าความเชื่อถือ (Trust) ที่มีต่อตัว Berlusconi ถูกกำหนดจากความเชื่อถือของสื่อทีวีหรือไม่ ด้วยวิธีการประมาณค่า Probit และ Instrumental Variable โดยเก็บข้อมูลจากประชาชน 817 คน ในเมือง Trento ช่วงเดือนมีนาคม 2011

แบบสอบถามของ Sabatini (2011) เป็นแบบสเกลจาก 1 ถึง 10 เช่น ถามว่า “คุณคิดว่านายกรัฐมนตรีมีความน่าเชื่อถือแค่ไหน?” หรือ “คุณคิดว่าสื่อทีวีมีความน่าเชื่อถือแค่ไหน?” โดย 1 หมายถึง “ไม่น่าเชื่อถือเลยสักนิดเดียว” และ 10 หมายถึง “เชื่อถือได้เต็มที่”

……….

ผลการสำรวจแสดงค่าเฉลี่ยในคอลัมน์ที่สามได้ตามตารางที่ ๑ คือ ความน่าเชื่อถือในตัวนายกรัฐมนตรี Berlusconi มีค่าเฉลี่ยเพียง 2.3 เต็ม 10 เท่านั้น [อย่าลืมว่าค่าที่ต่ำที่สุดคือ 1 ไม่ใช่ 0 นะครับ] นั่นคือ แทบไม่มีใครเชื่อถือนายกฯเลย ขณะที่ความน่าเชื่อถือของสื่อทีวี และระบบศาลยุติธรรมอยู่ที่ 5.9 และ 6.2 ตามลำดับ ซึ่งเป็นตัวเลขที่ค่อนข้างสูงทั้งคู่

“ตารางที่ ๑ ค่าเฉลี่ยของความน่าเชื่อถือในแต่ละเรื่องที่ถูกถาม”


ผลการประมาณค่า Probit ในตารางที่ ๒ แสดงให้เห็นประเด็นที่น่าสนใจสองประการ หนึ่งคือ ความน่าเชื่อถือของสื่อทีวีมีผลบวกต่อความน่าเชื่อถือในตัวนายกฯอย่างมีนัยสำคัญ ขณะที่ความน่าเชื่อถือของระบบศาลยุติธรรมกลับส่งผลลบต่อความน่าเชื่อถือในตัวนายกฯอย่างมีนัยสำคัญเช่นกัน

“ตารางที่ ๒ ผลการประมาณค่าสมการแบบ Probit”

……….

อาจมีข้อโต้แย้งว่า เนื่องจาก Berlusconi เป็นเจ้าของสื่อทีวีเกือบทั้งหมด สื่อทีวีอาจไม่ใช่ปัจจัยที่ทำให้คนเชื่อถือในตัว Berlusconi แต่เป็นเพราะคนเชื่อถือในตัว Berlusconi ต่างหากจึงเชื่อถือสื่อทีวี [คล้ายๆ กับการที่คนที่เชื่อถือในตัวคุณสนธิ ลิ้มทองกุลจึงเชื่อถือใน ASTV ด้วย หรือการที่คนที่เชื่อถือในตัวคุณสุทธิชัย หยุ่นจึงเชื่อถือใน Nation TV ด้วย]

Sabatini (2011) จึงใช้การประมาณค่าแบบ Instrumental Variable โดยตัวแปรเครื่องมือที่กำหนดความน่าเชื่อถือของสื่อทีวีคือ คุณภาพของเพื่อน (Quality of Friendships) เพราะเพื่อนที่ดีจะทำให้เกิดการแลกเปลี่ยนข้อมูลอย่างเหมาะสมและรอบด้าน และความน่าเชื่อถือของสื่อหนังสือพิมพ์ เพราะหนังสือพิมพ์จะให้ข้อมูลที่หลากหลายและต้องอาศัยความคิดมากกว่าสื่อทีวี โดยทั้งสองตัวแปรมีความสัมพันธ์กับความน่าเชื่อถือของสื่อทีวีในทางลบ

ผลการประมาณค่าสมการแบบ Instrumental Variable ไม่แตกต่างจากผลการประมาณค่าแบบ Probit กล่าวคือ ความน่าเชื่อถือของสื่อทีวียังคงมีผลบวกต่อความน่าเชื่อถือในตัวนายกฯอย่างมีนัยสำคัญ

“ตารางที่ ๒ ผลการประมาณค่าสมการแบบ Instrumental Variable”

ข้อค้นพบของ Sabatini (2011) ตรงไปตรงมาคือ สื่อทีวีมีอิทธิพลอย่างมากต่อความน่าเชื่อถือของตัวนายกฯ นั่นคือ เปลี่ยนถูกเป็นผิดและผิดเป็นถูกได้ ดังนั้น การมีสื่อทีวีที่มีอิสระและเสรีภาพจึงเป็นเรื่องสำคัญต่อการพัฒนาประชาธิปไตย

……….

โดยสรุป ความน่าเชื่อถือในตัวนายกรัฐมนตรี Berlusconi เองนั้นเองมีค่าเฉลี่ยเพียง 2.3 ขณะที่ความน่าเชื่อถือของสื่อทีวีมีค่า 5.9 ซึ่งสูงกว่าตัวนายกฯมาก คนไม่เชื่อ Berlusconi แล้วคนเชื่ออะไรในสื่อทีวี?

บทบาทสำคัญที่มีผลต่อความน่าเชื่อถือในสื่อทีวีคือ “พิธีกร” เช่น Berlusconi ตอบคำถามเรื่องหนี้ยุโรปว่า “รัฐบาลจะแก้ปัญหาวิกฤตหนี้ของอิตาลีให้ได้” พิธีกรคนที่หนึ่งหัวเราะหึหึ แล้วพูดว่า “ก็เห็นพูดแบบนี้ตลอด แต่ไม่เคยทำได้” กับพิธีกรคนที่สองไม่ได้หัวเราะ และพูดว่า “เป็นความตั้งใจจริงของนายกฯ พวกเราคงต้องเอาใจช่วย”

คำพูดของนายกฯนั้นเป็นกลาง เพราะมีแต่ข้อมูลโดยไม่มีความคิดเห็นใดใด ที่สำคัญ เอาเข้าจริงแทบไม่มีใครจำสิ่งที่นายกฯพูดได้เลยด้วยซ้ำ แต่คำพูดและโดยเฉพาะความรู้สึกที่เกิดจากคำพูดของพิธีกรต่างหากที่คนจำได้ ซึ่งส่วนต่างของความน่าเชื่อถือระหว่างสื่อทีวีกับตัวนายกฯส่วนหนึ่งก็มาจากความน่าเชื่อถือของตัวพิธีกรนั่นเอง

ดังนั้น ความไม่เป็นกลางของสื่อทีวีมีอิทธิพลสูงมากจากคำพูดรับและส่งของพิธีกรในรายการ และนี่เป็นสิ่งที่สังคมเองต้องให้ความระวังไม่น้อยไปกว่าที่ว่า สื่อทีวีจะเสนอข่าวอะไรและอย่างไร






ที่มา:
Fabio Sabatini (2011) “Who trusts Berlusconi? An econometric analysis of the role of television in the political arena” EERI Research Paper Series No 09/2011.
The Economist, “An Italian story”, published in the issue of April 28th 2001.