Occupy-Wall-St-ALAN-test

ทำไมคนจน(บางกลุ่ม)ถึง “ต่อต้าน” การกระจายรายได้ใหม่?

คนจำนวนมากเชื่อว่า คนที่ต่อต้านการกระจายรายได้ใหม่อันจะนำไปสู่ความเท่าเทียมกัน คงเป็นแค่คนรวยเท่านั้น เพราะจะทำให้พวกเขาเสียประโยชน์ และคนที่สนับสนุนก็คงจะเป็นคนจน แต่งานวิจัยทางเศรษฐศาสตร์ชิ้นหนึ่งจะให้คำตอบในอีกบางส่วนที่ขาดหายไปว่าอาจไม่ใช่แค่นั้น และมันก็น่าสนใจมากทีเดียว

……….


Kuziemko, Buell, Reich and Norton (2011) ได้ทำการศึกษาเกี่ยวกับการกระจายรายได้ใหม่ (Income Redistribution) อันจะนำไปสู่ความเท่าเทียมกันของรายได้ที่ดีขึ้นในอนาคต และค้นพบข้อสรุปที่น่าสนใจว่า คนลำดับก่อนจะสุดท้ายมักมีความกลัวว่าตัวเองจะกลายเป็นลำดับสุดท้ายแทน ซึ่งคนเหล่านี้จะกลายเป็นอีกกลุ่มหนึ่งที่ร่วมต่อต้านการกระจายรายได้ใหม่ด้วย สถานการณ์เหล่านี้ Kuziemko et. al เรียกว่า “ความกังวลว่าจะเป็นที่โหล่” (The “Last Place Aversion” Paradox)

“Occupy Wallstreet (ภาพโดย david_shankbone @flickr)”


พวกเขาทำการทดลองที่ Harvard Business School Computer Lab for Experimental Research (CLER) โดยมีผู้เข้าร่วมการทดลอง จำนวน 72 คน จากนั้น พวกเขาแบ่งผู้ร่วมการทดลองออกเป็น 12 กลุ่ม 6 ขั้นรายได้ และเล่นเกมแบบหลายรอบ (a multi-round game)

ตอนก่อนจะเริ่มต้น คอมพิวเตอร์จะสุ่มว่าพวกเขาอยู่ในกลุ่มไหน แล้วก็จะจัดสรรรายได้ให้ตามขั้นรายได้ของกลุ่มที่เขาอยู่ โดยจำนวนเงินจะลดลง ทุกๆ 25 เซนต์ในขั้นรายได้ที่ต่ำลง เช่น ถ้ากลุ่มที่รวยที่สุดได้เงิน 3 เหรียญ กลุ่มที่สองก็จะได้ 2.75 เหรียญ และกลุ่มสุดท้ายจะได้ 1.75 เหรียญ นอกจากนี้ ผู้เข้าร่วมการทดลองทุกคนจะทราบรายได้ของแต่ละกลุ่มอย่างชัดเจนตลอดทั้งเกม

จากนั้น ผู้เข้าร่วมการทดลองเริ่มเล่นเป็นรอบๆ ไป โดยรอบแรก คอมพิวเตอร์จะมีทางเลือกให้ผู้เข้าร่วมการทดลองสองทาง หนึ่งคือเลือกเก็บเงินจำนวนหนึ่งเอาไว้ได้เลย (ด้วยความน่าจะเป็น = 1) กับสองคือเลือกเป็นล็อตเตอรี่ที่มีค่าคาดหวังของรายได้ (Expected Return) เท่าๆ กับเงินที่เขาจะได้รับในทางเลือกแรก แต่จะเป็นล็อตเตอรี่ที่มีโอกาสได้ผลตอบแทนสูง ด้วยความน่าจะเป็น 3/4 และมีโอกาสได้ผอบแทนต่ำ ด้วยความน่าจะเป็น 1/4

ยกตัวอย่างเช่น คอมพิวเตอร์จะเสนอทางเลือกว่า
ในรอบนี้ คุณจะเลือกทางเลือกไหน?
(i) รับเงิน .25 เหรียญ ด้วยความน่าจะเป็น 100%
(ii) รับเงิน 1 เหรียญ ด้วยความน่าจะเป็น 75% หรือเสียเงิน 2 เหรียญ ด้วยความน่าจะเป็น 25%

จะเห็นได้ว่า ค่าคาดหวังของทางเลือกที่ (ii) คือ (1 x 75%) + (-2 x 25%) = .25 เท่ากับทางเลือก (i) พอดี

……….

รูปที่ ๑ แสดง สัดส่วนของคนที่เลือกล็อตเตอรี่ เมื่อเปรียบเทียบกับคนที่เลือกเงินจำนวนแน่นอน ตามขั้นรายได้ แกนตั้งคือ สัดส่วนของคนที่เลือกล็อตเตอรี่ เมื่อเปรียบเทียบกับคนที่เลือกเงินจำนวนแน่นอน แกนนอนคือขั้นรายได้ เส้นสีน้ำเงินคือค่าเฉลี่ยของสัดส่วนคนที่เลือกล็อตเตอรี่กับคนที่เลือกเงินจำนวนแน่นอนในทุกรอบ เส้นสีเขียวคือตัดรอบแรกและรอบสองออก [เนื่องจากอาจมีความคลาดเคลื่อนเนื่องจากเป็นช่วงของการเรียนรู้ของผู้เข้าร่วมการทดลอง] ค่า p ตัวแรกหมายถึงค่านัยสำคัญของสัมประสิทธิ์จากการประมาณค่าสมการจากทุกรอบ ตัวที่สองคือตัดรอบที่หนึ่งและสองออก

ผลการศึกษาพบว่า คนที่อยู่ขั้นรายได้ที่ 5 และ 6 (จนที่สุด) จะเลือกล็อตเตอรี่ในสัดส่วนที่สูงกว่ากลุ่มอื่นๆ อย่างชัดเจน ที่สำคัญ คนที่อยู่ขั้นรายได้ที่ 5 มีสัดส่วนการเลือกล็อตเตอรี่มากกว่าคนที่อยู่ขั้นรายได้ที่ 6 ด้วย นั่นอาจเป็นเพราะคนที่มีรายได้น้อยกล้าเสี่ยงมากกว่าจึงเลือกล็อตเตอรี่ แต่ก็จะยังตอบไม่ได้ว่าทำไมคนที่อยู่ขั้นรายได้ที่ 5 เลือกล็อตเตอรี่มากกว่าคนที่อยู่ขั้นรายได้ที่ 6 อยู่ดี

“รูปที่ ๑ สัดส่วนของคนที่เลือกล็อตเตอรี่ เมื่อเปรียบเทียบกับคนที่เลือกเงินจำนวนแน่นอน ตามขั้นรายได้”


Kuziemko et. al ทำการทดลองต่อไปว่า หากมีการเสนอให้ทางเลือกใหม่ให้กับผู้เข้าร่วมการทดลอง เขาจะเลือกทางเลือกใดในสองทางเลือกคือ ผู้เข้าร่วมการทดลองเลือกได้ระหว่างรับเงิน 1 เหรียญ หรือ สามารถมอบให้กับคนที่อยู่ขั้นรายได้ที่ต่ำที่สุด ซึ่งคนเหล่านั้นจะได้ 2 เหรียญ (ยกเว้นคนที่อยู่ในขั้นรายได้ที่ 6 เลือกระหว่างเก็บไว้เองหรือให้คนที่อยู่ในขั้นรายได้ที่ 5) โดยจะเห็นได้ว่า ไม่ว่าผู้เข้าร่วมการทดลองจะเลือกทางเลือกใด พวกเขาจะไม่สูญเสียอะไรเลย

ผลการทดลองแสดงได้ตามรูปที่ ๒ โดยแกนตั้งคือ สัดส่วนของคนที่เลือกสละ 1 เหรียญ (ให้คนที่จนที่สุดได้รับ 2 เหรียญ) เมื่อเปรียบเทียบกับคนที่เลือกเก็บเงินจำนวน 1 เหรียญเอาไว้ และแกนนอนคือขั้นรายได้ ค่า p ตัวแรกหมายถึงค่านัยสำคัญของสัมประสิทธิ์จากการประมาณค่าสมการจากทุกรอบ ตัวที่สองคือตัดรอบที่หนึ่งและสองออก

พบว่า คนที่อยู่ในขั้นรายได้ที่ 1-2-3 มีสัดส่วนคนที่ยอมสละเงินค่อนข้างสูง ขณะที่สัดส่วนจะลดลงมากในคนที่อยู่ในขั้นรายได้ที่ 4-5 แต่ที่น่าสนในคือ คนที่อยู่ในขั้นรายได้ที่ 6 กลับมีสัดส่วนของคนที่เลือกสละเงิน 1 เหรียญให้กับคนที่อยู่ในขั้นที่ 5 มากกว่า(หรือเท่ากับ)คนที่อยู่ในขั้นที่ 5 สละ 1 เหรียญให้กับคนที่อยู่ในขั้นที่ 6 เสียอีก

แน่นอนว่าข้อสรุปเบื้องต้นที่ว่า คนที่อยู่ในขั้นที่ 5 เลือกที่จะเก็บเงินไว้เองนั้น อาจจะเป็นเพราะมาจากความยากจน แต่คนที่อยู่ในขั้นที่ 6 กลับยอมสละมากกว่า(หรือเท่ากัน) ก็จะเป็นข้อโต้แย้งชั้นดี รวมทั้ง จากรูปที่ ๑ จะพบว่า คนที่อยู่ในขั้นที่ 5 ยอมสละเงินที่แน่นอนเพื่อเสี่ยงให้ชีวิต(อาจจะ)ดีขึ้น แต่จากรูปที่ ๒ กลับไม่ยอมสละเงินเพื่อให้คนที่อยู่ในขั้นที่ 6 มีชีวิตที่ดีขึ้น

“รูปที่ ๒ สัดส่วนของคนที่เลือกสละ 1 เหรียญ (ให้คนที่จนที่สุดได้รับ 2 เหรียญ) เมื่อเปรียบเทียบกับคนที่เลือกเก็บเงินจำนวน 1 เหรียญเอาไว้ ตามขั้นรายได้”


Kuziemko et. al ทำการทดลองต่อไปอีกว่า หากมีการเสนอให้ทางเลือกใหม่ให้กับผู้เข้าร่วมการทดลอง เขาจะเลือกทางเลือกใดในสองทางเลือกคือ ผู้เข้าร่วมการทดลองเลือกได้ระหว่างการให้เงิน 2 เหรียญกับคนที่อยู่ในขั้นรายได้ที่สูงกว่า หรือ ต่ำกว่า (ยกเว้นคนที่อยู่ในขั้นรายได้ที่ 1 เลือกระหว่างให้คนที่อยู่ในขั้นที่ 2 หรือ 3 และ คนที่อยู่ในขั้นรายได้ที่ 6 เลือกระหว่างให้คนที่อยู่ในขั้นที่ 4 หรือ 5) ซึ่งไม่ว่าผู้เข้าร่วมการทดลองจะเลือกทางเลือกใด พวกเขาจะไม่ได้สูญเสียอะไรเลย

ผลการทดลองน่าสนใจมาก โดยแสดงได้ตามรูปที่ ๓ แกนตั้งคือ สัดส่วนของคนที่เลือกให้เงิน 2 เหรียญกับคนที่อยู่ในขั้นรายได้ต่ำกว่า เมื่อเปรียบเทียบกับคนที่เลือกให้คนที่อยู่ในขั้นรายได้สูงกว่า และแกนนอนคือขั้นรายได้ พบว่า คนที่อยู่ในขั้นรายได้ที่ 1-2-3 มีสัดส่วนสูงที่จะเลือกให้เงินกับคนที่มีอยู่ในขั้นรายได้ที่ต่ำกว่า (สำหรับคนที่อยู่ในขั้นรายได้ที่ 1 หมายถึง เลือกให้คนที่อยู่ในขั้นรายได้ที่ 3 มากกว่า 2) และ คนที่อยู่ในขั้นรายได้ที่ 6 (จนที่สุด) ก็มีสัดส่วนสูงที่จะเลือกให้เงินกับคนที่มีอยู่ในขั้นรายได้ที่ต่ำกว่า (หมายถึง เลือกให้คนที่อยู่ในขั้นรายได้ที่ 5 มากกว่า 4)

แต่คนที่อยู่ในขั้นที่ 4-5 กลับมีสัดส่วนของคนที่เลือกให้เงินกับคนที่มีอยู่ในขั้นรายได้ที่ต่ำกว่าค่อนข้างต่ำ หมายความว่า คนเหล่านี้เลือกที่จะให้คนที่มีรายได้สูงกว่าเป็นผู้ได้รับเงิน ดีกว่าให้คนที่มีรายได้ต่ำกว่าได้เงินไป

“รูปที่ ๓ สัดส่วนของคนที่เลือกให้เงิน 2 เหรียญกับคนที่อยู่ในขั้นรายได้ต่ำกว่า เมื่อเปรียบเทียบกับคนที่เลือกให้คนที่อยู่ในขั้นรายได้สูงกว่า ตามขั้นรายได้”

……….

สาเหตุที่เป็นเช่นนี้ก็เพราะพวกเขาซึ่งอยู่ในลำดับขั้นรายได้ที่เกือบจะต่ำที่สุด กังวลว่าจะกลายเป็นคนที่ไปอยู่ในลำดับขั้นสุดท้ายแทนที่ เขาจึงยอมให้คนที่รวยกว่าดีขึ้น ดีกว่าที่คนที่จนกว่าจะมีรายได้มาทัดเทียมกับตัวพวกเขาเอง

เพื่อยืนยันผลการทดลอง Kuziemko et. al ได้ลองเพิ่มจำนวนกลุ่มออกเป็น 8 กลุ่ม ซึ่งก็ให้ผลออกมาไม่แตกต่างกับกรณี 6 กลุ่ม ดังรูปที่ ๔

“รูปที่ ๔ สัดส่วนของคนที่เลือกให้เงิน 2 เหรียญกับคนที่อยู่ในขั้นรายได้ต่ำกว่า เมื่อเปรียบเทียบกับคนที่เลือกให้คนที่อยู่ในขั้นรายได้สูงกว่า ตามขั้นรายได้ กรณี 8 กลุ่ม”


ผลการทดลองในห้องทดลองนี้ได้ถูกนำมาประเมินแรงสนับสนุน “การปรับอัตราค่าจ้างขั้นต่ำ” ของแรงงาน ให้เป็น 7.25 เหรียญต่อชั่วโมง โดยทำการสำรวจแรงงานอายุ 23-64 ปี จำนวน 489 คน ซึ่งมีการกระจายตัวของผู้ตอบแบบสอบถามตามแผนภูมิแท่งแรเงาในรูปที่ ๕

รูปที่ ๕ นำเสนอ แกนนอนคือช่วงของอัตราค่าจ้างที่พวกเขาได้รับอยู่ในปัจจุบัน แกนตั้งซ้ายมือและเส้นสีน้ำเงินคือสัดส่วนของคนที่สนับสนุนการขึ้นอัตราค่าจ้างขั้นต่ำ แกนตั้งขวามือและเส้นสีเขียวคือค่าสัมประสิทธิ์จากการประมาณค่าสมการที่ควบคุมตัวแปรเพศ สัญชาติ เชื้อชาติ ระดับการศึกษา พรรคการเมืองที่สังกัด สถานภาพแต่งงาน ความรู้สึกที่มีต่อประธานาธิบดีโอบามาและสมาชิกภาพของสหภาพต่างๆ ค่า p หมายถึงค่านัยสำคัญของสัมประสิทธิ์จากการประมาณค่าสมการ

“รูปที่ ๕ สัดส่วนของคนที่สนับสนุนการขึ้นอัตราค่าจ้างขั้นต่ำ ตามอัตราค่าจ้างที่พวกเขาได้รับอยู่ในปัจจุบัน”


ผลการทดลองพบว่า คนที่สนับสนุนมากคือคนที่ได้รับค่าจ้างต่ำกว่าอัตราค่าจ้างขั้นต่ำ (< 7.25) และคนที่มีค่าจ้างสูงขึ้นในลำดับถัดขึ้นมา (8.26-9.25) แต่สัดส่วนของคนที่ให้การสนับสนุนการปรับอัตราค่าจ้างขั้นต่ำต่ำที่สุด กลับเป็นคนที่มีค่าจ้างสูงกว่าค่าจ้างขั้นต่ำขึ้นมาเล็กน้อย (7.26-8.25) ขณะที่ในกลุ่มคนที่ได้รับค่าจ้างในระดับอื่นๆ อยู่ในระดับกลางๆ และไม่แตกต่างกันมากนัก

สาเหตุที่เป็นเช่นนี้ก็เพราะคนมีค่าจ้างสูงกว่าค่าจ้างขั้นต่ำขึ้นมาเล็กน้อย (7.26-8.25) เกรงว่าคนที่เคยเป็นที่โหล่กว่าพวกเขาจะแซงหรือทัดเทียม และเขาจะกลายเป็นคนหนึ่งในกลุ่มที่โหล่ ขณะที่คนที่สนับสนุนมากคือคนที่ได้รับค่าจ้างต่ำกว่าอัตราค่าจ้างขั้นต่ำ (< 7.25) ซึ่งชัดเจนว่าเขาได้ประโยชน์จากอัตราค่าจ้างขั้นต่ำที่สูงกว่าเดิม และคนที่มีค่าจ้างสูงขึ้นในลำดับถัดขึ้นมา (8.26-9.25) เพราะเขาอาจจะได้ประโยชน์จากค่าจ้างที่สูงขึ้น โดยที่พวกเขาจะยังไม่เป็นลำดับสุดท้ายอยู่ดี

……….

ความน่าสนใจของเรื่องนี้ก็คือว่า บางครั้งคนจนเองก็อาจกลายเป็นผู้ที่ต่อต้านการกระจายรายได้ใหม่ ซึ่งจะมีผลให้เกิดความเท่าเทียมกันก็ได้ เพราะพวกเขาไม่อยากให้คนที่อยู่ในขั้นรายได้ต่ำกว่าสูงขึ้นมาอยู่ในขั้นรายได้เดียวกับเขา รวมทั้งพวกเขาเองก็กลัวว่าจะกลายเป็นลำดับสุดท้ายแทนที่ เขาจึงยอมให้คนที่รวยกว่าเขารวยขึ้นอีกได้ตราบใดที่คนที่จนกว่าเขาไม่ได้ขึ้นมาเสมอตัวเขา

ลองจินตนาการดูว่า รายได้ของคนในแต่ละอำเภอไม่เท่ากัน แต่คนที่รวยในอำเภอที่ยากจน แม้จะจนกว่าคนจนในอำเภออื่นก็อาจไม่ได้อยากให้คนจนในอำเภอของตัวเองรวยขึ้นมาเสมอตัวเขา และเรื่องราวก็จะยิ่งซับซ้อนมากขึ้นไปอีก หากคนรวยของอำเภอเหล่านี้เป็นนายอำเภอ ปลัดอำเภอ หรือนักการเมืองท้องถิ่น เขาคงไม่ต้องการสนับสนุนอย่างจริงจังให้คนจนในอำเภอเขารวยขึ้นเป็นแน่

รวมทั้งถ้าคนจนมีจำนวนมาก และคนเกือบจนก็มีจำนวนมากด้วย มากจนเป็นสัดส่วนที่ใหญ่ของสังคม (ซึ่งสังคมส่วนใหญ่ก็เป็นเช่นนั้น) การกระจายรายได้ใหม่ที่จะก่อให้เกิดความเท่าเทียมอาจไม่ได้ถูกคัดค้าน(อย่างลับๆ)จากคนรวยของสังคมเท่านั้น แต่ยังถูกดึงไว้จากคนเกือบจนอีกเป็นจำนวนมากเช่นกัน และนี่คงเป็นอีกเหตุผลหนึ่งที่การกระจายรายได้ใหม่ของสังคมอาจไม่ง่ายอย่างที่คิดกันก็เป็นได้






ที่มา: Ilyana Kuziemko, Ryan W. Buell, Taly Reich, Michael I. Norton (2011) “Last-place Aversion”: Evidence and Redistributive Implications, National Bureau of Economic Research Working Paper Series (July 2011), 17234.

featured image from laloalcaraz.com

  • http://gravatar.com/birdmmm เบิร์ด ผู้กอง

    น่าสนใจ คนจน ถูกคนเกือบจน ขัดขวางการยกระดับมาเทียบชั้น คล้ายๆ คนหล่อ ไม่อยากให้เพื่อนหล่อกว่า เด็ก กทม ก็ไม่อยากให้ เด็ก ตจว มาเทียบชั้น น่าสงสัยว่า พฤติกรรมกลัวเป็นที่โหล่ มาจากการหนีการล่า จากสัตว์ป่า หรือ เผ่าอื่นหรือไม่ คนที่อ่อนแออยู่ที่โหล่ หรือ วิ่งช้าโหล่ ก็มักจะเป็นเหยื่อก่อน