“ความรักอันแสนโรแมนติค” หน้าตาเป็นอย่างไร?
บทความนี้ได้พยายามให้คำนิยามกับความรักอันแสนโรแมนติค และพยายามสร้างดัชนีชี้วัดความรักอันแสนโรแมนติคนั้นขึ้น และเมื่อได้ดัชนีชี้วัดแล้วก็นำไปทดสอบกันในห้องแล็ป ซึ่งผลการทดลองจะมาบอกให้เรารู้ว่า ความรักอันแสนโรแมนติคนั้นมีอยู่จริง และสังเกตกันได้ไม่ยากด้วยสิ
……….
ปกติแล้ว ความรักย่อมหมายถึงความรู้สึกทางอารมณ์ที่มีความหมายที่สุดและลึกซึ้งที่สุด แต่ในทางทฤษฎีแล้ว ความรักกับความชอบอาจมีส่วนคล้ายกันอยู่มากทีเดียว Heider (1958) อธิบายว่า ความรัก (Loving) ก็คือความชอบ (Liking) ในระดับที่มากๆ นั่นเอง แต่นักทฤษฎีอีกจำนวนหนึ่งก็ไม่ได้เห็นด้วยกับแนวคิดนี้
“ดอกกุหลาบตัวแทนของความรัก (ภาพโดย █ Slices of Light █▀ ▀ ▀ @flickr)”
Rubin (1970) ได้มีความพยายามสร้างดัชนีชี้วัดความรักอันแสนโรแมนติคขึ้น เพื่อให้ความรักอันแสนโรแมนติคนั้นถูกประเมินได้เชิงปริมาณ ซึ่งเขาหวังว่าจะเป็นประโยชน์ต่องานวิจัยอื่นต่อไป และแน่นอนว่า เขาคิดถูก
การศึกษาของ Rubin เริ่มจากทำการรวบรวมนิยามและความหมายของคำว่า “ความรักอันแสนโรแมนติค” (Romantic Love) จนสามารถระบุองค์ประกอบของความรักอันแสนโรแมนติคได้เป็น 3 ส่วน ได้แก่ ความต้องการที่จะผูกพันซึ่งกันและกัน (Affiliative and Independent Need) ความพร้อมที่จะช่วยเหลือกัน (A Predisposition to Help) และความเข้าใจในตัวตนของอีกฝ่ายหนึ่งและความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน (An Orientation of Exclusiveness and Absorption)
เขาออกแบบแบบสอบถามที่มี 26 ข้อ ตามตารางที่ ๑ [ขออนุญาตไม่แปลนะครับ เพราะอาจจะแปลออกมาได้ไม่สละสลวย และอาจไม่ใช่ประเด็นหลักของบทความชิ้นนี้] 13 ข้อแรกเป็นคำถามที่วัดความรัก (Love-scale items) และ 13 ข้อหลังวัดความชอบ (Liking-scale items) โดยให้ผู้ตอบนึกถึงคู่รักของตน และเพื่อนสนิทต่างเพศ (Platonic Friend) เพื่อจะได้นำค่าที่ได้มาเปรียบเทียบซึ่งกันและกัน ซึ่งคำถามทั้ง 26 ข้อนี้สะท้อนมาจากองค์ประกอบของความรักอันแสนโรแมนติคทั้ง 3 ส่วนที่ว่ามา
“ตารางที่ ๑ ค่าสถิติของคำถามตามความรักและความชอบทั้ง 26 ข้อ”
ค่าเฉลี่ยที่ได้จากการประมวลผลในแต่ละข้อยากที่จะบอกได้ว่าผู้ชายหรือผู้หญิง ใครรักใครมากกว่ากัน แต่ในภาพรวมความสัมพันธ์ของทุกคำถามแล้ว ทั้งผู้หญิงและผู้ชายตอบคำถามเกี่ยวกับความรักต่อคู่รักของตนสอดคล้องกัน (Coefficient Alpha = 0.84 กรณีของผู้หญิง และ 0.86 กรณีของผู้ชาย) แต่คำถามเกี่ยวกับความชอบต่อเพื่อนต่างเพศนั้น ผู้หญิงมีความสัมพันธ์กันของคำถามค่อนข้างต่ำ (= 0.39) กว่าผู้ชายมาก (= 0.60) นั่นหมายความว่า ผู้หญิงจะให้ความสัมพันธ์กับเพื่อนผู้ชายเป็นเรื่องๆ ไป ขณะที่ผู้ชายจะให้ความสัมพันธ์กับเพื่อนผู้หญิงในเกือบทุกเรื่อง (คล้ายกับการปฏิบัติกับคู่รัก)
……….
Rubin ได้ทำการเปรียบเทียบความรักและความชอบที่มีต่อคู่รัก เปรียบเทียบกับเพื่อนเพศเดียวกัน ตารางที่ ๒ เป็นการสรุปค่าสถิติที่คำนวณได้ จำแนกออกเป็นค่าสถิติของความรักต่อคู่รัก (Love for partner) ความชอบต่อคู่รัก (Liking for partner) ความรักต่อเพื่อนเพศเดียวกัน (Love for friend) และความชอบต่อเพื่อนเพศเดียวกัน (Liking for friend)
“ตารางที่ ๒ ความรักและความชอบที่มีต่อคู่รักและเพื่อนเพศเดียวกัน”
ค่าที่ได้บ่งบอกว่า ทั้งผู้หญิงและผู้ชายมีระดับความรักต่อคู่รักและความชอบต่อเพื่อนเพศเดียวกันที่ไม่ต่างกันมากนัก (89.46 ≈ 89.37 และ 80.47 ≈ 79.10) ขณะที่ผู้หญิงมีแนวโน้มที่จะชอบ[ชื่นชม]คู่รักของตนเอง และรักเพื่อนเพศเดียวกันมากกว่าผู้ชายมาก (88.48 > 84.65 และ 65.27 > 55.07) นั่นหมายความว่า ผู้หญิงจะชื่นชมคู่รักของตนเองมากกว่าผู้ชาย และผู้หญิงก็จะสนิทกันเองมากกว่าผู้ชายด้วย
“หัวใจ อีกตัวแทนหนึ่งของความรัก (ภาพโดย zenera @flickr)”
จากนั้น Rubin ทำการทดลองในห้องแล็บ โดยยึดเอา “การสบตากัน[โดยบังเอิญ]” ([Accidentally] Mutual Gazing) เป็นดัชนีชี้วัดความเข้าใจในตัวตนของอีกฝ่ายหนึ่งและความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันในองค์ประกอบที่สามของความรักอันแสนโรแมนติค ตามแนวทางที่ว่า
คนสองคนที่รักกันมากกว่า ก็จะยิ่งเติมเต็มความเพียงพอให้แก่กันได้มากกว่า – ซิกมันด์ ฟรอยด์ (1955)
The more [two people] are in love, the more completely they suffice for each other. – Sigmund Freud (1955)
การทดลองเริ่มจากแยกคู่รักออกเป็นสองกลุ่ม คือ คู่ที่รักกันมาก (Strong together) และคู่ที่รักกันน้อย (Weak together) โดยจำแนกจากค่าเฉลี่ยของคำตอบในแบบสอบถามที่สูงกว่าหรือต่ำกว่าค่ามัธยฐาน (Median) [แน่นอนว่า แต่ละคู่จะไม่รู้ว่าตัวเองอยู่กลุ่มไหน ไม่อย่างนั้นอาจจะนำไปสู่ปัญหาครอบครัวได้] และสลับคู่ระหว่างคู่รักที่รักกันมาก (Strong apart) และสลับคู่ระหว่างคู่รักที่รักกันน้อยด้วย (Weak apart)
ผลการทดลองในตารางที่ ๓ พบว่า คู่รักจริงๆ จะมีช่วงเวลาสบตากันมากกว่าคู่รักที่ถูกสลับ (56.2 > 46.7 วินาที และ 44.7 > 40.0 วินาที) และคู่รักที่รักกันมากจะมีช่วงเวลาของการสบตากันยาวนานกว่าคู่รักที่รักกันน้อยอย่างมีนัยสำคัญ (56.2 > 44.7 วินาที)
“ตารางที่ ๓ เวลาของการสบตากันโดยบังเอิญ (วินาที)”
……….
นอกจากนี้ หากคิดเป็นร้อยละ เมื่อเปรียบเทียบกับการมองไปที่กันและกัน แต่ไม่ได้สบตากัน จะได้ผลดังตารางที่ ๔ คือ คู่รักที่รักกันมากจะมีช่วงเวลาของการสบตากันมากถึง 44.0% ของการมองไปที่กันและกัน ขณะที่คู่รักที่รักกันน้อยจะมีช่วงเวลาของการสบตากันเพียง 34.7% ของการมองไปที่กันและกันเท่านั้น
“ตารางที่ ๔ เวลาของการสบตากันเปรียบเทียบกับการมองไปที่กันและกัน (วินาที)”
กล่าวโดยสรุปก็คือ แม้จะบอกไม่ได้ว่าระหว่างผู้หญิงหรือผู้ชาย ใครรักใครมากกว่ากัน แต่ความรักของทั้งสองคนไม่เหมือนกัน ผู้หญิงจะให้ความสำคัญกับเพื่อนผู้ชายมากเป็นเรื่องๆ ไป คล้ายๆ กับเป็นการปฏิบัติแบบระวังตัว แต่ผู้ชายจะให้ความสำคัญกับเพื่อนผู้หญิงในเกือบทุกเรื่อง เพราะปฏิบัติเหมือนเป็นเพื่อนปกติ ขณะที่ผู้หญิงจะรู้สึกชอบ[ชื่นชม]คู่รักของตนมากกว่าที่ผู้ชายจะรู้สึกกับผู้หญิง
นอกจากนี้ องค์ประกอบของความรักอันแสนโรแมนติค 3 ส่วนที่ถูกวัดโดยแบบสอบถามนั้นก็สอดคล้องกับการทดลองด้วย โดยคู่รักที่รักกันมากจะมีอัตราการสบตากันโดยบังเอิญสูงกว่าคู่ที่รักกันน้อยและคู่ที่ไม่ได้รักกันอย่างมาก
ต่อไปนี้ หากคู่รักคู่ไหน สบตากันโดยบังเอิญบ่อยๆ ก็ขอให้รู้ไว้นะครับว่า คู่ของคุณมีแนวโน้มที่จะมีความรักอันแสนโรแมนติคแล้ว แต่ถ้าคู่ไหน ไม่ค่อยได้สบตากันโดยบังเอิญ ก็อย่าเพิ่งท้อใจ ลองหันมาพัฒนาความโรแมนติคใน 3 องค์ประกอบที่ว่ามาตอนต้น ทุกอย่างก็จะดีขึ้นเองครับ
ที่มา: Rubin, Zick (1970). Measurement of romantic love. Journal of Personality and Social Psychology, Vol 16(2), Oct 1970, 265-273.
Pingback: ความรักที่แสนโรแมนติคหน้าตาเป็นอย่างไร แล้วเอาอะไรมาวัดปริมาณ? | Pleplejung