ip5(1)

“Design by APPLE in California, Assembled in China” สหรัฐฯ ได้หรือขาดดุลการค้ากับจีนกันแน่?

สินค้าที่ประเทศหนึ่งเป็นเจ้าของ แต่ผลิตหรือประกอบที่ประเทศอื่น จะส่งผลอย่างไรต่อดุลการค้าหรือทั้งระบบเศรษฐกิจ กรณีของ iPhone เป็นตัวอย่างที่ดีต่อการตอบคำถามนี้ รวมไปถึงนโยบายที่ควรจะเป็น ผลประโยชน์ของประเทศ และแรงกดดันต่ออัตราแลกเปลี่ยนของจีน

……….


ลอดช่วงที่ผ่านมา ความไม่สมดุลของการค้าโลก (Global Trade Imbalance) อยู่ที่ขั้วการค้าระหว่างสหรัฐฯ และจีนเป็นหลัก โดยสหรัฐฯ กล่าวโทษไปที่นโยบายอัตราแลกเปลี่ยนของจีนว่าอ่อนค่าเกินไป มากกว่าที่จะเป็นเรื่องของปัจจัยทางเศรษฐกิจมหภาคอื่นๆ

ภาพที่ ๑ แสดงให้เห็นมูลค่าการขาดดุลการค้าของสหรัฐฯ จากจีนอย่างต่อเนื่อง โดย Apple เริ่มย้ายฐานการผลิตไปอยู่ที่จีนตั้งแต่ปี 2002 และแน่นอนว่า เมื่อ Apple เติบโตขึ้นเรื่อยๆ จนกลายเป็นบริษัทที่ใหญ่ที่สุดในโลกอย่างในปัจจุบัน (2012) มูลค่าการขาดดุลการค้าดังกล่าวก็ขยายตัวด้วยเช่นกัน

“ภาพที่ ๑ มูลค่าการขาดดุลการค้าของสหรัฐฯ จากจีน (เส้นสีแดง) (Economic Policy Institute, 2012)”


บริษัท Apple จัดตั้งขึ้นเมื่อปี 1975 แต่ประสบความสำเร็จอย่างมากจากสินค้ากลุ่ม iPod, MacBook, iPhone และ iPad โดยราคาหุ้นของ Apple สูงที่สุดในวันที่ 10 สิงหาคม 2010 ที่ $249.88 ต่อหุ้น โดยรายละเอียดพัฒนาการของบริษัท Apple ดูได้จากรูปที่ ๒

“รูปที่ ๒ พัฒนาการของบริษัท Apple” (ที่มาของภาพ)


Xing and Detert (2011) ได้ยกเอากรณีตัวอย่างของ iPhone ที่ทุกเครื่องสลักข้อความไว้ข้างหลังว่า “Design by APPLE in California, Assembled in China” มาอธิบายให้เห็นภาพว่า แท้จริงแล้ว สหรัฐฯ ได้ดุลหรือขาดดุลการค้ากับจีนกันแน่

……….

ทำความเข้าใจการผลิต iPhone กันก่อน

iPhone ได้รับการออกแบบ ทำตลาดและบริหารจัดการซอฟแวร์โดย Apple ใน California ส่วนกระบวนการอื่นที่เหลือผลิตนอกสหรัฐฯ โดยบริษัทที่เกี่ยวข้องโดยตรงกับกระบวนการผลิตมีจำนวน 9 บริษัทในประเทศจีน เกาหลีใต้ ญี่ปุ่น เยอรมนี และสหรัฐฯ เอง (ดูตารางที่ ๑) จากนั้นชิ้นส่วนจากประเทศต่างๆ ทั้งหมดจะถูกส่งมาประกอบที่เดียวคือ Foxconn บริษัทสัญชาติไต้หวันในประเทศจีน แล้ว Foxconn นี่เองที่เป็นผู้ส่งออก iPhone ไปยังสหรัฐฯ และประเทศอื่นๆ ทั่วโลก

“ตารางที่ ๑ ต้นทุนและชิ้นส่วนในการผลิต iPhone 3G (ข้อมูลของ iPhone 4 ต่างจากนี้ไม่มากนัก)”

Manufacturer Component Cost
Toshiba (Japan) Flash Memory $24
Display Module $19.25
Touch Screen $16.00
Samsung (Korea) Application Processor $14.46
SDRAM-Mobile DDR $8.50
Infineon (Germany) Baseband $13.00
Camera Module $9.55
RF Transceiver $2.80
GPS Receiver $2.25
Power IC RF Function $1.25
Broadcom (USA) Bluetooth/FM/WLAN $5.95
Numonyx (USA) Memory MCP $3.65
Murata (Japan) FEM $1.35
Dialog Semiconductor (Germany) Power IC Application Processor Function $1.30
Cirrus Logic (USA) Audio Codec $1.15
Rest of Bill of Materials $48.00
Total Bill of Materials $172.46
Manufacturing costs $6.50
Grand Total $178.96


นี่คือเหตุผลของประโยคที่ว่า “Design by APPLE in California, Assembled in China” เพราะสามารถระบุได้แค่สองกระบวนการนี้เท่านั้นว่ามาจากสหรัฐฯ และจีน แต่กระบวนการอื่นที่เหลือมากจากหลากหลายประเทศ

……….

iPhone กับการขาดดุลการค้าของสหรัฐฯ

การส่งออก iPhone ที่ผลิตเสร็จแล้วไปยังสหรัฐฯ ย่อมถูกบันทึกไว้ว่าเป็นมูลค่าการส่งออกของจีนไปยังสหรัฐฯ ณ ราคาต้นทุนของ iPhone $178.96 ทำให้ในปี 2009 จีนส่งออก iPhone ไปยังสหรัฐฯ รวมมูลค่า $2 พันล้าน แต่มีการนำเข้าชิ้นส่วนเล็กน้อยจาก Broadcom, Numonyx และ Cirrus Logic ซึ่งตั้งอยู่ในสหรัฐฯ มูลค่า $121.5 ล้าน โดยสรุป ตัวเลขที่ปรากฎจึงเป็นว่า สหรัฐฯ ขาดดุลการค้ากับจีน $1.9 พันล้าน (= $2 พันล้าน – $121.5 ล้าน) (ดูตารางที่ ๒)

“ตารางที่ ๒ การค้า iPhone และการขาดดุลของสหรัฐฯ กับจีน”


2007 2008 2009
iPhone Sales in the US* (million Units) 3 5.3 11.3
Shipping Price/unit 229 174 179
(the US dollar)
China’s Export to the US in iPhone (million US dollar) 687 922.2 2,022.70
China’s Trade Surplus with the US in iPhones NA NA 1,901.2
China’s iPhone exports to the US based on value added (million US dollar) 19.5 34.35 73.45
Value added / total exports 2.80% 3.70% 3.60%
China’s trade surplus with the US in iPhones based on value added NA NA 73.45


หากมองให้ไกลกว่านั้น มูลค่าการนำเข้าของสหรัฐฯ ที่มาจากจีนนั้น ส่วนใหญ่เป็นชิ้นส่วนที่มาจากประเทศอื่นๆ อีกทีหนึ่ง จากมูลค่า $6.50 (หรือ 3.6%) ของมูลค่า iPhone ที่ Foxconn ได้รับ 96.4% ที่เหลือเป็นของ เยอรมนี ($326 ล้าน) ญี่ปุ่น ($670 ล้าน) เกาหลีใต้ ($259 ล้าน) สหรัฐฯ ($108 ล้าน) และประเทศอื่นๆ ($542 ล้าน) ดังนั้น ถ้ามูลค่าการส่งออกถูกคำนวณบนหลักการของมูลค่าเพิ่ม (Value Added Approach) จีนจะมีมูลค่าการส่งออกเพียง $6.5 ต่อเครื่องเท่านั้น

ตัวเลขการนำเข้าของสหรัฐฯ จากจีนที่สูงถึง $2 พันล้าน บิดเบือนจากที่ควรจะเป็นอย่างมาก เพราะมันเป็นการนำเข้าจากหลายประเทศ เพียงแต่ผู้ส่งออกสินค้าขั้นสุดท้ายเป็นประเทศจีน (ดูภาพที่ ๓)

“ภาพที่ ๓ มูลค่าการขาดดุลการค้าที่วัดจากมูลค่าสินค้าและมูลค่าเพิ่ม (Garett, 2011)”

……….

iPhone กับอัตราแลกเปลี่ยนของจีนกับสหรัฐฯ

ช่วงก่อนหน้านี้ สงครามค่าเงินระหว่างสหรัฐฯ และจีนค่อนข้างระอุ โดยสหรัฐฯ อ้างว่าจีนกดค่าเงินให้อ่อนจนเกินความเป็นจริง ทำให้สหรัฐฯ เสียเปรียบทางการค้า เรื่องของเรื่องก็คือแรงกดดันทางการเมืองของรัฐบาลสหรัฐฯ ที่มาจากตัวเลขการขาดดุลการค้ากับจีนมหาศาลและต่อเนื่อง

จากตัวเลขสัดส่วนของมูลค่าการผลิต iPhone พบว่า จีนมีสัดส่วนอยู่ที่ $6.50 ต่อเครื่องเท่านั้น การที่สหรัฐฯ เสนอว่าจีนควรจะปรับอัตราแลกเปลี่ยนให้แข็งค่าขึ้นกว่านี้อีก 20% ย่อมหมายความว่าต้นทุนการผลิตจะเพิ่มขึ้นอีก $1.30 (= 20% x $6.50) เป็น $7.80 หรือคิดเป็น 0.73% ซึ่งแทบไม่ได้ส่งผลต่อการตัดสินใจผลิตหรือย้ายฐานการผลิตใดใดของ Apple เลย

นี่คือสาเหตุที่รัฐบาลจีน รวมทั้งนักเศรษฐศาสตร์ในสหรัฐฯ เองจำนวนหนึ่ง ไม่เห็นด้วยกับข้อเสนอนี้ นี่ยังไม่ได้นับรวมเหตุผลที่นักเศรษฐศาสตร์กลุ่มนี้โต้แย้งความเชื่อที่ว่า “นโยบายอัตราแลกเปลี่ยนเป็นนโยบายเดียวที่สำคัญที่สุดกับดุลการค้า” (Exchange rates are by far the single most important determinant of U.S. trade performance)

หากไม่ใช่อัตราแลกเปลี่ยนแล้ว อันที่จริง สหรัฐฯ สามารถลดการขาดดุลทางการค้าได้มากและรวดเร็ว หาก Apple นำเอาบางส่วนหรือทั้งหมดกลับเข้ามาผลิตในสหรัฐฯ เพราะไม่ใช่แค่ตัวเลขการนำเข้าทั้งหมดที่ติดลบอยู่จะหายไป แต่มันจะกลายเป็นตัวเลขการส่งออกที่เป็นบวกเสียด้วย

……….

แล้ว iPhone จะผลิตในสหรัฐฯ ได้ไหม

การจะตอบคำถามนี้ได้ ต้องแยกพิจารณาออกเป็นสองส่วนคือระหว่างผลประโยชน์ของสหรัฐฯ กับผลประโยชน์ของ Apple

หากไม่นับรวมต้นทุนของ Apple เอง ในปี 2009 iPhone มีอัตรากำไรอยู่ที่เครื่องละ $321.4 หรือ 64% (ดูตารางที่ ๓) ซึ่งถ้า Apple ย้ายมาผลิตในสหรัฐฯ ที่มีต้นทุนแรงงานสูงกว่าจีน 10.46 เท่า จะทำให้ต้นทุนแรงงานเพิ่มจาก $6.50 เป็น $68 และต้นทุนรวมเพิ่มจาก $178.96 เป็น $240 แต่ Apple ขาย iPhone เครื่องละประมาณ $500 ซึ่งจะยังเหลือกำไรอยู่อีก 50%

2007 2008 2009
Unit Price to carriers $600 $500 $500
Unit manufacturing costs* $229 $174.33 $178.96
Profit margin $371 $325.67 $321.40
Profit Margin (%) 62 65 64

“ตารางที่ ๓ อัตรากำไรของ iPhone”


ในด้านหนึ่ง หาก iPhone ผลิตในสหรัฐฯ แล้ว ย่อมกลายเป็นสินค้าส่งออกของสหรัฐฯ ช่วยลดการขาดดุลการค้า ไม่เฉพาะกับประเทศจีน แต่กับทุกประเทศทั่วโลก และที่สำคัญ ยังก่อให้เกิดการจ้างงานกับแรงงานระดับกลางถึงล่างอีกจำนวนมากในประเทศสหรัฐฯ เอง

แต่ในอีกด้านหนึ่ง การตัดสินใจของ Apple เพื่อแสวงหาต้นทุนที่ต่ำกว่าย่อมไม่ใช่เรื่องผิด โดยเฉพาะในประเทศที่มีระบบเศรษฐกิจเสรีสุดขั้ว รวมทั้ง Apple เองยังต้องแข่งขันกับบรรษัทข้ามชาติอื่นๆ อีกด้วย

นั่นหมายถึง ผลประโยชน์ของ Apple กับผลประโยชน์ของสหรัฐฯ ไม่ใช่สิ่งเดียวกัน

……….

สถานการณ์เช่นนี้ไม่ใช่แค่กับ iPhone

ภาพลวงตาเรื่องดุลการค้า โดยเฉพาะการขาดดุลการค้าระหว่างจีนกับสหรัฐฯ นั้นไม่ได้เกิดกับแค่ iPhone เท่านั้น แต่ยังเกิดกับสินค้าไฮเทคเกือบทุกประเภทของสหรัฐฯ ที่ไปลงทุนในจีน รวมทั้งอุตสาหกรรมยานยนต์ด้วย ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดในกรณีนี้ก็คือ บริษัท General Motors ที่หลังจากร่วมลงทุนกับ SAIC (Shanghai Automotive Industry Corporation) ยอดขายรถยนต์ของค่าย GM ก็กลายเป็นมูลค่าการส่งออกของจีน และกลายเป็นสินค้าที่สหรัฐฯ นำเข้าจากจีนเองด้วยซ้ำ (ดูภาพที่ ๔)

“ภาพที่ ๔ ยอดขายรถยนต์ของค่าย GM (Garett, 2011)”

……….

เรื่องราวของ iPhone บอกอะไรกับเราบ้าง

ประเด็นแรก iPhone จึงเป็นเรื่องราวที่ชัดเจนมากของกระบวนการผลิตแบบห่วงโซ่อุปทาน (Supply Chain) ในกระแสโลกภิวัตน์ ในสมัยก่อน ค่าขนส่งมีราคาแพง ตลาดและการทำตลาดก็มีความจำกัดอยู่ในพื้นที่ การผลิตจึงต้องทำในพื้นที่ที่ค่อนข้างเฉพาะเจาะจงในที่นั้นๆ แต่เมื่อค่าขนส่งถูกลง และตลาดขยายตัวขึ้น การกระจายการผลิตก็กลายเป็นเรื่องที่เป็นไปได้

ประเด็นที่สอง ภาพที่เห็นก็คือ จีนเป็นผู้ส่งออกสินค้าไฮเทค (อย่าง iPhone) ไปยังสหรัฐฯ หรือสหรัฐฯ เป็นผู้นำเข้าสินค้าไฮเทคจากจีน ทั้งๆ ที่สหรัฐฯ มีความได้เปรียบโดยเปรียบเทียบ (Comparative Advantage) ในการผลิตสินค้าเหล่านี้มากกว่าจีน การบันทึกข้อมูลแบบดั้งเดิมที่มูลค่าสินค้าขั้นสุดท้ายเช่นนี้ท้าทายความสามารถในการอธิบายของทฤษฎีการค้าระหว่างประเทศอย่างมาก โดยทฤษฎีความได้เปรียบโดยเปรียบเทียบ (Comparative Advantage Theory) ของ David Ricardo และทฤษฎีของ Heckscher–Ohlin (Heckscher–Ohlin Theorem) ที่ว่าด้วยความอุดมสมบูรณ์ของทรัพยากร (Resource Abundance) อาจจะไม่ได้ถูกตีความได้ตรงไปตรงมาอย่างที่เคยเป็นอีกต่อไป

ประเด็นที่สาม Apple กลายเป็นบริษัทที่มีผลกำไรมหาศาล ในยุคที่เศรษฐกิจสหรัฐฯ ไม่ได้เฟื่องฟูมากนัก (อย่างน้อยก็น้อยกว่า Apple มากๆ) จึงเป็นสิ่งแสดงให้เห็นว่า ผลประโยชน์ของสหรัฐฯ ทั้งประเทศและผลประโยชน์ของ Apple อาจไม่ใช่เรื่องเดียวกัน โดยเฉพาะการที่ยอดขายของ Apple ยิ่งเติบโตเท่าไหร่ การผลิตและการจ้างงานในจีนก็ยิ่งสูงขึ้น ขณะที่การจ้างงานในสหรัฐฯ เองไม่ได้เพิ่มขึ้นมาก เพราะ Design by Apple ไม่ได้ต้องการแรงงานมากขึ้น เมื่อยอดขายเพิ่มสูงขึ้น แต่เงินเดือนค่าจ้างของคนเหล่านี้กลับจะยิ่งแพงขึ้นๆ ซึ่งมันหมายถึงช่องว่างและความเหลื่อมล้ำของคนในสังคม

ครั้งหนึ่ง ประธานาธิบดี Barack Obama เคยเอ่ยปากกับ Steve Jobs ว่า “คุณช่วยเอาบางส่วนของ iPhone กลับมาผลิตในสหรัฐฯ ได้ไหม?” เพราะ Obama คงมองเห็นแนวโน้มการขาดดุลที่อันตรายอย่างยิ่ง และ Jobs ตอบเขาในความหมายที่ว่า “สถานการณ์แบบนั้นคงไม่มีวันกลับมาอีกแล้ว” ซึ่งก็ไม่รู้ว่าควรจะกล่าวโทษตัวเลขที่การขาดดุลมหาศาลที่ถูกบิดเบือนไป หรือควรจะยอมรับความจริงว่าทุกอย่างมันเปลี่ยนไปแล้ว…






ที่มา:
- Charles Duhigg and Keith Bradsher (2011), How the U.S. Lost Out on iPhone Work, The New York Times, January 21, 2012.
- R.A. (2012), Apple and the American economy, The Economist, January 23, 2012.
- Tom (2012), The World Without Apple, available at technewsarm.com.
- Adam Ozimek (2012), Apple and Exchange Rates, available at modeledbehavior.com.
- Geoffrey Garrett (2011), Chinese–US Economic Relations After the Global Financial Crisis, in Rising China: Global Challenges and Opportunities, edited by Jane Golley and Ligang Song: published by ANU Press.
- Yuqing Xing and Neal Detert (2011), How the iPhone Widens the US Trade Deficit with the PRC?, GRIPS Discussion Paper 10-21.

  • Jipatha store

    ได้ความรู้มากครับ

  • P. Nivatyakul

    จะมี Design by ทุ่งกุลา บ้างไหม อยากเห็น

  • http://twitter.com/callmethot Thos Muenchan

    ดูเหมือนว่า เหตผลหนึ่งที่ Steve ไม่ย้ายฐานมาผลิตในเมกา เพราะ ในเมกาเอง ไม่สามารถหาวิศกรจำนวน 3000 พันคน เพื่อมาควบคุมโรงงานขนาดใหญ่ ที่มีกำลังผลิตจำนวนมากมาย เหมือนที่มีอยู่ในจีน นะครับ

    • http://twitter.com/callmethot Thos Muenchan

      * ตกหล่น วิศวกรจำนวน 3000 คน ภายในระยะเวลา 6 เดือน (อ้างอิงตาม Steve Job Bio Book)

  • Yao

    แล้วทำไมโมเดลมันลงท้ายด้วย B/A