cartoon_character_professor_round_stickers-p217900408150955726envb3_400

จะเป็น “นักวิชาการที่ทรงอิทธิพล” ได้อย่างไร?

การเป็นนักวิชาการที่ทรงอิทธิพลนั้นเกิดจากการตีพิมพ์เอกสารในวารสารวิชาการให้มีผู้อ้างอิงมากเข้าไว้ เพราะเท่ากับได้รับการยอมรับจากนักวิชาการคนอื่นจำนวนมาก แต่เคยคิดไหมว่า หากมีจำนวนการอ้างอิงที่เท่ากัน การตีพิมพ์ในเอกสารน้อยชิ้นแต่ถูกอ้างอิงมากๆ กับการตีพิมพ์เอกสารมากชิ้น แต่ถูกอ้างอิงน้อย เหมือนกันหรือไม่

……….


นแวดวงวิชาการ การยอมรับนับถือ (Reputation) ระหว่างนักวิชาการด้วยกันมักเกิดจากจำนวนเอกสารที่ได้รับการตีพิมพ์ (Publications) ของนักวิชาการคนนั้นๆ ในวารสารวิชาการ (Academic Journals) ซึ่งตัววารสารเองก็มีน้ำหนักความน่าเชื่อถือ (Impact Factor) ต่างกันไป แน่นอนว่า การตีพิมพ์ในวารสารที่มีน้ำหนักสูงๆ ด้วยเอกสารจำนวนมากชิ้นย่อมเป็นสิ่งที่ดีที่สุดต่อการยอมรับนับถือ

แต่ก็คงไม่ง่าย ทีนี้คำถามก็คือ การตีพิมพ์เอกสารไม่กี่ชิ้นในวารสารที่มีน้ำหนักสูงๆ กับการตีพิมพ์เอกสารมากชิ้นในวารสารที่มีน้ำหนักกลางๆ มีความแตกต่างกันหรือไม่

Hamermesh and Pfann (2011) ใช้ข้อมูลของนักวิชาการจำนวน 1339 คนจากคณะเศรษฐศาสตร์ในมหาวิทยาลัยจำนวน 88 แห่งของสหรัฐอเมริกา เพื่อศึกษาเรื่องนี้ในสามประเด็น ได้แก่ ๑) จำนวนครั้งของการตีพิมพ์ในวารสารวิชาการมีผลต่อการยอมรับนับถือหรือไม่ ๒) ในกรณีที่จำนวนการอ้างอิงโดยรวมเท่ากัน (Total Citations) การตีพิมพ์เอกสารไม่กี่ชิ้นในวารสารที่มีน้ำหนักสูงๆ กับการตีพิมพ์เอกสารมากชิ้นในวารสารที่มีน้ำหนักกลางๆ ให้ผลเหมือนกันหรือไม่ และ ๓) ปัจจัยที่มีผลต่อการยอมรับนับถือ มีผลต่อเงินเดือน(หรือค่าตอบแทน)ด้วยหรือไม่

……….

บทความนิยาม “การยอมรับนับถือ” (Reputation; R) โดยตระหนักดีว่าต้องไม่ให้คำจำกัดความที่กว้างเกินไป เพราะการยอมรับนับถือในเชิงวิชาการไม่เหมือนกับการมีชื่อเสียงจากการออกสื่อจนเป็นที่รู้จักของประชาชนทั่วไป โดยการยอมรับนับถือในที่นี้จำแนกเป็นสองแบบคือ การยอมรับนับถือในระดับบุคคล และการยอมรับนับถือในระดับคณะ

– การยอมรับนับถือที่ตัวบุคคล พิจารณาสองตัวแปร หนึ่งคือ เกียรติยศ (Honored) ในกรณีที่คนๆ นั้นเคยได้รับรางวัลโนเบล ได้รับเลือกเป็นประธานของ American Economic Association (AEA) ได้รับการประกาศเกียรติคุณเป็นนักเศรษฐศาสตร์ดีเด่นจาก AEA หรือได้รับ Clark Medal (คล้ายกับรางวัลนักเศรษฐศาสตร์รุ่นใหม่) แต่เนื่องจากจำนวนของเกียรติยศมีค่อนข้างน้อย ตัวแปรที่สองจึงพิจารณาบุคคลที่ได้การเชิดชู (Fellow) จาก Econometric Society ซึ่งมีจำนวนที่มากขึ้น และสาเหตุที่เลือกเอา Econometric Society ก็เพราะไม่ได้มีแค่นักเศรษฐศาสตร์อเมริกันเท่านั้นที่ได้รับเลือก แต่เกือบครึ่งหนึ่งเป็นนักเศรษฐศาสตร์ที่มาจากประเทศอื่นๆ ทั่วโลก [งานนี้เป็นการศึกษาในกรณีของสหรัฐอเมริกานะครับ]

– การยอมรับนับถือในระดับคณะ พิจารณาสามตัวแปร ได้แก่ หนึ่ง อันดับของคณะจากข้อมูลของ Kalaitzidakis, Mamuneas and Stengos (2003) สอง อันดับของหลักสูตรเศรษฐศาสตรบัณฑิตจาก U.S. News and World Report และอันดับของคณะในปี 1993 จาก National Research Council’s (1995) [บทความนี้นำเสนอเฉพาะสองตัวแปรแรก เพราะเป็นข้อมูลที่ใหม่กว่า และตัวแปรที่สามก็ให้ผลไม่แตกต่างจากสองตัวแปรแรกมากนัก]

ขณะที่ปัจจัยกำหนดการยอมรับนับถือที่สำคัญเกี่ยวกับการตีพิมพ์มีสามตัวแปร ได้แก่ จำนวนเอกสารที่ได้รับการตีพิมพ์ (Number of Publications; Q) ค่าการอ้างอิงทางวิชาการรวมของเอกสารทุกชิ้น (Total Citations; q1) และค่าการอ้างอิงทางวิชาการที่มากที่สุดลำดับที่หนึ่ง (ถึงห้า) (The nth Most Citation; q2n, n=1,…,5) โดยใช้ข้อมูลจาก Social Science Citation Index

นั่นคือ R = ƒ (Q, q1, q2n)

……….

ตารางที่ ๑ แสดงค่าสถิติเชิงพรรณาของตัวแปรที่ใช้ พบว่า จำนวนเอกสารที่ได้รับการตีพิมพ์เฉลี่ยต่อนักวิชาการหนึ่งคนอยู่ที่ 32 ชิ้น สูงที่สุดคือ 283 ชิ้น ค่าการอ้างอิงทางวิชาการรวมของเอกสารทุกชิ้นเฉลี่ยต่อนักวิชาการหนึ่งคนอยู่ที่ 685 และค่าการอ้างอิงทางวิชาการที่มากที่สุดลำดับที่หนึ่งเฉลี่ยต่อนักวิชาการหนึ่งคนอยู่ที่ 150 สูงที่สุดอยู่ที่ 4580 นอกจากนี้ ข้อมูลยังระบุด้วยว่า นักวิชาการในกลุ่มตัวอย่างร้อยละ 6 เป็นผู้หญิง เกือบหนึ่งในสี่จบการศึกษาในหลักสูตรที่ไม่ได้ใช้ภาษาอังกฤษ เกือบหนึ่งในสิบเป็นนักเศรษฐมิติ และในแต่ละคณะมีตำแหน่งศาสตราจารย์ประมาณเกือบ 20 คน

“ตารางที่ ๑ ค่าสถิติของตัวแปรอิสระ”


ตารางที่ ๒ เป็นข้อมูลเกี่ยวกับรายละเอียดของแต่ละคน โดยนักวิชาการที่มีค่าการอ้างอิงทางวิชาการรวมของเอกสารทุกชิ้นมากที่สุดคือ Joseph Stiglitz, Robert Engle และ Andreo Schleifer นักวิชาการที่มีค่าการอ้างอิงทางวิชาการที่มากที่สุดลำดับที่หนึ่งคือ Halbert White, Robert Engle และ Clive Granger และนักวิชาการที่ตีพิมพ์เอกสารจำนวนมากที่สุดคือ Richard Cooper, Peter Phillips และ Kerry Smith

“ตารางที่ ๒ ค่าการอ้างอิงรวม ค่าการอ้างอิงของเอกสารที่มีการอ้างอิงมากที่สุด และจำนวนเอกสารที่มีการตีพิมพ์”


ตารางที่ ๓ แสดงผลการประมาณค่าสมการการยอมรับนับถือที่ตัวบุคคลกับปัจจัยทางด้านการตีพิมพ์ พบว่า ค่าการอ้างอิงทางวิชาการรวมของเอกสารทุกชิ้น (q1) มีผลอย่างชัดเจนต่อการยอมรับนับถือ ขณะที่ค่าการอ้างอิงทางวิชาการที่มากที่สุดลำดับที่หนึ่ง (q21) มีผลต่อเกียรติยศ แต่ไม่มีผลกับการเชิดชู แต่จำนวนเอกสารที่ได้รับการตีพิมพ์ (Q) กลับไม่มีผลในทางบวกอย่างมีนัยสำคัญต่อทั้งเกียรติยศและการเชิดชู

“ตารางที่ ๓ ผลการประมาณค่าสมการการยอมรับนับถือที่ตัวบุคคลกับปัจจัยทางด้านการตีพิมพ์”


ตารางที่ ๔ แสดงผลการประมาณค่าสมการการยอมรับนับถือต่อหน่วยงานกับปัจจัยทางด้านการตีพิมพ์ พบว่า ผลที่ได้ไม่ต่างจากในระดับบุคคลมากนัก กล่าวคือ ค่าการอ้างอิงทางวิชาการรวมของเอกสารทุกชิ้น (q1) ยังคงมีผลอย่างชัดเจน และจำนวนเอกสารที่ได้รับการตีพิมพ์ (Q) กลับไม่มีผลใดใดต่อการยอมรับนับถือในระดับหน่วยงาน ขณะที่ค่าการอ้างอิงทางวิชาการที่มากที่สุดลำดับที่หนึ่ง (q21) ที่เคยมีผลต่อเกียรติยศ แต่กลับไม่มีผลใดใดต่อการยอมรับนับถือต่อหน่วยงาน

“ตารางที่ ๔ ผลการประมาณค่าสมการการยอมรับนับถือต่อหน่วยงานกับปัจจัยทางด้านการตีพิมพ์”


กล่าวโดยย่อของประเด็นเรื่องการตีพิมพ์กับการยอมรับนับถือก็คือ ค่าการอ้างอิงทางวิชาการรวมของเอกสารทุกชิ้นมีผลอย่างชัดเจนทั้งในระดับบุคคลและหน่วยงาน ค่าการอ้างอิงทางวิชาการที่มากที่สุดลำดับที่หนึ่งมีผลเฉพาะกับบุคคล แต่ไม่มีผลกับหน่วยงาน ขณะที่จำนวนเอกสารที่ได้รับการตีพิมพ์กลับไม่มีผลใดใดต่อการเพิ่มการยอมรับนับถือเลย

……….

Hamermesh and Pfann (2012) ยังได้นำเอาปัจจัยด้านการตีพิมพ์ไปหาความสัมพันธ์กับเงินเดือน(หรือค่าตอบแทน)ของนักวิชาการด้วย โดยผลการประมาณค่าสมการแสดงได้ตามตารางที่ ๕ ซึ่งแน่นอนว่า ค่าการอ้างอิงทางวิชาการรวมของเอกสารทุกชิ้น (q1) มีผลทางบวกต่อเงินเดือน(หรือค่าตอบแทน)ของนักวิชาการ แต่ที่น่าสนใจก็คือ ค่าการอ้างอิงทางวิชาการที่มากที่สุดลำดับที่หนึ่ง (q21) กลับมีผลทำให้เงินเดือน(หรือค่าตอบแทน)น้อยลงกว่าที่ควรจะเป็น ขณะที่จำนวนเอกสาร (Q) ที่ได้รับการตีพิมพ์ซึ่งไม่มีผลต่อการยอมรับนับถือ กลับมีผลอย่างมากต่อเงินเดือน(หรือค่าตอบแทน)

“ตารางที่ ๕ ผลการประมาณค่าสมการเงินเดือน(หรือค่าตอบแทน)กับปัจจัยทางด้านการตีพิมพ์”


สาเหตุที่เป็นไปได้ที่จำนวนเอกสารมีผลอย่างมากต่อเงินเดือน(หรือค่าตอบแทน) แทนที่จะเป็นค่าการอ้างอิงทางวิชาการที่มากที่สุดลำดับที่หนึ่งก็เพราะการกำหนดเงินเดือน(หรือค่าตอบแทน)มักจะถูกอิงอยู่กับสิ่งที่วัดค่าได้ และถูกเชื่อว่ามันได้แสดงถึงความพยายาม (Effort) ของนักวิชาการคนนั้นๆ

……….

งานศึกษาในแบบเดียวกันนี้ยังไม่พบในประเทศไทย แต่ข้อมูลที่น่าสนใจจาก Economic Research Division of the Federal Reserve Bank of St. Louis ซึ่งจัดทำฐานข้อมูลงานวิจัย IDEAS ในตารางที่ ๖ พบว่า ในประเทศไทย หน่วยงานที่ได้รับการยอมรับนับถือในเชิงวิชาการมากที่สุดคือ ธนาคารแห่งประเทศไทย

“ตารางที่ ๖ หน่วยงานทางด้านเศรษฐศาสตร์ในประเทศไทยที่ได้รับการยอมรับนับถือ 4 อันดับแรก”

อันดับ คะแนน หน่วยงาน
1 1.41 ธนาคารแห่งประเทศไทย
2 2.14 ESCAP สหประชาชาติประจำประเทศไทย
3 2.34 คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
4 3.68 คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย


ในตารางที่ ๗ พบว่า นักวิชาการทางด้านเศรษฐศาสตร์ในประเทศไทยที่ได้รับการยอมรับนับถือมากที่สุดคือ ดร.ปิติ ดิษยทัต [อันที่จริง ดร.ปิติ จบปริญญาเอกเศรษฐศาสตร์จาก Princeton University เขียนวิทยานิพนธ์ภายใต้การกำกับดูแลของ Ben Benanke ปัจจุบันเป็นผู้ว่าการธนาคารกลางของสหรัฐ โดยมี Kenneth Rogoff อดีตหัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ของ IMF เป็นส่วนหนึ่งใน Thesis Committee]

“ตารางที่ ๗ นักวิชาการทางด้านเศรษฐศาสตร์ซึ่งเป็นคนไทยในประเทศไทยที่ได้รับการยอมรับนับถือ 3 อันดับแรก”

อันดับ คะแนน นักวิชาการ หน่วยงาน
1 1.92 ปิติ ดิษยทัต ธนาคารแห่งประเทศไทย
2 2.52 ยรรยง ไทยเจริญ ธนาคารแห่งประเทศไทย
3 8.15 พงษ์ศักดิ์ เหลืองอร่าม คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

……….

โดยสรุปแล้ว ปัจจัยสำคัญที่สุดของการเป็นนักวิชาการผู้ทรงอิทธิพลนั้นคือ ต้องเป็นคนที่มีค่าการอ้างอิงทางวิชาการรวมในเอกสารทุกชิ้นอยู่ในระดับที่สูง และค่าที่สูงดังกล่าว หากได้มาจากค่าการอ้างอิงที่เอกสารน้อยชิ้นแต่อยู่ในวารสารที่มีน้ำหนักความน่าเชื่อสูงๆ จะมีผลดีมากกว่าการได้มาจากค่าการอ้างอิงด้วยเอกสารจำนวนมากชิ้นแต่อยู่ในวารสารที่มีน้ำหนักความน่าเชื่อกลางๆ ซึ่งก็ต้องแลกมาด้วยเงินเดือน(หรือค่าตอบแทน)ที่ต่ำกว่าที่ควรจะเป็น เนื่องจากเงินเดือน(หรือค่าตอบแทน)จะถูกกำหนดขึ้นจากจำนวนเอกสารที่ถูกตีพิมพ์มากกว่าการยอมรับนับถือของเอกสารชิ้นนั้นๆ

เมื่อเพื่อนๆ นักวิชาการรู้กันแบบนี้แล้ว ก็อย่าลืมตั้งหน้าตั้งตาเขียนเอกสารวิชาการแบบมีคุณภาพสูงๆ และรู้จักประหยัดอดออมสำหรับเงินเดือนต่ำๆ ไปพร้อมๆ กันด้วยนะครับ [เสด-ถะ-สาด].com ขอเอาใจช่วยให้เมืองไทยมีเอกสารวิชาการดีดี จะได้มารีวิวให้อ่านกันครับ ^^






ที่มา:
1. HAMERMESH, DANIEL S. and PFANN, GERARD A. (2012), “REPUTATION AND EARNINGS: THE ROLES OF QUALITY AND QUANTITY IN ACADEME,” Economic Inquiry, vol.50(1), pp.1465-7295.
2. PFANN, GERARD A. (2008), “REPUTATION AND THE RETURNS TO QUALITY: EVIDENCE FROM ACADEME,” Department Seminar at Universita di Bologna.
3. IDEAS (2012), “Top 25% Institutions and Economists in Thailand, as of March 2012″ available here.

featured image from here