Endless love

“โอกาส” หรือ “ความชอบ” อะไรมีบทบาทมากกว่ากันในการมีใครสักคน?

เวลาที่เราเห็นคนสองคนเป็นแฟนกัน เคยสงสัยไหมว่า เขาคบอยู่กับคนที่ตรงสเป็คตามที่อยากมีตั้งแต่แรก หรือเขาได้มาคบกันเพราะโอกาสที่พบเจอจนถูกใจกัน งานวิจัยของ Belot and Francesconi จะแสดงให้เห็นความไม่สมดุลของอุปสงค์(หรือความต้องการ)และอุปทาน(ความมีอยู่จริง)ของเรื่องนี้

……….


ารแต่งงานคือสถานการณ์สำคัญของชีวิตที่เกิดจากความรักของคนสองคน แต่เนื่องจากการแต่งงานคือผลลัพธ์ดุลยภาพ (Equilibrium Outcome) มันจึงไม่ได้บอกอะไรกับเรามากนักว่า การลงเอยกันที่การแต่งงานนั้นที่จริงมันเป็นเพราะ “ความชอบ” (Preference) หรือ “โอกาส” (Opportunity) ของคนสองคนนั้นกันแน่

“คู่แต่งงานชายหญิงกับรักนิรันดร์”


Belot and Francesconi (2006) ทำการศึกษาเปรียบเทียบว่า อะไรมีบทบาทต่อการตัดสินใจลงเอยแต่งงานมากกว่ากันระหว่างความชอบกับโอกาส โดยพวกเขาอาศัยข้อมูลจากบริษัทรับจ้างหาคู่ (ให้ชัดๆ กว่านั้นคือบริษัทจัดงานนัดเดทที่ให้หนุ่มสาวมาพบปะกัน) ขนาดใหญ่ของ UK ใช้ข้อมูลของหญิงและชาย ฝ่ายละประมาณ 1800 คน จากการจัดงานทั้งหมด 84 ครั้ง ระหว่างมกราคม 2004 ถึงตุลาคม 2005

ตารางที่ ๑ แสดงค่าสถิติของกลุ่มตัวอย่างทั้งเกือบ 4000 คนที่ใช้ในการวิเคราะห์ อายุเฉลี่ยของผู้หญิงและผู้ชายเท่ากันคือ 22.3 ปี ผู้หญิง 1 คนจะส่งคำขอเดทให้ผู้ชายเฉลี่ยกับ 2.6 คนและได้รับการตอบรับร้อยละ 46 ขณะที่ผู้ชาย 1 คนจะส่งคำขอเดทให้ผู้หญิงเฉลี่ยกับ 5.0 คนและได้รับการตอบรับร้อยละ 20 โดยจำนวนคู่เดทเฉลี่ยต่อการจัดงานพบปะหนึ่งครั้งคือ 22 คู่ อีกทั้งมีผู้ชายจำนวนร้อยละ 38 และผู้หญิงจำนวนร้อยละ 46 ไม่ส่งคำขอเดทเลย นั่นคือ ผู้หญิงจะส่งคำขอเดทกับผู้ชายที่ค่อนข้างเฉพาะเจาะจงมาก ขณะที่ผู้ชายจะมีความเจาะจงน้อยกว่า

“ตารางที่ ๑ ค่าสถิติเชิงพรรณนาของกลุ่มตัวอย่าง”

……….

ในรายละเอียดของแต่ละคนที่เข้ามาใช้บริการ นอกจากจะต้องกรอกข้อมูลส่วนตัวของตนเองแล้ว ยังต้องระบุด้วยว่า สนใจเพศตรงข้ามที่มีลักษณะ หรือรูปร่างหน้าตาอย่างไร ในด้านหนึ่งก็เพื่อทางบริษัทจะได้แนะนำให้ได้อย่างเหมาะสม แต่ในอีกด้านหนึ่งก็คือ พวกเขาจะต้องระบุ “อุปสงค์ที่มีต่อคุณลักษณะของคนที่เขาต้องการ” (Demand for Partner’s Attribute) ด้วย ซึ่งอุปสงค์เหล่านี้มาจากความชอบ (Preference) ของแต่ละคนนั่นเอง

Belot and Francesconi นำข้อมูลที่ได้มาประมาณค่าสมการอุปสงค์และพบว่า ผู้ชายอายุน้อยที่มีรูปร่างสูง (คอลัมน์ (1)) หรือผู้หญิงอายุน้อย ผอมบางและไม่สูบบุหรี่ (คอลัมน์ (2)) จะเป็นที่ต้องการของเพศตรงข้ามมากกว่าอย่างมีนัยสำคัญ

ในบทความได้ตระหนักดีว่ายังมีปัจจัยความถูกตาต้องใจอีกมากที่ไม่สามารถใส่ลงไปในสมการได้ เพราะบางคนอาจจะมีแววตาชวนฝัน มีคารมเป็นเลิศ มีผิวขาวโอโม่ มีกล้ามเป็นมัดๆ มีหน้าอกใหญ่โต หรืออีกมากมาย พวกเขาจึงได้เพิ่มตัวแปรหนึ่งเข้าไปคือ เสน่ห์รวมๆ (Collective Desirability) ที่วัดมาจากจำนวนคำขอเดทที่คนๆ นั้น (j) ได้รับจากคนอื่นๆ (m) โดยไม่รวมอุปสงค์ของคนที่ถูกพิจารณาอยู่ (- i) (เขียนเป็นสัญลักษณ์ก็คือ d- ijm) ซึ่งเมื่อเพิ่มตัวแปรนี้เข้าไปแล้ว ผู้ชายอายุน้อยที่มีรูปร่างสูง หรือผู้หญิงอายุน้อย ผอมบางและไม่สูบบุหรี่ ก็ยังคงเป็นที่ต้องการมากกว่าโดยไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลง

“ตารางที่ ๒ ค่าสัมประสิทธิ์ของสมการอุปสงค์คนที่จะมาเป็นคู่รัก”


วิธีที่จะแยกว่า สุดท้ายแล้วคนที่พวกเขาเลือกที่ขอเดทจริงๆ นั้นมาจากรูปแบบของความชอบหรือโอกาสกันแน่ ขอสรุปให้เข้าใจได้ง่ายขึ้นดังนี้นะครับ [ในบทความมีการควบคุมปัจจัยเรื่องขนาดและการกระจายตัวของคนในครั้งของการจัดงานนัดเดทไว้ด้วย แต่เพื่อให้ง่ายจึงไม่ขอพูดถึงในที่นี้]

  • ลองจินตนาการดูว่า หากแต่ละคนที่เลือกคู่เลือกใครก็ได้ โดยไม่ได้มีรูปแบบของความชอบของตัวเองเลย การเลือกคู่ย่อมเป็นไปโดยสุ่ม ซึ่งลักษณะเฉลี่ยของคนที่ถูกขอเดทจะเหมือนกับลักษณะเฉลี่ยของทั้งกลุ่ม จึงเป็นเรื่องของ “โอกาส” เท่านั้น
  • แต่เมื่อไรก็ตามที่คำขอเดทถูกส่งไปหาคนที่แตกต่างจากค่าเฉลี่ยของกลุ่ม เท่ากับว่า เป็นการเจาะจงผู้รับคำขอเดท ซึ่งนั่นหมายถึงเป็นเรื่องของ “ความชอบ”

……….

หากแปลงจากแนวคิดที่ว่าออกมาเป็นกราฟ จะได้ดังรูปที่ ๑ แกนนอนคือค่าเฉลี่ยของคุณลักษณะของผู้เข้าร่วมงานในแต่ละครั้ง แกนตั้งคือค่าเฉลี่ยของคุณลักษณะของผู้ที่ได้รับคำขอเดทในแต่ละครั้ง จุดต่างๆ คือค่าที่เกิดขึ้นจริงของผู้เข้าร่วมงานในแต่ละครั้งที่ได้รับคำขอเดท เส้น 45 องศาจะเกิดขึ้นก็ต่อเมื่อค่าเฉลี่ยของคุณลักษณะของผู้เข้าร่วมงานในแต่ละครั้ง “เท่ากับ” ค่าเฉลี่ยของคุณลักษณะของผู้ที่ได้รับคำขอเดทในแต่ละครั้งเสมอ นั่นหมายความว่าเส้น 45 องศาช่วยอธิบายโอกาส และส่วนต่างระหว่างเส้น 45 องศากับจุดต่างๆ หรือที่เรียกว่าส่วนที่เหลือ (Residual) ก็คือความชอบนั่นเอง

“รูปที่ ๑ อุปทานของคนที่จะมาเป็นคู่ (ซ้าย) ของหญิง (ขวา) ของชาย”


หากเขียนเป็นสมการก็จะได้ว่า X(c)jm = α0 + α1Xjm + εm โดย X(c)jm คือค่าเฉลี่ยของคุณลักษณะของผู้ที่ได้รับคำขอเดทในแต่ละครั้ง Xjm คือค่าเฉลี่ยของคุณลักษณะของผู้เข้าร่วมงานในแต่ละครั้ง และ εm คือส่วนเหลือของสมการ

ถ้า α0 = 0 และ α1 = 1 จะทำให้ค่าในสมการเป็น X(c)jm = Xjm ซึ่งเป็นเส้น 45 องศา หมายความว่า ค่าเฉลี่ยของคุณลักษณะของผู้เข้าร่วมงานในแต่ละครั้ง “เท่ากับ” ค่าเฉลี่ยของคุณลักษณะของผู้ที่ได้รับคำขอเดทในแต่ละครั้งเสมอ แต่อย่างไรก็ตาม ค่าสัมประสิทธิ์ที่ได้จากการประมาณค่าสมการจากข้อมูลจริงย่อมไม่เป็นเช่นนั้น เพราะค่าที่ได้จะเป็น α0 ≠ 0 และ α1 ≠ 1 นั่นก็เพราะความชอบเข้ามามีบทบาทในการหาคู่ด้วย

ค่าสัมประสิทธิ์การกำหนด (Coefficient of Determination หรือ R2) ซึ่งในทางสถิติ จะช่วยบอกว่าสมการที่คำนวณได้นั้นสามารถอธิบายข้อมูลจริงได้ร้อยละเท่าไหร่ โดยมีบทบาทในสองส่วนคือ ข้อมูลจริงส่วนแรกถูกอธิบายด้วยเส้น 45 องศา (α0 = 0 และ α1 = 1) [จากกราฟก็จะพอเห็นได้ว่าเส้น 45 องศาก็มีความใกล้เคียงข้อมูลจริงไปประมาณนึงแล้ว] ซึ่งเป็นร้อยละของการอธิบายที่เกิดจากโอกาส และส่วนที่สองคือสมการที่ได้จากการประมาณค่าจริงเทียบกับเส้น 45 องศา (α̂0 และ (α̂1 – 1)) ซึ่งเป็นร้อยละของการอธิบายที่เกิดจากความชอบ

ตารางที่ ๒ แสดงค่าสัมประสิทธิ์การกำหนด (R2) ที่จำแนกออกเป็นสองส่วนคือ ร้อยละของการอธิบายที่เกิดจากโอกาส และความชอบ ซึ่งไม่ว่าจะเป็นผู้หญิง (ในแถวบน) หรือผู้ชาย (ในแถวล่าง) และไม่ว่าจะเป็นอายุ การศึกษา อาชีพ ความสูง น้ำหนัก และการสูบบุหรี่ (ตามแนวคอลัมน์) ร้อยละของการอธิบายที่เกิดจากโอกาส สูงกว่าความชอบทั้งหมด นั่นหมายความว่า โอกาสต่างหากเป็นตัวกำหนดว่าใครจะมาเป็นคู่ของเรามากกว่าความชอบของเราเองเสียอีก หรือพูดให้ง่ายกว่านั้นก็คือ ต่อให้อยากได้แบบไหน ก็ใช่ว่าจะเลือกได้อย่างที่ชอบจริงๆ

อธิบายให้เข้าใจกว่านั้นก็คือ หากดูจากค่าเฉลี่ย(ในคอลัมน์สุดท้ายของสมการ) สำหรับผู้หญิงแล้ว สมการที่ประมาณค่าได้สามารถอธิบายปัจจัยที่มีผลต่อการขอเดทได้ร้อยละ 28.1 ซึ่งมาจากความชอบร้อยละ 5.8 และโอกาส 22.3 นั่นคือ โอกาสมีผลมากกว่าความชอบเกือบ 4 เท่า ขณะที่สำหรับผู้ชาย สมการที่ประมาณค่าได้สามารถอธิบายปัจจัยที่มีผลต่อการขอเดทได้ร้อยละ 30.5 มาจากความชอบร้อยละ 4.2 และโอกาส 26.3 นั่นคือ โอกาสมีผลมากกว่าความชอบกว่า 6 เท่า จะเห็นว่าในการขอเดท ผู้หญิงให้ความสำคัญกับสเป็คส่วนตัวสูงกว่าผู้ชาย ขณะที่ผู้ชายปล่อยไปตามแต่โอกาสมากกว่าผู้หญิง

“ตารางที่ ๓ ค่าสัมประสิทธิ์การกำหนดของโอกาสและความชอบ ของหญิงและชาย”

……….

ข้อสรุปของบทความนี้ก็คือ ความชอบของแต่ละคนมีบทบาทในการเลือกคู่ แต่ก็ยังน้อยกว่าโอกาสประมาณ 4-6 เท่าเลยทีเดียว การที่เราเห็นคู่แต่งงานจำนวนมากลงเอยกัน นั่นอาจไม่ได้เป็นเพราะพวกเขาคาดหวังหรือมีรูปแบบความชอบในแบบที่คู่ของเขาเป็นอยู่ตั้งแต่แรก แต่เป็นเพราะโอกาสทำให้เขาถูกใจกันและกันมากกว่า (แม้อาจจะไม่ตรงสเป็คก็ตาม)

แต่ถึงอย่างไร [เสด-ถะ-สาด].com ก็ขอให้คู่ที่รักกันแล้ว ไม่ว่าจะตรงสเป็คกันหรือไม่ มีความรักที่ยั่งยืนนะครับ บทความนี้อาจจะอ่านยากสักหน่อย เพราะตัวเอกสารจริงๆ ก็ค่อนข้างอ่านยากพอสมควร แต่คิดว่าเพื่อนๆ น่าจะได้ประโยชน์ โดยเฉพาะวิธีคิดและมุมมองของเรื่องซึ่งน่าจะนำไปประยุกต์ต่อได้อีกมากทีเดียวครับ ^^






ที่มา: Belot, Michèle & Francesconi, Marco, 2006. “Can Anyone be ‘The One’? Evidence on Mate Selection from Speed Dating,” CEPR Discussion Papers 5926, C.E.P.R. Discussion Papers.

  • ตะวัน

    ข้อมูลเป็นวิชาการ เกินไป อ่านแล้วปวดหัว !!! ขอเป็นความชอบแล้วกันนะส่วนใหญ่่คงเป็นแบบนั้น คงต้องชอบก่อนแล้วค่อยหาโอกาสนะคับคุณ

  • http://bombyxndcocoon.wordpress.com maioneze

    เหมือนเคยได้ยินเกี่ยวกับงานวิจัยแบบนี้มาบ้างสมัยตอนเรียนมหาลัย (นานแสนนานมาแล้ว ^^”) แต่ไม่ได้ลงลึกแบบนี้ ได้อ่านเรื่องความสัมพันธ์จากมุมมองอื่นบ้างก็ดีเหมือนกันค่ะ เปิดหูเปิดตาดี ขอบคุณนะคะ :)

  • http://www.facebook.com/kritthana Kritthana Kijyakanont

    มีคนทำวิจัยเรื่องนี้ด้วยเหรอเนี่ย…

  • http://bharot.wordpress.com Bharot Yomchinda

    เป็นโชคดีของ “ชายเตี้ยที่อายุมาก” กับ “หญิงอายุมากและอ้วน”
    ที่แม้ดีมานด์ที่มีต่อพวกเขาจะน้อย
    แต่เนื่องจากการแต่งงานขึ้นอยู่กับโอกาสมากกว่า Preference หลายเท่าตัว
    งานวิจัยนี้น่าจะเป็นกำลังใจให้ชายหญิงสองกลุ่มข้างต้น
    ว่าพวกเขายังมีโอกาสมากทีเดียวที่จะได้แต่งงาน
    แม้ตัวจะเตี้ยหรืออ้วนและอายุจะไม่น้อยแล้วก็ตาม

  • http://myblog1dotnet.wordpress.com jpmobile