angry-couple-silhouette1

“เปลี่ยนตัวเรา” และ “เปลี่ยนตัวเขา” แล้วความสัมพันธ์จะดีขึ้นไหม?

การคบกันของคนสองคน คงเป็นไปได้ยากมากที่จะเข้ากันได้ทั้งหมด 100% บางคู่ก็เข้ากันได้มาก บางคู่ก็น้อย เมื่อบางส่วนที่เข้ากันได้ไม่ทั้งหมด ก็มีทางเลือกสองทาง คือ เปลี่ยนตัวเรา หรือ เปลี่ยนตัวเขา บทความวิชาการชิ้นนี้จะบอกเราว่า ผลกระทบของการเปลี่ยนในทั้งสองแบบต่างกันอย่างไร

……….


Hira and Overall (2010) ทำการศึกษาผลที่ตามมาของความพยายามเปลี่ยนตัวเราเอง กับเปลี่ยนอีกฝ่ายหนึ่ง เพื่อพัฒนาความสัมพันธ์ให้ดีขึ้น โดยเก็บข้อมูลจากผู้เข้าร่วมการวิจัยที่มีเงื่อนไขว่าจะต้องคบกับแฟนมาแล้วอย่างน้อย 6 เดือน จำนวน 160 คน (เป็นชาย 56 คน และ หญิง 104 คน) อายุ 18 – 71 ปี (ค่าเฉลี่ยอยู่ที่ 30.58 ปี และค่ามัธยฐานอยู่ที่ 24 ปี) ช่วงเวลาเฉลี่ยของการคบกับแฟนอยู่ที่ 7.25 ปี (ค่ามัธยฐานอยู่ที่ 2.8 ปี) และ 31.3% แต่งงานแล้ว 24.4% อยู่ด้วยกัน 26.9% เป็นแฟนกัน

ผู้เข้าร่วมการวิจัยจะต้องตอบแบบสอบถามที่มีสเกล 7 ข้อ ตั้งแต่ 1 คือ น้อยที่สุด จนถึง 7 คือ มากที่สุด โดยมีคำถามหลักๆ อยู่ 5 กลุ่ม ได้แก่

  • คำถามเกี่ยวกับความพยายามเปลี่ยนตัวเราเอง หรือ “เขาเปลี่ยนเรา”
  • คำถามเกี่ยวกับความพยายามเปลี่ยนตัวเขา หรือ “เราเปลี่ยนเขา”
  • คำถามเกี่ยวกับสิ่งที่เราได้เปลี่ยนเพื่อให้ความสัมพันธ์ดีขึ้น หรือ “เราเปลี่ยนเอง”
  • คำถามเกี่ยวกับสิ่งที่เขาได้เปลี่ยนเพื่อให้ความสัมพันธ์ดีขึ้น หรือ “เขาเปลี่ยนเอง”
  • คำถามอื่นๆ เช่น ความสุขในความสัมพันธ์ (Relationship Quality) ประสิทธิผลของความพยายามเปลี่ยนเขา (Effectiveness of Improvement Strategies) เป็นต้น

……….

สมมติฐานของงานวิจัยมี 2 แบบจำลองหลักๆ (ดูรูปที่ ๑)

  1. เราเปลี่ยนเขา(หรือเขาเปลี่ยนเรา) ⇒ ผลลบที่เกิดจากความพยายามเปลี่ยน ⇒ ผลสัมฤทธิ์ของความพยายามเปลี่ยน ⇒ ความสุขในความสัมพันธ์
  2. เขาเปลี่ยนเอง(หรือเราเปลี่ยนเอง) ⇒ ความสำเร็จของการพัฒนาความสัมพันธ์ ⇒ ความสุขในความสัมพันธ์

“ภาพที่ ๑ กรอบแนวคิดและสมมติฐานของงานวิจัย”


การวิเคราะห์ทางสถิติใช้ Path Analysis (เนื่องจากเป็นผลกระทบที่ต่อเนื่องเป็นลำดับขั้น และมีทั้งผลกระทบทางตรงและทางอ้อม) และคำนวณหาค่าความเชื่อมั่น 95% โดย bootstrapping re-sampling (k=5000) procedures (เนื่องจากข้อมูลมีจำนวนไม่มากนัก และไม่ทราบรูปแบบการกระจายที่แน่ชัด (ที่แน่ๆ ไม่ใช่การกระจายแบบโค้งปกติ))

……….

ผลการวิจัยในแบบจำลองที่ 1 แสดงค่าสัมประสิทธิ์ที่ปรับมาตรฐานแล้ว (Standardized Coefficients) ของแบบจำลองได้ตามตารางที่ ๑ จำแนกออกเป็น 3 คอลัมน์ ตามลำดับการวิเคราะห์ในภาพที่ ๑ ด้านบน ปัจจัยกำหนดคือ เราเปลี่ยนเขาและเขาเปลี่ยนเรา และปัจจัยควบคุมคือ ความรู้สึกที่ว่าเขาจำเป็นต้องเปลี่ยนและความรู้สึกที่ว่าเราจำเป็นต้องเปลี่ยน พบว่า ในท้ายที่สุด ทั้งเขาพยายามเปลี่ยนเรา เราพยายามเปลี่ยนเขาและความรู้สึกว่าเขาจำเป็นต้องเปลี่ยนส่งผลลบต่อความสุขในความสัมพันธ์ โดยส่งผลลบต่อความสุขประเภทละประมาณ 20% ของความสุขโดยรวม ขณะที่ความรู้สึกด้วยตัวเองว่าเราจำเป็นต้องเปลี่ยนส่งผลบวกต่อความสุขในความสัมพันธ์แค่ 1% เท่านั้น

“ตารางที่ ๑ ค่าสัมประสิทธิ์ของสมการตามแบบจำลองที่ 1″


ผลการวิจัยในแบบจำลองที่ 2 แสดงแสดงค่าสัมประสิทธิ์ที่ปรับมาตรฐานแล้วได้ตามตารางที่ ๒ จำแนกออกเป็น 2 คอลัมน์ ตามลำดับการวิเคราะห์ในภาพที่ ๑ ด้านบน ปัจจัยกำหนดคือ ความพยายามเปลี่ยนตัวเราเอง ความสำเร็จในการเปลี่ยนตัวเราเอง ความพยายามเปลี่ยนตัวเขา ความสำเร็จในการเปลี่ยนตัวเขา ความพยายามเปลี่ยนพร้อมๆ กัน และความสำเร็จในการเปลี่ยนที่เกิดขึ้นพร้อมๆ กัน พบว่า ในท้ายที่สุด แม้ว่าความพยายามเปลี่ยนตัวของเราจะส่งผลลบต่อความสุขในความสัมพันธ์ แต่หากเราเปลี่ยนตัวเองสำเร็จจะส่งผลบวก ขณะที่ความพยายามในการเปลี่ยนตัวของเขาเองก็ส่งผลบวก แต่ในทั้งหมดแล้วตัวเขาเองต้องเปลี่ยนตัวเองสำเร็จเท่านั้นจึงจะส่งผลบวกต่อความสุขในความสัมพันธ์อย่างมีนัยสำคัญ และส่งผลมากถึง 30% ของความสุขโดยรวม (ประมาณ 1 ใน 3)

“ตารางที่ ๒ ค่าสัมประสิทธิ์ของสมการตามแบบจำลองที่ 2″


……….

โดยสรุปก็คือ ความพยายามของคนสองคนที่จะเปลี่ยนอีกฝ่ายหนึ่งนั้นส่งผลลบต่อความสัมพันธ์ ขณะที่ความพยายามเปลี่ยนตัวเราเองก็ไม่ได้รับประกันว่าความสัมพันธ์จะดีขึ้น และแม้ว่าความพยายามเปลี่ยนตัวของเขาเองดูเหมือนจะส่งผลดีต่อความสุขในความสัมพันธ์ แต่เขาต้องเปลี่ยนตัวเองสำเร็จเท่านั้นจึงจะมีผลในทางบวกจริงๆ

ดังนั้น หากคนสองคนคิดจะคบกัน คงหวังได้น้อยมากกับความพยายามที่จะไปเปลี่ยนอีกฝ่ายหนึ่งแล้วจะมีความสุขร่วมกันมากขึ้น รวมทั้งการเปลี่ยนตัวของเราเองก็ไม่ได้รับประกันว่าทุกอย่างจะดีขึ้น ทางที่ดีจึงควรจะเรียนรู้สิ่งที่อีกฝ่ายหนึ่งเป็นอยู่เสียตั้งแต่แรก และลองพิจารณาดูว่าเราจะยอมรับมันได้หรือไม่ หรือข้อดีอื่นๆ จะชดเชยข้อเสียที่มองเห็นได้มากน้อยแค่ไหน เพราะก็คงไม่มีคู่ไหนในโลกที่เข้ากันได้โดยไม่ต้องปรับอะไรเลยอยู่ดี อย่างไรก็ตาม หากคู่รักคู่ไหนเผชิญสถานการณ์ที่ต้องเปลี่ยนแปลง [เสด-ถะ-สาด].com ก็ขอเป็นกำลังใจให้ครับ ^^






ที่มา: Shreena N. Hira and Nickola C. Overall. Improving intimate relationships: Targeting the partner versus changing the self. Journal of Social and Personal Relationships August 2011 28: 610-633, first published on December 29, 2010.

featured image from onlinedatingsites.net