
จะวัด GDP จากนอกโลกได้อย่างไร?
ปัญหาของคุณภาพการวัดมูลค่า GDP นั้นยังมีอยู่ให้เห็นในหลายประเทศ รวมทั้งยังไม่สามารถให้ข้อมูลที่แม่นยำได้ในระดับเมือง การวัด GDP จากนอกโลก (Outer Space) ที่ถูกนำเสนอนี้ อาจจะเป็นทางเลือกใหม่ที่ให้ประโยชน์กับโลกของเราก็เป็นได้
……….
การวัด GDP ให้ผลที่คลาดเคลื่อนค่อนข้างมากในหลายประเทศ (Johnson, Larson, Papageorgiou, and Subramanian, 2009) โดยเฉพาะกับประเทศในกลุ่ม Sub-Saharan Africa ซึ่งมีความคลาดเคลื่อนสูงถึง 30-40% (Deaton and Heston, 2008) นอกจากนี้ หากต้องการใช้ข้อมูลที่ละเอียดมากขึ้น เช่น ในระดับเมือง หรือจังหวัด ก็อาจจะไม่มีข้อมูล หรือไม่ก็กลับยิ่งพบปัญหาปัญหาความคลาดเคลื่อนมากขึ้นไปอีก
Henderson, Storeygard and Weil (2009) ได้เสนอวิธีวัด GDP ด้วยวิธีที่แม่นยำกว่าการเก็บข้อมูลสถิติตามปกติ นั่นก็คือ ใช้ข้อมูลจากดาวเทียมเกี่ยวกับความส่องสว่างของแสงไฟยามค่ำคืน (satellite data on lights at night) โดยวิธีนี้จะใช้ได้ดีกับการวัด “อัตราการเติบโต” (growth rate) ของ GDP มากกว่าการวัด “ระดับ” (level) ของ GDP เพราะพฤติกรรมการใช้การใช้ไฟยามค่ำคืนของแต่ละประเทศมีความแตกต่างกัน เช่น บางประเทศมีนิสัยประหยัดไฟกว่าบางประเทศ หรือค่าไฟฟ้าที่ไม่เท่ากันก็มีผลทำให้ระดับปริมาณการใช้ไม่เท่ากันในแต่ละประเทศ ดังนั้น การวัดความส่องสว่างของแสงไฟยามค่ำคืนจึงบอกถึงระดับ GDP ได้ไม่แม่นยำเท่าอัตราการเติบโต เพราะจะอยู่บนพื้นฐานของนิสัยผู้ใช้แบบเดียวกัน
งานศึกษาชิ้นนี้เริ่มต้นจากการพิจารณาอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจเปรียบเทียบกับการเติบโตของค่าการส่องสว่างของแสงไฟยามค่ำคืนในช่วงปี 1992-2003 โดยค่าความส่องสว่างของทั้งโลกในปี 2003 แสเดงได้ตามภาพที่ ๑
“ภาพที่ ๑ ภาพจากดาวเทียมของความสว่างของแสงไฟในยามค่ำคืนในปี 2003 (คลิ๊กที่ภาพเพื่อขยายใหญ่มากๆ ได้) (ภาพจากบทความ)”
การพิจารณาจะมุ่งไปที่การเปลี่ยนแปลงของค่าความส่องสว่างของแสงไฟ ดังเช่นตัวอย่างของประเทศในยุโรปตะวันออกตามภาพที่ ๒ ซึ่งมีการเปลี่ยนแปลงของการส่องสว่างอย่างชัดเจนของ Poland, Hungary และ Romania เปรียบเทียบกับประเทศที่มีการเปลี่ยนแปลงน้อยมากอย่าง Moldova และ Ukraine โดยข้อมูลอัตราการเติบโตของ GDP ที่เป็นทางการก็ให้ผลสอดคล้องกัน
“ภาพที่ ๒ ภาพจากดาวเทียมของความสว่างของแสงไฟในยามค่ำคืนในกลุ่มประเทศยุโรปตะวันออก (ภาพจากบทความ)”
……….
อย่างไรก็ตาม เมื่อพิจารณาข้อมูลอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจ (แกนตั้ง) และการเติบโตของค่าการส่องสว่างของแสงไฟยามค่ำคืน (แกนนอน) จะพบว่าปัจจัยทั้งสองความสัมพันธ์มีความเป็นบวกอย่างชัดเจน ดังภาพที่ ๓ เหตุผลก็คือว่า ถ้าประเทศมีระดับการเติบโตที่สูงกว่า ความเข้มของระดับการส่องสว่างของแสงไฟยามค่ำคืนก็ย่อมมีแนวโน้มสูงขึ้นด้วย ทั้งจากความเป็นเมืองที่สูงขึ้น และกิจกรรมยามค่ำคืนที่มีมากขึ้น
“ภาพที่ ๓ ความสัมพันธ์ระหว่างความสว่างของแสงไฟในยามค่ำคืนกับอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจ (ภาพจากบทความ)”
และหากพิจารณาความสัมพันธ์ในระยะยาวแล้ว ยิ่งพบว่า การเติบโตของค่าการส่องสว่างของแสงไฟยามค่ำคืน (แกนนอน) มีความสัมพันธ์ที่เป็นบวกชัดเจนมากขึ้นกับอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจ (แกนตั้ง) ดังภาพที่ ๔ (จะเห็นได้ว่าการกระจายตัวของข้อมูลลดลง)
“ภาพที่ ๔ ความสัมพันธ์ระหว่างความสว่างของแสงไฟในยามค่ำคืนกับอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจในระยะยาว (ภาพจากบทความ)”
……….
สิ่งที่น่าสนใจเมื่อนำเอาวิธีนี้มาเปรียบเทียบกับการประมาณการอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจของธนาคารโลกในกลุ่มที่คุณภาพข้อมูล GDP ค่อนข้างต่ำ (จากข้อมูลของ Penn World) พบว่าค่อนข้างมีความแตกต่างกันมาก เช่น
- กรณีของประเทศ Democratic Republic of Congo ค่าการส่องสว่างของแสงไฟยามค่ำคืนประมาณการอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจต่อปีไว้ที่ 2.4% ต่อปี ขณะที่ข้อมูลการเติบโตทางเศรษฐกิจที่เป็นทางการอยู่ที่ – 2.6% ต่อปีในช่วงเวลาเดียวกัน นั่นหมายความว่า ที่จริง Democratic Republic of Congo น่าจะมีอัตราการเติบโตมากกว่าที่ข้อมูลสถิติว่าไว้
- อีกกรณีหนึ่งคือ Myanmar ที่มีอัตราการเติบโตของตัวเลขทางการอยู่ที่ 8.6% ต่อปี แต่ค่าการส่องสว่างของแสงไฟยามค่ำคืนประมาณการอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจต่อปีไว้ที่เพียง 3.4% ต่อปีเท่านั้น ซึ่งก็น่าจะต่ำกว่าข้อมูลทางการที่ว่าไว้
แม้ว่าอัตราการเติบโตของ GDP ที่แท้จริงควรจะเป็นเท่าไหร่ (ในประเทศที่คุณภาพของการวัด GDP ค่อนข้างต่ำ) อาจจะระบุอย่างแจ้งชัดไม่ได้ แต่ด้วยวิธีนี้ก็ถือเป็นอีกแนวคิดหนึ่งในการประมาณการที่ดูสมเหตุสมผล โดยเฉพาะคุณูปการในเรื่องของการประมาณค่าอัตราการเติบโตของ GDP ในประเทศที่มีคุณภาพข้อมูลต่ำมาก และยังสามารถให้รายละเอียดถึงการประมาณค่าอัตราการเติบโตของ GDP ในระดับเมืองของแต่ละประเทศที่เราสนใจได้อีกด้วย เพียงเท่านี้ก็น่าจะเกิดประโยชน์ต่อเนื่องกับงานวิจัยจำนวนมาก โดยเฉพาะวิธีการนี้กำลังถูกใช้อย่างแพร่หลายในกรณีของการวัดอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศในแอฟริกา
ที่มา: Henderson, J. Vernon, Adam Storeygard, and David N. Weil (2009). “Measuring Economic Growth from Outer Space.” NBER Working Paper 15199.
Pingback: “แอฟริกา”ไม่พัฒนาเพราะเคยตกเป็นอาณานิคม…ใช่หรือไม่? – [เสด-ถะ-สาด].com