h-20-2424911-1299277119

ทำไมเราถึงไม่ควร“กลัวผี”?

แนวคิดพื้นฐานทางเศรษฐศาสตร์กับการวิเคราะห์เรื่องผี ซึ่งดูไม่น่าจะเข้ากันได้ แต่ศาสตราจารย์จาก West Virginia ก็นำมาประยุกต์ได้อย่างน่าสนใจ ที่สำคัญ มันจะทำให้เราฉุกคิดว่า ที่จริงเราไม่ควรต้องกลัวผีเลยด้วยซ้ำไป

……….


Corey (2008) เริ่มจากข้อสมมติที่ว่า ผีมีตัวตนจริง และมีพลังงานจำกัด (Power Constraint) ซึ่งแม้ว่าข้อสมมติแรกจะพิสูจน์ได้ยาก แต่หากเป็นจริงขึ้นมา ข้อสมมติหลังก็ดูสอดคล้องกับความเชื่อของหลายๆ สังคมอยู่พอสมควร เพราะผีเองก็ต้องการส่วนบุญส่วนกุศลเพื่อเพิ่มพลังงานเช่นกัน

……….

การมีพลังงานที่จำกัดของผี นำมาซึ่งความเข้าใจต่อพฤติกรรมของผีในทางเศรษฐศาสตร์คือ ผีย่อมต้องคำนึงถึงการวิเคราะห์ต้นทุน-ผลได้ (Cost-Benefit Analysis) ของการใช้พลังงาน หมายความว่าต้องใช้พลังงานให้ต่ำ (เพราะมีจำกัด) และต้องเกิดผลได้ของการหลอกอย่างคุ้มค่า จึงทำให้ผีมีการตัดสินใจอย่างมีเหตุมีผล (Rational Decision) ตัวอย่างที่ทำให้เราแน่ใจได้ว่า ผีมีเหตุมีผล (Rational Ghost) ได้แก่

  • การเดินทางไปท่องเที่ยวตามสถานที่ต่างๆ จะมีโอกาสที่เจอผีมากขึ้น เพราะนักท่องเที่ยวส่วนมากจะนอนคนเดียว หรือไม่ก็อยู่ห่างไกลจากสถาบันที่รองรับความมั่นคงทางจิตใจ (Psychologically Secure Institutions) เช่น ครอบครัว หรือความคุ้นเคยของสถานที่ นั่นหมายความว่า ผีมีโอกาสคาดหวังผลได้จากการหลอกสูงขึ้นด้วยต้นทุนที่ต่ำ เหตุผลนี้เหมือนกับการที่ผีชอบหลอกคนตอนกลางคืนมากกว่ากลางวัน เพราะคนจะอยู่สภาพที่หวาดกลัวมากกว่า หรือในทางทฤษฎีก็คือสถาบันที่รองรับความมั่นคงทางจิตใจมีความอ่อนแอ
  • ผีมักจะปรากฎกายแบบโปร่งแสง สลัวๆ หรือไม่มีขา เพราะการปรากฎกายให้เห็นแบบทึบแสงและเต็มตัวจะใช้พลังงานมาก แต่ผลได้ของความกลัวจะกลับลดลง เพราะคล้ายกับมนุษย์มากเกินไป เช่นเดียวกับที่หลายครั้งผีอาจจะมาแต่เสียงหรือแค่บางส่วนของร่างกาย เพราะจะลดการใช้พลังงานน้อยที่ไม่จำเป็น
  • ผีจะถูกพบเห็นบ่อยๆ ผ่านอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ เช่น กล้องถ่ายรูป โทรศัพท์มือถือ เพราะใช้พลังงานน้อยกว่าการปรากฎตัวให้คนเห็น เนื่องจากเป็นการปรากฎตัวเพียงแว้บเดียวในจังหวะที่ชัตเตอร์ถ่าย ไม่ต้องปรากฎตัวนานๆ และยังอาจก่อให้เกิดการกระจายไปยังหลายคนมากกว่า
  • การเดินทางคนเดียวไปยังสถานที่ของผี เช่น สุสาน หลุมศพ จะมีโอกาสเห็นผีมาก เพราะผีไม่ต้องเดินทาง จึงใช้พลังงานน้อย ขณะที่ความมั่นคงทางจิตใจของคนที่ไปก็จะอ่อนแอมากๆ ด้วย แถมยังอาจมีการแข่งขันหรือร่วมมือกันของผีเพื่อหลอกคนด้วย

จากที่กล่าวมาย่อมชัดเจนว่า หากผีมีพลังงานจำกัด ผีย่อมคำนึงถึงการวิเคราะห์ต้นทุน-ผลได้เป็นสำคัญ ดังนั้นข้อสรุปที่ว่า ผีมีเหตุมีผลในทางเศรษฐศาสตร์ จึงยากที่จะโต้แย้งได้

……….

เมื่อผีมีเหตุมีผล ตรรกะที่เราไม่ต้องกลัวผีก็ย่อมชัดเจนด้วย “ผีจะหลอกเรา แต่จะไม่ฆ่าเรา” เพราะถ้าผีฆ่าเรา ความมีเหตุมีผลจะสอนให้ผีตระหนักว่า เราเองจะกลายเป็นผี และจะไปล้างแค้นผีตนที่ฆ่าเรา ซึ่งจะกลายไปเป็นต้นทุนชีวิตความลำบากของผีตนนั้นในภายหลัง ดังนั้น ผีจะแค่ปรากฎกาย แต่จะไม่ฆ่า [นี่ยังไม่นับผลของความแออัด (Congestion Effect) ในโลกของผีที่จะเพิ่มขึ้นด้วย หากผีฆ่าคนจำนวนมากขึ้นๆ]

อย่างไรก็ตาม ตรรกะนี้จะเป็นจริงได้ จำเป็นต้องมีข้อสมมติพื้นฐาน (Assumption) สามข้อมารองรับ

  1. เมื่อผีฆ่าคน และคนๆ นั้นกลายเป็นผีแล้ว ผีตนใหม่ต้องมีพลังงานตั้งต้น (Initial Endowment) อยู่จำนวนหนึ่งจากยมบาล (Ghost Government) มิฉะนั้นแล้วผีตนใหม่จะทำอะไรผีตนเดิมไม่ได้
  2. ช่วงชีวิตของผีมีค่าเป็นอนันต์ (Infinite Time Horizon) หรืออย่างน้อยต้องยาวพอ เมื่อเทียบกับช่วงเวลาที่เป็นมนุษย์ ถ้าผีฆ่าคนไปแล้ว ช่วงที่ถูกล้างแค้นมียาวนาน ย่อมหมายความว่า ช่วงของการทำให้คนกลัวมีจำกัด แต่ช่วงเวลาการล้างแค้นเป็นอนันต์ ผีที่ฆ่าคนจะเดือดร้อนแน่ๆ
  3. ผีจะต้องสามารถสื่อสาร ปะทะ หรือรบกวนระหว่างกันเองได้ ไม่อย่างนั้นแล้วผีก็จะไม่สามารถล้างแค้นต่อกันได้ การฆ่าคนตายก็จะไม่ส่งผลใดใดกับผีตนที่ฆ่า แต่เหตุการณ์เชิงประจักษ์ที่มนุษย์สามารถสู้กับผีได้ เช่น คาถาหมอผี หรือสัญญาณเสียงสูงๆ ก็น่าจะเป็นเครื่องบ่งบอกว่าผีสามารถถูกรบกวนได้

……….

ในเชิงประจักษ์แล้ว Corey ไม่สามารถหางานวิจัยที่มีการตีพิมพ์ทางวิชาการได้ แต่เขาอ้างถึง Sheppard (2008) ว่าจากเรื่องเล่าเกี่ยวกับผีจำนวน 120 เรื่องที่มีทั้งผีดีและผีเลว พบว่า มีเพียงเรื่องเดียวเท่านั้นที่ผีฆ่าคน [ที่จริงผู้เขียนแอบคิดว่าอาจจะมีเยอะ แต่คนตายไปแล้ว เลยพูดไม่ได้] 116 เรื่องที่ผีแค่หลอกเฉยๆ 4 เรื่องที่ผีทำให้คนบาดเจ็บเพราะการวิ่งหนีผี 1 เรื่องที่ผีทำให้คนเป็นแผลรอยยาวๆ 2 เรื่องที่ผีทำให้คนขยับตัวไม่ได้ และ 1 เรื่องที่ผีล่วงละเมิดทางเพศ ซึ่งจากสัดส่วนที่ว่ามาก็ค่อนข้างสอดคล้องกับบทวิเคราะห์ข้างต้น

ขณะที่ผลกระทบต่อโลกความจริงของมนุษย์ที่ชัดเจนก็คือ งานของ Larsen and Coleman (2001) เกี่ยวกับตลาดขายบ้านที่พบว่า บ้านที่ลือกันว่าผีดุ เคยมีการฆ่าตัวตาย หรือเคยมีการฆาตกรรมภายในบ้าน จะมีระยะเวลารอขายอยู่ในตลาดขายบ้านนานขึ้น 45% และราคาสุดท้ายที่ขายได้จะต่ำลงประมาณ 3% โดยระยะเวลาที่ทอดยาวออกไปมีผลสำคัญมากกว่าราคาบ้านมากมายนักก็เพราะการรอเวลาจะทำให้พลังสถิตย์ของผีภายในบ้านลดลงไป

……….

อย่างไรก็ตาม ข้อสรุปที่ว่าผีมีจริงอาจจะตอบไม่ได้ในปัจจุบัน แต่ข้อความที่ว่า

“We might call some ghosts bad and others good, just as we may call some living people bad or good… Whatever the case, it is ridiculous to fear all ghosts” – Joshua P. Warren (paranormal expert and author of How to Hunt Ghosts: A Practical Guide)

น่าจะทำให้เราสบายใจขึ้นได้บ้าง เพราะโลกมนุษย์ที่มีทั้งคนดีและเลว โลกของผีเองก็มีทั้งดีและเลวไม่ต่างจากโลกมนุษย์หรอก ดังนั้น มันก็แค่อีกโลกหนึ่งเท่านั้น

หลังจากอ่านบทความนี้จบ หวังว่าต่อไป เพื่อนๆ จะไม่ต้องกลัวและไม่ต้องวิ่งหนีผีอีกต่อไปนะครับ อาจจะขอหวยไปเลยก็ได้ ถ้าถูกจะทำบุญไปให้ ดีเสียอีกถือเป็นความร่วมมือระหว่างภพ เพียงแต่ข้อสงสัยเดียวที่ผมมีก็คือ ถ้าเกิดว่าผีไม่ได้คิดแบบเศรษฐศาสตร์ขึ้นมาล่ะ…






ที่มา:
Corey, Joab (2009) “The Rational Ghost: Using Basic Economic Principles to Explain Ghost Behavior, Department of Economics, West Virginia University, mimeo.
Larson, James E. and Coleman, Joseph W., 2001. Psychologically Impacted Houses: Broker Disclosure Behavior and Percieved Market Effects in an Unregulated Environment. The Journal of Real estate Practice and Education. V4, No.21, 1-16.
Sheppard, Susan. Cry of the Banshee: History and Hauntings of West Virginia and the Ohio Valley. Charelston, WV: Quarrier Press, 2008.
Warren, Joshua P. How to Hunt Ghosts: A Practical Guide. New York, NY: Fireside, 2003.

  • http://twitter.com/chaochao_peep เชาสึเกะคุง (@chaochao_peep)

    มันก็จริงของเค้านะ ฮ่าๆๆ

  • http://kaebmoo.wordpress.com kaebmoo

    เข้าท่า น่าส่งประกวด ignoble … ไม่รู้คนทำวิจัยเตรียมตัวเป็นผี หรือยัง ฮิ ฮิ

  • http://namemetuang.wordpress.com namemetuang

    เออ…บทสรุปของขจบ.น่าคิดนะ “ถ้าผีไม่ได้คิดแบบเศรษฐศาสตร์ละ???” ฮ่าๆๆๆ

  • Pi

    ผมว่าอะไรที่ตายไปแล้วไม่น่ากลัวเท่าตอนยังอยู่

    • http://setthasat.wordpress.com ครูสอนเศรษฐศาสตร์(คนหนึ่ง)

      จริงมากๆ ครับ

  • P.T.R

    นั่นสิถ้าผีไม่ได้คิดแบบเศรษฐศาสตร์ล่ะ?? น่ากลัว