gift-for-holidays

“การให้ของขวัญ” เป็นผลดีต่อระบบเศรษฐกิจหรือไม่?

ใกล้เทศกาลคริสต์มาสและปีใหม่ การให้”ของขวัญ”เป็นพิธีการหนึ่งที่เรานึกถึงและทำกันอยู่เป็นประจำ เทศกาลเหล่านี้จึงเต็มไปด้วยความสุข ความปิติยินดี และรอยยิ้มของผู้คนจำนวนมาก แต่เราเคยนึกหรือไม่ว่า จริงๆ แล้ว การให้ของขวัญก่อให้เกิดผลอย่างไรกับระบบเศรษฐกิจกันแน่?

……….


ากพูดถึงผลกระทบต่อระบบเศรษฐกิจแล้ว ประเด็นที่นึกถึงเป็นอย่างแรกคงหนีไม่พ้นเงินสะพัดจากการใช้จ่ายเพื่อซื้อของขวัญ โดยในปี 2553 เม็ดเงินซื้อของขวัญสะพัดอยู่ที่ 5,500-5,600 ล้านบาท เติบโตจากปี 2552 ประมาณ 8%[1]

“กล่องของขวัญ (ภาพโดย mrskyce @flickr)”


Waldfogel (AER, 1993) ได้ทำการศึกษาความสูญเสียทางเศรษฐกิจ (Dead Weight Loss) ที่เกิดจากการให้ของขวัญ (Gift-giving) ในสหรัฐอเมริกา ด้วยการสอบถามนักเรียนของเขาเองจำนวน 86 คนที่ได้รับของขวัญช่วงต้นปี

การศึกษาถามคำถามใน 2 ช่วง ช่วงแรกคือเดือนมกราคม ถาม 2 ข้อ ข้อแรกคือให้แต่ละคนลองประมาณมูลค่า(ที่เป็นตัวเงิน)ของของขวัญที่พวกเขาได้รับ และข้อที่สองคือ “หากตัดเอาความรู้สึกดีที่ได้รับของขวัญ (Sentimental Value) ออกไป คุณจะยอมจ่ายเงินเท่าไหร่ เพื่อซื้อของขวัญชิ้นนั้น” ทั้งนี้ก็เพื่อประเมินมูลค่าสูงที่สุดของของขวัญที่เขาจะยอมจ่าย (Maximum Pay)

และช่วงที่สองคือในเดือนมีนาคม ถามว่า “ถ้าพวกเขาสามารถเลือกได้ที่จะรับเงินแทนของขวัญชิ้นที่ได้รับ โดยไม่รวมเอาความรู้สึกดีเข้ามาเกี่ยวข้อง จำนวนเงินเท่าไหร่ที่ท่านจะยอมรับเพื่อให้ได้ความพอใจเท่าเดิม” ทั้งนี้ก็เพื่อประเมินมูลค่าต่ำที่สุดของของขวัญที่เขาจะยอมรับ (Minimum Accept)

ตารางที่ ๑ แสดงคำตอบจากช่วงที่ 1 และ 2 ในคอลัมน์ Survey 1 (มกราคม) และ 2 (มีนาคม) ตามลำดับ

“ตารางที่ ๑ ราคาของขวัญที่ประมาณการและมูลค่าที่คาดว่าจะจ่าย (ภาพจากบทความ)”


Survey 1 แสดงให้เห็นว่า กลุ่มตัวอย่างคาดว่าของขวัญที่ได้รับมีมูลค่า 438.2 เหรียญสรอ. แต่หากเขาต้องจ่ายเงินเพื่อซื้อเอง เขาจะยอมจ่ายเพียง 313.4 เหรียญสรอ.หรือเขาจะยอมจ่ายแค่ 71.5% ของมูลค่าของเท่านั้น ขณะที่ Survey 2 แสดงให้เห็นว่า กลุ่มตัวอย่างคาดว่าของขวัญที่ได้รับมีมูลค่า 508.9 เหรียญสรอ. แต่ถ้าเขาสามารถเลือกเป็นเงินแทนได้ และให้ความพึงพอใจเขาเท่าเดิม เขาจะเลือกเงินจำนวน 462.1 เหรียญสรอ.หรือ 90.8% ของมูลค่าของ

……….

ลองนึกง่ายๆ ว่า ถ้าเราได้รับสินค้าชิ้นหนึ่งซึ่งซื้อขายกันที่ราคา 100 บาท แต่หากเราต้องซื้อสินค้าชิ้นนั้นเอง เราจะยอมจ่ายแค่ 71.5 บาท นั่นหมายถึงของชิ้นนั้นมีมูลค่าลดลงทันที 28.5 บาท เช่นเดียวกัน หากเราเลือกเอาเงินแทนของขวัญได้ เราจะอยากได้เงิน 90.8 บาทมาแทน ซึ่งของชิ้นนั้นก็ถูกแทนที่ด้วยเงินได้ในราคาที่หายไป 9.2 บาทเช่นกัน นั่นย่อมหมายความว่า การให้ของขวัญที่มีราคา 100 บาทจะมีมูลค่าลดลงสำหรับผู้รับของขวัญ 9.2-28.5 บาท พูดง่ายๆ ก็คือ 10-30 บาทนั่นเอง

และ 10-30% ที่หายไปนี้ ในทางเศรษฐศาสตร์เรียกว่า ส่วนสูญเสียทางเศรษฐกิจ (Dead Weight Loss) เพราะเป็นการสูญเสียทรัพยากรไปอย่างไร้ประโยชน์

สาเหตุที่มันเป็นเช่นนั้นก็เพราะเป็นการยากมากที่เราจะสามารถรู้ถึงความต้องการของคนอื่นได้ (Unknown Preferences) นึกง่ายๆ ก็คือ เวลาที่เราได้รับของขวัญมานั้น น้อยชิ้นมากๆ ที่จะตรงใจเราอย่างที่เราต้องการจริงๆ เมื่อไม่ตรงใจเรา และให้เราซื้อเอง เราก็เลยจะซื้อเมื่อมันมีราคาถูกมากๆ เท่านั้น ดังนั้น ส่วนสูญเสียจึงเกิดขึ้น [นี่ยังไม่ได้นับด้วยซ้ำว่า ที่จริง เราอาจไม่ซื้อสินค้าชิ้นนั้นเสียด้วยสิ]

“ภาพที่ ๒ ช่วงเทศกาลคริสต์มาสที่เมืองโบโลญญ่า ประเทศอิตาลี (ภาพโดย sdhaddow @flickr)”


อย่างไรก็ตาม ส่วนสูญเสียทางเศรษฐกิจจะลดลงได้ หากของขวัญที่ได้รับเป็นของที่อยากได้ โดยมีทางเลือก 2 ทาง หนึ่งคือ ให้เป็นเงินหรือคูปองเงินสด(เท่ากับราคาของขวัญที่จะซื้อ)แทน และผู้รับก็จะใช้เงินจำนวนนั้น ไปซื้อของที่เขาอยากได้ ซึ่งจะทำให้ราคาของขวัญเท่ากับมูลค่าที่เขาอยากจะจ่าย ส่วนสูญเสียจะไม่เกิดขึ้น[2]

สองคือ ต้องถามผู้รับของขวัญโดยตรงว่าอยากได้อะไร หรือผู้รับต้องบอกมาเองว่าอยากได้อะไร แล้วไปซื้อของชิ้นนั้น เช่น วัฒนธรรมการแต่งงานของอิตาลี คู่บ่าวสาวจะไปแจ้งรายการสินค้าที่อยากได้ไว้กับร้านค้าต่างๆ จากนั้น ผู้ให้ของขวัญจะถามคู่บ่าวสาวว่าสามารถไปซื้อของขวัญได้ที่ร้านไหน แล้วจึงไปเลือกจากรายการที่คู่บ่าวสาวแจ้งเอาไว้ที่ร้านนั้นๆ เช่นนี้ก็จะตรงใจคู่บ่าวสาว เพราะพวกเขาเลือกเอง

นอกจากนี้ ผู้ให้อาจจะเลือกให้ของขวัญที่ทำเอง แทนการไปซื้อ ต้นทุนของสินค้านั้นก็จะลดลง และผู้รับก็จะเห็นความสำคัญของของชิ้นนั้นมากๆ ผ่านความตั้งใจของผู้ให้ แม้ว่าวิธีนี้จะไม่ได้ช่วยอะไรในการลดส่วนสูญเสียทางเศรษฐกิจ แต่ก็ทำให้ของที่จะถูกทิ้งขว้างเมื่อเวลาผ่านไป ยังคงได้รับความสำคัญอยู่ยาวนาน

Waldfogel (1993) ได้ทำการประมาณค่า ดังตารางที่ ๒ และพบด้วยว่า ๑) ของขวัญที่ได้รับจากพ่อแม่ พี่น้อง หรือคนสนิท จะมีส่วนสูญเสียทางสังคมน้อยกว่าของขวัญที่ได้รับจากคนที่มีความสัมพันธ์ห่างออกไป เช่น ลุงป้าน้าอา ปู่ย่าตายาย หรือเพื่อนทั่วๆ ไป ทั้งนี้ก็เพราะคนที่ใกล้ชิดกว่าก็จะรู้จักความต้องการของผู้รับของขวัญดีกว่า ๒) ยิ่งอายุต่างกันมากเท่าไหร่ระหว่างผู้ให้กับผู้รับ ส่วนสูญเสียทางเศรษฐกิจก็จะยิ่งเพิ่มขึ้น เช่น คนที่อายุมากๆ อาจจะซื้อเครื่องพิมพ์ดีดให้เด็กเป็นของขวัญ แทนที่จะเป็นคอมพิวเตอร์ เป็นต้น [อันนี้ ขำๆ นะครับ] และ ๓) การได้รับเงินหรือคูปองแทนเงินสด จะช่วยลดความสูญเสียทางเศรษฐกิจได้

“ตารางที่ ๒ ผลการประมาณค่าสมการมูลค่าที่คาดว่าจะจ่ายของของขวัญ (ภาพจากบทความ)”

……….

ขอยกกรณีศึกษาจากของขวัญ 3 ชิ้นที่น่าสนใจคือ[3]

ราคาของขวัญ ($) มูลค่าที่ผู้รับให้กับมัน ($) ส่วนสูญเสียทางเศรษฐกิจ (%)
หูฟัง SHURE 167.99 125 25.59%
เสื้อยืด 14.99 14.99 0%
สมัครสมาชิกวารสารวิชาการ 24.97 2 91.99%

นั่นหมายความว่ามูลค่าที่เราให้อาจจะเท่ากับหรือน้อยกว่าราคาสินค้าก็ได้ ขึ้นอยู่กับว่าตรงกับความต้องการของเราแค่ไหน [ชิ้นที่ 3 คนให้นี่ก็ช่างหวังดีจริงๆ]

แล้วเมื่อคนเหล่านั้นได้รับของขวัญที่ตัวเองไม่ได้อยากได้ เขาเอาไปทำอะไรกัน 42% ไม่เคยเปิดเลยด้วยซ้ำ 38% คืนผู้ให้ และ 28% เอาไปให้เป็นของขวัญคนอื่นต่อ[4] [มีใครเคยทำแบบนี้มาบ้างครับ ^^]

ผลสรุปของเรื่องนี้ก็คือ หากการให้ของขวัญในปีที่จะมาถึงคือ 2554 นี้ เติบโตขึ้นจากปีที่ผ่านมา 8% เท่าเดิม มูลค่าของการจับจ่ายซื้อของขวัญจะอยู่ที่ราวๆ 6,000 ล้านบาท (5,550 x 1.08 = 5,994) นั่นหมายความว่าส่วนสูญเสียทางเศรษฐกิจ (10%-30%) จะอยู่ที่ 60-180 ล้านบาทภายในช่วงเวลาสั้นแค่ช่วงข้ามปีเลยทีเดียว

อย่างไรก็ตาม การให้ของขวัญที่จริงแล้วคงไม่ใช่เรื่องของเศรษฐกิจเพียงอย่างเดียว แต่เป็นเรื่องของจิตใจและความรู้สึกด้วย ซึ่งเรื่องเหล่านี้สำคัญกว่าประเด็นทางเศรษฐกิจมากมายนัก โดยเฉพาะถ้าจะเสียหายทางเศรษฐกิจไปเท่าไหร่ แต่มูลค่าที่ถูกเพิ่มเติมมาจากความสุขมากมายที่เกิดขึ้นจากการให้ ก็คงชดเชยได้หมดอย่างไม่มีเหลือเป็นแน่ ที่สำคัญถ้าสังคมเต็มไปด้วยการให้และรอยยิ้ม เหมือนว่ามีเทศกาลคริสต์มาสและปีใหม่ตลอดปีก็คงดีเหมือนกัน

สุขสันต์วันคริสต์มาสสำหรับเพื่อนๆ ทุกคนครับ ^^






[เสด-ถะ-สาด].com ขอขอบคุณ คุณฐิตา อ๋องสกุล ที่จุดประกายความคิด จากของขวัญที่เป็นบัตรเงินสด และจากการอธิบายกรณีตัวอย่างของประเทศยุโรป

อ้างอิง
[1] ข้อมูลจาก มติชนออนไลน์ ใน kapook
[2] สำหรับเหตุผลทางเศรษฐศาสตร์ที่ว่าทำไมการให้เงินจึงมีประสิทธิภาพสูงกว่า ขอให้ดูคำอธิบายตามรูปที่ ๓

“ภาพที่ ๓ การให้ของขวัญและส่วนสูญเสียทางเศรษฐกิจ (ภาพจากบทความ)”



[3] ข้อมูลจาก wisebread.com
[4] ข้อมูลจาก What happens to gift, VISA survey, 11/4/10.

ที่มา: Waldfogel, Joel (1993) The Deadweight Loss of Christmas, The American Economic Review, Vol. 83, No. 5 (Dec., 1993), pp. 1328-1336.

featured image from henryct.wordpress.com

  • http://bharot.wordpress.com bharot

    ผมว่ามีผู้คนจำนวนมากที่รู้สึกลำบากใจ ทั้งในฐานะเป็นผู้รับและผู้ให้ของขวัญ

    มีสินค้าจำนวนมากที่จำหน่ายออกไปทั้งๆที่ไม่มีผู้ใดต้องการ
    เช่นของขวัญที่ซื้อไปเพื่อการจับฉลากแลกกันในงานเฉลิมฉลอง
    เมื่อมีไกด์ไลน์ออกมาว่าควรจะมีราคาประมาณ หรืออย่างน้อยเท่าไรแล้ว
    แต่ละคนก็ออกไปหาซื้อมาตามนั้นโดยไม่ต้องสนใจว่าจะถูกใจผู้รับหรือไม่
    เพราะไม่รู้เหมือนกันว่าใครจะได้ไป ในกรณีนี้
    ส่วนสูญเสียทางเศรษฐกิจก็น่าจะยิ่งสูงขึ้น กว่ากรณีการซื้อให้อย่างเฉพาะเจาะจง

    จากประสบการณ์ที่ได้รับรูปเคารพ และวัตถุมงคลตามความเชื่อต่างๆอยู่เป็นประจำ
    พบว่านอกจากผู้รับ (ซึ่งไม่มีความเชื่อเหมือนผู้ให้) จะไม่ได้รับความพึงพอใจจากของขวัญ
    (นอกจากความพึงพอใจเชิงสัญลักษณ์ที่ผู้ให้ๆความสำคัญกับผู้รับอยู่) แล้ว
    ผู้รับยังมีภาระการจัดเก็บของเหล่านี้(ซึ่งอาจมีค่าใช้จ่าย)อีกด้วย
    ค่าการสูญเสียทางเศรษฐกิจจะสูงมากเพราะ ผู้รับไม่มีวันจะซื้อรูปเคารพ
    และวัตถุมงคลเหล่านั้นมาโดยเด็ดขาดไม่ว่าราคาจะถูกสักเพียงใดก็ตาม

    Implications ที่ได้จากเรื่องนี้ก็คือ ถ้าหากไม่รู้ว่าผู้รับต้องการอะไรจริงๆแล้วละก็
    ให้เป็นเงินสดหรือเช็คของขวัญ น่าจะลดความเสียหายได้มากที่สุด

    แต่อย่างไรก็ตาม ถ้าเราแน่ใจว่า “รู้ใจ” ผู้รับจริงๆ และสามารถจัดหาสินค้า
    ที่ถูกใจได้ ของขวัญชิ้นนั้นก็จะสร้างความประทับใจได้มากกว่าการให้เช็คของขวัญมาก
    และเป็นความประทับใจที่ไม่รู้ลืมสำหรับผู้รับ สมใจของผู้ให้

  • http://gift55.wordpress.com gift55

    ของขวัญที่ทำเองมันก็คงไม่สะดวก คงซื้อเอาง่ายกว่า

  • Pingback: ข้อควรระวัง(ทางเศรษฐศาสตร์)ในการ“เลือกซื้อของขวัญ” | [เสด-ถะ-สาด].com