6395630645_06acd033cb_b

“ระยะทาง” มีผลต่อความรักหรือไม่?

“แม้ตัวจะห่างไกล แต่หัวใจไม่ห่างกัน” เป็นประโยคทองของกุศโลบายให้กำลังใจคนที่กำลังจะต้องห่างกัน หรืออาจจะกำลังห่างกันอยู่ แต่เคยสงสัยในข้อมูลทางวิชาการกันไหมว่า เอาเข้าจริงแล้ว ระยะทางมีผลหรือไม่กับความสัมพันธ์ของการเป็นคนรักกัน

……….


Van Horn, Arnone, Nesbitt, Desilets, Sears, Giffin and Brudi (1997) ทำการศึกษาความสัมพันธ์ฉันคู่รักของนักศึกษาในระดับมหาวิทยาลัย ระหว่างคู่ที่ต้องอยู่ห่างกัน กับคู่ที่อยู่ใกล้กัน(หรืออยู่ด้วยกัน) ทั้งหมดมีอายุระหว่าง 18-22 ปี และไม่เคยผ่านการแต่งงานมาก่อน โดยผู้เข้าร่วมการวิจัยเป็นชาย 40 คน และหญิง 122 คน

“เชื่อว่า skype เป็นเครื่องมือติดต่อสำคัญของคู่ที่อยู่ไกลกัน”


ลองจินตนาการดูว่า ถ้าบ้านรวย คนนึงอยู่อังกฤษ คนนึงอยู่ไทยก็อาจไปมาหาสู่ได้บ่อยๆ ถือว่าไม่ไกลกัน แต่หากบ้านจน คนนึงอยู่สามย่าน คนนึงอยู่ท่าพระจันทร์ ก็อาจไม่มีค่ารถเดินทางไปหากัน จึงถือได้ว่าไกลกันมากๆ ดังนั้น วิธีการนิยามว่าอยู่ไกลกันหรืออยู่ใกล้กันก็คือ “มีอุปสรรคในการเดินทางไปมาหาสู่ระหว่างกันหรือไม่?”

แม้ว่าการนิยามเช่นนี้อาจจะมีปัญหาในเชิงของความหมายจริง หมายความว่า แต่ละคู่ที่ระบุมานั้นจะมีระยะทางไม่แน่นอน รวมทั้ง อุปสรรคในการเดินทางที่แต่ละคนมองนั้นย่อมไม่เหมือนกัน แต่ในอีกด้านหนึ่ง การนิยามเช่นนี้ก็ได้รับการยอมรับเป็นการทั่วไป เนื่องจากความใกล้หรือไกลกันนั้น มันอยู่ที่ใจ [ไม่ได้น้ำเน่านะครับ แต่ในทางวิชาการคือแบบนี้จริงๆ]

……….

ตารางที่ ๑ แสดงค่าคุณสมบัติทั่วๆ ไปของผู้เข้าร่วมการวิจัย คู่ที่อยู่ไกลกัน มีจำนวน 80 คู่ ร้อยละ 70 ของจำนวนนี้ได้อยู่ห่างกันมาแล้ว 1-6 เดือน ส่วนมากห่างกัน 25-250 ไมล์ (40-400 กม.) และเจอกัน 1-2 ครั้งต่อเดือน ขณะที่คู่ที่อยู่ใกล้กัน มีจำนวน 82 คู่ ส่วนมากอยู่ในระยะ 25 ไมล์ (40 กม.) และเกือบทั้งหมดเจอกันมากกว่า 1 ครั้งต่อสัปดาห์

“ตารางที่ ๑ ค่าสถิติทั่วไป จากการวิจัยช่วงแรก”


การวิจัยเก็บข้อมูล 2 ครั้ง ครั้งแรกคือ ประมาณ 3 เดือนหลังจากเปิดภาคเรียนที่หนึ่ง และครั้งสองคือ ประมาณกลางภาคเรียนสอง หรือหลังจากการเก็บข้อมูลครั้งแรก 3 เดือน คำถามที่ใช้เป็นเครื่องมือทางจิตวิทยาที่ชื่อว่า Network of Relationship Inventory (NRI) ซึ่งมาจากแนวคิดทางจิตวิทยาด้านความสัมพันธ์ คำตอบเป็นแบบสเกลจาก 1 ถึง 5

ตารางที่ ๒ เป็นค่าเฉลี่ยของความรู้สึกที่วัดจากค่า NRI และค่าในวงเล็บคือส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน (SD) จากการเก็บข้อมูลครั้งแรก โดยทำการเปรียบเทียบระหว่างคู่รักที่อยู่ไกลกันกับคู่รักที่อยู่ใกล้กัน พบว่า ความรู้สึกของคู่รักสองแบบนี้ที่ต่างกันมีแค่ ความพอใจในกันและกัน (Satisfaction) การได้บอกเล่าความไม่สบายใจ (Descriptive Self-disclosure) และการมีกิจกรรมร่วมกัน (Companion) ความรู้สึกอื่นๆ นอกจากนี้แตกต่างกันเล็กน้อยมาก

“ตารางที่ ๒ ค่าเฉลี่ยความรู้สึกจากการวิจัยครั้งแรก จำแนกตามคู่ที่อยู่ไกลกันและใกล้กัน”


ในครั้งที่สอง หรือ 3 เดือนหลังจากการเก็บข้อมูลช่วงแรก มีการถามเพิ่มเติมด้วยว่า “ยังคบกันอยู่ไหม?” และคำถามต่างๆ ที่ถูกถามในครั้งนี้ หากเป็นคู่ที่เลิกกันแล้วจะขอให้นึกถึงความรู้สึกในช่วงก่อนที่จะเลิก เพื่อจะได้ทราบถึงสาเหตุของการเลิกรา

ตารางที่ ๓ แสดงค่าเฉลี่ยของความรู้สึกที่วัดอจากค่า NRI และค่าในวงเล็บคือส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน (SD) ของคู่รักคู่เดิมที่ติดต่ออีกครั้งได้เพียง 106 คู่ โดยเป็นคู่รักที่อยู่ไกลกัน 54 คู่ และคู่รักที่อยู่ใกล้กัน 52 คู่ ในจำนวนนี้ ยังคบกันอยู่ (Intact) จำนวน 75 คู่ และเลิกกันแล้ว (Terminated) จำนวน 31 คู่ (20 จาก 31 คู่เป็นคู่ที่อยู่ไกลกัน) ซึ่งพบว่า เกือบทุกด้านของความรู้สึกที่ต่อกันแย่กว่าคู่ที่ยังคบกันอยู่ จึงไม่น่าแปลกใจ แต่ผลที่ได้ก็มีความน่าสนใจในบางประเด็น

  • ปัจจัยเรื่องความพอใจในกันและกัน (Satisfaction) ที่ส่งผลมากที่สุดต่อความรู้สึกของคู่รักที่อยู่ไกลกันเปรียบเทียบกับคู่รักที่อยู่ใกล้กันนั้น ยังคงเป็นปัจจัยที่สำคัญที่สุดที่ทำให้เลิกกัน
  • ปัจจัยเรื่องความไว้ใจซึ่งกันและกัน (Reliable Alliance) ที่ไม่ได้มีความแตกต่างกันระหว่างความรู้สึกของคู่ที่อยู่ไกลกันกับคู่รักที่อยู่ใกล้กันในการถามครั้งแรก กลับเป็นปัจจัยที่สำคัญอันดับสองที่ทำให้เลิกกัน
  • ปัจจัยเรื่องการได้บอกเล่าความไม่สบายใจ (Descriptive Self-disclosure) ที่ส่งผลมากที่สุดต่อความรู้สึกของคู่รักที่อยู่ไกลกันเปรียบเทียบกับคู่รักที่อยู่ใกล้กัน กลับ“ไม่”มีผลต่อการเลิกกัน

“ตารางที่ ๓ ค่าเฉลี่ยความรู้สึกจากการวิจัยครั้งที่สอง จำแนกตามคู่ที่ยังคบกันอยู่และเลิกกันแล้ว”


……….

แม้ว่าข้อสรุปของบทความนี้จะไม่ได้ตื่นเต้นอะไรมากนัก และคุณูปการที่สำคัญอาจจะอยู่ที่กระบวนการวิจัยก็ตาม แต่ข้อสรุปของบทความก็ให้ประเด็นที่น่าสนใจบางอย่างกับเราว่า ในช่วงเฉลี่ยประมาณ 3 เดือนแรกของการห่างกัน ความรู้สึกของคู่รักที่อยู่ไกลกันกับใกล้กันไม่ค่อยมีอะไรแตกต่างมากนัก แต่ต่อมาช่วงประมาณ 4-9 เดือน (= 1-6 เดือนก่อนการวิจัย + 3 เดือนหลังการถามครั้งแรก) อัตราการเลิกกันของคู่รักที่อยู่ไกลกันจะอยู่ที่ 37% (= 20/54) เปรียบเทียบกับอัตราการเลิกกันของคู่รักที่อยู่ใกล้กันซึ่งอยู่ที่ประมาณ 21% (= 11/52) ก็ถือว่าแตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญทีเดียว [ไม่กล้าบอกว่าเยอะหรือน้อย ขึ้นอยู่กับการตีความของแต่ละคนนะครับ เพราะอีกตั้ง 63% ของคู่รักที่อยู่ไกลกัน ก็ยังคบกันอยู่]

“ที่จริงระยะห่างของใจใกล้กันแค่นิดเดียว”


รวมทั้ง คู่รักที่ต้องการประคับประคองความรักระยะไกลให้อยู่รอดได้นั้น ให้ดูแลแค่สองปัจจัยหลักๆ เท่านั้น คือ ขอให้ยังคงรู้สึกพอใจในกันและกัน (Satisfaction) และขอให้ไว้ใจซึ่งกันและกัน (Reliable Alliance) แม้ว่าอาจจะไม่ง่าย แต่หากดูแลเพียงสองประเด็นนี้ให้ดี ก็จะเข้าข่าย 70% ที่เหลือรอดจนถึงวันที่ได้มาอยู่ด้วยกันไปตลอด…อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ…แน่นอนครับ ^^






ขอบคุณ คุณ Kiattisak Lugsanangarm ที่ให้ความช่วยเหลือในการหาบทความต้นฉบับครับ

ที่มา: HORN, K. R. V., ARNONE, A., NESBITT, K., DESLLETS, L., SEARS, T., GIFFIN, M. and BRUDI, R. (1997), Physical distance and interpersonal characteristics in college students’romantic relationships. Personal Relationships, 4: 25–34.

  • TIF

    ยกเนื้อหาดี อธิบายดี สรุปดี … ชอบบทความนี้มากครับ :)

    • http://setthasat.wordpress.com [เสด-ถะ-สาด].com

      ขอบคุณครับ ^^

  • http://ceramicd.tarad.com ceramicd

    อืม

  • Nisa

    รูปสุดท้าย. “น่ารัก”. มากค่ะ

    • http://setthasat.wordpress.com [เสด-ถะ-สาด].com

      ขอบคุณครับ ที่จริง เอารูปมาจาก flickr ถ้าคลิ๊กที่รูป มันจะนำไปสู่ source ที่ถูกต้องของรูปครับ ^^