SchoolHouse

จะปฏิรูปการศึกษาไทย“ในระยะสั้น”อย่างไรดี? — บางส่วนจากข้อเสนอของ TDRI

กระแสการสอบ O-NET ทำให้เราตระหนักถึงคุณภาพของการศึกษาไทยที่ยังถูกพูดถึงวนเวียนในไม่กี่สาเหตุ ขาดแคลนงบประมาณ เงินเดือนครูน้อย โรงเรียนไม่ได้มาตราฐาน แต่ TDRI จะเสนอมุมมองที่ทำให้เราเห็นว่า สิ่งที่ว่ามานั้นไม่ใช่ปัญหา และทางออกของปัญหาการศึกษาไทยควรทำอย่างไร

……….


นงานสัมนาประจำปี ๒๕๕๔ ของสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย หรือ TDRI เร่ือง “ยกเครื่องการศึกษาไทย: สู่การศึกษาที่มีคุณภาพอย่างทั่วถึง” ได้เสนอทางออกในระยะสั้นของการแก้ปัญหาการศึกษาไทยไว้อย่างน่าสนใจ และ [เสด-ถะ-สาด].com ขอนำมาถ่ายทอดไว้ ณ ที่นี้

ความพยายามแก้ปัญหาของการศึกษาไทยใช้เวลามากว่า 10 ปี ตั้งแต่การปฏิรูปรอบแรกเมื่อปี 2542 และรอบที่สองเมื่อปี 2552 และเรามักเชื่อกันเสมอว่า ปัญหาหลักๆ ของการศึกษาไทยมาจากไม่กี่ประการ และ TDRI จะชี้ให้เราเห็นว่า ความเชื่อที่ผ่านมาของเราอาจจะต้องถูกนำมาคิดใหม่

  1. ปัญหาการขาดแคลนงบประมาณ พบว่า ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา งบประมาณของกระทรวงศึกษาธิการเพิ่มขึ้นประมาณ 2 เท่า และไม่ได้ต่ำกว่าประเทศอื่นๆ ในภูมิภาคเดียวกันมากนัก
  2. “ภาพที่ ๑ งบประมาณางด้านการศึกษาไทย (จากบทความ)”


  3. ปัญหาเงินเดือนครูที่ต่ำ (ในระดับที่ไม่จูงใจให้คนเก่งๆ มาเป็นครู) พบว่า เงินเดือนเฉลี่ยของครู โดยเฉพาะในโรงเรียนรัฐบาลเพิ่มขึ้นจากประมาณ 1.5 หมื่นบาทในปี 2544 เป็น 2.4 หมื่นบาทในปี 2553 ซึ่งไม่ใช่เงินเดือนที่ต่ำมากนัก
  4. “ภาพที่ ๒ เงินเดือนครูสังกัดโรงเรียนรัฐและเอกชน (จากบทความ)”


  5. ปัญหาคุณภาพของโรงเรียนไม่ได้มาตรฐาน พบว่า โรงเรียนส่วนใหญ่มีการประเมินผลดี โดยสัดส่วนโรงเรียนท่ีผ่านเกณฑ์ สมศ. ในรอบที่ 2 เพิ่มขึ้นอย่างมาก แต่ผลสัมฤทธิ์ทางการศึกษาต่ำ
  6. “ภาพที่ ๓ สัดส่วนของโรงเรียนที่ผ่านการประเมินมาตราฐาน (จากบทความ)”


นอกจากในภาพที่ผ่านมาซึ่งชี้ให้เห็นว่าคะแนนสอบของนักเรียนต่ำลงอย่างต่อเนื่องแล้ว คะแนนสอบมาตรฐานของนักเรียนไทยยังอยู่ในระดับต่ำเมื่อเปรียบเทียบกับประเทศเพื่อนบ้าน

“ภาพที่ ๔ คะแนนสอบมาตราฐานนักเรียนไทยกับประเทศอื่นในภูมิภาค (จากบทความ)”


มากไปกว่านั้น ระยะเวลาที่นักเรียนไทยอยู่ในห้องเรียนเปรียบเทียบกับประเทศอื่นๆ (แกนนอน) กลับมีผลน้อยมากต่อผลการสอบมาตรฐาน PISA (แกนตั้ง)

“ภาพที่ ๕ ความสัมพันธ์ระหว่างเวลาในห้องเรียนกับคะแนนสอบ (จากบทความ)”

……….

จากที่เกริ่นมาทั้งหมดจะเห็นได้ว่าปัญหาของการศึกษาไทยไม่ใช่การขาดทรัพยากรในด้านต่างๆ อย่างที่เคยเข้าใจกันมา หากแต่เป็นเพราะการขาดประสิทธิภาพในการใช้ทรัพยากร อันเนื่องมาจากการขาด “ความรับผิดชอบ” ของระบบการศึกษาต่อนักเรียนและผู้ปกครอง ซึ่งหมายถึง พันธะผูกพันในหน้าที่การงานของบุคคลใดบุคคลหนึ่งหรือองค์กรใดองค์กรหนึ่งต่อเป้าหมายที่ได้รับมอบหมายจากบุคคลหรือองค์กรอื่นๆ โดยมีระบบตรวจสอบที่ฝ่ายผู้มอบหมายสามารถประเมินผลงานเพื่อให้รางวัลและลงโทษฝ่ายปฏิบัติหน้าที่ได้

เนื่องจากการศึกษาโดยเฉพาะการศึกษาขั้นพื้นฐานมีลักษณะเป็นสินค้าสาธารณะสูง รัฐจึงมักเข้ามาอุดหนุนหรือเข้ามาจัดการศึกษาเสียเอง นอกจากนี้ รัฐยังมีบทบาทในกำกับดูแลโรงเรียนแทนพ่อแม่และสถานประกอบการ โดยพ่อแม่และสถานประกอบการสามารถใช้กลไกทางการเมือง เช่น การเลือกตั้งหรือการเรียกร้องทางการเมือง ผลักดันให้รัฐกำหนดนโยบายและกำกับโรงเรียนให้จัดการศึกษาในลักษณะที่ตนต้องการ แต่สายความรับผิดชอบ “พ่อแม่(หรือสถานประกอบการ)-รัฐบาล-โรงเรียน-ครู” เป็นสายความรับผิดชอบที่มีความยาวมากและใช้เวลานาน (ลูกศรสีน้ำเงิน) หรือพูดง่ายๆ ก็คือ ความกังวลหรือใส่ใจของพ่อแม่(หรือสถานประกอบการ)ที่มีต่อคุณภาพของการศึกษานั้นยาวไกลเกินกว่าที่จะส่งไปให้รางวัลและลงโทษโรงเรียนและครูได้

ดังที่เห็นในตอนต้นว่า คะแนนสอบที่ต่ำลงเรื่อยๆ และต่ำโดยเปรียบเทียบกับประเทศอื่นๆ นั้น ไม่ได้เพิ่งเกิดขึ้น แต่เกิดอย่างต่อเนื่องมาเป็นเวลาพอสมควรแล้ว แต่งบประมาณการศึกษาจากภาคการเมืองยังคงเพิ่มขึ้น โรงเรียนเก็บค่าเล่าเรียนแพงขึ้น ครูได้เงินเดือนเพิ่มขึ้น มาตรฐานของโรงเรียนจากการประเมินสูงขึ้น นั่นหมายความว่าไม่มีใครถูกลงโทษหรือต้องสูญเสียใดใดจากคะแนนสอบของนักเรียนที่ต่ำลงเลย ยกเว้นความกังวลของตัวเด็กเองที่กลายเป็นผู้รับผิดชอบทั้งหมด ในทางวิชาการก็คือระบบนี้ขาด “กระบวนการรับผิดชอบ” (Accountability) ที่มีประสิทธิภาพมากพอ

แนวทางการปฏิรูปที่ TDRI เสนอคือต้องลดสายความรับผิดชอบให้สั้นลงเป็น “พ่อแม่(หรือสถานประกอบการ)-โรงเรียน-ครู” (ลูกศรสีแดง) โดยรัฐทำหน้าที่ในการอำนวยความสะดวกและสร้างกลไกให้ผู้ปกครอง(หรือสถานประกอบการ)และสังคมสามารถกำกับและตรวจสอบโรงเรียนได้ง่ายขึ้น

“ภาพที่ ๖ กรอบแนวคิดเรื่องความรับผิดชอบ (จากบทความ)”

……….

ในทางปฏิบัติ TDRI เสนอว่าการลดสายความรับผิดชอบให้สั้นลงสามารถทำได้ 3 แนวทาง [รายละเอียดของแนวทางที่ได้มาซึ่งข้อสรุปนี้อยู่ในบทความข้อเสนอต่อการปฏิรูปการศึกษาไทยของ TDRI มี“วิธีคิด”อย่างไร?]

  1. การปฏิรูปข้อมูล (information reform) โดยการเปิดเผยข้อมูลต่างๆ เช่น ข้อมูลเกี่ยวกับสิทธิและหน้าที่ของหน่วยงานและผู้มีส่วนได้เสียแต่ละฝ่ายในระบบการศึกษา ทรัพยากรของโรงเรียน กิจกรรมการเรียนการสอนและสัมฤทธิผลทางการศึกษาของนักเรียน เพื่อให้สามารถระบุผู้ที่สมควรได้รับรางวัลหรือบทลงโทษได้อย่างชัดเจน
  2. การปฏิรูปการบริหารโรงเรียน (school-based management reform: SBM) โดยการกระจายอำนาจการตัดสินใจแก่โรงเรียนให้มีอิสระ (autonomy) มากขึ้น ภายใต้กรอบความรับผิดชอบ ทั้งความมีอิสระในด้านวิชาการ (substantive autonomy) ซึ่งรวมถึง ความสามารถในการเลือกหลักสูตรและตำราเรียน และความมีอิสระในด้านการดำเนินการ (procedural autonomy) เช่น การบริหารงบประมาณ แต่ก็อาจต้องมีการปรับปรุงประสิทธิภาพของโรงเรียนแล้วในระดับหนึ่ง
  3. การปฏิรูปแรงจูงใจของครู (incentive reform) โดยการสร้างความเชื่อมโยงในการจ้างงานและการเลื่อนเงินเดือนของครูเข้ากับสัมฤทธิผลทางการเรียนของนักเรียน

ข้อเสนอของ TDRI จึงเป็นข้อเสนอในการปฏิรูปในทางปฏิบัติและสามารถทำได้ในระยะสั้น โดยการยกระดับคุณภาพการศึกษาไม่ใช่เรื่องสิ้นหวัง แต่เป็นสิ่งที่ทำได้จริงในเวลาไม่เกิน 1 ทศวรรษ ดังตัวอย่างของประเทศต่างๆ เช่น ชิลี ลัตเวียและประเทศกำลังพัฒนาทั้งหลายเคยปฏิรูปสำเร็จมาแล้ว และ [เสด-ถะ-สาด].com ก็หวังว่าหากรัฐบาลนำข้อเสนอของ TDRI ไปปฏิบัติอย่างจริงจัง ก็คงมีโอกาสเห็นการศึกษาไทยที่มีคุณภาพในอนาคตอันใกล้

อย่างไรก็ตาม เพื่อนๆ บางคนอาจไม่เห็นด้วยไปเสียทั้งหมดกับข้อเสนอของ TDRI แต่ข้อเท็จจริงที่ TDRI ได้นำเสนอมานั้น คงเปลี่ยนความเชื่อบางส่วนของเราให้สอดคล้องกับความเป็นจริง ไม่มากก็น้อยเลยทีเดียว






ขอขอบคุณ คุณอิสร์กุล อุณหเกตุ ที่ช่วยคลายข้อสงสัยบางประการเกี่ยวกับการเผยแพร่บทความครับ ^^

ที่มา:
สมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์, ศุภณัฏฐ์ ศศิวุฒิวัฒน์ และแบ๊งค์ งามอรุณโชติ (2554) “ระบบการบริหารและการเงินเพื่อสร้างความรับผิดชอบในการจัดการศึกษา” ในการสัมมนาวิชาการประจำปี 2554
“ยกเครื่องการศึกษาไทย: สู่การศึกษาที่มีคุณภาพอย่างทั่วถึง” ณ ห้องบางกอกคอนเวนชันเซ็นเตอร์ บี โรงแรมเซ็นทาราแกรนด์ เซ็นทรัลเวิลด์ 15 กุมภาพันธ์ 2555.
อัมมาร สยามวาลา, ดิลกะ ลัทธพิพัฒน์ และสมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์ (2554) “การปฏิรูปการศึกษารอบใหม่: สู่การศึกษาที่มีคุณภาพอย่างทั่วถึง” ในการสัมมนาวิชาการประจำปี 2554
“ยกเครื่องการศึกษาไทย: สู่การศึกษาที่มีคุณภาพอย่างทั่วถึง” ณ ห้องบางกอกคอนเวนชันเซ็นเตอร์ บี โรงแรมเซ็นทาราแกรนด์ เซ็นทรัลเวิลด์ 15 กุมภาพันธ์ 2555.

  • http://naphob.wordpress.com naphob

    เงินเดือนเฉลี่ยครูอาจดูเหมือนเยอะ แต่เงินเดือนเริ่มต้นมันต่ำมากเลย เพื่อนที่รู้จักกันได้แค่ 8 พันกว่า แล้วใครจะอยากจะมาเป็นกันละครับ