ทำไมต้อง“ล่าแม่มด”?
การล่าแม่มดเป็นพิธีกรรมหนึ่งของยุโรปในสมัยก่อน เชื่อไหมว่าตอนนี้พิธีกรรมนี้ยังดำรงอยู่ในอีกหลายพื้นที่ของแอฟริกา บทความของ Edward Miguel จะช่วยให้เรารู้ว่า อะไรคือเหตุผลและความจำเป็นทางเศรษฐศาสตร์ที่มีอยู่เบื้องหลังของพิธีกรรมนี้
……….
งานวิจัยที่ผ่านมาจำนวนมากยืนยันว่า ความยากจนและความรุนแรงมีความสัมพันธ์กันอย่างแยกไม่ออก แต่ที่น่าสนใจก็คือ ความยากจนก่อให้เกิดความรุนแรง หรือการมีความรุนแรงในสังคมทำให้การพัฒนาไม่เกิดขึ้นกันแน่ เพราะทั้งสองอย่างนั้นเกิดขึ้นพร้อมๆ กันในสังคม
Edward Miguel (2005) นักเศรษฐศาสตร์ผู้เชี่ยวชาญแอฟริกาที่มีชื่อเสียงมากของโลก [และเป็นที่ชื่นชอบของผู้เขียนด้วย] ทำการศึกษาผลกระทบของการเปลี่ยนแปลงรายได้อย่างกะทันหัน (Income Shocks) ที่มีต่อการฆาตกรรมในชนบทของประเทศแทนซาเนีย (Tanzania) เนื่องจากแทนซาเนียยังเป็นประเทศเกษตรกรรม เขาจึงใช้ปริมาณน้ำฝนเป็นเครื่องมือ (Instrument) แทนรายได้ ปริมาณน้ำฝนมีผลต่อรายได้อย่างชัดเจน แต่ไม่มีผลโดยตรงกับความรุนแรง (Exclusion Restriction) เพราะไม่มีใครบอกว่า “เฮ้…ฝนตกแล้ว ไปก่อความรุนแรงกันเถอะ” ดังนั้น ปริมาณน้ำฝนที่เป็นตัวแทนของรายได้จึงมีผลต่อความรุนแรง โดยที่ความรุนแรงไม่มีผลต่อปริมาณน้ำฝนแน่ๆ และยังเป็นปัจจัยภายนอกที่ไม่ได้ถูกกำหนดจากตัวแปรใดในสมการด้วย (Exogenous Factor)
“แม่มดในจินตนาการ”
อย่างไรก็ตาม เขาเจาะจงสถานการณ์ความรุนแรงไปที่“การล่าแม่มด”ซึ่งไม่ได้หมายถึงว่าเป็นแม่มดจริงๆ แต่เป็นคำเรียกพิธีกรรมที่เคยทำมาในยุโรปสมัยอดีต กล่าวคือ ใครก็ตามที่มีลักษณะ วิถีชีวิต พฤติกรรมหรือความเชื่อแตกต่างไปจากคนในหมู่บ้าน โดยเฉพาะในเรื่องศาสนาก็จะถูกกล่าวหาว่าเป็นแม่มด และถูกฆ่าทิ้งโดยการเผาหรือถ่วงน้ำทั้งเป็น
ความเชื่อในเรื่องของพิธีกรรมเกี่ยวกับแม่มดนั้นไม่ได้มีแค่ในแทนซาเนีย แต่ยังมีอยู่มากมายใน Sub-saharan Africa (Moore and Sanders, 2001) เช่น กาน่า (Ghana) เคนย่า (Kenya) โมแซมบิค (Mozambique) อูกานดา (Uganda) และซิมบับเว (Zimbabwe) โดยเฉพาะพื้นที่ที่ทั้งศาสนาคริสต์หรืออิสลามยังเข้าไปไม่ถึง
……….
งานศึกษาใช้ข้อมูลจากการสำรวจครัวเรือนจากสองส่วนคือ the Village Council Survey และ the Household Survey จากปี 1992 ถึงช่วงปี 2001-2002 โดย NGOs ที่ทำงานในแอฟริกา การสำรวจทำกับ 15-20 ครัวเรือนต่อหมู่บ้าน จำนวนทั้งสิ้น 1293 ครัวเรือน
ข้อมูลพื้นฐานในตารางที่ ๑ พบว่า โดยเฉลี่ยแล้วการฆาตกรรมจะเกิดขึ้น 0.2 คนต่อปี หรือประมาณ 1 คนต่อหมู่บ้านในทุกๆ 5 ปี โดยเป็นการฆ่าแม่มด(ตามความเชื่อ) 65 ศพ และฆาตกรรมทั่วไป 68 ศพในช่วงที่ทำการศึกษา กล่าวอีกด้านก็คือ ผู้หญิงที่อายุเกิน 50 ปีจะมีโอกาสถูกฆ่าเนื่องจากข้อกล่าวหาเป็นแม่มดประมาณ 1 ใน 500 และถ้าแนวโน้มยังคงเป็นเช่นนี้ต่อไป ในอีก 10 ปีข้างหน้า โอกาสจะเพิ่มขึ้นเป็น 1 ใน 50 ที่สำคัญ พวกเขามักถูกฆ่าตายโดยญาติหรือลูกหลานด้วย
“ตารางที่ ๑ ข้อมูลพื้นฐานของหมู่บ้านที่มีการล่าแม่มด”
คุณสมบัติของแม่มดที่ถูกฆ่าในตารางที่ ๒ นั้น 96% เป็นผู้หญิง อายุเฉลี่ย 57.6 ปี 98% มีญาติอยู่ในหมู่บ้านเดียวกัน และมีฐานะยากจนโดยเปรียบเทียบกับคนส่วนใหญ่ในหมู่บ้าน ที่น่าสนใจคือ 74% ของแม่มดที่ถูกฆ่าจะเกิดขึ้นในช่วงเดือนกุมภาพันธ์ถึงกรกฎาคม ซึ่งเป็นช่วงก่อนเก็บเกี่ยวและช่วงเก็บเกี่ยวที่มักจะขาดแคลนอาหาร ขณะที่เพียง 26% เท่านั้นที่จะถูกฆ่าในช่วงเดือนสิงหาคมถึงมกราคม ซึ่งเป็นช่วงหลังเก็บเกี่ยวและมีอาหารค่อนข้างเพียงพอ
“ตารางที่ ๒ คุณสมบัติของแม่มดที่ถูกฆ่า”
จากการประมาณค่าสมการในตารางที่ ๓ ของจำนวนการฆ่าแม่มด พบว่า ปริมาณน้ำฝนที่สูงมาก(ก่อให้เกิดน้ำท่วม)และต่ำมาก(ก่อให้เกิดความแห้งแล้ง)ในพื้นที่ที่คนมีรายได้เพียงแค่พอยังชีพเท่านั้น จำนวนแม่มดที่ถูกฆ่าตายจะเพิ่มสูงขึ้นอย่างมีนัยสำคัญเลยทีเดียว ซึ่งหากเปรียบเทียบกับระดับค่าเฉลี่ยของจำนวนแม่มดที่ถูกฆ่าในแต่ละปีก็จะพบว่าจำนวนแม่มดที่ถูกฆ่าตายจะเพิ่มสูงขึ้นถึงสองเท่าในปีที่ปริมาณน้ำฝนมาก(น้อย)กว่าปกติ
“ตารางที่ ๓ ผลการประมาณค่าสมการ”
……….
ข้อสรุปของ Miguel ค่อนข้างชัดเจนว่า ความยากจนเป็นสาเหตุให้เกิดความรุนแรง โดยเห็นได้ชัดในหมู่บ้านที่มีรายได้ใกล้เคียงระดับความยากจน ซึ่งมีการฆ่าแม่มดเพิ่มสูงขึ้นมาก หากเป็นปีที่มีปริมาณน้ำฝนมาก(น้อย)เกินไป ทั้งนี้สาเหตุที่แม่มดซึ่งถูกฆ่ามักเป็นหญิงชราก็ด้วยเหตุผลสามประการ
- ปริมาณน้ำฝนที่ต่ำส่งผลให้ปริมาณอาหารเพื่อการดำรงชีพของคนทุกคนมีไม่เพียงพอ จำเป็นต้องลดปริมาณการบริโภคลง แต่เนื่องจากการบริโภคเฉลี่ยอยู่ในระดับเพื่อยังชีพแล้ว จึงไม่สามารถลดแบบเฉลี่ยทุกคนได้ แต่ต้องลดจำนวนคนที่บริโภคแทน (เพื่อให้ระดับการบริโภคเป็นศูนย์)
- เมื่อต้องลดจำนวนคน คนที่น่าจะถูกลดจำนวนมากที่สุดคือคนที่มีผลิตภาพต่ำที่สุดในสังคม นั่นก็คือ คนแก่ที่ทำงานไม่ได้หรือได้ไม่ดีนัก
- แล้วคนแก่ที่ว่ามักเป็นผู้หญิง ก็เพราะในสังคมนั้นๆ มีความไม่เท่าเทียมกันทางเพศ (Gender Inequality) ดำรงอยู่ หมายความว่า ผู้ชายจะมีตำแหน่งทางการเมืองในสังคม เช่น เป็นหัวหน้ากลุ่ม หัวหน้าเผ่า จึงยากที่จะฆ่าได้ ผู้หญิงซึ่งมีสัดส่วนมากอยู่แล้วจึงตกเป็นเหยื่อ (เพราะผู้ชายจำนวนหนึ่งเสียชีวิตในการออกล่าสัตว์และสู้รบ)
“ภาพเหตุการณ์การเผาทั้งเป็นคนที่ถูกกล่าวหาว่าเป็นแม่มด” (ที่มาของภาพ)
อย่างไรก็ตาม ความยากจนจนมีอาหารไม่พอยังชีพอาจไม่ใช่สาเหตุเดียวของการฆ่าแม่มด เพราะมันยังมีเรื่องของการรักษาสมดุลของเพศ (Gender Proportion) เนื่องจากผู้ชายจะมีอายุเฉลี่ยที่สั้นกว่าผู้หญิงมาก เพราะมักเสียชีวิตจากการออกหาอาหาร ทำงานหนัก หรือต่อสู้ ขณะที่ยังรวมไปถึงการป้องกันโรคระบาด เพราะคนที่มีลักษณะแปลกออกไปอาจถูกสงสัยว่าติดโรคบางอย่าง และคนแก่ก็ง่ายที่จะติดโรคมากกว่ารุ่นอื่นๆ
แน่นอนว่า การออกกฎหมายบังคับห้ามฆ่าแม่มดคงเป็นสิ่งที่ทำไม่ได้ แต่แนวนโยบายในระยะสั้นที่นอกเหนือจากการสร้างรายได้เพื่อหลุดพ้นความยากจนแล้ว ระบบบำนาญ (Pension) จึงเป็นเรื่องจำเป็นต่อการป้องกันการแย่งชิงทรัพยากรระหว่างคนแต่ละรุ่น และการประกันความผันผวนของรายได้(ซึ่งมาจากการเปลี่ยนแปลงปริมาณน้ำฝน)ก็เป็นสิ่งจำเป็นเช่นเดียวกัน
แม้ว่าเรื่องนี้อาจจะดูไกลตัวผู้อ่านไปเสียหน่อย แต่ [เสด-ถะ-สาด].com ก็หวังว่าผู้อ่านจะได้มุมมองใหม่ๆ กับสิ่งที่ยังดำรงอยู่ในสังคม บางครั้งอาจดูเหมือนไม่น่าจะยังมีอยู่ แต่นี่ก็คือสิ่งที่มีอยู่จริงในโลกของเราครับ ^^
ที่มา: Edward Miguel, 2005. “Poverty and Witch Killing,” Review of Economic Studies, Wiley Blackwell, vol. 72(4), pages 1153-1172, October.
featured image from tradingphrases.com