tcL0kEAqSBKDCcKqD_ryMw

ภัยพิบัติของสังคม…ฤาจะเป็นลาภลอยของรัฐบาล?

สถานการณ์น้ำท่วมทำให้เราได้เห็นการร่วมแรงร่วมใจ ซึ่งเป็นสิ่งที่ดี แต่เมื่อสถานการณ์ผ่านพ้นไปแล้ว งบประมาณ(โดยชอบธรรม)อันมหาศาลของรัฐบาลจะตามมา ภัยพิบัติของสังคมจึงเปรียบเสมือนลาภลอยก้อนใหญ่ และอาจส่งผลต่อการคอรัปชั่นที่จะตามมา

……….


ถานการณ์น้ำท่วมที่เกิดขึ้นได้ส่งผลต่อความเสียหายอย่างใหญ่หลวงกับประเทศไทย แน่นอนว่าขณะที่สถานการณ์กำลังดำเนินอยู่ เราได้เห็นหลายฝ่ายร่วมแรงร่วมใจ ซึ่งเป็นสิ่งที่ดี แต่เมื่อสถานการณ์ผ่านพ้นไปแล้ว ความเสียหายย่อมต้องฟื้นฟู ไม่ว่าจะเป็นอาคาร ถนนหนทาง สะพานและสิ่งก่อสร้างอื่นๆ นั่นก็คืองบประมาณ(โดยชอบธรรม)อันมหาศาลของรัฐบาล(ที่ดำรงตำแหน่งอยู่ในสถานการณ์ภัยพิบัตินั้นๆ) ภัยพิบัติของสังคมจึงเปรียบเสมือนลาภลอย (Windfalls) ก้อนใหญ่ของรัฐบาล เพราะการใช้งบประมาณมหาศาลในเวลาอันรวดเร็ว ย่อมไม่อาจหลีกเลี่ยงการคอรัปชั่นที่จะเพิ่มขึ้นตามมาได้

อย่างไรก็ตาม บทความนี้ไม่ได้มีเจตนาพุ่งเป้าไปที่รัฐบาลชุดใดชุดหนึ่งเป็นพิเศษ เพราะภายใต้ระบบการเมืองที่มีระดับคอรัปชั่นสูงอยู่แล้วอย่างประเทศไทย ไม่ว่ารัฐบาลชุดไหนดำรงตำแหน่งอยู่ ก็คงไม่อาจหลีกเลี่ยงการคอรัปชั่นได้เช่นกัน เพียงแต่จะมากหรือน้อยก็เท่านั้นเอง

……….

Leeson and Sobel (2008) ได้ทำการตั้งคำถามกับประเทศสหรัฐอเมริกาว่า สภาพอากาศที่เลวร้ายลงได้ส่งผลต่อการคอรัปชั่นของรัฐบาลหรือไม่? เพราะภัยพิบัติที่เกิดขึ้นได้สร้างลาภลอยก้อนโตให้กับรัฐบาลกลางในฐานะผู้ช่วยเหลือประชาชนที่ประสบภัย และลาภลอยก้อนนี้อาจจะนำไปสู่การใช้ในทางที่ผิด การฉกฉวยและการโกง นั่นก็คือการคอรัปชั่น

พวกเขาทำการศึกษาผลกระทบของมาตรการช่วยเหลือของหน่วยงานจัดการภัยพิบัติฉุกเฉิน (Federal Emergency Management Agency (FEMA)) ของสหรัฐอเมริกา [ซึ่งน่าจะคล้ายๆ กับ ศปภ. ของไทยในปัจจุบัน] ที่มีต่อระดับการคอรัปชั่นของแต่ละมลรัฐ ในช่วงปี 1990 – 1999

Leeson and Sobel (2008) เริ่มจากการพิจารณาในภาพรวมของทั้งประเทศจำแนกตามมลรัฐว่า รัฐที่ประสบภัยพิบัติบ่อยครั้งจะมีระดับการคอรัปชั่นสูงกว่ารัฐที่ประสบภัยพิบัติน้อยครั้งหรือไม่ ซึ่งภาพที่ ๑ ยืนยันความคิดของพวกเขา เพราะโดยรวมแล้ว เป็นเช่นนั้นจริงๆ

“ภาพที่ ๑ จำนวนครั้งที่เกิดภัยพิบัติ กับ ระดับการคอรัปชั่น จำแนกตามมลรัฐ 1953-2006 (ภาพประกอบจากบทความ)”


จากนั้น พวกเขาเจาะลึกลงไปเพื่อวิเคราะห์ในบางมลรัฐที่เคยประสบภัยพิบัติ ได้แก่ Kansas, Hawaii, South Dakota, Minnesota, and Louisiana โดยพิจารณาผ่านช่วงเวลาก่อนจะเกิดภัยพิบัติ ปีที่เกิดภัยพิบัติและปีต่อๆ ไป เพื่อให้แน่ใจว่า มันเป็นคอรัปชั่นที่มาจากภัยพิบัติจริงๆ

จากภาพที่ ๒ กราฟแท่งแสดงมูลค่ามูลค่าของมาตรการที่ได้รับการอนุมัติเพื่อช่วยเหลือมลรัฐนั้นๆ อย่างฉุกเฉินเมื่อเกิดภัยพิบัติ (FEMA$) ต่อประชากร 1 คน และกราฟเส้นแสดงระดับการคอรัปชั่น จะเห็นว่า ก่อนเกิดภัยพิบัติ เราอาจเรียกได้ว่าเป็นระดับคอรัปชั่นตามปกติของมลรัฐนั้นๆ ต่อมาเมื่อเกิดภัยพิบัติ และมีการอนุมัติงบประมาณเพื่อช่วยเหลือ ปีต่อๆ มาระดับคอรัปชั่นจะเพิ่มสูงขึ้นอย่างเห็นได้ชัด [แน่นอนว่าอาจจะเป็นในหนึ่งปีถัดไปหรือสองปีถัดไป ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับกระบวนการจัดสรรงบระมาณ การเบิกจ่าย หรือรูปแบบการช่วยเหลือของแต่ละมลรัฐ] จนลดลงกลับสู่ระดับปกติในที่สุด

“ภาพที่ ๒ ช่วงเวลาของมาตรการช่วยเหลือ กับ ระดับการคอรัปชั่น ของ 5 มลรัฐตัวอย่าง (ภาพประกอบจากบทความ)”

……….

เมื่อนำมาประมาณค่าโดยสมการ Fixed Effects ในตารางที่ ๑ จะให้ค่าสัมประสิทธิ์ที่มีนัยสำคัญทางสถิติอย่างชัดเจน ในคอลัมน์ที่ 1 พบว่า เงินช่วยเหลือทุกๆ 100 เหรียญสหรัฐฯ จะทำให้ระดับการคอรัปชั่นเพิ่มสูงขึ้น .055 หน่วย หากเปรีบเทียบกับระดับคอรัปชั่นเฉลี่ยของทั้งประเทศซึ่งอยู่ที่ .28 หน่วย จะเท่ากับว่า ระดับคอรัปชั่นสูงขึ้น 19.6% [= .055 / .28 x 100]

ที่น่าสนใจคือ หากนำเอา 4 มลรัฐที่มีระดับการคอรัปชั่นสูงที่สุดของประเทศออกไป ซึ่งได้แก่ Louisiana, Mississippi, North Dakota, and Illinois จะได้ผลดังในคอลัมน์ที่ 2 และ 3 ของตารางที่ ๒ นั่นคือ ระดับคอรัปชั่นจะเพิ่มสูงขึ้นไปอีกอย่างชัดเจน

โดยเฉพาะในคอลัมน์ที่ 3 พบว่า ในช่วง 3 ปีหลังจากจัดสรรเงินช่วยเหลือ ระดับคอรัปชั่นจะเพิ่มสูงขึ้น .101, .097 และ .087 หน่วย ตามลำดับ รวมแล้วเท่ากับว่าเพิ่มสูงขึ้น .285 หน่วย [= .101 + .097 + .087] หรือคิดเป็นระดับการคอรัปชั่นที่เพิ่มสูงขึ้น มากถึง 101.8% [= .285 / .28] จากระดับปกติ ในทุกๆ มาตรการช่วยเหลือต่อคนที่จ่ายออกไป มูลค่า 100 เหรียญสหรัฐฯ [1]

“ตารางที่ ๑ ผลการประมาณค่าสมการระดับการคอรัปชั่น (ภาพประกอบจากบทความ)”


นอกจากนี้ Leeson and Sobel (2008) ยังได้ยกเอากรณีศึกษาในปี 1993 ที่เกิดน้ำท่วมใหญ่ในสหรัฐอเมริกา ซึ่งกินพื้นที่ถึง 9 มลรัฐ ได้แก่ Illinois, Iowa, Kansas, Missouri, Nebraska, North Dakota, South Dakota, Minnesota, and Wisconsin พบว่า ระดับการคอรัปชั่นเพิ่มสูงขึ้นภายหลังจากการให้ความช่วยเหลือ

และหากพิจารณาจาก เส้นที่อยู่บนสุดคือ 3 มลรัฐแรกที่ประสบน้ำท่วมหนักที่สุด เส้นตรงกลางคือค่าเฉลี่ย และเส้นที่อยู่ล่างสุดคือ 3 มลรัฐที่ประสบน้ำท่วมน้อยที่สุด จึงเป็นที่ชัดเจนอีกด้วยว่า มลรัฐที่ได้รับการช่วยเหลือมากจะมีระดับการคอรัปชั่นที่เพิ่มขึ้นมากกว่ามลรัฐที่ได้รับการช่วยเหลือน้อย

“ภาพที่ ๓ ช่วงเวลาของมาตรการช่วยเหลือ กับ ระดับการคอรัปชั่น กรณีศึกษาน้ำท่วมใหญ่ ปี 1993 (ภาพประกอบจากบทความ)”

……….

อย่างไรก็ตาม ผลการศึกษานี้เป็นของสหรัฐอเมริกา ซึ่งก็ไม่ใช่ประเทศไทย แต่ก็ได้แสดงให้เห็นว่า ทุกๆ มาตรการช่วยเหลือต่อคนที่จ่ายออกไปมูลค่า 100 เหรียญสหรัฐฯ จะทำให้ระดับการคอรัปชั่นเพิ่มสูงขึ้นถึงกว่า 100% และเมื่อเกิดภัยพิบัติขึ้นในประเทศไทย เราก็หวังว่า นักการเมืองจำนวนหนึ่งจะเห็นอกเห็นใจประชาชนมากขึ้น โดยไม่ฉกฉวยเอาผลประโยชน์เป็นของตน รวมทั้งภาคประชาชนและพวกเราทุกคนคงต้องจับตามองนักการเมือง ไม่ให้เขาซ้ำเติมเราจาสถานการณ์ภัยพิบัติให้เลวร้ายลงไปกว่าเดิมให้ได้






อ้างอิง
[1] ค่าเฉลี่ย 0.28 เป็นค่าเฉลี่ยของทั้งประเทศ โดยผู้เขียนไม่ได้แยกเอา 4 มลรัฐดังกล่าวออกไปด้วย ไม่เช่นนั้นแล้ว ระดับการคอรัปชั่นจะเพิ่มสูงขึ้นมากกว่านี้

ที่มา: Leeson, Peter T. and Sobel, Russell S., Weathering Corruption (June 1, 2006). Journal of Law and Economics, Vol. 51, No. 4, 2008.

featured image from here