football 2

โอกาสชนะของ “ฟุตบอลทีมชาติ” ขึ้นอยู่กับอะไรบ้าง?

หากมองการซื้อขายตัวนักเตะตามราคาตลาดเป็นมูลค่าการส่งออกและนำเข้าสินค้า (Export-Import) แล้วมองอันดับของทีมชาติตามการจัดของ FIFA เป็นผลประกอบการของประเทศ เช่นนี้แล้วการซื้อขายตัวนักเตะจะทำให้ประเทศนั้นๆ เกิดผลได้ทางการค้า (Gain from Trade) หรือไม่

……….


ละแล้วศึกฟุตบอลยูโร ในนามของการแข่งขันระหว่างทีมชาติยุโรปก็เริ่มต้นขึ้น แม้ว่าอาจจะไม่ได้มีจำนวนประเทศที่เข้าร่วมมากเหมือนฟุตบอลโลก แต่ในเรื่องของความเข้มข้นของการแข่งขันแล้ว คงไม่ต่างกันมากนัก

บทความนี้ของ [เสด-ถะ-สาด].com ขอเสนอมุมมองเศรษฐศาสตร์เกี่ยวกับเรื่องของฟุตบอล แม้ว่าจะไม่มีบทความที่วิเคราะห์เกี่ยวกับฟุตบอลยูโร (UEFA) โดยตรง อันเนื่องมาจากข้อมูลหลักๆ มาจาก FIFA ซึ่งเป็นฟุตบอลโลกเสียมากกว่า แต่ก็คงให้มุมมองของคนที่สนใจได้ไม่มากก็น้อย

ขอเริ่มจากงานที่ให้ภาพกว้างของเศรษฐศาสตร์ว่าด้วยฟุตบอลอย่าง Torgler (2004) ที่ทำการการประมาณค่าสมการความน่าจะเป็นที่ทีมจะชนะในการแข่งขัน (Win/Not-to-Win Function) โดยใช้ข้อมูลผลการแข่งขันฟุตบอลโลกในปี 2002 (ประเทศญี่ปุ่นและเกาหลีเป็นเจ้าภาพ) จำนวน 63 จาก 64 นัด (Torgler ตัดเอานัดชิงชนะเลิศออก เนื่องจากเป็นนัดที่มีการกดดันสูงและมีปัจจัยอื่นจำนวนมากที่อยู่นอกเหนือจากการควบคุม)

Torgler (2004) จำแนกปัจจัยต่างๆ เป็น 3 ด้าน และได้ผลการประมาณค่าตามตารางที่ ๑ ได้แก่

ด้านที่ 1: จุดแข็งของทีม (Strength of the Team) โดยจำแนกเป็นสองตัวแปรคือ
1.1) อันดับของทีมจากการจัดอันดับของ FIFA พบว่า ทีมที่มีอันดับสูงกว่าหนึ่งอันดับจะมีแนวโน้มที่จะชนะเพิ่มขึ้นร้อยละ 0.8 และ
1.2) การเป็นเจ้าภาพ พบว่า การเป็นเจ้าภาพส่งผลทำให้ทีมที่เป็นเจ้าภาพมีโอกาสชนะเพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 48.7

ด้านที่ 2: ศักยภาพของทีมระหว่างทำการแข่งขัน (Performance during the game) โดยแบ่งเป็น 2.1) จำนวนการยิงประตูเข้ากรอบ 2.2) จำนวนการฟาล์ว 2.3) จำนวนการเตะลูกจุดโทษ 2.4) จำนวนการเตะฟรีคิก 2.5) จำนวนที่ล้ำหน้า 2.6) จำนวนใบเหลือง และ 2.7) การไล่ออกจากสนาม พบว่า ปัจจัยที่มีผลอย่างมีนัยสำคัญต่อชัยชนะมีเพียงจำนวนการยิงประตูเข้ากรอบ (Shot on Goal) โดยจะเพิ่มโอกาสให้ทีมนั้นชนะร้อยละ 7.5 และ การไล่ออกนอกสนาม (Expulsions) โดยจะเพิ่มโอกาสที่จะแพ้ถึงร้อยละ 26.5

ด้านที่ 3: อิทธิพลจากผู้ตัดสิน (Influence of a referee) โดยแบ่งเป็น 3.1) การที่ผู้ตัดสินมาจากภูมิภาคเดียวกับทีมที่ทำการแข่งขัน และ 3.2) การที่ผู้ตัดสินพูดภาษาเดียวกับทีมที่ทำการแข่งขัน โดยพบว่าหากเป็นผู้ตัดสินที่มาจากภูมิภาคเดียวกันจะส่งผลให้ทีมนั้นชนะมากขึ้นถึงเกือบร้อยละ 20 แต่ผลที่ได้ก็ยังไม่แน่ชัดมากนัก

“ตารางที่ ๑ ผลการประมาณค่าสมการโอกาสชนะของทีมชาติตามแนวคิด Torgler”

……….

ขณะที่งานของ Baur and Lehmann (2008) ทำการศึกษาในประเด็นเฉพาะที่ว่า การซื้อขายตัวนักเตะมีผลทำให้ทีมชาติแข็งแกร่งขึ้นหรือไม่ โดยเขาวัดความแข็งแกร่งของทีมชาติจากการจัดอันดับโดย FIFA ด้วยข้อมูลของราคาตลาดของนักเตะกว่า 700 คนใน 32 ทีมที่มีโอกาสเข้าไปแข่งขันในฟุตบอลโลกปี 2006 ที่ประเทศเยอรมนี

Baur and Lehmann (2008) ทำการวิเคราะห์ทั้งในแง่ของนักเตะของประเทศเจ้าบ้านที่ไปเล่นที่อื่น หรือการส่งออกตัวนักเตะ (Exports) และนักเตะของประเทศอื่นที่มาเล่นให้เจ้าบ้าน หรือการนำเข้าตัวนักเตะ (Imports) แล้วดูว่าประเทศที่มีการส่งออก-นำเข้าตัวนักเตะที่แตกต่างกันนั้น มีผลได้ทางการค้า (Gain from Trade) ต่างกันหรือไม่

สำหรับข้อมูลทั่วไปในช่วงปี 2006 พบว่า นักเตะที่มีราคาสูงที่สุดคือ Ronaldhinho, Shevchenko และ Thierry Henry ตามลำดับ (ดูตารางที่ ๒)

“ตารางที่ ๒ ราคาตลาดของนักเตะในปี 2006″


หากพิจารณาความสัมพันธ์ระหว่างจำนวนการส่งออกตัวนักเตะ (แกนตั้ง) และจำนวนการนำเข้านักเตะ (แกนนอน) ในภาพที่ ๑ จะพบว่า Cote d’Ivoire เป็นประเทศที่มีการส่งออกนักเตะจำนวนมากที่สุด รองลงมาคือ Czechia ขณะที่ England และ Germany เป็นประเทศที่มีการนำเข้าตัวนักเตะมากที่สุด

“ภาพที่ ๑ การส่งออกและนำเข้าตัวนักเตะของทีมชาติ”

……….

ผลการประมาณค่าสมการตามตารางที่ ๓ แสดงได้ชัดเจนว่า ทั้งการส่งออกและการนำเข้านักเตะจะส่งผลให้ตัวเลขอันดับของทีมชาติมีค่าลดลง (หมายถึงอันดับดีขึ้น) นั่นคือ การส่งออกและนำเข้านักเตะก่อให้เกิดผลได้ (Gain from Trade) สอดคล้องกับแนวคิดทางด้านการค้าระหว่างประเทศ โดยที่การส่งออกดูเหมือนว่าจะให้ผลดีมากกว่าการนำเข้าอีกด้วย

“ตารางที่ ๓ ผลการประมาณค่าสมการอันดับของทีมชาติกับการส่งออก-นำเข้าตัวนักเตะ”

……….

แม้ว่าความเป็นฟุตบอลซึ่งเป็นกีฬาลูกกลมๆ จะยากที่จะทำนายผลได้ แต่การนำเศรษฐศาสตร์มาประยุกต์ใช้ก็อาจจะให้มุมมองใหม่ๆ แก่เพื่อนๆ ที่อ่านบทความนี้และทำให้ดูฟุตบอลสนุกกันมากขึ้นนะครับ ^^






ที่มา:
พิริยะ ผลพิรุฬห์ (2006) วิเคราะห์ “บอลโลก” ในแนวทางของ “เศรษฐศาสตร์”, ออนไลน์ที่ http://piriya-pholphirul.blogspot.com/2006/06/blog-post_04.html.
Baur, Dirk G. and Lehmann, Sibylle, (2007) Does the Mobility of Football Players Influence the Success of the National Team? (April 2007). IIIS Discussion Paper No. 217.
Torgler, Benno, (2004) The Economics of the FIFA Football Worldcup, KYKLOS, Vol. 57 – 2004 – Fasc. 2, 287–300.

  • http://twitter.com/Piboonrungroj Pairach

    มีอีกวิธีที่ได้ผลแม่นยำกว่า ในการแข่งขันบอลโลก2010 และEURO 2008 ที่ผ่านมาด้วยครับ
    ใช้ Expert data จาก Bookmakers แล้ว Simulation ครับ

    ลองดูรายละเอียดการพยากรณ์ ยูโร 2012 จาก link นี้นะครับ :)

    EURO 2012 Forecast: Spain will beat Germany in the Final again!
    http://pairach.com/2012/06/08/euro2012/

    • http://setthasat.com/ [เสด-ถะ-สาด]

      น่าสนใจจริงด้วยครับ ^^